การบริหารจัดการธนบัตรในสถานการณ์โควิด 19​

เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ได้เข้าสู่ภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) แล้ว หลังจากมีการติดต่อระหว่างบุคคลกระจายในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทั้งจากการใกล้ชิดกันและการสัมผัสสิ่งของที่ใช้งานร่วมกัน เนื่องจากธนบัตรเป็นสิ่งที่มีการส่งผ่านจากมือผู้จ่ายเงินไปสู่มือผู้รับเงินอย่างแพร่หลาย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้พยายามช่วยดูแลการใช้ธนบัตรของประชาชนเพื่อลดการแพร่กระจายเท่าที่ทำได้

 

ธนบัตรมีส่วนในการแพร่เชื้อจริงหรือไม่?

 

ไวรัสโควิด 19 แพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งผ่านฝอยละอองน้ำจากการไอจาม การสัมผัสถูกสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ ดังนั้น เราจึงมีโอกาสสูงที่จะได้รับเชื้อนั้น หากไปจับสิ่งของที่ผ่านมือมาจากผู้มีเชื้อไวรัส ไม่ว่าจะเป็นมือจับประตู ราวบันได ปุ่มลิฟต์ หนังสือพิมพ์ รวมถึงธนบัตรที่รับมาด้วย และเมื่อมือที่สัมผัสเชื้อไวรัสไปสัมผัสปาก ตา จมูก เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายได้

 

เชื้อไวรัสที่เกาะตามวัสดุสิ่งของมีโอกาสตายก่อนถึงมือเราหรือไม่?

 

จากบทความวิจัยใน Journal of Hospital Infection ของ Healthcare Infection Society ได้ศึกษาอายุของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่สามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวของสิ่งของต่าง ๆ โดยสรุปว่า เชื้อไวรัสสามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิววัสดุได้แตกต่างกัน อาทิ วัสดุที่เป็นไม้ แก้ว และกระดาษจะมีชีวิตเฉลี่ยอยู่ได้ประมาณ 4 - 5 วัน และอยู่บนพลาสติกได้นานที่สุด 9 วัน ขึ้นอยู่กับความชื้น อุณหภูมิ และสภาพแวดล้อม

 

สำหรับธนบัตรไทยซึ่งผลิตจากกระดาษใยฝ้าย 100% และผ่านการเคลือบด้วยฟิล์มบาง ๆ ก่อนจะนำมาพิมพ์ลวดลายและสีตามชนิดราคา ฟิล์มนี้มีคุณสมบัติเป็นพลาสติกประเภทหนึ่ง ด้วยความที่ข้อมูลกระบวนการทดลองอายุของเชื้อไวรัสนี้ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงสร้างของพลาสติกที่ใช้ทดสอบ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยจึงอนุมานว่า หากมีเชื้อไวรัสเกาะอยู่บนพื้นผิวธนบัตร ก็คาดการณ์ได้ว่า น่าจะมีชีวิตอยู่ได้สูงสุดประมาณ 9 วัน

 

การจัดการกลไกของวงจรธนบัตรจะมีส่วนช่วยอย่างไร?

 

ในวงจรธนบัตร ธนาคารพาณิชย์จะนำธนบัตรที่รับฝากจากประชาชนมาส่งเข้าบัญชีที่ฝากไว้กับ ธปท. ธนบัตรที่นำส่งนี้ หากมีสภาพเก่าจะเข้าสู่กระบวนการทำลาย ธนบัตรที่มีสภาพดีก็จะนำออกใช้หมุนเวียนต่อไป ซึ่งโดยภาวะปกติจะจัดเก็บประมาณ 3 - 5 วัน ก่อนที่ ธปท. จะนำออกใช้หมุนเวียนอีกครั้งโดยจ่ายให้กับธนาคารพาณิชย์

 

จากงานวิจัยข้างต้นเกี่ยวกับอายุของเชื้อไวรัสบนพื้นผิวกระดาษ ธปท. จึงมีมาตรการบริหารจัดการธนบัตรเพื่อดูแลปัญหาดังกล่าวให้สอดคล้องกับวงจรธนบัตร เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่อาจอยู่บนธนบัตรก่อนที่จะนำออกสู่มือประชาชน โดยตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นไป ธนบัตรที่ ธปท. รับฝากจากธนาคารพาณิชย์จะถูกแยกเก็บไว้เป็นเวลา 14 วันก่อนจะให้ธนาคารพาณิชย์มาเบิกเพื่อนำไปหมุนเวียนออกสู่มือประชาชน ซึ่งระยะเวลาเก็บจะนานกว่าอายุของเชื้อไวรัสที่สามารถมีชีวิตอยู่บนธนบัตรได้ เพื่อให้มั่นใจว่าเชื้อไวรัสตายและไม่แพร่กระจายเชื้อโรคสู่คนที่มาสัมผัส ส่วนธนบัตรสภาพเก่าจะเข้าสู่กระบวนการทำลายและจะถูกทดแทนด้วยธนบัตรสภาพใหม่เข้าสู่ระบบ

 

