บ่มเพาะธุรกิจไปกับ Incubator และ Accelerator ไทย
ท่ามกลางการเติบโตของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด ส่งผลให้มีผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ ๆ หรือ สตาร์ทอัป (Startup) เกิดขึ้นมากมาย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกสตาร์ทอัปจะประสบความสำเร็จได้ ในขณะที่บางสตาร์ทอัปมีความพร้อมที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจแล้ว บางแห่งอาจเริ่มต้นจากไอเดียเจ๋ง ๆ และรอคอยตัวช่วย “บ่มเพาะ” เมล็ดพันธุ์แห่งไอเดียนี้ให้งอกเงย จนเติบโตเป็นต้นกล้าธุรกิจที่มั่นคง ก่อให้เกิดผลกำไรที่ยั่งยืน ซึ่งสิ่งที่จะตอบโจทย์และช่วยประคับประคองบรรดาสตาร์ทอัปเกิดใหม่เหล่านี้ได้ คือ Incubator และ Accelerator นั่นเอง BOT พระสยาม MAGAZINE ขอพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับเทรนด์ Incubator และ Accelerator รวมถึงแนะนำโครงการ F13 ศูนย์ทดสอบและพัฒนาฟินเทคสตาร์ทอัปในไทย
หลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับเทรนด์การจัดตั้งโครงการบ่มเพาะธุรกิจใหม่ในต่างประเทศกันมาบ้างแล้ว และอาจยังสับสนว่า Incubator และ Accelerator เป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ทั้งสองประเภทคือโครงการเพื่อส่งเสริมให้สตาร์ทอัปประสบความสเร็จ แต่จริง ๆ แล้วมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง
สรุปง่าย ๆ ได้ว่า “Incubator” คือ โครงการ “บ่มเพาะ” ธุรกิจที่ให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่สตาร์ทอัปตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นไอเดียให้เกิดรูปแบบธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่ “Accelerator” คือ โครงการสนับสนุนสตาร์ทอัปที่เน้น “เร่ง” อัตราการเติบโตและเพิ่มมูลค่าธุรกิจที่มีอยู่แล้ว และมักดำเนินการภายในกรอบเวลาที่สั้นกว่า Incubator อย่างไรก็ดี โครงการสองประเภทนี้ ถือเป็นพี่เลี้ยงให้กับสตาร์ทอัปทั้งคู่ แต่ต่างกันที่ลักษณะการดำเนินงานและการให้ความสนับสนุน
ปัจจุบัน บริษัทชั้นนำรายใหญ่ ๆ ทั้งในต่างประเทศและไทยต่างก็มี Incubator และ Accelerator เป็นของตัวเอง สำหรับในต่างประเทศ ที่รู้จักกันมาก คือ Silicon Valley ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและบ่มเพาะนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้ยังมีโครงการ MAGIC ของรัฐบาลประเทศมาเลเซีย โครงการ Level 39 ในประเทศอังกฤษ และศูนย์ Station F ในประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น สำหรับในไทยเอง ก็มีอยู่หลายโครงการในหลายภาคธุรกิจ รวมทั้งภาคการเงินด้วย อาทิ โครงการ Digital Ventures (DVA) ของธนาคารไทยพาณิชย์ โครงการ DTAC Accelerate ของ DTAC โครงการ AIS the StartUp ของ AIS โครงการ PTT Expresso ของ ปตท. และโครงการ F13 ของสมาคมฟินเทคประเทศไทย
F13: The FinTech Hub of Thailand
ศูนย์ทดสอบและพัฒนาฟินเทคแห่งชาติ (โครงการ F13) จัดตั้งขึ้นโดยคุณกรณ์ จาติกวณิช ประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย และคุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ อุปนายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย โดยโครงการตั้งอยู่ที่ชั้น 13 ตึก KX (Knowledge Exchange) เพื่อเป็นแหล่งทดสอบและพัฒนาบริการฟินเทค รวมถึงพัฒนาบุคลากรฟินเทคให้มีความรู้ความสามารถ และพร้อมแข่งขันในตลาดฟินเทคที่ท้าทายได้
บนพื้นที่กว่า 300 ตารางเมตร ผู้ประกอบการสามารถใช้พื้นที่ของ F13 เป็นสถานที่ทำงาน (Co-working Space) สำหรับพัฒนาและต่อยอดสตาร์ทอัป โดยทางโครงการได้จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ (Infrastructure) ระบบไอทีสมัยใหม่ อาทิ ระบบ Cloud Computing และระบบ API สำหรับเชื่อมการทำงานบนเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงให้บริการการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่สำคัญ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการฟินเทคได้เข้าถึงเทคโนโลยีในระดับโลก โดย F13 ทำหน้าที่เป็น Mentor ให้กับสตาร์ทอัปที่เข้าร่วมโครงการ และเป็นตัวกลางในการประสานและเชื่อมโยง (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการกับนักลงทุน (Venture Capital) Accelerator ธนาคาร สถาบันการเงิน รวมถึงหน่วยงานผู้กำกับดูแลอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เพื่อให้กระบวนการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ มีความสะดวกและง่ายมากขึ้น
ผู้ประกอบการสามารถสมัครเป็นรายบุคคลหรือกลุ่มบุคคลก็ได้ โดยอาจจะมีเพียงไอเดียพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปต่อยอดทำได้จริง หรืออาจจะมีผลิตภัณฑ์แล้ว แต่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ ได้ และต้องการพัฒนาขั้นตอนการทำงานให้ดีขึ้น หรือต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและการจดทะเบียน เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละปี โครงการ F13 จะจัดงาน National FinTech Competition เพื่อคัดเลือกผู้เข้าประกอบการเข้าร่วม National FinTech Sandbox ของโครงการ สำหรับปี 2561 ที่ผ่านมา โครงการ F13 ได้เปิดตัว F13 Batch 1 ประกอบด้วยฟินเทคสตาร์ทอัปจำนวน 13 ทีม ซึ่งผ่านโปรแกรมการอบรมจากทางสมาคมฟินเทคประเทศไทย รวมถึงได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ในด้านอุตสาหกรรมฟินเทค โดยสตาร์ทอัป 7 ทีมแรกได้มีโอกาสนำเสนอโครงการของแต่ละทีมต่อหน้าคณะกรรมการ ผู้มีชื่อเสียงในวงการสตาร์ทอัป และผู้เข้าชมทั่วไปในวัน Demo Day เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของทีม ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า โครงการนี้มีประสิทธิภาพในการผลักดันอุตสาหกรรมฟินเทคในไทยให้แข่งขันในตลาดโลกได้ ทั้งนี้ สมาคมฯ มุ่งหวังจะพัฒนาอุตสาหกรรมฟินเทคซึ่งเป็น Mega Trend ของอุตสาหกรรมการเงินโลก ภายใต้สโลแกน Transforming Finance for All