​ภารกิจแก้หนี้คนไทยน

สู่รากฐานการเงินที่ยั่งยืน

 

 

จากสถิติตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และข้อมูลสำคัญที่ทำให้ชวนคิด คือ คนไทยเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย เป็นหนี้จำนวนมากและนานขึ้น แม้แต่วัยเกษียณอายุก็ยังมีหนี้สูง ซึ่งสะท้อนถึงภาวะความเปราะบางของภาคครัวเรือนไทย และนำไปสู่ปัญหาในการดำรงชีวิตและเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้และเมื่อเป็นหนี้ล้นพ้นตัวแล้ว BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับนี้ขอเชิญชวนผู้อ่านมารับฟังมุมมองดี ๆ จากตัวแทน 4 สายงานกับภารกิจแก้หนี้ครัวเรือนไทยเพื่อการธนาคารที่ยั่งยืน

ก่อนเป็นหนี้ ต้องป้องกัน

 

 


วิธีป้องกันให้คนไทยห่างไกลหนี้ที่ดีที่สุด คือการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดี ตัวแทนจากฝ่ายงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ นิค - นิรัชรา ปัญญาจักร ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงินอธิบายว่า “สิ่งที่ ธปท. ทำไม่เพียงส่งเสริม ‘ความรู้’ ทางการเงินเท่านั้น แต่ยังเน้นการสร้าง ‘ทักษะ’ ทางการเงินที่ดีแก่ประชาชนด้วย แม้ว่าการสร้างความรู้ การปรับทัศนคติ และพฤติกรรม จะไม่ใช่การแก้หนี้ที่ทำแล้วจะเห็นผลทันที ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนค่อนข้างมาก แต่ก็ยังเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้คนไทยสามารถสร้างความมั่นคงให้ตัวเองและครอบครัว ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน

 

 

“คงจะดีไม่น้อยหากเรามี ‘ชีวิตที่ปลอดหนี้’ คือใช้จ่ายได้ตามกำลังที่หาเงินมาได้ มีอิสระ สามารถจัดการเงินได้โดยไม่มีแรงกดดันจากภาระหนี้ใด ๆ แต่ในความเป็นจริงน้อยคนที่จะทำได้เช่นนั้น เพราะโดยส่วนใหญ่เรามักจับจ่ายเพื่อขยับขยายให้ชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างน้อยก็อาจกู้เงินซื้อบ้าน ซื้อรถ ซึ่งตามหลักแล้วไม่ควรมีหนี้เกิน 1 ใน 3 ของรายได้ ยกตัวอย่างหากเรามีเงินเดือน 24,000 บาทและต้องจ่ายหนี้มากถึง 2 ใน 3 ของรายได้ คือเดือนละ 16,000 บาท และเราจะเหลือใช้จ่ายเพียงเดือนละ 8,000 บาทเท่านั้น แม้ว่าอาจจะใช้จ่ายได้อย่างพอดิบพอดี แต่ก็จะไม่มีโอกาสสร้างเงินออมเผื่อฉุกเฉิน และเมื่อเกิดเหตุที่จำเป็นต้องใช้ เราก็อาจจะต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นอีก เป็นการกู้หนี้ใหม่ไปใช้หนี้เก่า วนไปอยู่อย่างนั้น

 

“ดังนั้นหากเรา ‘มีหนี้...ในระดับที่จัดการไหว’ คือไม่เกิน 1 ใน 3 ของรายได้ ก็จะเป็นอีกทางที่ทำให้เรามีเงินเหลือพอที่จะสร้างความมั่นคง และมีความเป็นอยู่ที่ดีได้”

 

 

 

เริ่มเป็นหนี้ ที่เกินจะจัดการไหว

 


เมื่อลูกหนี้จำนวนมากเริ่มเป็นหนี้ที่เกินจะจัดการไหว หรือมีเงินใช้แบบเดือนชนเดือน ทำให้เกิดความกังวลตามมาว่าจะแบกรับภาระหนี้อย่างไร จะมีเงินเหลือเพียงพอใช้จ่ายหรือไม่ จนบางรายอาจหาทางออกด้วยการไปกู้เพิ่มเติมจากหนี้นอกระบบ หรือด้วยวิธีการอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดปัญหาทางสังคมได้ กาย - ก่อพงษ์ บุญยการ ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ผู้รับผิดชอบการติดตามและดูแลความเสี่ยงฐานะการเงินของภาคครัวเรือนไทยเล่าว่า “ธปท. ได้ติดตามการให้สินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงินให้เป็นไปอย่างเหมาะสม โดยดูจากสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) และการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ด้านอื่น ๆ ผ่านข้อมูลสินเชื่อปล่อยใหม่ที่ให้แก่ภาคครัวเรือน รวมทั้งพยายามผลักดันให้สถาบันการเงินคำนึงถึงความเป็นอยู่ของครัวเรือน เมื่อเป็นหนี้ คือ หลังจ่ายค่าผ่อนชำระหนี้ทุกประเภท รายได้คงเหลือ ต้องเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพและรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้

