เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กับอนาคตของภาคธุรกิจไทย
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia: SEA) ถือได้ว่าเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือมากที่สุดในโลก ซึ่งจากข้อมูลผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 360 ล้านคนในภูมิภาค พบว่าร้อยละ 90 เป็นผู้ใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก จะเห็นว่าทุกวันนี้ ผู้คนใช้ชีวิตผ่านโลกออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การดูหนังฟังเพลง การสนทนากับเพื่อนและครอบครัว การซื้อของออนไลน์ รวมไปถึงการสั่งอาหารออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติทั่วไป จึงไม่น่าแปลกใจที่เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต (internet economy) หรือที่เรียกว่าเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) จะเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจหลายรายมองเห็นศักยภาพในการแข่งขัน รวมถึงความท้าทายและโอกาสในภูมิภาคนี้
BOT พระสยาม MAGAZINE ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ คุณเอพริล ศรีวิกรม์ รักษาการ Country Manager Google Thailand ที่จะมาเล่าถึงผลการศึกษาจากรายงาน 2019 e-Conomy SEA Report ซึ่งจัดทำโดยบริษัท Google Temasek และ Bain & Company เพื่อศึกษาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในภาพรวม และชี้ให้เห็นโอกาสในการแข่งขันที่มาพร้อมความท้าทายแบบใหม่ ๆ
โอกาสทองของธุรกิจไทย (Big Opportunity)
คุณเอพริลกล่าวว่า ภายในปี 2568 คาดว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตไปถึง 3 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. และสำหรับประเทศไทย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วใกล้เคียงกับประเทศเวียดนาม
“การชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัล (digital payment) เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค เราได้ผ่านจุดเปลี่ยนสำคัญ (inflection point) กันมาแล้ว วันนี้บริการเรียกรถออนไลน์ (ride hailing) รวมถึงบริการส่งอาหาร (food delivery) และอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และได้เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคไปแล้วจริง ๆ”
การชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลเปรียบเหมือนประตูแรกที่เปิดให้คนก้าวไปสู่โลกแห่งบริการทางการเงินออนไลน์ ซึ่งบริการทางการเงินจะยังมีพื้นที่ให้เติบโตอีกมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการให้บริการสินเชื่อ การลงทุน และประกันภัย ซึ่งเป็นธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น
“สำหรับการทำธุรกิจสินเชื่อดิจิทัล การลงทุน และประกันภัยในภูมิภาคนี้ อัตราการเติบโตในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมากกว่าร้อยละ 20 ต่อปี โดยตัวที่มองว่ามีโอกาสเยอะที่สุด คือ ธุรกิจการให้บริการสินเชื่อ เพราะผู้เล่นต่าง ๆ จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) เพื่อคำนวณความน่าเชื่อถือทางการเงิน (credit worthiness) ได้แม่นยำมากขึ้น” คุณเอพริลกล่าว
ทว่าหากมองภาพรวมในปัจจุบัน อัตราการเข้าถึงบริการทางการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังอยู่แค่เพียงร้อยละ 50 ซึ่งนับว่ายังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมหาศาล “เรามองว่ากลุ่มที่จะขับเคลื่อนการเติบโตหลักไปสู่ปี 2568 คือกลุ่มที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเต็มที่ (underbanked) เพราะในอนาคตจะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในระบบนิเวศเพิ่มขึ้น ซึ่งมีจุดแข็งและความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภคที่แตกต่างและหลากหลายมากขึ้น” คุณเอพริลอธิบาย
ผู้เล่น 4 กลุ่มในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน
คู่แข่งในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินมีความหลากหลายและกระจายตัวมากขึ้น โดยแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ (1) ผู้ให้บริการทางการเงิน (financial service players) เช่น ธนาคาร บริษัทประกันภัย ธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค บริษัทบริหารความมั่งคั่ง และบริษัทที่ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ (2) บริษัทฟินเทค (pure-play FinTechs) เช่น บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินเชื่อ การชำระเงิน กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ประกันภัย และ data analytics (3) แพล็ตฟอร์มเทคโนโลยีผู้บริโภค (consumer tech platforms) เช่น บริษัทที่ทำธุรกิจคอนเทนต์และโซเชียลมีเดีย บริการเรียกรถออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ และค่ายระบบโทรศัพท์มือถือ (4) ผู้เล่นที่ทำธุรกิจผู้บริโภค (consumer players) เช่น บริษัทโทรคมนาคม ร้านค้าปลีก และสายการบิน
คุณเอพริลกล่าวว่า ในระบบนิเวศดังกล่าว เส้นที่เคยแบ่งผู้เล่นทั้ง 4 ประเภทถูกลบออกไป โดยจะเห็นความร่วมมือระหว่างผู้เล่นต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มธุรกิจใกล้เคียงและข้ามกลุ่มที่จับมือเป็นพันธมิตรกัน โดยอาศัยจุดแข็งของผู้เล่นแต่ละราย อาทิ ธนาคารจับมือกับ consumer tech platform เพื่อเชื่อมต่อบริการต่าง ๆ เข้าไปในชีวิตประจำวันของลูกค้า โดยธนาคารเองมีจุดแข็งตรงที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าและมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
ในขณะเดียวกัน ธนาคารเองก็อยู่ในช่วงที่ต้องยกระดับสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการเข้าแข่งขันในธุรกิจการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน เพื่อออกแบบบริการต่าง ๆ ให้ผู้บริโภคใช้งานง่ายขึ้นและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากที่สุด เพราะโลกยุคปัจจุบัน ผู้บริโภคมีตัวเลือกจำนวนมาก พร้อมด้วยความคาดหวังที่สูงมากเช่นกัน สำหรับบริษัทฟินเทคพบว่า จะเลือกให้บริการทางการเงินที่ตัวเองมีความเชี่ยวชาญในรูปแบบดิจิทัล เพื่อสร้างประสบการณ์ผู้บริโภคแบบเฉพาะสำหรับบริการนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสินเชื่อ หรือการออกแบบโปรแกรมช่วยวางแผนการเงิน (robo-advisors) เป็นต้น
ผู้ชนะในตลาดคือใคร?