แม้ว่าระยะเวลาในการเก็บธนบัตรจะเป็นระยะเวลาที่ตรงกันกับการกักตัว (quarantine) 14 วันของผู้ที่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศเสี่ยง แต่มีแนวคิดที่แตกต่างกัน คือ กรณีของธนบัตรพิจารณาจากระยะเวลาที่เชื้อโรคตายเมื่ออยู่บนผิววัสดุ ขณะที่กรณีการกักตัวนั้นพิจารณาจากระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสเมื่อได้รับเชื้อ เพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลนั้นพ้นระยะฟักตัวแล้ว หรือหากปรากฏอาการไข้จะได้มีมาตรการดูแลต่อไปอย่างเหมาะสม

การแยกเก็บธนบัตรไว้เป็นเวลา 14 วัน เป็นการชะลอรอบการหมุนเวียนธนบัตร เสมือนการรอให้เชื้อไวรัสตายเอง ถึงแม้จะเป็นวิธีการที่ไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสผ่านธนบัตรได้อย่างเด็ดขาด แต่อย่างน้อยก็เป็นการผลัดเปลี่ยนให้มีธนบัตรที่สะอาดเข้าสู่ระบบ ชะลอการแพร่เชื้อ ช่วยให้ผู้รับธนบัตรในมือแรก ๆ ได้ใช้ธนบัตรที่สะอาดปลอดภัยต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงมือคนที่มีเชื้อไวรัส เช่นเดียวกับการทำความสะอาดบริเวณที่คนใช้ร่วมกัน เช่น การเช็ดปุ่มลิฟต์หรือราวบันไดสาธารณะทุกชั่วโมง ซึ่งในช่วงเวลาหนึ่งชั่วโมงนั้น หากมือที่สัมผัสเป็นคนไม่ติดเชื้อ คนต่อ ๆ ไปก็จะไม่ติดเชื้อ เป็นช่วงเวลาสะอาดจนกว่าจะมีมือของคนที่ติดเชื้อไปสัมผัส ดังนั้น แนวคิดของการ quarantine ธนบัตรก็เหมือนกับการเช็ดปุ่มลิฟท์ทุกชั่วโมงนั่นเอง

ธปท. มีมาตรการรองรับเพิ่มเติมอีกหรือไม่?

 

นอกจากการแยกเก็บธนบัตรไว้เป็นเวลา 14 วันแล้ว ธปท. ยังเห็นว่าควรเพิ่มปริมาณธนบัตรใหม่เข้าสู่ระบบให้มากขึ้นด้วย เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธปท. จึงได้ขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ให้เพิ่มสัดส่วนการเบิกธนบัตรชนิดราคา 500 บาท ซึ่งเป็นธนบัตรใหม่และมีปริมาณมากเพียงพอสำหรับการหมุนเวียนเข้าสู่ระบบ

 

สำหรับการดูแลพนักงานที่ปฏิบัติงานด้านเงินสดของ ธปท. ได้กำหนดมาตรการในการป้องกันและเฝ้าระวัง มีการตรวจคัดกรองก่อนการเข้าทำงาน การสวมหน้ากากอนามัยและจัดวางแอลกอฮอล์เจลในจุดที่สะดวกใช้ระหว่างการทำงาน การทำความสะอาดโดยการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคบริเวณการรับ – จ่ายธนบัตรทุกสัปดาห์ และการทำความสะอาดบริเวณพื้นที่สาธารณะหรือบริเวณที่มีการสัมผัสร่วมกันให้บ่อยขึ้น 

ประชาชนจะมีส่วนช่วยอย่างไรได้บ้าง?

ในช่วงนี้ขอให้ประชาชนระวังและดูแลตนเองให้ดี ควรติดตามข่าวสารจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ปฏิบัติตัวตามแนวทางที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขแนะนำและรณรงค์อย่างเคร่งครัด ได้แก่ หมั่นล้างมือ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น รับประทานอาหารที่ปรุงสุก และรักษาระยะห่างระหว่างกัน (social distancing)

 

ส่วนการดูแลธนบัตร เราไม่ควรพับและไม่กรีดธนบัตรให้เป็นรอย เนื่องจากบริเวณรอยพับจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ และหากมีธนบัตรสภาพเก่าหรือสกปรกสามารถนำไปแลกเปลี่ยนได้ที่ธนาคารพาณิชย์ หรือสามารถทำความสะอาดธนบัตรได้ด้วยตนเองเช่นเดียวกับการทำความสะอาดสิ่งของทั่วไป ได้แก่ การผึ่งแดด และการล้างด้วยน้ำยาทำความสะอาด เช่น การฉีดพ่นหรือเช็ดด้วยสเปรย์แอลกอฮอล์ ซึ่งไม่ทำให้ธนบัตรเสียหาย หมึกพิมพ์บนธนบัตรไม่ซีดจางจากกระบวนการดังกล่าว

 

นอกจากนี้ ประชาชนยังมีทางเลือกในการชำระเงินที่หลากหลายผ่าน digital payment ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางในการช่วยลดความเสี่ยงจากการสัมผัสธนบัตร ที่อาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อไวรัสได้

 

>> ดาวน์โหลด PDF Version

>> อ่าน e-Magazine