BOT Symposium 2019
งานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประจำปี 2562 จัดขึ้นภายใต้ธีม "พลิกโฉมเศรษฐกิจ พิชิตการแข่งขัน" (Competitive Thailand) เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ และนำเสนอมุมมองการแข่งขันของประเทศไทยในหลายมิติ อาทิ อำนาจตลาด ภาคเกษตร ภาคแรงงาน ภาษี ภาคการเงิน การศึกษา การคอร์รัปชัน โดยผ่านการนำเสนอบทความทางวิชาการ การบรรยายรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจในช่วง Perspectives และปิดท้ายด้วยการเสวนาจากผู้ทรงคุณวุฒิในหัวข้อ Competitive Thailand การแข่งขันที่เปิดกว้างและเป็นธรรมจะส่งเสริมนวัตกรรม
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวในคำกล่าวเปิดงานสัมมนาตอนหนึ่งว่า กุญแจสำคัญตัวหนึ่งที่สร้างแรงจูงใจให้เราก้าวข้ามขีดจำกัดของทรัพยากร ขีดจำกัดทางเทคโนโลยี และผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ครั้งแล้วครั้งเล่า คือ "การแข่งขัน" ซึ่งเป็นประเด็นหลักของงานสัมมนาวิชาการของ ธปท. ประจำปีนี้
การแข่งขันที่ดีจะต้องเป็นการแข่งขันที่เปิดกว้าง เป็นธรรม และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพราะการมีต้นทุนในการเข้าสู่ตลาดสูง และข้อได้เปรียบจากการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) ทำให้ผู้ประกอบการที่อยู่รอดมักเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยหรือรายใหม่ไม่สามารถเข้ามาแข่งได้ ดังนั้น ภาครัฐในฐานะผู้กำหนดนโยบายและผู้เขียนกฎกติกาสำหรับการแข่งขัน จึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและออกแบบการแข่งขันของธุรกิจอย่างเปิดกว้างและเป็นธรรม
ตลอดสองวันภายในงาน มีการนำเสนอผลงานวิชาการจำนวน 6 ชิ้นงาน ซึ่งนำไปสู่ประเด็นเพื่อการพัฒนาการแข่งขันทางเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
เป็นการศึกษาโครงสร้างภาคธุรกิจและการแข่งขันที่มีนัยต่อระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งพบว่า ภาคธุรกิจไทยมีพลวัตที่ลดลงและมีการกระจุกตัวสูงในกลุ่มทุนน้อยราย นอกจากนี้ยังพบว่าอำนาจตลาดของบริษัทไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และบริษัทที่อยู่ในกลุ่มทุนมีแนวโน้มที่จะมีอำนาจตลาดสูงกว่าบริษัทอื่น ๆ อย่างไรก็ดี บริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงกลับมีการเติบโตของผลิตภาพที่ต่ำ เพราะขาดแรงกดดันจากการแข่งขัน ดังนั้นการส่งเสริมการแข่งขันจึงเป็นกลไกที่จำเป็นต่อการยกระดับผลิตภาพการผลิต และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายในหลายด้าน โดยภาคเกษตรไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่มีความเสี่ยงสูงแต่ให้ผลตอบแทนต่ำ และเป็นรายย่อยที่เผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งในด้านขนาดที่ดิน การเข้าถึงแหล่งน้ำ และการใช้เทคโนโลยี นอกจากนี้ ต้นทุนการทำเกษตรของพืชหลักส่วนใหญ่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและกำไรสุทธิลดลงทำให้เกษตรกรมีมูลหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่นโยบายภาครัฐมักเน้นไปที่การให้เงินอุดหนุนในระยะสั้น ซึ่งลดแรงจูงใจในการปรับตัวของเกษตรกร ดังนั้นสามตัวช่วยสำคัญของภาคเกษตรไทย คือ (1) ข้อมูล ที่จะช่วยให้เข้าใจว่าปัญหาอยู่ที่ไหน (2) เทคโนโลยี ที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพและปลดล็อกปัญหาเชิงโครงสร้างต่าง ๆ และ (3) ความเข้าใจถึงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งผ่านนโยบายและเทคโนโลยีไปสู่เกษตรกรในวงกว้าง
