BOT-IMF High-Level Conference

Emerging Markets in the New Normal


 

 

 

 

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) จัดงานสัมมนา BOT-IMF High-Level Conference ในหัวข้อ “Emerging Markets in the New Normal: Dealing with Rising Domestic Leverage and the International Financial Cycles” และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับ Ms. Kristalina Georgieva กรรมการจัดการ (Managing Director: MD) ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่ท่านเดินทางมาปฏิบัติภารกิจภายหลังการเข้ารับตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของ IMFฃ

 

ในงานสัมมนาครั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางในภูมิภาค ผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญจากวงการวิชาการได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองในการดำเนินนโยบายการเงินรวมถึงนโยบายดูแลและป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบ (macroprudential policy) เพื่อรับมือกับปัญหาระดับหนี้ที่สูงขึ้นท่ามกลางวัฏจักรการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบและตัดสินใจนโยบายของธนาคารกลาง ขณะเดียวกัน IMF ได้เปิดมุมมองการดำเนินนโยบายของประเทศในภูมิภาค รวมถึงข้อกังวลของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจแบบเปิดขนาดเล็ก (small open economy) ที่มักเผชิญกับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยมุ่งหวังว่าการให้คำแนะนำเชิงนโยบายของ IMF ในระยะข้างหน้าจะคำนึงถึงข้อจำกัดที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กต้องเผชิญมากขึ้น


หลักความยั่งยืนกับความท้าทายในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงิน

 


งานสัมมนาเริ่มต้นด้วยรายการสนทนาพิเศษ (fireside conversation) ระหว่าง MD Georgieva และ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ในหัวข้อ Sustainability Thinking & Macroeconomic and Financial Challenges” เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องความยั่งยืนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินท่ามกลางความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นจากหลายปัจจัย อาทิ ผลของการดำเนินนโยบายในประเทศเศรษฐกิจหลักที่ส่งผลมาสู่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Economies: EMEs) ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้สะท้อนถึงความสำคัญของการดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบและสอดคล้องกันมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการขยายตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจโลก

 

MD Georgieva ให้ความเห็นต่อเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนว่า นอกเหนือจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก อาเซียนยังต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ (1) ระดับการพัฒนาที่หลากหลายภายในภูมิภาค ยกตัวอย่างเช่น ระดับทุนมนุษย์ (human capital) ซึ่งสะท้อนถึงความจำเป็นในการลดความแตกต่างเชิงเศรษฐกิจและสังคมในอาเซียน และ (2) อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความเปราะบางสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง MD Georgieva มองว่าเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดต่อสังคมในปัจจุบัน

 

ผู้ว่าการ ธปท. ได้เสริมว่า โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกที่อยู่นอกเหนือการควบคุมมากขึ้น โดยสำหรับกลุ่มประเทศ EMEs มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 3 ประการคือ (1) เราอยู่ในโลกที่ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือมากขึ้น(2) เป้าหมายและกรอบเวลาในการดำเนินนโยบายที่แตกต่างกัน ระหว่างธนาคารกลางที่เน้นการรักษาเสถียรภาพในระยะยาว กับนโยบายประชานิยมที่อาจให้น้ำหนักกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นมากกว่า และ (3) สภาวะตลาดการเงินโลกที่มีสภาพคล่องส่วนเกินในระดับสูง ทำให้วัฏจักรของภาคการเงินและเศรษฐกิจจริงไม่สอดคล้องกัน เห็นได้จากระดับราคาสินทรัพย์และอัตราแลกเปลี่ยนที่ถูกขับเคลื่อนโดย flows ของเงินมากกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

 

