การเงินเพื่อความยั่งยืน
The Rise of ESG and Green Finance
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2019 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเน้นเรื่องการนำแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนมาใช้ในภาคการเงินไทย และย้ำเตือนให้เห็นความสำคัญของประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) ที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงทางการเงินได้ ภายในงานครั้งนี้ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้บริหารระดับสูงจากสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการเงินและการธนาคารเพื่อความยั่งยืน
BOT พระสยาม MAGAZINE ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ในวงการการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2 ท่านที่เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ คือ Dr. Ma Jun, Chairman, Green Finance Committee of China Society for Finance and Banking และ Director of Research Center for Green Finance Development, Tsinghua University และ Ms. Jeanne Stampe, Head of Asia Sustainable Finance, World Wide Fund for Nature (WWF) ทั้งสองท่านนำเสนอมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัจจัยแห่งความสำเร็จและความท้าทายของการขับเคลื่อนการเงินสีเขียวและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง
4 เสาหลัก การเงินสีเขียว
Dr. Ma Jun กล่าวว่า ภาคการเงินที่มีความยั่งยืน หรือ Sustainable Green Finance ประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่
1. มาตรฐาน (Standard) ต้องมีการให้คำนิยามที่ชัดเจนว่า กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคืออะไร เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อาทิ พันธบัตรสีเขียว สินเชื่อสีเขียว การลงทุนสีเขียวจะได้ถูกจัดสรรไปยังกิจกรรมที่ถูกต้อง
ในประเทศจีน หน่วยงานกำกับดูแลภาคการธนาคารได้ออกประกาศคำนิยามสินเชื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใน 12 หมวดหมู่ที่แตกต่างกัน โดยให้นิยามกิจกรรมที่จะได้รับการสนับสนุนจากสินเชื่อสีเขียว นอกจากนี้ ยังมีแค็ตตาล็อกพันธบัตรสีเขียว ซึ่งประกาศโดย China's Green Finance Committee ที่ระบุถึงกิจกรรม 31 หมวดที่ควรได้รับการสนับสนุนจากพันธบัตรสีเขียว และแค็ตตาล็อกโครงการสีเขียว ซึ่งประกาศโดย National Development and Reform Commission ครอบคลุมโครงการสีเขียวถึง 200 หมวดหมู่
"มาตรฐานและคำนิยามเหล่านี้ ทำให้ตลาดการเงินและสถาบันการเงินสามารถจัดสรรทุนไปยังกิจกรรมที่ถูกต้องได้อย่างแม่นยำมากขึ้น หากปราศจากคำนิยาม อาจมีคนอ้างว่าตนเองได้ทำเรื่อง การลงทุนสีเขียว และกลายเป็นการฟอกเขียว[1]" Dr. Ma อธิบาย
2. การเปิดเผยข้อมูล (Disclosure) ต้องแน่ใจได้ว่า บริษัทที่ได้รับเงินสีเขียวจะดำเนินกิจกรรมสีเขียวจริง โดยให้เปิดเผยข้อมูลวัตถุประสงค์การลงทุน รวมถึงเปิดเผยว่าการลงทุนนี้จะสร้างผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร เช่น ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดน้ำเสีย ลดการบริโภคพลังงานและน้ำไปเท่าใด และข้อกำหนดเหล่านี้ ต้องกลายเป็นข้อบังคับมากขึ้น
Dr. Ma กล่าวว่า "ผมคิดว่า เทรนด์โลกจะเคลื่อนไปสู่ข้อกำหนดกึ่งบังคับให้เปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ในประเทศจีนได้ออกประกาศ Roadmap เรื่องข้อบังคับการเปิดเผยข้อมูลสำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายใน ค.ศ. 2020 ส่วนผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ กระทรวงสิ่งแวดล้อมได้ออกประกาศข้อบังคับเรื่องการเปิดเผยข้อมูลแล้ว"
3. แรงจูงใจ (Incentive) โครงการสีเขียวบางโครงการมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมก็จริง แต่อาจไม่ได้สร้างผลตอบแทนที่เพียงพอ รัฐบาลจึงต้องสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้ Dr. Ma เสริมว่า ธนาคารกลางจีนได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ Re-lending Facility for Green โดยได้ส่งมอบเงินทุนต้นทุนต่ำ (Low-cost Funding) ผ่านธนาคารพาณิชย์ไปยังโครงการสีเขียว และรัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งได้นำเสนอการอุดหนุนดอกเบี้ย (Green Interest Subsidies) และการค้ำประกัน (Green Guarantee) เพื่อช่วยลดต้นทุนสำหรับสินเชื่อโครงการสีเขียว ทั้งหมดนี้เพื่อดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนมากขึ้น
4. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ (Sweet Product) ความต้องการที่หลากหลายของภาคเศรษฐกิจจริง เช่น บางโครงการต้องการสินเชื่อระยะสั้นที่เป็นเงินทุนหมุนเวียนจากระบบธนาคาร บางโครงการต้องการเงินทุนระยะยาวจึงมีการสร้างตลาดพันธบัตรสีเขียว บางโครงการต้องการเงินทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้จึงมีหุ้นนอกตลาดและการร่วมลงทุนสีเขียว (Green Private Equity and Venture Capital) รวมถึงผู้ลงทุนสถาบันบางรายต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีสภาพคล่องมาก จึงมีการพัฒนาตราสารหนี้สีเขียว และระบบซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก
Standardized System จุดเริ่มต้นการเงินสีเขียว
"สำหรับประเทศที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งระบบการเงินสีเขียวที่ยั่งยืน ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ การกำหนดมาตรฐานที่จะเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเปิดเผยข้อมูล และการนำเสนอแรงจูงใจที่เหมาะสม ดังนั้นผมสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาเร่งลงมือเรื่องกำหนดมาตรฐานที่เรียกว่า การพัฒนาอนุกรมวิธานสีเขียว (Green Taxonomy) หรือการจำแนกหมวดหมู่สำหรับกิจกรรมสีเขียว จีนและสหภาพยุโรปได้จัดทำอนุกรมวิธานนี้แล้ว และในระดับโลกเอง ก็ต้องการอนุกรมวิธานเช่นกัน บางประเทศอาจเป็นผู้นำในการจัดทำ บางประเทศอาจนำของประเทศอื่นไปปรับใช้"
Dr. Ma กล่าวทิ้งท้ายว่า การเสริมสร้างขีดความสามารถเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากสำหรับธนาคารพาณิชย์ เพราะการพิจารณาสินเชื่อสีเขียวรายการหนึ่งต้องใช้ข้อมูลจำนวนมาก และใช้เวลานาน ทางลัดหนึ่งที่จะมาช่วยได้คือ การพัฒนาความสามารถของระบบอัตโนมัติ ในประเทศจีน ธนาคารขนาดใหญ่ทุกแห่งมีระบบภายในที่ช่วยจัดหมวดหมู่กิจกรรมสีเขียว ทำรายงานสินเชื่อสีเขียว และประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน สำหรับธนาคารขนาดเล็กที่ขาดแคลนความสามารถและเป็นเรื่องยากที่จะลงทุนจำนวนมหาศาลด้านนี้ บางแห่งได้นำระบบบริหารการเงินสีเขียวแบบมาตรฐาน (Green Finance Management System) มาใช้ โดยมีการนำร่องทดลองใช้ในบางภูมิภาคของจีนแล้ว ระบบดังกล่าวสามารถตรวจสอบข้อมูลคำขอสินเชื่อและพิจารณาได้ว่า เป็นสินเชื่อสีเขียวหรือไม่ รวมทั้งสามารถประเมินและรายงานผลกระทบด้านดีต่อสิ่งแวดล้อม การมีระบบที่มีมาตรฐานนี้จะช่วยเพิ่มความแม่นยำและความรวดเร็วมากขึ้น
7 ส่วนผสมของการเงินเพื่อความยั่งยืน
Ms. Jeanne Stampe กล่าวว่า ความสำเร็จของการเงินที่ยั่งยืน มาจากปัจจัยสำคัญ 7 ประการ ได้แก่
1. การให้คำมั่นของคณะกรรมการและผู้บริหารขององค์กร (Board and Leadership Commitment) เพื่อกำหนดทิศทางจากระดับบริหาร ให้มั่นใจว่าคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงมีส่วนความรับผิดชอบในเรื่องความยั่งยืนร่วมกับพนักงานในองค์กร ทั้งนี้ ธนาคารต้องผนึกรวมประเด็นความยั่งยืนเข้าไปในแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการอย่างเป็นทางการ โดยระบุ ในข้อกำหนดและขอบเขตของงาน สำหรับคณะกรรมการ ตลอดจนกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบที่ชัดเจนของผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร
2. การเข้าถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย (Multi-stakeholder Approach) เพื่อให้แน่ใจว่าธนาคารมีความเข้าใจในความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่นของธนาคาร (Resilience) ตลอดจนผลกระทบที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการได้รับข้อมูลเชิงลึกจากองค์กรที่อิงวิทยาศาสตร์และสถาบันการศึกษา
3. การนำหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานเชิงวิทยาศาสตร์มาใช้ในการกำหนดนโยบายและเป้าหมาย (Use of Science-based Standards and Target) เพื่อสร้างกรอบนโยบายที่รัดกุม รวมทั้งบริหารพอร์ตสินเชื่อและการลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายที่จะปกป้องทุนทางธรรมชาติ (Natural Capital) และควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส
