AS GREEN AS YOU CAN
ในแบบของ เข็มอัปสร สิริสุขะ
หากนึกถึงนางเอกในวงการบันเทิงที่เป็นขวัญใจของผู้ชมและได้รับการยอมรับว่าวางตัวดีเสมอต้นเสมอปลาย แน่นอนว่า "เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ" คือ หนึ่งในชื่อแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง หลังจากประกาศเลิกเล่นละคร เธอได้ผันตัวมาทุ่มเทให้กับงานช่วยเหลือสังคมและอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างจริงจัง BOT พระสยาม MAGAZINE มีโอกาสพูดคุยกับคุณเชอรี่ ก่อนที่เธอจะลัดฟ้าไปเรียนต่อปริญญาโทด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศอังกฤษ โดยบทสัมภาษณ์จะพาทุกท่านมารู้จักกับตัวตนและความคิดของเธอที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการทำความดีและทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม
จากจอแก้ว สู่งานเบื้องหลังเพื่อสังคม
จุดเริ่มต้นของการทำงานเพื่อสังคมของคุณเชอรี่เกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจ เมื่อปี 2558 เธอได้ร่วมกับเพื่อน ๆ จัดตั้งกลุ่ม Little Help เพื่อระดมทุนให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเนปาล ซึ่งในขณะนั้นการส่งความช่วยเหลือจากประเทศต่าง ๆ เป็นไปได้ยาก เนื่องจากภูมิประเทศที่เข้าถึงลำบาก ในครั้งนั้น พี่โรจน์ (คุณภูภวิศ กฤตพลนารา เจ้าของแบรนด์ Issue) ซึ่งมีเพื่อนเป็นชาวเนปาล ได้ช่วยกลุ่ม Little Help ในการประสานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยตรง หลังสถานการณ์ของประเทศเนปาลเริ่มดีขึ้น จึงเกิดความคิดที่ต้องการจะสานต่องานอาสาสมัคร ประกอบกับในปี 2559 เป็นช่วงที่ประเทศไทยประสบกับปัญหาภัยแล้ง จึงได้ชักชวนเพื่อนกลุ่มเดิมเข้าไปแก้ปัญหานี้ แต่ทีมงานขณะนั้นยังไม่มีความรู้เพียงพอว่า ภัยธรรมชาติในลักษณะนี้จะต้องเริ่มแก้ไขจากตรงไหน ในระหว่างนั้นเอง คุณเชอรี่ได้รับการติดต่อจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ที่กำลังจะมีโครงการ "คนยืนได้ ไม้ยืนต้น" จึงมีโอกาสร่วมลงพื้นที่แก้ปัญหาภูเขาหัวโล้นที่จังหวัดน่าน
"การลงพื้นที่ทำให้เราได้เห็นถึงปัญหาจริง ๆ และเห็นถึงความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ จากตอนแรกที่ไม่รู้เลยว่า จะเริ่มแก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างไร ก็ได้เริ่มเห็นทิศทางและแนวทางการแก้ไขปัญหา และได้นำความรู้ที่ได้มาประยุกต์และจัดตั้งโครงการขึ้นมาชื่อว่า โครงการ Little Forest"
"ตอนแรกที่มาทำงานด้านนี้ ไม่ได้ตั้งใจจะออกจากวงการบันเทิง แต่พอทำแล้วยิ่งต้องให้เวลากับมัน ยิ่งทำยิ่งอิน ยิ่งอยากรู้ และยิ่งอยากจะทำมากขึ้น พอใจมาอยู่ตรงนี้แล้ว ใจที่จะไปอ่านบทละครว่าจะเล่นเรื่องไหนก็เลยลดน้อยลง"
พลังเล็ก ๆ ใน Little Forest
คุณเชอรี่เล่าถึงการลงพื้นที่ครั้งแรกของ Little Forest ว่า แม้เราจะเริ่มลงพื้นที่เรื่องสิ่งแวดล้อมในจังหวัดน่าน แต่เมื่อเริ่มทำโครงการจริง ๆ กลับลงพื้นที่ในจังหวัดแพร่ นั่นเพราะว่า การสานต่อกิจกรรมหรือ ดำเนินการโครงการให้เกิดความต่อเนื่องจำเป็นต้องมีพันธมิตร ซึ่ง ผศ.ดร.อโนทัย ชลชาติภิญโญ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Little Help ตั้งแต่เริ่มแรก มีเจ้าหน้าที่และเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ อยู่ในจังหวัดแพร่ที่จะสามารถช่วยดูแลได้ จึงตกลงเริ่มทำโครงการที่อำเภอวังชิ้น โดยเริ่มจากการปลูกต้นไม้ก่อน แต่เป็นในลักษณะปลูกเสริม
"คนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมจะทราบอยู่แล้วว่า ป่าไม้จริง ๆ ไม่ต้องเข้าไปปลูก แค่กันพื้นที่ไว้ ป่าจะสามารถฟื้นฟูได้เองจากระบบนิเวศ แต่การปลูกป่าในลักษณะปลูกเสริมนั้น จะช่วยให้ป่าไม้มีความแข็งแรงได้เร็วขึ้น และทางทีมงานจะรับดูแลอีก 3 ปี เพราะเป็นช่วงเวลาที่ต้นไม้ยังไม่แข็งแรงพอ และต้องการการดูแลเป็นพิเศษ"
"ส่วนสำคัญนอกเหนือจากการปลูกป่า คือ การให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมและเห็นความสำคัญของป่าไม้ การลงพื้นที่ปลูกต้นไม้เราจะเลือกพัฒนาชุมชนที่อยู่ใกล้ ๆ โดยให้ตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ และให้เข้าใจถึงพื้นที่ที่เขาอาศัยว่าเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่ต้องช่วยกันดูแลรักษา"
"ในระหว่างที่เราให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกับการดำเนินโครงการ เราได้เห็นว่าจริง ๆ แล้วปัญหาหลัก คือ ปัญหาปากท้องของคนในพื้นที่ ดังนั้น โจทย์ของเรา คือจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป"
เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนนั้น มีอาชีพทำสวนส้ม คุณเชอรี่จึงได้ประสานงานกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาช่วยวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหาร จัดการและผลผลิต และพบว่าปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง คือ เรื่องน้ำ เพราะส้มเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก และพื้นที่บริเวณนั้นมีปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาใหญ่ เกิดภัยแล้งเกือบทุกปี จึงได้ประสานงานเพิ่มเติมไปยังมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในการจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ช่วยวิเคราะห์การสร้างฝาย และส่งผู้แทนในพื้นที่มาเรียนรู้
"เราเชื่อว่าหัวใจของคนในชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ การที่เขารู้สึกว่าได้รับการดูแลใส่ใจที่ดีจากเรา เราก็จะได้รับสิ่งดี ๆ คืนมา และสุดท้ายป่าก็จะได้รับการใส่ใจดูแลที่ดีด้วยเช่นกัน"
เนื่องจากนักวิชาการยังถกเถียงกันอยู่ว่า การสร้างฝายเป็นเรื่องที่ดี ต่อสภาพแวดล้อมจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้นในการสร้างฝาย คุณเชอรี่จึงให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่จะสร้างให้กระทบกับระบบนิเวศต่าง ๆ น้อยที่สุด รวมถึงความเป็นอยู่ของคนในชุมชน นอกเหนือจากการลงพื้นที่จริงแล้ว โครงการยังมีการฉายภาพยนตร์เรื่อง An Inconvenient Truth โดย Al Gore ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากวิกฤติสิ่งแวดล้อมให้กับคนในเมืองเพื่อสร้างการตระหนักรู้ และปลุกกระแสให้หันมาสนใจสิ่งแวดล้อม
อุปสรรคเติมพลังใจ
การดำเนินโครงการในระยะแรกมีปัญหาในหลายมิติมากและเป็นปัญหาในพื้นที่ที่ไม่เคยรู้มาก่อน คุณเชอรี่เล่าว่าในช่วงแรกเคยรู้สึกท้อใจ แต่พอคิดต่อว่าถ้าถอยหรือล้มเลิก สิ่งที่ดำเนินการอยู่จะไม่สามารถไปต่อได้ จึงค่อย ๆ แก้ปัญหาด้วยการแยกระบบความคิดเป็นส่วน ๆ
"สิ่งที่จะทำให้เราหมดกำลังใจเราจะพักไว้ก่อน เราจะมองคนที่อยู่ข้าง ๆ ที่กำลังไปพร้อมกับเรา ซึ่งตอนที่ลงพื้นที่ ต้องบอกเลยว่าสายตาของคนในพื้นที่หรือใจที่เราสัมผัสได้มันยิ่งใหญ่มากกว่า นี่จึงเป็นแรงผลักดันให้เราทำสำเร็จ"