ท่ามกลางความท้าทายข้างต้น MD Georgieva กล่าวว่า การนำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาปรับใช้ในการทำหน้าที่ของ IMF เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนรุ่นหลัง เช่น การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ (low carbon economy) โดยอยู่ระหว่างการศึกษาประสิทธิภาพของภาษีคาร์บอน (carbon tax) เพื่อช่วยทดแทนภาษีที่เก็บจากบุคคล นอกจากนี้ ได้ยกย่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเชื่อมโยงกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเพิ่มหลักการที่สำคัญ 3 ด้าน คือ จริยธรรม (ethics) คุณค่า (values) และคุณธรรม (virtues) โดยมุมมองดังกล่าวสอดคล้องกับผู้ว่าการ ธปท. ที่เสริมว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นแนวทางที่ ธปท. ให้ความสำคัญมาโดยตลอดเช่นกัน อีกทั้งยังสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักคิดทางพุทธศาสนา ประกอบด้วย (1) รู้จักพอประมาณ เมื่อใดที่เศรษฐกิจร้อนแรงเกินพอดี จำเป็นต้องถอนการกระตุ้น (2) มีเหตุมีผล ในการดำเนินนโยบายที่ตรงจุด ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบ และ (3) สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต อาทิ มีทุนสำรองในระดับเหมาะสม และดูแลระดับหนี้ครัวเรือนไม่ให้สูงจนเกินไป


ความท้าทายสำคัญของกลุ่มประเทศ EMEs

 


ในงานสัมมนานี้ ยังมีการเสวนาย่อยอีก 3 หัวข้อสำคัญ ได้แก่ หัวข้อแรก Practical Lessons in Addressing High Private Debt” ชี้ถึงภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ต้นทุนการก่อหนี้ต่ำทำให้เกิดปัญหาหนี้สูงในหลายประเทศ ประกอบกับงานศึกษาของ IMF พบว่า ปัจจุบันตลาดการเงินโลกมีโครงสร้างหนี้ที่เปลี่ยนไป สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพโดยรวมมากกว่าหนี้ภาคธุรกิจ ทั้งนี้ จากประสบการณ์ของหลายประเทศชี้ว่ามาตรการเชิงป้องกันจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้มาตรการแก้ไขผ่านกระบวนการทางกฎหมาย อย่างไรก็ดี ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีของประเทศกลุ่ม EMEs ในการดึงสภาพคล่องส่วนเกินมาสู่การลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผ่านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

~


หัวข้อที่ 2 “Macro Policy Response to the International Financial Cycle” ผู้ร่วมเสวนาชี้ว่า แนวคิดและกรอบวิเคราะห์ของระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมอาจใช้ในทางปฏิบัติได้ไม่ดีนัก ซึ่งกลุ่ม EMEs ได้เรียกร้องให้ IMF ทำความเข้าใจและให้ความสำคัญกับปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะด้านอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้ากลุ่ม EMEs อย่างมหาศาล ธนาคารกลางจำเป็นต้องมีนโยบายที่ยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง IMF ได้พยายามพัฒนากรอบแนวคิด Integrated Policy Framework เพื่อส่งเสริมความเข้าใจการผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายที่หลากหลายเพื่อรองรับความเสี่ยงในกรณีต่าง ๆ

 

หัวข้อที่ 3 “The Nexus Between Monetary and Macroprudential Policy” ผู้ร่วมเสวนามองว่า นโยบายการเงินมีผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง และมีผลข้างเคียงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน ในขณะที่มาตรการดูแลความเสี่ยงเชิงระบบสามารถช่วยดูแลความเปราะบางเฉพาะจุดได้ จึงควรพิจารณาผสมผสานการใช้นโยบายการเงินและมาตรการดังกล่าวให้เหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องเข้มงวดหรือผ่อนคลายไปในทิศทางเดียวกันเสมอไป แต่ผลของการดำเนินนโยบายควรส่งเสริมกันและกัน โดยต้องคำนึงถึงระยะเวลาการส่งผ่าน ตลอดจนขอบเขตและข้อจำกัดของแต่ละนโยบาย และมาตรการในการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินและเสถียรภาพของเศรษฐกิจในภาพรวม