 

" อย่างไรก็ดี การเป็นหนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากเป็นหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระ และเป็นหนี้ที่ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น หรือช่วยเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น เช่น การเป็นหนี้เพื่อลงทุนทำธุรกิจ หรือเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นและช่วยสนับสนุนการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจให้ดีขึ้นด้วย”

 

 

เมื่อหนี้สิน ล้นพ้นตัว


ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีความพยายามส่งเสริมทักษะ ความรู้ หรือการสร้างภูมิคุ้มกันมากเพียงใด สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ในปัจจุบันยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนที่เป็นหนี้ส่วนใหญ่มักถูกมองว่า เกิดจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือการขาดวินัยทางการเงินที่ดี แต่การได้มีโอกาสลงพื้นที่ของ ปุยฝ้าย - ปริยดา อาสยวชิร จากฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ทำให้ทราบว่า มีคนจำนวนไม่น้อยเป็นหนี้จากความจำเป็นที่เลี่ยงไม่ได้ บางรายต้องแบกรับภาระครอบครัว หรือเป็นหนี้จากความเจ็บป่วย และอุบัติเหตุกะทันหันที่ไม่คาดคิด ซึ่ง “ทีมคลินิกแก้หนี้” ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการดูแลแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและ SMEs ไทย ผ่านการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล สถิติ ประกาศ ธปท. และเกณฑ์ทางการที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะนำมาพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหา และผลักดันให้สถาบันการเงินให้ความร่วมมือช่วยเหลือลูกหนี้ ในอีกด้านก็หาแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ดี (ผ่อนชำระขั้นต่ำ) โดยส่งเสริมให้เกิดตลาดรีไฟแนนซ์ด้วย

“หากตกอยู่ในภาวะที่เป็นหนี้แล้ว การบริหารจัดการหนี้ที่ดี เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องตระหนัก ในเบื้องต้นคือการมีวินัย ชำระเงินเต็มจำนวน และตรงเวลาตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อป้องกันไม่ให้หนี้สินเพิ่มพูนขึ้นอีกจากเบี้ยปรับและค่าธรรมเนียม ซึ่งผู้ที่ต้องการปลดภาระหนี้สามารถมาปรึกษาที่ ‘คลินิกแก้หนี้’ ได้อีกทาง โดยหากเปรียบคลินิกแก้หนี้เป็นโรงพยาบาล การรักษาหรือยาก็คือ ผลประโยชน์และเงื่อนไขที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งนอกจากการให้ยารักษาแล้ว ยังเพิ่มการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนภูมิคุ้มกันทางการเงิน ผ่านการให้ความรู้ทางการเงินเพื่อส่งเสริมการออม เสริมสร้างวินัยและสุขภาพทางการเงินที่ดี เพื่อดูแลให้ผู้ที่ประสบปัญหาทางการเงินสามารถปลดหนี้ และกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ"

 

การธนาคารเพื่อความยั่งยืน

 

 

 

 

 

ภาคสถาบันการเงินสามารถขับเคลื่อนความยั่งยืนของประเทศด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี (Environmental, Social, and Governance: ESG) รวมถึงส่งผ่านแนวคิดนี้สู่ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยการสนับสนุนให้ลูกค้าภาคธุรกิจปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานให้เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจเพื่อความยั่งยืน เช่น พลังงานสะอาด นวัตกรรม และธุรกิจที่ไม่เสี่ยงต่อการคอร์รัปชัน เป้ง - ธรรมชาติ ธรรมประทีป ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน เล่าถึงบทบาทและประโยชน์ที่คนไทย จะได้รับจากการธนาคารเพื่อความยั่งยืน

 

“ธปท. ตั้งทีมการธนาคารเพื่อความยั่งยืนขึ้น เพื่อผลักดันให้สถาบันการเงินตระหนักถึงความสำคัญและดำเนินธุรกิจบนหลัก ESG ซึ่งจะช่วยให้ระบบสถาบันการเงินไทยสามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากปัญหาสำคัญต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และปัญหาการทุจริตของภาคธุรกิจ

 

“เมื่อแนวคิดนี้ถูกผนวกในวัฒนธรรมองค์กรและกระบวนการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินอย่างจริงจัง สังคมและธุรกิจก็จะได้รับประโยชน์มหาศาล โดยประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่โปร่งใสและเป็นธรรม ไม่ติดกับดักหนี้จากสินเชื่อที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้ผลกระทบที่ไม่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จากโครงการธุรกิจต่าง ๆ เช่น การปล่อยควันหรือน้ำเสียจากโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน และการเกิดฝุ่นพิษจากการเผาพื้นที่เกษตรกรรมก็จะลดลง ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และภาคธุรกิจได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าและนักลงทุน ซึ่งในท้ายที่สุดประเทศไทยก็จะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน”



 

>> ดาวน์โหลด PDF Version

 

>> อ่าน e-Magazine