ปรีดี ดาวฉาย

กับการปรับตัวของธุรกิจธนาคาร

เพื่อนำพาความเข้มแข็งสู่สังคมไทย

 


ปรีดี ดาวฉาย กับการปรับตัวของธุรกิจธนาคารเพื่อนำพาความเข้มแข็งสู่สังคมไทย

 

ในโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤติโรคระบาดโควิด 19 ที่ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ภาคสถาบันการเงินและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้บริการทางการเงินอย่างต่อเนื่องแก่ประชาชน รวมถึงการเตรียมแผนช่วยเหลือฟื้นฟูให้ภาคธุรกิจและลูกค้าเพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว BOT พระสยาม Magazine ได้รับเกียรติจาก คุณปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย มาบอกเล่าถึงประสบการณ์และมุมมองด้านพัฒนาการของภาคการธนาคารกว่า 35 ปี รวมถึงความพร้อมของธนาคารพาณิชย์ไทยในการรับมือกับภาวะวิกฤติ และการปรับแนวคิดในการทำงานเพื่อก้าวสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน


กว่า 35 ปีในวัฏจักรเศรษฐกิจจากมุมธุรกิจการธนาคาร

 

คุณปรีดีก้าวเข้าสู่เส้นทางสายการธนาคารเมื่อปี 2525 โดยเริ่มต้นทำงานที่สำนักกฎหมาย ธนาคารกสิกรไทย หลังสั่งสมประสบการณ์ด้านกฎหมายกว่า 10 ปี ได้มาต่อยอดการทำงานเพื่อเพิ่มความรอบด้านที่ฝ่ายสินเชื่อและฝ่ายปรับโครงสร้างหนี้ ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยในปี 2556 และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารไทยในปี 2559

 

“วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ถือว่าเป็นวิกฤติใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับระบบการเงินไทย ก็นำมาซึ่งความโกลาหล ไม่รู้จะจัดการตรงไหนก่อน มีเหตุการณ์พลิกผันให้ต้องเปลี่ยนวิธีแก้ปัญหาตลอดเวลา เนื่องจากผมมีพื้นฐานด้านกฎหมายและมีประสบการณ์ในธุรกิจการธนาคาร จึงได้มาร่วมกับ ธปท. จัดทำกรอบการทำงานของคณะกรรมการส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ (Corporate Debt Restructuring Advisory Committee: CDRAC) รวมถึงปรับแก้ไขกฎระเบียบของระบบการเงินการธนาคารไทยครั้งใหญ่”

 

 

 

คุณปรีดีชี้ว่า วิกฤติครั้งนั้นช่วยให้ภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคการเงินและการธนาคาร ได้เรียนรู้ร่วมกันจากข้อผิดพลาดต่าง ๆ จนนำไปสู่การกำหนดกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินที่มีส่วนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความแข็งแกร่งของระบบสถาบันการเงินไทยมาถึงทุกวันนี้ อาทิ เกณฑ์การดำรงเงินกองทุน การบริหารความเสี่ยง การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจของสถาบันการเงิน (Business Continuity Plan: BCP) และหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ


 

“ในฐานะคนทำงานวงการนี้กว่า 35 ปี ผมคงตอบลำบากว่าวิกฤติครั้งใดย่ำแย่ที่สุด แม้วิกฤติปี 2540 ถือว่ารุนแรงมาก แต่ยังเปรียบเทียบกับวิกฤติโควิด 19 ในวันนี้ไม่ได้ เพราะวิกฤติยังไม่จบ และส่งผลกระทบรุนแรงไม่น้อยไปกว่าเมื่อ 20 กว่าปีก่อน”

 

 

จากวิกฤติการเงินเอเชีย สู่วิกฤติโรคระบาดทั่วโลก

 

คุณปรีดีกล่าวว่า วิกฤติโควิด 19 กระทบต่อเศรษฐกิจในหลากหลายมิติ ทั้งในมิติด้านอุปสงค์ในสินค้าและบริการที่หายไปแบบฉับพลัน เนื่องจากปัญหาด้านสาธารณสุขและมาตรการ “ปิดเมือง (lockdown)” ที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง และมิติด้านอุปทานทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการที่หยุดชะงัก การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ได้ผล จึงอาจต้องรอให้วิกฤติสาธารณสุขคลี่คลาย

 

“วิกฤติครั้งนี้ก็เป็นอะไรที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างไรก็ดี สมาคมธนาคารไทยได้จัดเตรียมแผนการจัดการภายใต้ภาวะวิกฤติและการบริหารความเสี่ยงร่วมกับ ธปท. ไว้ก่อนหน้านี้ จึงมีกระบวนการที่ชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง


“สมาคมธนาคารไทยได้ออกมาสื่อสารให้ประชาชนทราบว่า เรามีเงินสดในตู้ ATM เพียงพอ และดูแลระบบ mobile banking ให้สามารถรองรับการปริมาณการทำธุรกรรมออนไลน์ที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงมีแผนการจัดการภายในธนาคารเอง เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อให้แก่พนักงานธนาคารด้วย”


เนื่องจากธนาคารมีบทบาทสำคัญต่อภาคธุรกิจ จึงจำเป็นต้องมีแผนเยียวยาฟื้นฟูลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในระหว่างที่วิกฤติดำเนินอยู่และหลังจากวิกฤติสิ้นสุดลง ซึ่งความยากลำบากของวิกฤติครั้งนี้คือ ไม่มีใครรู้ว่าการแพร่ระบาดจะจบลงเมื่อไร ดังนั้น ภาคธนาคารไทยจึงต้องร่วมมือกับ ธปท. อย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามสถานการณ์และวางแผนให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างเหมาะสมและทันการณ์


“ธนาคารพาณิชย์มีความสำคัญมากในโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะบทบาทสำคัญของธนาคาร คือ การรวบรวมเงินออมของประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ แล้วนำมาจัดสรรสู่ระบบเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดความเจริญแก่ประเทศ ขณะที่ภาวะวิกฤติ ธนาคารก็ยังสามารถทำหน้าที่เสมือนกลไกของภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจและประชาชนให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤติให้ได้”


การธนาคารเพื่อความยั่งยืน โอกาสในความท้าทาย

 

คุณปรีดีเล่าว่า “การบริหารความสมดุลระหว่างผลตอบแทนกับความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญของธุรกิจการธนาคาร ธนาคารที่ยอมรับความเสี่ยงได้มาก ก็อาจมีผลตอบแทนสูง แต่หากเกิดความผันผวนหรือวิกฤติ โอกาสจะยืนอยู่อย่างแข็งแกร่งก็ลดลง อีกความท้าทายที่ต้องคำนึงถึงคือ ทำอย่างไรให้ธนาคารมีความสามารถในการแสวงหากำไรโดยไม่เอาเปรียบสังคม”

 

ในปัจจุบัน การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance: ESG) กลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย ซึ่งสถาบันการเงินสามารถมีส่วนเสริมสร้างความยั่งยืนทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวได้

 

“ความยั่งยืน อาจหมายถึง การที่ธุรกิจสามารถมีผลกำไรและดำเนินการต่อไป โดยไม่ใช้ทรัพยากรของคนรุ่นต่อไปจนหมด ดังนั้น ธนาคารในฐานะที่เป็นผู้จัดสรรทรัพยากรทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จึงต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดสรรสินเชื่อให้กับองค์กรที่นำเงินไปลงทุนในกิจกรรมที่ไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม สังคม รวมทั้งเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาล

 

“นอกจากนี้ ในการอนุมัติสินเชื่อ ธนาคารต้องมีหลักปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด conflict of interest โดยไม่ให้ผู้มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ เป็นผู้อนุมัติสินเชื่อ รวมถึงพัฒนาจรรยาบรรณของพนักงานในทุกระดับ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้จริง”

 

ผลึกความคิดจากประสบการณ์ชีวิตนักการธนาคาร

 

ในโลกยุคใหม่ที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและต้นทุนต่ำ ธุรกิจการธนาคารมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้นทั้งจาก “ผู้เล่นเดิม” และ “ผู้เล่นใหม่” เช่น กลุ่มสตาร์ทอัปด้านการเงิน (FinTech startup) กลุ่มเทคสตาร์ทอัป (Tech startup) ธนาคารจึงจำเป็นต้องพร้อมปรับวิถีการดำเนินธุรกิจ เช่น ลดจำนวนสาขา เพิ่มการให้บริการผ่านสมาร์ทโฟน หรือเน้นการทำงานร่วมกับลูกค้ามากขึ้น เพราะเมื่อกิจการของลูกค้าเจริญเติบโต ธนาคารก็มีโอกาสที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันธนาคารต้องพร้อมเปิดใจทำงานร่วมกับผู้เล่นรายอื่นและสตาร์ทอัป เพราะนั่นหมายถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้ใช้บริการ และโอกาสในการพัฒนาธุรกิจธนาคารและระบบเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตไปข้างหน้า


“ผมเชื่อว่าทุกองค์กรมีความสามารถหลัก (core competence) ในการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์เองก็ต้องมีความรู้ด้านการธนาคาร การดูแลลูกค้า และความรู้ด้านเทคโนโลยี ที่สามารถนำมาผสมผสานเพื่อให้เราพัฒนารูปแบบการให้บริการในอนาคต และรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้จากคู่แข่งรายใหม่”

 

ประสบการณ์ทำงานในธุรกิจธนาคาร ไม่เพียงได้สอนบทเรียนทางธุรกิจให้กับคุณปรีดี แต่ยังได้มอบข้อคิดในการใช้ชีวิตให้กับเขา  

 

“กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนขององค์กรคือ “วิสัยทัศน์” ของผู้บริหาร ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์จะมองออกว่าควรตัดสินใจอย่างไร และสามารถจัดการทุกเรื่องอย่างทันเวลาท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติ นอกจากนี้ เช่นเดียวกับการที่ธนาคารต้องมีระบบและหลักเกณฑ์ในการบริหารความสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทน การใช้ชีวิตของเราก็ต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี และต้องตั้งอยู่บนความระมัดระวัง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มีหัวใจสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้ได้ดีในทุกยุคสมัย” ประธานสมาคมธนาคารไทยทิ้งท้ายด้วยผลึกแห่งประสบการณ์จากการทำงานและการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา

 

>> ดาวน์โหลด PDF Version
>> อ่าน e-Magazine