ลดเสี่ยง เพิ่มสุข
ด้วยเงินออมเผื่อฉุกเฉิน
สถานการณ์ปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญอยู่ ทั้งเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฝุ่น PM 2.5 หรือภาวะเศรษฐกิจซบเซา ล้วนส่งผลกระทบที่ทำให้ทุกคนไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสุขกายสบายใจเหมือนเคย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลทางตรง เช่น คนทำงานที่อาจมีรายได้ลดลงหรือคนที่ตกงานกะทันหัน ร้านอาหารที่มีลูกค้าจำนวนน้อยลง รวมไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่กังวลเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ของทุกคนในครอบครัว Financial Wisdom ขอแนะนำวิธีการลดความเสี่ยง เพิ่มความสุขในชีวิต ด้วยเครื่องมือสำคัญที่เรียกว่า “เงินออมเผื่อฉุกเฉิน”
เงินออมเผื่อฉุกเฉิน
คือ เงินออมก้อนแรกที่ทุกคนควรมี เพราะเป็นเงินที่สามารถนำมาใช้ได้หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และต้องใช้เงินโดยที่ไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า เช่น ตกงาน เจ็บป่วย หรือถ้าดูจากสถานการณ์ช่วงนี้ก็จะมีสิ่งที่หลายคนแทบจะไม่เคยคิดว่าต้องซื้อ ต้องใช้เพิ่มขึ้นมาหลายรายการ เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ อาหารแห้ง หรือประกันสุขภาพ หากเราไม่ได้เตรียมเงินเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไว้บ้าง หากเกิดเรื่องขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาวะของขาดตลาดและราคาปรับสูงขึ้น หรือคนในครอบครัวเจ็บป่วย ก็จะไม่มีเงินซื้อของที่จำเป็นหรือไปตรวจรักษาตามที่ควรจะทำ คิดจะหยิบยืมใครก็ไม่สบายใจ หากจะรูดบัตรเครดิตหรือกู้เงินจากธนาคารเพื่อนำมาใช้จ่ายในช่วงนี้ ก็คงต้องคิดให้ดีว่าหากตกงานกะทันหันก็จะทำให้เราไม่มีเงินเพียงพอจะชำระหนี้ เกิดเป็นปัญหาหนี้ตามมาให้ปวดหัวกันอีก ดังนั้น การมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินก็จะทำให้เรามีเงินสำรองมาใช้จ่ายเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน หรือนำมาใช้ซื้อสิ่งจำเป็นที่เราไม่ได้วางแผนไว้ได้ทันที
โดยปกติแล้วเงินออมเผื่อฉุกเฉินควรจะมีเริ่มต้นที่ 3 - 6 เท่าของรายจ่ายจำเป็นและภาระผ่อนหนี้ต่อเดือน ซึ่งในภาวะไม่ปกติ เช่น เศรษฐกิจถดถอย หรือโรคระบาดที่ยังไม่แน่นอนว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ก็ควรเก็บให้ได้มากกว่า 6 เท่า และหากอยากลองคำนวณเงินออมเผื่อฉุกเฉินที่ตัวเราเองควรมี ก็เริ่มต้นจากคำถามสองข้อคือ (1) ในหนึ่งเดือนเรามีค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น ค่าอาหาร ค่าเช่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ให้ครอบครัว และมีหนี้สินที่ต้องชำระแต่ละเดือนรวมทั้งสิ้นเท่าไร (2) หากตกงานหรือไม่สามารถทำงานได้ เราจะใช้เวลาในการหางานใหม่ได้ในเวลากี่เดือน
เมื่อตอบคำถามได้แล้ว ก็นำยอดเงินจากข้อที่ 1 มาคูณกับจำนวนเดือนในข้อที่ 2 ก็จะได้ยอดเงินที่เราต้องออมไว้เผื่อฉุกเฉิน นอกจากคำถาม 2 ข้อข้างต้น ก็ยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงอื่น ๆ ด้วย
ตัวอย่างที่ 1
สมหญิง พนักงานร้านอาหาร อยู่ตัวคนเดียว มีค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเช่าห้องรวมน้ำไฟ ส่งให้แม่ รวมทั้งสิ้น 12,000 บาทต่อเดือน ดังนั้น สมหญิงจึงต้องมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินจำนวน 36,000 บาท หรือคิดเป็น 3 เท่าของค่าใช้จ่ายจำเป็นและภาระผ่อนหนี้ต่อเดือน