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า แรงงานไทยยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปได้ ปัจจุบัน แม้ว่าแรงงานไทยมีการศึกษาสูงขึ้นมาก แต่ความแตกต่างของระดับค่าจ้างเฉลี่ยกลับไม่ชัดเจนนัก อาชีพที่เลือกทำก็ไม่ได้ใช้ทักษะสูงเท่ากับคนในอดีตที่ได้รับการศึกษาเท่ากัน อีกทั้งยังมีช่วงชีวิตในการทำงานที่สั้น ทั้งที่ควรจะเป็นแรงงานกลุ่มสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ภาพเหล่านี้อาจเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจจากเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรมการค้าและการบริการ การเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือเพราะการเป็นลูกจ้างของภาครัฐและเอกชนอาจไม่เอื้อให้แรงงานที่อายุเกิน 60 ปี ทำงานต่อก็เป็นได้ รัฐบาลจึงควรกำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่มีการฝึกอบรมและเพิ่มพูนทักษะให้พนักงาน รวมถึงมีมาตรการจูงใจทางภาษี เพื่อให้ภาคเอกชนจ้างงานผู้สูงอายุให้ทำงานต่อไป
ในภูมิภาคอาเซียนที่มีการแข่งกันทางภาษีค่อนข้างรุนแรง สิทธิประโยชน์ทางภาษีมีส่วนสำคัญต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ความสำคัญนี้ยังน้อยกว่าประเด็นเรื่องผลิตภาพ แรงงาน และความยากง่ายของกฎระเบียบต่าง ๆ ในการทำธุรกิจ ซึ่งบริษัทข้ามชาติที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจะให้ความสำคัญต่อแรงจูงใจภาษีน้อยกว่าบริษัทที่มีเทคโนโลยีต่ำอย่างชัดเจน นอกจากนี้ การลดอัตราภาษีนิติบุคคลยังส่งผลกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยแรงกระตุ้นการลงทุนนี้จะกระจุกตัวในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งต้นตอของการลงทุนต่ำของภาคเอกชนไทยไม่ได้มาจากปัญหาการขาดแคลนเงินทุน แต่มาจากการที่ธุรกิจมองไม่เห็นโอกาสในการลงทุน นอกจากนี้ แรงจูงใจด้านภาษีมีส่วนช่วยส่งเสริมการออมและลงทุนระยะยาวของคนไทย แต่จะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม โดยกลุ่มที่มีแรงจูงใจค่อนข้างมากต่อการตัดสินใจซื้อกองทุน LTF อยู่ในกลุ่มคนรายได้ปานกลาง และคนที่มีความเข้าใจทางการลงทุนไม่มากนัก
ขีดความสามารถทางการแข่งขันของระบบสถาบันการเงินไทยไม่แตกต่างจากประเทศในกลุ่ม ASEAN-5 (ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) มากนัก ทว่าจุดอ่อนของระบบการเงินไทยอยู่ที่การเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ซึ่งทุกกระบวนการด้านสินเชื่อสำหรับ SMEs ยังมีอุปสรรค โดยในยุคไทยแลนด์ 4.0 นี้ เราสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัล และกระบวนการทำงานโดยใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อลดปัญหา SME Financing ได้ ความเชื่อมโยงกันได้ (Interoperability) ของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการไหลเวียนของข้อมูลในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ ผู้เล่นใหม่ ๆ ยังช่วยเติมเต็มช่องว่างในภาคการเงินไทยได้
หากมองการคอร์รัปชันเป็นบริการประเภทหนึ่ง จะเห็นได้ว่า มีพลวัตรและมีประสิทธิภาพสูงมาก เนื่องจากการซื้อขายกฎหมายและสิทธิประโยชน์มีมูลค่าสูง ตลาดการแข่งขันนี้จึงดึงดูดผู้ผลิต จำนวนมากเข้าร่วมการแข่งขันด้วย งานวิจัยชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ตลาดการคอร์รัปชันมีพัฒนาการในตัวเอง และเป็นระบบปิดที่มีการจัดสรรประโยชน์อย่างลงตัวในหมู่ผู้เกี่ยวข้อง การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกัน หรือสถานการณ์สองมาตรฐาน เป็นจุดเริ่มต้นของการคอร์รัปชัน และสร้างความขัดแย้งสูงมาก
นอกจากการนำเสนอบทความวิชาการ ภายในงานยังมีการบรรยายที่น่าสนใจในช่วง Perspectives เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และกระตุกต่อมคิดของผู้เข้าร่วมงานโดยนักคิดผู้ทรงคุณวุฒิ
เริ่มด้วย รศ. ดร.วีระชาติ กิเลนทอง จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในหัวข้อ การแข่งขันและคุณภาพการศึกษา ที่มาชี้ว่า การศึกษาของไทยต้องการการแข่งขัน โดยเฉพาะในชนบท เพราะจะเป็นเครื่องมือที่มีพลังนำไปสู่คุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น แต่ความท้าทายที่สำคัญคือ จะสร้าง "แรงจูงใจที่เหมาะสม" เพื่อให้โรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนรัฐพัฒนาตัวเองได้อย่างไร ประเทศอาจต้องการโรงเรียนทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อให้การแข่งขันที่ว่านี้เกิดขึ้นได้
คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กับเรื่อง ความคิดเชิงออกแบบเพื่อประเทศไทยสร้างสรรค์ โดยกล่าวว่า หลักการ Design Thinking ไม่ใช่กระบวนการ แต่คือทักษะ การตั้งคำถาม คิดนอกกรอบ และลงมือทำ (Ask - Think - Act) ที่จะทำให้เกิดนวัตกรรม เช่นเดียวกับทักษะในวัยเด็กของคนที่เริ่มจากความกล้าที่จะทำ การลงมือทำ และไม่กลัวความล้มเหลว
ผศ. ดร.พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับหัวข้อ วิศวกรรมตลาด เมื่อตลาดต้องถูกออกแบบ กล่าวว่า การออกแบบตลาดก็เหมือนการสร้างเกม ผู้เล่นแต่ละคนมีแรงจูงใจ และพฤติกรรมที่แตกต่างกันไป สิ่งที่พวกเขาทำคือ คิดกลยุทธ์ที่ทำให้ได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากเกม และออกแบบกฎเกณฑ์ของตลาด เพื่อบริหารแรงจูงใจของผู้เล่นให้เป็นไปตามที่ต้องการ
และ คุณสฤณี อาชวานันทกุล จากบริษัท ป่าสาละ จำกัด นำเสนอในหัวข้อ ความเป็นธรรมกับความสามารถในการแข่งขัน ที่ทิ้งท้ายไว้ว่า การทำลายอุปสรรคที่กีดกันผู้เล่นหน้าใหม่ และสนับสนุนให้มีผู้เล่นหน้าใหม่อยู่เสมอ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการ และรัฐควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากกว่าการออกมาตรการเอาใจผู้ครองตลาดรายเดิม
อีกหนึ่งไฮไลท์ของงาน คือ การเสวนาในหัวข้อ Competitive Thailand ที่ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน ได้แก่ ศ. ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ Amazon Web Services (Thailand and Vietnam) ดำเนินการเสวนาโดย รศ. ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาพูดคุยถึงมุมมองเกี่ยวกับการรักษาสมดุลของการกำกับดูแลและการแข่งขันทางการค้า
ในฐานะผู้กำกับดูแล ดร.สกนธ์ได้สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 และความตั้งใจของสำนักงานในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการแข่งขันทางการค้าที่เข้มแข็งอันจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและการยกระดับผลิตภาพของประเทศ ในขณะที่ ดร.เดือนเด่นมองว่า ด้วยข้อจำกัดของการบังคับกฎหมายฉบับนี้กับภาคเอกชน อีกเรื่องที่ต้องพิจารณา คือแนวทางการกำกับดูแลภาครัฐเอง ไม่ให้สร้างมาตรการหรือออกนโยบายที่อาจบิดเบือนการแข่งขัน
"สิ่งที่จำเป็นต้องมีคือการบังคับใช้กฎหมายและการสนับสนุนนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมการแข่งขัน (Competition Advocacy) และการประเมินผลกระทบก่อนออกนโยบาย (Regulatory Impact Assessment)" ดร.เดือนเด่นกล่าว
สำหรับมุมมองจากภาคธุรกิจเอกชน ดร.ชวพลกล่าวว่า "การแข่งขันที่เป็นธรรมต้องครอบคลุมใน 3 มิติ คือ (1) ผู้บริโภคหรือประชาชน สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ และมีสิทธิเลือกสิ่งที่ต้องการได้ (2) ธุรกิจ สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ที่ช่วยให้บริษัทใหม่ ๆ มีโอกาสเข้ามาแข่งขันในตลาดได้อย่างเท่าเทียม และ (3) ประเทศ ที่เปิดกว้างส่งเสริมการแข่งขันจะทำให้ทุกคนเก่งขึ้น การเปิดให้มีการแข่งขันมากขึ้นอย่างในภาคบริการและภาคการเงินจะช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจในประเทศปรับปรุงตัว เพื่อสินค้าที่ดีขึ้น เร็วขึ้น และถูกลง"
และ ดร.สกนธ์ได้ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า "ในวันที่พลวัตการทำธุรกิจเปลี่ยนไป สิ่งที่น่ากังวลคือ ความเข้มแข็งของการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ เพราะยังขาดบุคลากรด้านเศรษฐศาสตร์และกฎหมายอีกมาก ประเทศต้องสร้างพื้นฐานและสร้างความเข้าใจให้สถาบันการศึกษาเร่งสร้างบุคลากรในด้านเหล่านี้ ขณะเดียวกัน นอกจากการกำกับดูแลแล้ว ต้องสร้างความเข้าใจเรื่องการแข่งขันทางการค้าในหน่วยงานรัฐ ให้คำนึงว่า นโยบายที่ออกมาจะช่วยสร้างบรรยากาศในการแข่งขัน หรือสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบหรือไม่"