​บ่มเพาะต้นไม้ใหญ่

แตกกิ่งใบทางเศรษฐศาสตร์การเงินอย่างยั่งยืน

ทำไมต้องเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์? หลายคนอาจรู้สึกว่า เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องซับซ้อนและไกลตัว เพราะการขึ้นลงของค่าเงินบาทและการเพิ่มลดอัตราดอกเบี้ยคงไม่กระทบตัวเองเท่าไหร่ แต่แท้จริงแล้ววิชาเศรษฐศาสตร์อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด เพราะในทุกวันเรามักต้องตัดสินใจอยู่เสมอว่า จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น เงิน เวลา ให้มีค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร ลองนึกดูว่า จะดีแค่ไหนถ้าคนไทยสามารถนำแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ไปปรับใช้ให้เหมาะกับสาขาอาชีพของตนเองได้ และจะดีแค่ไหนถ้าเยาวชนไทยมีความรู้ความเข้าใจในระดับพื้นฐาน เพื่อปรับใช้ในชีวิตประจำวันและการต่อยอดประกอบอาชีพในอนาคต


ศูนย์บริการวิชาการเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้และได้ริเริ่มโครงการ "อบรมเศรษฐศาสตร์สำหรับครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษาระดับมัธยมศึกษา" ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2539 สำหรับปี 2562 เป็นปีแรกที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมสนับสนุนการจัดโครงการด้วย เพื่อมุ่งเสริมสร้างความรู้ของครูให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจทางเศรษฐศาสตร์ต่อนักเรียนและชุมชนต่อไปองค์ความรู้ภายในโครงการแต่ละปีจะมีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย และเท่าทันกับบริบททางเศรษฐกิจการเงินและสังคมใหม่ ๆ เพื่อให้ครูส่งต่อความรู้สู่เยาวชนไทยที่จะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศ

ตลอดระยะเวลาการอบรม 4 วัน (วันที่ 15 - 18 ตุลาคม 2562) ณ ศูนย์การเรียนรู้ ธปท. ครูจากโรงเรียนทั่วประเทศจำนวน 110 คน ได้รับการเสริมทักษะความรู้ความเข้าใจด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งระดับจุลภาค และมหภาค เศรษฐกิจการเงิน บทบาทหน้าที่ของ ธปท. ตลอดจนการวางแผนทางการเงินและการใช้บริการทางการเงิน โดยคณาจารย์รุ่นใหม่และผ้ทูรงคุณวุฒิจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึง ผู้เชี่ยวชาญจาก ธปท. ผ่านรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการบรรยายกิจกรรมเวิร์คช็อป และการเยี่ยมชมนิทรรศการภายในศูนย์การเรียนรู้ ธปท. ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการเห็นว่า เป็นโครงการที่มีประโยชน์ และควรจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          นอกจากผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับความรู้และประสบการณ์ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์แล้ว โครงการนี้ยังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนมุมมองในการสอนวิชาสังคมและเศรษฐศาสตร์ และเป็นการสร้างเครือข่ายครูที่จะมีการต่อยอดองค์ความรู้ระหว่างกันต่อไปในอนาคต โดยมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การสร้างเยาวชนไทยให้มีความรู้ความเข้าใจด้านเศรษฐศาสตร์และมีภูมิคุ้มกันทางการเงินมากขึ้นอันจะเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตและเป็นกำลังสำคัญของประเทศ