ในทศวรรษหน้า แม้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของเรามากมาย แต่อีกแง่หนึ่ง ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย เช่น พฤติกรรมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ธุรกิจทั้งขนาดเล็กและใหญ่ รวมถึงรูปแบบการทำงานและสาขาอาชีพในอนาคตอีกด้วย

 

คำถามคือ ในอนาคตจะมีงานประเภทไหนที่มนุษย์จะสามารถทำได้ หรือทำได้ดีกว่า? เพื่อหาคำตอบให้กับเรื่องนี้ องค์กรสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมของสหราชอาณาจักร (Nesta) ได้ร่วมมือกับ Oxford Martin School จากสหราชอาณาจักร ศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสาขาอาชีพในอนาคต โดยในงานวิจัยปี 2560 ชื่อ “The Future of Skills Employment in 2030” พบว่า “อาชีพที่คาดว่าจะมาแรงในทศวรรษหน้า” ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์หรือทักษะทางสังคม รวมถึงการออกแบบ งานที่เกี่ยวกับดิจิทัลและวิศวกรรมก็มีแนวโน้มที่จะไปได้ดี รวมไปถึงงานสถาปัตยกรรมสีเขียวก็จะได้รับความสนใจมากขึ้นจากกระแสความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

 

ส่วน “อาชีพที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะหายไป” นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่มีลักษณะการทำซ้ำ ๆ เช่น งานด้านการผลิตอุตสาหกรรม เสมียน ผู้ที่ทำงานธุรการ และอาชีพในธุรกิจค้าปลีกอย่างพนักงานขายหรือแคชเชียร์ นั่นก็เพราะเทคโนโลยีในอนาคตจะสามารถทำงานที่ใช้ทักษะระดับต่ำหรือระดับกลางแทนคนได้

 

อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนทำงาน เราควรพัฒนาทักษะที่จำเป็นและพร้อมที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านความรู้ (hard skills) หรือทักษะด้านอารมณ์ (soft skills) เพื่อให้เท่าทันกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งงานวิจัยยังชี้ว่า ทักษะที่จำเป็นในยุคหน้า ประกอบด้วย ทักษะการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล (interpersonal skill) การตัดสินใจ (judgment and decision making) การเรียนรู้แบบใฝ่รู้ (active learning) การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน (complex problem solving) และทักษะในการเสนอความคิดอย่างคล่องแคล่ว (fluency of ideas)

 

สุดท้ายแล้ว งานวิจัยดังกล่าวได้ให้ข้อคิดว่า ทักษะและอาชีพของคนไม่จำเป็นจะต้องตายตัว เราสามารถออกแบบอาชีพที่ใช้ทักษะของเราผสมผสานกับผลิตผลจากเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในงานหรืออาชีพนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่าหุ่นยนต์จะสามารถสร้างสะพานหรือวินิจฉัยโรคให้มนุษย์ได้ แต่มนุษย์เป็นผู้มีความสามารถที่โดดเด่นเฉพาะตัวในการออกแบบสะพานให้สวยงาม หรือการดูแลใส่ใจเด็กที่ป่วยได้ ดังนั้น เราควรจะสร้างสมดุลระหว่างทักษะของมนุษย์กับเทคโนโลยีเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด