​ชีวิตและธุรกิจที่ยั่งยืน

ผ่านมุมมองของนุ่น ศิรพันธ์

 

 

หากพูดถึงนักแสดงสาวมากความสามารถที่ตีบทแตกได้ในทุกบทบาททั้งละคร ซีรีส์ ภาพยนต์ ละครเวที จนคว้ารางวัลการันตีฝีมือการแสดงมาแล้วมากมายอย่าง นุ่น - ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ในวันนี้ เธอมีอีกหนึ่งบทบาทกับการเป็นนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเธอมองว่า ถ้าทุกคนไม่เริ่มทำอะไรตั้งแต่วันนี้ ก็อาจเสียโอกาสที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไปเลยก็ได้

 

จุดเริ่มต้น...ของความสนใจ

 

เมื่อได้เห็นดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงลุกขึ้นมารณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง บ่อยครั้งที่จะนึกตั้งคำถามว่าอะไรที่ทำให้พวกเขาทำเช่นนั้น คุณนุ่นเริ่มต้นเล่าว่า ก่อนจะมีโอกาสมาทำงานในกรุงเทพฯ อันแสนวุ่นวาย ในวัยเด็กเธอเติบโตมาท่ามกลางธรรมชาติที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใบหญ้าและพื้นที่สีเขียว ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ปลูกฝังให้เธอรักและสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หันมาเดินหน้าผลักดันเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง คือการได้พบกับคุณท็อป - พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร นักแสดงหนุ่ม ที่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นทั้งหุ้นส่วนของธุรกิจและหุ้นส่วนชีวิตของเธอ

 

“พี่ท็อปเป็นนักออกแบบที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เริ่มคุยกันเขาก็ชวนมาทำด้วยกัน โดยเริ่มจากการทำร้านขายสินค้าที่ออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมชื่อ Eco Shop Common พอมีความรู้มากขึ้น เจอคนที่สนใจเรื่องนี้เหมือนกันมากขึ้น จึงมาคิดว่าเราน่าจะทำอะไรได้ใหญ่กว่านั้น โดยเราตั้งใจจะทำธุรกิจ แต่ต้องเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน คือมีรายได้เพียงพอสำหรับคนในบริษัท มีกำไรที่ไม่ต้องมากแต่สมเหตุสมผล และเพียงพอให้เราทำเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไปได้ จึงเป็นที่มาของการเปิดบริษัท คิดคิด จำกัด ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้ว่านี่เรียกว่าเป็นกิจการเพื่อสังคม (social enterprise)”

 

ปรับอย่างเข้าใจ...จะเปลี่ยนได้อย่างยั่งยืน

 

ปัจจุบันบริษัท คิดคิด จำกัด ได้ให้บริการปรึกษาด้านพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้กับองค์กรต่าง ๆ มากมาย และได้ปล่อยแอปพลิเคชันสนุก ๆ ให้ประชาชนสามารถใช้ฟรีได้ อย่าง ECOLIFE ที่ช่วยให้การปฏิเสธการใช้พลาสติกเป็นเรื่องสนุก ผ่านการสะสมตัวการ์ตูนเพื่อแลกเป็นของรางวัลหรือส่วนลดจากร้านค้า

 

“การทำเรื่องสิ่งแวดล้อม คนส่วนใหญ่จะนึกถึงการปลูกต้นไม้ ปลูกป่าชายเลน ซึ่งเป็นเรื่องดีแต่อาจไม่เหมาะกับทุกคน วันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว เทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยให้การทำดีนั้นง่าย ใกล้ตัว และสนุกมากขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ยั่งยืนต้องไม่บังคับ แต่เราสามารถปรับวิธีให้ตรงกับความชอบของคนแต่ละกลุ่ม ดังนั้น ใครชอบสะสม เรามีเกม ใครชอบผลประโยชน์ เราก็มีการเก็บคะแนนเพื่อแลกของ นุ่นเชื่ออยู่ลึก ๆ ว่า พฤติกรรมที่เราแอบจูงใจนี้ สุดท้ายมันจะถูกซึมซับ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนได้”