คุณเอพริลกล่าวเสริมว่า “ในผู้เล่นทั้ง 4 ประเภท ไม่จำเป็นว่าผู้เล่นประเภทใดประเภทหนึ่งจะชนะเสมอไป ในปี 2568 เราจะเห็นผู้นำที่มาจากทุกหมวด แต่สิ่งสำคัญที่สุดในอนาคต คือผู้ชนะจะต้องเป็นคนที่ครอบครองความสัมพันธ์ของผู้บริโภค (customer-gatekeeper relationship) ได้มากที่สุด ผู้บริโภคในที่นี้คือ ลูกค้าและผู้ค้า โดยดูได้จาก 3 มุมมอง คือ
(1) ใครคืออันดับหนึ่งในใจ (top of minds)
(2) ส่วนแบ่งเวลา (share of time) คือ มีการเข้าไปใช้บ่อยแค่ไหน และจะขยายการให้บริการอย่างไรเพื่อให้ผู้บริโภคยังอยู่ในแพลตฟอร์มนั้น และ
(3) ส่วนแบ่งความไว้วางใจ (share of trust)
ถ้ามี 3 สิ่งนี้แล้ว คนอื่นก็ลอกเลียนได้ยาก”
แม้ความสำเร็จของผู้เล่นแต่ละรายประกอบด้วยหลายปัจจัย แต่สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างได้ยั่งยืนที่สุด คือ การเป็นอันดับหนึ่งในใจและได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า “ฉะนั้น เราจะเห็นความร่วมมือของธนาคารกับ consumer tech platform มากขึ้น เพราะว่าจุดเด่นของเขาคือมีการเข้าถึงผู้บริโภค มีข้อมูลของผู้บริโภคเพื่อนำไปใช้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (insight) และการแบ่งส่วนตลาด (segmentation) ของธนาคาร ซึ่งจะช่วยให้ภาคการเงินเข้าถึงโอกาสที่อยู่ในกลุ่ม underbanked”
กลุ่ม SMEs ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
สำหรับกลุ่ม SMEs ยังเป็นกลุ่มที่เข้าถึงบริการทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่า SMEs จะก้าวเข้ามาสู่เศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการรับชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัล แต่ก็ยังต้องการตัวช่วยในการขยายธุรกิจ จากการสำรวจในรายงานฉบับนี้พบว่า ประมาณร้อยละ 80 ของ SMEs มีความต้องการขอสินเชื่อ แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน เนื่องจากข้อมูลประวัติสินเชื่อที่เป็นทางการของกลุ่ม SMEs มีอยู่จำกัดมาก หรือแทบไม่มีข้อมูล จึงต้องอาศัยการสร้างโมเดลประเมินคุณภาพสินเชื่อใหม่บนฐานข้อมูลที่หาได้จากโลกดิจิทัลและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นในการทดลอง และสร้างโมเดลเหล่านั้นในการพิจารณาให้สินเชื่อ
บทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลในอนาคต
คุณเอพริลกล่าวว่า บทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลในการพัฒนาระบบนิเวศของบริการทางการเงินดิจิทัลควรมี 3 องค์ประกอบดังนี้ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เช่น โครงการ National Digital ID เครดิตบูโรที่มีประสิทธิภาพ การยืนยันตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) สนามทดลองฟินเทค (Sandbox) (2) การสนับสนุนเงินทุนเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม (3) การสร้างแรงจูงใจที่จะส่งเสริมการใช้บริการทางการเงินดิจิทัล
“การเน้นย้ำอย่างต่อเนื่องถึงความสำคัญของการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง (financial inclusion) เป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าเรามุ่งเน้นการเข้าถึงบริการทางการเงินที่แท้จริง เราต้องเปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามา ในขณะที่ผู้เล่นรายเดิมในตลาดต้องพยายามนำเสนอสิ่งใหม่และบริการใหม่ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น” คุณเอพริลกล่าวทิ้งท้าย