พร้อมรับมือกับมาตรฐานใหม่ TFRS9
วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ (Subprime Mortgage Crisis) ในปี 2551 ส่งผลให้กิจการและสถาบันการเงินหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาล้มละลายและปิดตัวไปในที่สุด ผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าวขยายตัวเป็นวงกว้างจนกลายเป็นวิกฤติทางการเงินโลก (Global Financial Crisis) หลายหน่วยงานจึงได้มีการทบทวนและปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เท่าทันต่อความเสี่ยงในการทำ.ธุรกิจของสถาบันการเงิน โดยทำให้สถาบันการเงินมีการกันเงินสำรองที่เพียงพอ รวดเร็ว และทันการณ์ ทำ.ให้ประชาชน นักลงทุน และผู้ใช้งบการเงินของสถาบันการเงินสามารถประเมินความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น
หนึ่งในมาตรการเหล่านั้นคือ การปรับปรุงมาตรฐานการบัญชีสำหรับเครื่องมือทางการเงิน (International Financial Reporting Standards: IFRS) โดยในปี 2557 คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (International Accounting Standards Board: IASB) ได้ออกมาตรฐานการรายงานทางการเงินกลุ่มเครื่องมือทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงินหรือที่เรียกกันว่า IFRS 9 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในระดับสากลเมื่อปี 2561
สำหรับประเทศไทย สภาวิชาชีพบัญชี (Thailand Federation of Accounting Professions : TFAC) ได้เริ่มบังคับใช้ IFRS 9 หรือ TFRS 9 (Thai Financial Reporting Standards 9) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการรายงานทางการเงินฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับงบการเงินของกิจการในไทยให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ย่อมส่งผลกระทบต่อกิจการที่มีเครื่องมือทางการเงิน เช่น เงินลงทุน เงินให้สินเชื่อ ตราสารอนุพันธ์ ซึ่งรวมถึงสถาบันการเงินด้วย BOT พระสยาม MAGAZINE จึงขอสรุปหลักการ เนื้อหา และผลกระทบของมาตรฐานดังกล่าว รวมถึงความพร้อมของสถาบันการเงินไทยในการถือปฏิบัติตามมาตรฐาน TFRS9
ปรับ 3 หลักการสำคัญ เพื่อสะท้อนความเสี่ยงของกิจการ มาตรฐาน TFRS 9 ได้ปรับปรุงหลักการและวิธีการบัญชีสำหรับเครื่องมือทางการเงินให้สะท้อนฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานที่แท้จริงของกิจการมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1. การจัดประเภทและการวัดมูลค่าของสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงิน (classification and measurement)
มาตรฐานการบัญชีเดิมกำหนดให้พิจารณาการจัดประเภทและการวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินจากวัตถุประสงค์ของการถือครอง แต่มาตรฐาน TFRS 9 กำหนดให้พิจารณาจากรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (business model) และลักษณะของกระแสเงินสดที่จะได้รับ (cash flow characteristics) นอกจากนี้ ยังกำหนดให้จัดประเภทและวัดมูลค่าหนี้สินทางการเงินด้วยวิธี amortized cost1 เพิ่มเติมจากมาตรฐานการบัญชีเดิมอีกด้วย
2. การรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน (impairment) หรือการกันเงินสำรอง มาตรฐานใหม่กำหนดให้พิจารณากันเงินสำรองให้ครอบคลุมถึงความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (Expected Loss: EL) โดยพิจารณาจากข้อมูลทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และใช้แบบจำลองในการประมาณ
ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss: ECL) ตามการจัดสถานะหรือชั้นสินทรัพย์ รวมถึงได้กำหนดวิธีการคำนวณเงินสำรองขึ้นใหม่ด้วย