 

 

จากการให้บริการมาเกือบสองปี วันนี้ ECOLIFE มีร้านค้าทยอยเข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 6,000 ร้านค้าทั่วประเทศ และสามารถลดการใช้ขยะพลาสติกได้กว่าล้านชิ้น “ที่ผ่านมาตัวเลขสถิติส่วนใหญ่มักมาจำนวนถุงที่คงเหลือของร้านค้าผ่านโยบายงดให้ถุงพลาสติก ที่เป็นการตัดทางเลือกของผู้บริโภค ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนแบบที่หวัง ขณะที่ 1 ล้านชิ้นตรงนี้ เกิดจากคนที่ประกาศไม่รับด้วยความเต็มใจ สำหรับเรามันจึงเป็น social impact ที่สำคัญ”

 

นอกจากนี้ เมื่อปลายปีที่ผ่านมาบริษัทยังได้เปิดตัวแอปพลิเคชันรุ่นน้องอย่าง LIFE เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในกลุ่มองค์กร ซึ่งสามารถบันทึกข้อมูลรายงานการลดการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ ถุงพลาสติก และสถิติอื่น ๆ เพื่อใช้วิเคราะห์พฤติกรรมและความสนใจ ให้บริษัทสามารถเลือกจัดกิจกรรมกับพนักงานอย่างมีประสิทธิภาพ “เราตั้งใจอยากให้การทำดีที่เกิดขึ้น นอกจากสิ่งแวดล้อมที่จะได้ประโยชน์ องค์กรก็ได้ และพนักงานที่ช่วยกันทำก็จะรู้สึกว่าเขาได้ด้วย ผ่านความรู้สึกของการได้เป็นส่วนหนึ่ง ได้ของรางวัล ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ยั่งยืนกว่าการบังคับด้วยนโยบายของบริษัท แล้วให้ทุกฝ่ายไปทำและรายงานตัวเลขผลสำเร็จ”

 

การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากความเข้าใจ

 

หากมองย้อนกลับไป 10 กว่าปี การผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมค่อนข้างยาก เพราะคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักคำว่า eco หรือ green thinking มากนัก

 

“ตอนนั้นคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ บทความแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นภาษาไทยก็ยังไม่ค่อยมี แค่คำว่า eco คำเดียว ต้องอธิบายกันเป็นชั่วโมง คนจะคุ้นกับการนำเศษวัสดุมาใช้ใหม่ หรือคำว่า recycle หรือ reuse มากกว่า และมักเกิดคำถามตามมาเสมอว่า สินค้าที่ทำมาจากขยะทำไมต้องแพง หรือทำแบบนี้แล้วพี่จะได้อะไร แต่เพราะเราเห็นปัญหานี้ก่อนเลยรู้สึกว่าเรื่องนี้ ถ้าไม่มีคนลุกขึ้นมาทำมันน่ากลัว จึงเป็นเหตุผลให้เราเดินหน้าเรื่องสิ่งแวดล้อมและทำมาอย่างต่อเนื่องจนถึงวันนี้

 

 

 

“การจะเปลี่ยนอะไร นุ่นว่ามันต้องเริ่มจากความเข้าใจ อย่าไปโทษว่าเขาผิด ทำแบบนี้ไม่ดี แต่ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน คนจะไม่เชื่อหรอกถ้าคนพูดไม่ได้ทำ พอเราทำจนเป็นนิสัย คนรอบข้างก็จะเริ่มเปลี่ยน ครอบครัว ที่ทำงาน ค่อย ๆ ขยายวงออกไป โชคดีอีกเรื่องคือการที่เราเป็นคนสาธารณะ นี่จึงเป็นเหมือนอาวุธในมือเรา นุ่นกับพี่ท็อปไม่ว่าจะออกข่าวหรือหรือทำโครงการอะไร ก็จะพยายามมีเรื่องพวกนี้อยู่ด้วย ต้องยอมรับว่าสื่อในยุคนี้สำคัญมากที่จะทำให้คนเข้าใจ และเราต้องใช้เวลา อย่าท้อ ทำบ่อย ๆ และทำซ้ำ ๆ โดยเริ่มจากตัวเรานี่แหละ เป็นวิธีที่ยั่งยืนที่สุด”

