เหรียญตรามิตรภาพ

สัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์อันดีงามระหว่าง

ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารแห่ง สปป. ลาว



ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งธนาคารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ธหล.) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2561 ธหล. ได้เสนอรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) เพื่อมอบเหรียญตรามิตรภาพ ให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีส่วนสนับสนุนและช่วยเหลือการพัฒนางานของ สปป. ลาว มาเกือบ 3 ทศวรรษ โดยท่านสอนไซ สิดพะไซ ผู้ว่าการ ธหล. ได้ทำพิธีมอบเหรียญตรามิตรภาพแก่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมลาวพลาซ่า นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ยืนยันความสัมพันธ์ อันดีระหว่างธนาคารกลางทั้งสองประเทศ “เหรียญตรามิตรภาพ” นี้นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของ ธปท.

 


จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อันยาวนาน

 

ความสัมพันธ์ระหว่างสองหน่วยงานมีจุดเริ่มต้นในปี 2535 ขณะที่ สปป. ลาว มีการปฏิรูประบบการเงินเพื่อแยกธนาคารกลางและระบบธนาคารพาณิชย์ออกจากกัน รวมถึงปรับปรุงระบบงานต่าง ๆ ให้เป็นสากล ในครั้งนั้น ธปท. ได้ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการเกี่ยวกับการดำเนินงานของธนาคารกลางแก่ ธหล. โดยได้จัดการประชุมทวิภาคีระหว่างกันเป็นครั้งแรกในสมัยผู้ว่าการ ดร.วิจิตร สุพินิจ และจากนั้นมีการจัดประชุมอย่างต่อเนื่องทุก 2 ปี รวมทั้งสิ้น 12 ครั้งจวบจนปัจจุบันเพื่อร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในหลายมิติ


ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้

 

ธปท. และ ธหล. ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ โดยได้ร่วมกันพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการในหลายรูปแบบ อาทิ โครงการศึกษาหลักสูตรปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจร่วมลาว - ไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธปท. และ ธหล. ระหว่างปี 2537 - 2541 เพื่อเสริมสร้างความรู้และพัฒนาทักษะของบุคลากรของทั้งสองธนาคาร และเป็นที่น่าภาคภูมิใจว่าท่านสอนไซ สิดพะไซ ผู้ว่าการ ธหล. คนปัจจุบัน เป็นนักศึกษาในโครงการนี้ด้วย การประชุมระหว่าง ธปท. - ธหล. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงนโยบายและการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของธนาคารกลาง ทั้งในระดับบริหารและระดับปฏิบัติการ การสนับสนุนเชิงเทคนิคด้วยการส่งวิทยากรจาก ธปท. ไปถ่ายทอดความรู้แก่ผู้บริหารและพนักงาน ธหล. เป็นระยะ รวมถึงจัดให้มีโครงการรับพนักงานจาก ธหล. มาปฏิบัติงานระยะสั้นในฝ่ายงานต่าง ๆ ของ ธปท. อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการให้ทุนการศึกษาแก่พนักงานของ ธหล. เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็น และสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองธนาคารกลาง นอกจากนี้ ในส่วนของความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ ยังมีการทำงานร่วมกันระหว่างสององค์กร อาทิ การศึกษาเรื่องการชำระเงินตามแนวชายแดนของผู้ค้ารายย่อยที่สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศึกษาร่วมกับ ธหล. เพื่อส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นอีกด้วย


ความร่วมมือในการพัฒนาความเชื่อมโยงระบบการเงิน

 

ผู้ว่าการ ธปท. และ ผู้ว่าการ ธหล. ลงนามบันทึกความร่วมมือในการช่วยเหลือการพัฒนางาน
ระหว่างไทยและ สปป. ลาว เมื่อเดือนมิถุนายน 2562

 

 

 

 

ธปท. และ ธหล. มีความเห็นตรงกันว่าการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างไทย และ สปป. ลาว จะทำให้ประชาชนของทั้งสองประเทศมีทางเลือกในการใช้บริการชำระเงินที่สะดวก ปลอดภัย และสามารถเข้าถึงได้ง่ายด้วยต้นทุนที่ต่ำลง จึงนำไปสู่การลงนามร่วมกันในบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางเทคโนโลยีทางการเงินและการชำระเงิน เพื่อสนันสนุนการพัฒนาบริการทางการเงินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ทั้งสองธนาคารยังร่วมลงนามในบันทึก ความเข้าใจว่าด้วยการกำกับดูแลสถาบันการเงินอันเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของธนาคารกลางในการยกระดับการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยและ สปป. ลาว ให้สอดคล้องกับมาตรฐานกำกับดูแลของสากล และให้มีข้อมูลเพียงพอสนันสนุนการขยายธุรกิจและการทำธุรกรรมข้ามประเทศของสถาบันการเงิน ทั้งนี้ นอกจากความร่วมมือระดับธนาคารกลางแล้ว ธปท. และ ธหล. ยังส่งเสริมความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์ไทยและ สปป. ลาว โดยจัดให้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็น และผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจที่เป็นรูปธรรม

 

ความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ธปท. และ ธหล. ไม่ได้จำกัดเพียงความร่วมมือด้านวิชาการและระบบการเงิน หากแต่ยังมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรของสองธนาคารกลาง โดยได้ผลัดกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬามิตรภาพเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มตั้งแต่ ปี 2544 และจัดต่อเนื่องมาแล้ว 14 ครั้ง โดยมีผู้ว่าการ ผู้บริหารระดับสูง และพนักงานของทั้งสองธนาคารเข้าร่วมด้วย การแข่งขันกีฬา จึงเต็มไปด้วยความสนุกสนานบนพื้นฐานของมิตรภาพและ ความสามัคคี

 

แม้เวลาจะผ่านไปนานเกือบ 3 ทศวรรษ ความสัมพันธ์ระหว่าง ธปท. และ ธหล. ที่มีมาอย่างยาวนานยังคงแนบแน่น โดยทั้งสองธนาคารกลางได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับ สปป. ลาว เพื่อจะนำไปสู่การความเชื่อมโยงระบบการเงินระหว่างสองประเทศและอนุภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของทั้งสองประเทศต่อไป