3. การบัญชีป้องกันความเสี่ยง (hedge accounting) เป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจากมาตรฐานเดิมและเป็นทางเลือกที่กิจการสามารถเลือกนำมาถือปฏิบัติได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงผลกระทบที่เกิดจากกิจกรรมการบริหารความเสี่ยงของกิจการที่ใช้เครื่องมือทางการเงินในการจัดการฐานะเปิดที่เกิดขึ้นจากความเสี่ยงนั้น ๆ ในงบการเงิน โดยมาตรฐาน TFRS 9 ได้ปรับให้ยืดหยุ่นขึ้น โดยสามารถใช้ป้องกันความเสี่ยงเพียงบางส่วนได้สำหรับกิจการที่เลือกใช้การบัญชีป้องกันความเสี่ยงต้องกำหนดระดับประสิทธิผลของการป้องกันความเสี่ยงระหว่างรายการที่มีการป้องกันความเสี่ยง (hedge item) และเครื่องมือที่ใช้ป้องกันความเสี่ยง (hedging instrument) โดยต้องจัดทำเอกสารระบุกลยุทธ์ ความสัมพันธ์ของการป้องกันความเสี่ยง วัตถุประสงค์ ลักษณะของความเสี่ยงที่จะป้องกัน และวิธีการประเมินประสิทธิผลของการป้องกันความเสี่ยงนั้น
ผลกระทบต่อการแสดงรายการในงบการเงิน
นอกจากมาตรฐาน TFRS 9 จะเปลี่ยนแปลงหลักการที่สำคัญในการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าแล้ว ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการแสดงรายการบางรายการในงบการเงิน เช่น สินทรัพย์/หนี้สินทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยราคายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และกำไรขาดทุนอื่น ๆ ที่เกิดจากการวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรม รวมถึงจะมีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการวัดมูลค่าสินทรัพย์ หนี้สิน และการกันเงินสำรองที่อาจเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งจะทำให้อัตราส่วนทางการเงินบางรายการเปลี่ยนแปลงด้วย เช่น (1) เปลี่ยนแปลงจาก Special Mention (SM) ratio เป็น stage 2 ratio ซึ่งอาจมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้น เนื่องจากขอบเขตการนับลูกหนี้ใน stage 2 กว้างกว่าการนับลูกหนี้ในรูปแบบเดิม (2) Net Interest Margin (NIM) อาจมีจำนวนสูงขึ้น เนื่องจากการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยจากส่วนที่คาดว่าจะได้รับคืนของลูกหนี้ NPL ที่ตามหลักเกณฑ์เดิมให้หยุดรับรู้เมื่อเป็นลูกหนี้ NPL อย่างไรก็ดี ส่วนที่รับรู้รายได้เพิ่มของ NPL นี้จะมีการตั้งสำรองเต็มจำนวน
การเตรียมความพร้อมของสถาบันการเงิน
มาตรฐานใหม่นี้จะกระทบต่อกิจการที่ต้องถือปฏิบัติ เช่น กิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งสถาบันการเงิน แต่ไม่รวมกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Non-Publicly Accountable Entities: NPAEs) ที่ต้องปรับกระบวนการทำงาน ระบบงาน การเก็บรวบรวมข้อมูลและการจัดทำฐานข้อมูล การจัดทำแบบจำลอง (model) การใช้ดุลยพินิจและนโยบายต่าง ๆ ทำให้กิจการที่ต้องถือปฏิบัติตามมาตรฐาน TFRS 9 ต้องใช้เวลาในการปรับตัวค่อนข้างมาก ดังนั้น ที่ผ่านมา เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อม สภาวิชาชีพบัญชีได้ร่วมกับผู้สอบบัญชี สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องผลักดันการนำ TFRS 9 ไปใช้ ทำการศึกษาหลักการผลกระทบวิเคราะห์ปัญหาในทางปฏิบัติ ตลอดจนเตรียมความพร้อม และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 โดย ธปท. ได้มีการสื่อสารและชี้แจงต่อสาธารณชน รวมทั้งสำรวจผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินและออกมาตรฐานการบัญชีและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในช่วงปลายปี 2561 ด้านสถาบันการเงินได้ทดลองคำนวณเงินสำรองตาม TFRS 9 (parallel run) แล้วในช่วงปี 2562
จากการสำรวจและติดตามความพร้อมของสถาบันการเงินมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า ระบบสถาบันการเงินมีความพร้อมทั้งด้านระบบงาน ฐานข้อมูล บุคลากร และปริมาณเงินสำรองเพียงพอรองรับการถือปฏิบัติตามมาตรฐาน TFRS 9 และพร้อมที่จะก้าวสู่การนำมาใช้ในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ
การที่ประเทศไทยได้เริ่มถือปฏิบัติตามมาตรฐาน TFRS 9 ทำให้กล่าวได้ว่าประเทศไทยได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศอย่างครบถ้วน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ไทยเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุน มีมาตรฐานการบัญชีที่เทียบเคียงได้ในระดับสากล รวมทั้งงบการเงินมีความน่าเชื่อถือ โปร่งใสตามมาตรฐานสากล