 

 

 

ไปด้วยกัน...ไปได้ไกล

 

คุณนุ่นย้ำว่า แนวทางที่ดีที่สุดในการเดินหน้าเรื่องสิ่งแวดล้อม คือ การทำด้วยกัน “ทุกวันนี้แต่ละภาคส่วนก็ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมกันอยู่แล้ว เพียงแต่ต่างคนต่างทำ ซึ่งพอทำด้วยกำลังคนเท่านั้น ผลลัพธ์จึงได้เท่านั้น แต่ถ้าใช้กำลังตัวเองเท่าที่มีมารวมกันมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งนุ่นเข้าใจว่าอาจเป็นเรื่องยาก การชักจูงให้ทุกคนเห็นว่าควรมาทำเรื่องนี้ด้วยกัน อาจต้องอาศัยพี่ใหญ่สักคนมาริเริ่ม ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น การที่พี่ตูน บอดี้แสลมวิ่ง ผลที่ได้ดีกว่าที่แต่ละโรงพยาบาลจะแยกกันทำ และสิ่งที่ได้กลับมาไม่ใช่แค่เงินอย่างเดียว แต่เป็นการชี้ให้สังคมเห็นปัญหาในเรื่องเดียวกันด้วย”

 

จากนโยบายงดใช้ถุงพลาสติกของภาครัฐที่เริ่มประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ทั้งคุณนุ่นและคุณท็อปมีส่วนร่วมในการสนับสนุน โดยเธอมองว่านโยบายภาครัฐสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงและเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ แต่จะยั่งยืนได้ก็ต้องอาศัยการคิดอย่างรอบด้าน

 

“เราไม่ได้อยู่ในยุคที่อยากเปลี่ยนอะไรแล้วจะทำแบบหักดิบได้ การเปลี่ยนแปลงจากภาครัฐหรือการออกเป็นกฎหมายมันเกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็ว เห็นผลก็จริง แต่ก็มีผลกระทบตามมาด้วยเสมอ ดังนั้น จึงต้องคิดให้รอบด้าน มันคงจะดีถ้าเกิดเราทุกคนสามารถไปด้วยกันได้ อย่างสถาบันการเงินก็สามารถมีส่วนช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ผ่านการสนับสนุนธุรกิจที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม”

 

ทุกคนทำได้...แค่ลงมือทำ

 

จากการผลักดันเรื่องนี้มานาน คุณนุ่นฝากทิ้งท้ายอย่างเข้าใจว่า “ก่อนที่จะทำอะไรให้คิดถึงตัวเองก่อน ถ้าอยากจะเปลี่ยน ยังไม่ต้องไปคิดว่าธรรมชาติจะได้อะไร แต่ให้คิดในมุมของตัวเรา เช่น การพกกระบอกน้ำ ไม่ต้องคิดว่าโลกจะดีขึ้นแค่ไหน แต่ลองมองว่าพกแค่นี้ เราประหยัดค่าน้ำไปได้ เราทำเรื่องที่มันใกล้ตัวและง่าย ๆ อย่าไปทำเรื่องที่มันยาก ลองเริ่มเปลี่ยนสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เครื่องสำอาง บางทีเราก็ผสมสีเอา หรืออยากได้อะไรใหม่ก็ซื้อมาแบ่งกัน ไม่ใช่รักสิ่งแวดล้อมแล้วต้องลำบาก ต้องไม่สวย หรือไม่ใช้อะไรเลย เพียงแค่พฤติกรรมที่เป็นอยู่เราถูกสปอยล์จนเกินไป

 

“การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือเห็นปัญหาแล้วคิดว่าจะแก้อะไรได้บ้าง อย่าฝากความหวังเรื่องสิ่งแวดล้อมไว้กับภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะนี้คือบ้านของเราทุกคน”

 

>> ดาวน์โหลด PDF Version

>> อ่าน e-Magazine