การสนทนากับเยาวชน (Conversation with Youth)

 

 

 

นอกจากงานสัมมนาซึ่งเป็นกิจกรรมหลักแล้ว เยาวชนไทยระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษากว่า 200 คน ยังได้มีโอกาสรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างใกล้ชิดกับ MD Georgieva ในหัวข้อ “Achieving Sustainable Growth” โดยมีผู้ว่าการ ธปท. เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งน้อง ๆ ได้สอบถามประเด็นที่น่าสนใจและน่านำไปคิดต่อหลายประเด็นด้วยกัน สรุปได้ดังนี้

 

Q: อยากให้เล่าถึงบทบาทของ IMF ต่อเศรษฐกิจโลก

 

MD Georgieva: IMF เปรียบเสมือนเครดิตยูเนียน (credit union) ของโลก บทบาทในการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินโลกและการให้คำแนะนำในการดำเนินนโยบายก็เปรียบเสมือนหน้าที่ของหมอที่ช่วยจับชีพจรและตรวจสุขภาพของประเทศสมาชิก ในปัจจุบัน ประชากรโลกกว่า 700 ล้านคนยังมีฐานะยากจนและไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ดังนั้น บทบาทที่สำคัญของ IMF อีกด้านคือ การให้คำแนะนำเชิงนโยบายที่คำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ในแง่มุมของสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย อาทิ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการเข้าสู่สังคมสูงวัย นอกเหนือจากคำแนะนำเชิงนโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาคเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่ดีอย่างยั่งยืน

 

 

Q: เราจะรับมือกับผลกระทบจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (disruptive technology) และระบบเครื่องจักรอัตโนมัติ (automation) ที่จะส่งผลต่อการจ้างงานในทุกอุตสาหกรรมทั่วโลกอย่างไร

 

MD Georgieva: การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีวิวัฒนาการยาวนานมาตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม เพียงแต่ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วมาก การจะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและดูแลผู้เสียประโยชน์ รวมถึงป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานที่เหมาะสมผ่านโครงการพัฒนาทักษะแรงงาน การลงทุนในการศึกษาเด็กตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

 

 

 

 

Q: ธนาคารกลางและ IMF จะมีบทบาทในการดูแลผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจได้อย่างไร เนื่องจากภาคการเงินมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในด้านนี้

 

MD Georgieva: ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อประชากรโลกกว่าพันล้านคน และไม่ใช่ปัญหาที่ประเทศใดเพียงประเทศหนึ่งจะแก้ไขได้ ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญและร่วมกันแก้ปัญหา โดย IMF สามารถมีส่วนร่วมใน 3 มิติ คือ (1) การให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินนโยบายการคลัง ซึ่งผลการศึกษาล่าสุดของ IMF พบว่า การเก็บภาษีคาร์บอนเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการผลักดันให้อุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ (2) การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในเครือข่าย Network for Greening the Financial System (NGFS) ที่ประกอบด้วยธนาคารกลาง 46 แห่ง และองค์กรอีก 8 แห่ง เพื่อร่วมผลักดันให้ระบบการเงินสามารถรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการสร้างมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน ซึ่งรวมถึงข้อมูลการใช้คาร์บอน และกรอบการประเมินความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมต่อสถาบันการเงิน และ (3) การจัดทำมาตรฐานการออกพันธบัตรสีเขียว (green bond) เพื่อรับรองพันธบัตรที่ลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมความเข้าใจของนักลงทุน

 

 

 

 

Q: การบริหารจัดการปัจจัยด้านการเมืองที่กระทบต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการค้าอย่างมาก โดยเฉพาะสงครามการค้า นักเศรษฐศาสตร์ควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจการดำเนินนโยบายเหล่านี้อย่างไร

 