4. การเสริมสร้างขีดความสามารถของคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานธนาคาร (Capacity Building) ให้เข้าใจประเด็นเรื่องความยั่งยืนอย่างแท้จริง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บุคลากรสามารถนำไปประกอบการประเมิน และบริหารความเสี่ยง รวมทั้งพิจารณาโอกาสทางธุรกิจ
5. การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ (Effective Communication) ภายในองค์กรและกับลูกค้า เพื่อให้แน่ใจว่าทุกฝ่ายมีความเข้าใจ และยอมรับกลยุทธ์และค่านิยมเรื่องความยั่งยืน Ms. Stampe กล่าวว่า "เมื่อผู้จัดการด้านลูกค้าสัมพันธ์ได้รับการฝึกอบรมและพัฒนาความสามารถ พวกเขาจะสามารถสื่อสารและทำงานร่วมกับลูกค้า โดยส่งเสริมลูกค้าเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่แนวทางของความยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจให้แก่ธนาคารเพิ่มขึ้น"
6. การสร้างนวัตกรรม (Innovation) เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ช่วยขับเคลื่อนเงินทุนและสร้างผลลัพธ์ที่ทุกฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ (Win-Win Outcomes) และเปิดโอกาสให้ธนาคารสามารถเข้าถึงเงินทุนในรูปแบบต่าง ๆ จากภาครัฐ โดยที่ธนาคารซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการประเมินและการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนออกแบบโครงสร้างผลิตภัณฑ์ สามารถพัฒนาความเชี่ยวชาญเหล่านี้เพื่อผลักดันแนวปฏิบัติไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
7. การกำหนดกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับ (Regulation) เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความเท่าเทียม ส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูล และนำปัจจัยด้านความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมดูแลภาคธุรกิจ การเงินและการธนาคารโดยรวม ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ธนาคารที่ปรับตัวช้าดำเนินการให้สินเชื่อกับกิจกรรมที่ทำลายทุนทางธรรมชาติ และสร้างความเสี่ยงให้กับระบบการเงินในวงกว้าง
"ปัจจัยทั้ง 7 ประการนี้ จะช่วยส่งเสริมให้หนทางสู่ความสำเร็จของการเงินที่ยั่งยืนดำเนินไปอย่างราบรื่น และสร้างความยืดหยุ่นและยั่งยืนในภาคการธนาคารซึ่งส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้นด้วย" Ms. Stampe กล่าวสรุป
การปกป้องทุนทางธรรมชาติและการทำ ESG ในภาคการธนาคาร
การตระหนักถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น มีความสำคัญ เช่นเดียวกับความเสี่ยงจากทุนทางธรรมชาติ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจและเศรษฐกิจของโลกต่างต้องพึ่งพาทุนทางธรรมชาติทั้งสิ้น เมื่อทุนทางธรรมชาติเสื่อมสภาพลงจากการกระทำที่ไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืน ผลกระทบเหล่านั้นก็ย่อมย้อนกลับมายังมนุษย์
การวิเคราะห์ด้าน ESG จะช่วยให้ธนาคารเข้าใจจุดแข็งและความยืดหยุ่นของรูปแบบธุรกิจของลูกค้าที่มีต่อความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือจากทุนทางธรรมชาติ
"หากธนาคารไม่คำนึงถึงเรื่อง ESG นั่นหมายความว่า ธนาคารเองกำลังสูญเสียผลประโยชน์และโอกาสในการเติบโต ในทางตรงกันข้าม หากธนาคารให้ความสำคัญและพิจารณาเรื่อง ESG ในทุกกระบวนการ ธนาคารจะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจและผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ได้ เช่น การออกพันธบัตรสีเขียว พันธบัตรสีฟ้า และสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืน"
จากที่กล่าวมานี้ เห็นได้ว่า หากภาคการเงินไม่ช่วยกันผลักดันและส่งเสริมภาคธุรกิจอื่น ๆ ให้สามารถรับมือกับวิกฤติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในรูปแบบที่สอดคล้องกับสังคมคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืน ภาคการเงินคงไม่มีช่องทางการลงทุนที่เพียงพอ เพื่อจะกระจายความเสี่ยง นอกจากนี้ ผลกระทบที่มีต่อระบบการผลิตอาหาร พลังงาน น้ำ ตลอดจนประสิทธิภาพการทำงานที่ต่ำลง ล้วนส่งผลเสียต่อความสามารถในการทำกำไรและผลตอบแทน จากการลงทุนของภาคการเงินอีกด้วย
[1] การฟอกเขียว (Greenwashing) คือ การทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาสินค้าหรือองค์กรให้มีภาพลักษณ์ว่ารับผิดชอบต่อสังคมโดยการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น