สมชาย พนักงานร้านอาหาร มีค่าใช้จ่ายจำเป็นและภาระผ่อนหนี้ประมาณ 12,000 บาทต่อเดือนเหมือนสมหญิง แต่บ้านของสมชายอยู่ในเขตที่เคยน้ำท่วมหนัก เคยกู้เงินมาจ่ายค่าซ่อมแซมบ้านครั้งนั้นจำนวน 35,000 บาท ดังนั้น หากจะให้สมชายสำรองเงินเผื่อฉุกเฉินไว้ที่ 3 เท่าเหมือนสมหญิงอาจจะไม่เพียงพอ เขาจึงสำรองเงินเผื่อฉุกเฉินไว้ที่ 72,000 บาท หรือคิดเป็น 6 เท่าของรายจ่ายจำเป็นและภาระหนี้ต่อเดือน
เทคนิค 1 ลด 3 เพิ่ม
เมื่อทราบตัวเลขเงินออมเผื่อฉุกเฉินที่เหมาะกับตนเองแล้ว ก็ยังมีข้อแนะนำดี ๆ ในการออมเงินเผื่อฉุกเฉินให้อยู่หมัดกับเทคนิค 1 ลด 3 เพิ่ม ดังนี้
ลดรายจ่ายไม่จำเป็นมาเป็นเงินออม เช่น ลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน ลดการเสี่ยงโชค ตรวจสอบโปรโมชันโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่ว่าใช้คุ้มหรือไม่ เช่น ถ้าพบว่าเหลือนาทีในการโทร หรือเหลืออินเทอร์เน็ตอยู่มาก ก็ควรเลือกโปรโมชันใหม่ที่ถูกลง และคุ้มค่าตามการใช้งาน แล้วนำเงินที่ประหยัดได้มาเก็บออมในบัญชีเงินออมเผื่อฉุกเฉิน แม้จะครั้งละหลักสิบหลักร้อย แต่รวม ๆ แล้วหนึ่งปีก็เก็บได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
เพิ่มบัญชีเงินออมเผื่อฉุกเฉินโดยเฉพาะ เปิดบัญชีเงินออมเผื่อฉุกเฉินแยกออกจากบัญชีที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือจ่ายค่าสาธารณปูโภคตา่ง ๆ และต้องสามารถถอนมาใช้ได้ทันทีที่ต้องการ โดยอาจเลือกฝากในบัญชีออมทรัพย์ หรือบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงที่มีเงื่อนไขพิเศษ เช่น จำกัดจำนวนในการถอนต่อเดือน ซึ่งการแยกบัญชีจะทำให้เราไม่เผลอนำเงินออมมาใช้จ่าย สามารถจัดการเงินได้อย่างมีระบบมากขึ้น
เพิ่มรายการโอนอัตโนมัติหลังได้รับเงินเดือน เนื่องจากเงินออมเผื่อฉุกเฉินเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ไม่สามารถเก็บได้ในครั้งเดียว เราจึงต้องมีเทคนิคในการสะสมเงินออมเผื่อฉุกเฉินง่าย ๆ ด้วยการเพิ่มรายการโอนอัตโนมัติซึ่งทำได้จากแอปพลเิคชันใน mobile banking (หรือสอบถามธนาคารเพิ่มเติมสำหรับวิธีอื่น ๆ) ให้โอนเงินจากบัญชีเงินเดือนไปยังบัญชีเงินออมเผื่อฉุกเฉินทุกๆ เดือน โดยอาจเริ่มต้นที่ร้อยละ 10 ของเงินเดือน แล้วจึงค่อย ๆ ปรับตามความเหมาะสม วิธีนี้ จะทำให้เราได้ออมก่อนนำเงินไปใช้จ่าย และได้ทยอยสะสมเงินออมเผื่อฉุกเฉินจนครบตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้โดยที่ไม่ลำบากจนเกินไป
เพิ่มเงินคืนในบัญชีเงินออมเผื่อฉุกเฉินหลังใช้งาน เมื่อใช้เงินในบัญชีเงินออมเผื่อฉุกเฉินไปแล้ว ก็ต้องทยอยคืนให้เต็มตามจำนวนเดิม เพื่อให้พร้อมใช้งานเสมอ
การออมเงินเผื่อฉุกเฉิน คงจะเปรียบได้กับ สำนวนที่ว่า save for a rainy day เพราะเหตฉุกเฉินในชีวิตของเราก็เหมือนฝนตกหนักในวันที่เราไม่ได้เตรียมร่มมา เงินออมเผื่อฉุกเฉินก็จะแปลงร่างเป็น ร่มกันฝนในวันที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น การเจ็บป่วย การตกงาน และถึงแม้เหตุร้ายจะยังไม่เกิดขึ้น ในชีวิต แต่การมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินก็เป็นสิ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยง เพิ่มความสุขในวันร้าย ๆ โดยที่เราไม่ต้องตัวเปียกปอน หรือไม่ต้องยืมร่มใครในยามที่ต้องใช้งานจริง