MD Georgieva: การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศมหาอำนาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ประเทศเศรษฐกิจแบบเปิดขนาดเล็ก รวมถึงไทย ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามการค้า เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจแบบเปิดไม่สามารถผลิตสินค้าทุกอย่างเองได้ และจะเสียผลประโยชน์มากที่สุดจากสงครามการค้า ในทางกลับกัน ประเทศเหล่านี้ควรสนับสนุนและสร้างโอกาสทางการค้ากับประเทศอื่น ๆ ผ่านการเปิดเสรีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาเซียนเป็นแบบอย่างที่ดีในสร้างความร่วมมือกับอีก 6 ประเทศ จัดตั้งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดในโลกในขณะนี้

 

ในช่วงท้าย MD Georgieva ได้ให้ข้อคิดว่า ปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาทิ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หาใช่หน้าที่ของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว ทุกคนควรร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ซึ่งการตัดสินใจทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับตัวเรา สำหรับผู้ดำเนินนโยบายควรขับเคลื่อนเศรษฐกิจในขณะที่คำนึงถึงอนาคตและผลกระทบต่อคนรุ่นหลังด้วย โดยกล่าวทิ้งท้ายว่า “อย่ารีรอที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้น เพราะมันจะสายเกินไป” (Don’t wait, because when you wait, you will be late!)


ทำความรู้จักกับ Kristalina Georgieva กรรมการจัดการคนใหม่

 

 

 

 

Ms. Georgieva นักเศรษฐศาสตร์ชาวบัลแกเรีย วัย 66 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ จาก University of National and World Economy ถือเป็นสุภาพสตรีคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่ได้นั่งเก้าอี้กรรมการจัดการ IMF และเป็นผู้แทนจากประเทศตลาดเกิดใหม่คนแรกที่ได้รับตำแหน่งดังกล่าว โดยประเด็นที่ให้ความสำคัญ ได้แก่ นโยบายด้านการศึกษาและพัฒนาทุนมนุษย์ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงบทบาทของภาคการเงินในสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

ที่ผ่านมา Ms. Georgieva มีประสบการณ์การทำงานที่โดดเด่นในเวทีโลกและองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง ทั้งการดำรงตำแหน่ง CEO ของธนาคารโลก (World Bank Group) และรักษาการในตำแหน่งประธานธนาคารโลก (Interim President of the World Bank Group) เป็นเวลา 3 เดือน รวมถึงเคยมีบทบาทสำคัญในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission Vice President)


บทบาทและความสำคัญของ IMF

 

ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2487 จากการประชุม United Nations Monetary and Financial Conference หรือที่รู้จักกันดีในนามของ Bretton Woods Conference โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีสมาชิก 189 ประเทศ โดยประเทศที่สมัครเป็นสมาชิก IMF จะต้องเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติก่อน เมื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิก IMF แล้ว ประเทศสมาชิกจะได้รับจัดสรรโควตาซึ่งกำหนดตามขนาดเศรษฐกิจและความสำคัญของแต่ละประเทศเทียบกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งจำนวนโควตานี้ใช้เป็นหลักอ้างอิงในการกำหนดสิทธิออกเสียงของสมาชิกในประเด็นต่างๆ และกำหนดวงเงินที่ประเทศสมาชิกจะสามารถขอกู้จาก IMF ได้

 

มีบทบาทหลัก 3 ด้าน ได้แก่ (1) การสอดส่องดูแลเศรษฐกิจ โดยรวบรวมข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเพื่อนำมาประเมินภาพรวมภาวะเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก (2) ความช่วยเหลือทางการเงิน สำหรับประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินเพื่อช่วยฟื้นฟูเสถียรภาพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านโครงการเงินกู้ประเภทต่าง ๆ และ (3) ความช่วยเหลือทางวิชาการ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศสมาชิกในการกำหนดและดำเนินนโยบายด้านต่าง ๆ ผ่านหลักสูตรฝึกอบรมและสัมมนาที่สถาบันฝึกอบรมของ IMF ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และในแต่ละภูมิภาค