การลงพื้นที่ปลูกป่าได้สร้างความรู้ใหม่ ๆ มากมายที่ไม่เคยคิดว่าจะได้มาเรียน เช่น วิธีการสร้างฝาย ขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการผูก การใส่หิน และการมัด รวมไปถึงการจัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ หน้างาน
"เราเป็นเหมือนคนที่คอยตรวจดูว่าขั้นตอนการทำฝายแต่ละขั้นถูกต้องหรือไม่ แม้กระทั่งตอนไม่ได้อยู่ในพื้นที่ก็จะมีคนคอยส่งรูปกลับมาให้ตรวจงาน รวมไปถึงการบริหารจัดการหน้างานคุมงานก่อสร้างซึ่งเป็นงานที่เราไม่เคยทำมาก่อน"
คุณเชอรี่เล่าถึงการช่วยเหลือกันของคนในชุมชนว่า มีตัวแทนของคนในชุมชนที่ไปเรียนเรื่องการสร้างฝาย เมื่อกลับมาจากการสร้างฝายของหมู่บ้านเสร็จแล้ว และได้รับคำขอให้มาช่วยอีกหมู่บ้านหนึ่งตัวแทนท่านนั้นก็ให้ความช่วยเหลือโดยไม่รับค่าตอบแทนใด ๆ เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของการให้ที่ยิ่งใหญ่ ส่งต่อซึ่งกันและกันของคนในชุมชน
"ที่ผ่านมา เราจะถามคนในชุมชนตลอดว่าผลผลิตส้มเป็นอย่างไรบ้าง รายได้ดีไหม เขาก็จะเล่าให้ฟังว่ารายได้เพิ่มขึ้นอย่างไร มีพี่คนหนึ่งแซวเล่นว่า ส้มรอบแรกเก็บเกี่ยวไม่ทันเลยเพราะมัวแต่มาช่วยงานสร้างฝาย ซึ่งเป็นความเสียสละที่อาจจะดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่นี่คือรายได้ของเค้าที่ใช้เลี้ยงครอบครัวเราเลยคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่เราได้มากกว่าการปลูกป่าสร้างฝาย"
เริ่มต้นวันนี้ เริ่มได้จากตัวเอง
คุณเชอรี่บอกว่า ก่อนหน้าไม่ใช่คนที่ใช้ชีวิตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบนี้ ต้องขอบคุณคนที่เชิญไปงานต่าง ๆ ทำให้ได้รับรู้ข้อมูลมากขึ้น ทำให้ตระหนักได้ว่าการใช้ชีวิตของเราในแต่ละวันจะสร้างผลกระทบอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้รู้สึกว่าต้องเปลี่ยน แต่เป็นการค่อย ๆ เปลี่ยนโดยเริ่มจากเรื่องที่ทำได้ง่ายที่สุดก่อน เช่น การไม่รับถุงพลาสติก เราจึงหาถุงผ้ามาใส่ของ เวลาที่ลืมถุงผ้าก็จะเก็บของไว้ในกระเป๋าหรือในรถแทน ในบางครั้งก็เลือกจะไม่ทานก็ได้ ถ้าหากจะเป็นการสร้างพลาสติก รวมถึงการลดใช้พลังงานต่าง ๆ ภายในบ้าน หัวใจหลักของเรื่องนี้คล้ายกับเรื่องของเศรษฐศาสตร์ตรงที่เราจะทำอย่างไรให้การใช้ทรัพยากรเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
คุณเชอรี่กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาไม่เคยสนใจว่าสิ่งแวดล้อมสำคัญอย่างไร ยึดแค่ความสะดวกสบายของตัวเอง แต่พอเปลี่ยนวิถีชีวิตแล้ว รู้สึกกับตัวเองว่ายังต้องไปต่อ และมองว่ามันเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน เพราะไม่ใช่แค่คน ๆ เดียวจะสามารถเปลี่ยนหรือรับผิดชอบโลกใบนี้ได้
"สิ่งที่น่ากังวล คือ ทุกวันนี้โลกเสียสมดุลมามากแล้ว ตัวเราเองคนเดียวก็ทำไม่ได้ทั้งหมด เรื่องแบบนี้ยังต้องการพลังของคนอีกมาก ซึ่งคนรอบข้างจะได้รับอิทธิพลจากเราค่อนข้างมาก เพราะเมื่อทำอย่างจริงจัง คนรอบข้างเห็นก็เริ่มซึมซับและทำตาม"
"เราเคยเป็นคนที่ใช้วิถีชีวิตแบบคนทั่วไป ต่อให้ใครมาบอกเรา ณ วันนั้น ตอนที่เรายังไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็จะรู้สึกว่าเป็นอะไรมากไหม เราจะมีความรู้สึกแบบนั้น แต่ทุกวันนี้โลกเป็นอะไรมากแล้วจริง ๆ นี่คือบ้านหลังเดียวของเราทุกคนนะ เราไม่มีโลกใบที่ 2 มาสำรอง อย่างน้อยขอให้ทุกคนมาร่วมรับผิดชอบโลกใบนี้ไปด้วยกันเถอะ เราสะดวกสบายน้อยลง แต่มันจะช่วยดูแลชีวิตของเรา ชีวิตของคนที่เรารัก ไปจนถึงชีวิตของคนรุ่นหน้าได้อีก"