มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้
ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและโควิด 19
ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ต่าง ๆ หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า ภัยแล้ง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 (COVID-19) ซึ่งได้ส่งผลกระทบในวงกว้างมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเริ่มแรก ทำให้บริษัท ห้างร้าน พ่อค้า แม่ค้า ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ หรือต้องปิดกิจการชั่วคราว ส่งผลให้พนักงาน ลูกจ้างของกิจการดังกล่าว ต้องหยุดงานและขาดรายได้ไปด้วย
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการแรกเป็นมาตรการชั่วคราว 2 ปี เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งขอความร่วมมือจากสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (non-bank) ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ให้เร่งช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภทในเชิงรุกอย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้รายย่อย
ธุรกิจ SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีศักยภาพแต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ลูกหนี้มีเงินทุนและสภาพคล่องหมุนเวียนเพียงพอในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ตัวอย่างลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น กิจการโรงแรม ร้านอาหาร มัคคุเทศน์ กิจการด้านการบิน และธุรกิจบริการต่าง ๆ
เพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้เป็นไปอย่างทันการณ์ ธปท. ได้ขอให้เจ้าหนี้ดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด และออกมาตรการช่วยเหลือ พร้อมทั้งเร่งช่วยเหลือลูกหนี้ตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณของปัญหาในลักษณะเชิงป้องกัน (pre-emptive) โดยเจ้าหนี้สามารถให้ความช่วยเหลือได้ ดังนี้
สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
• ปรับลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตรายเดือนให้ต่ำกว่าร้อยละ 10
• เปลี่ยนยอดหนี้ของบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสินเชื่อระยะยาว ที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกลงโดยลูกหนี้ยังคงใช้บัตรเครดิตในวงเงินที่เหลือต่อไปได้
• กรณีสินเชื่อส่วนบุคคล เจ้าหนี้สามารถพิจารณากำหนดวงเงินฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพให้แก่ลูกหนี้ได้ตามความเหมาะสม
ตัวอย่างเช่น ลูกหนี้มีบัตรเครดิตวงเงิน 100,000 บาท ได้รูดใช้บัตรและเป็นหนี้คงค้างจำนวน 60,000 บาท ปกติลูกหนี้จะต้องผ่อนจ่ายขั้นต่ำ 6,000 บาทต่อเดือน เจ้าหนี้สามารถลดจำนวนขั้นต่ำที่ลูกหนี้ต้องจ่ายให้ต่ำกว่า 6,000 บาทได้ หรือลูกหนี้สามารถขอเปลี่ยนประเภทหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาว เพื่อให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง โดยที่ลูกหนี้ยังสามารถใช้บัตรเครดิตนั้นในวงเงินที่เหลือ คือ 40,000 บาท ต่อไปได้
สินเชื่อธุรกิจ SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่
• ขอเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้ในกิจการ
• ปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ต่ออายุวงเงิน พักชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยชั่วคราว หรือลดดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราตลาด เป็นต้น
โดยหากลูกหนี้รีบติดต่อเจ้าหนี้ของตนเพื่อเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้ ก็จะไม่ถือเป็นหนี้เสียและจะไม่เสียประวัติในเครดิตบูโรด้วย
ธปท. ได้ออกมาตรการที่สองเป็นมาตรการขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือด้านสินเชื่อเป็นการเพิ่มเติม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและประชาชนเป็นวงกว้าง จึงจำเป็นต้องเร่งช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้และผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อและให้เช่าแบบลีสซิ่ง สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อธุรกิจ SMEs ให้ยังคงมีกระแสเงินสดสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีวิต หรือดูแลธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ ซึ่งการช่วยเหลือจะเป็นการลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำและพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว ดังนี้
มาตรการข้างต้นนี้เป็นมาตรการขั้นต่ำที่ ธปท. ขอให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และ non-bank ภายใต้การกำกับดูแลให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งนี้ ยังมีสมาคมและชมรมผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ สถาบันการเงินหลายแห่งได้มีโปรแกรมช่วยเหลือลูกหนี้ที่ดีกว่ามาตรการที่ ธปท. กำหนดด้วย
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบการออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ซึ่งมาตรการที่สำคัญ คือ (1) การชะลอการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือน เป็นการทั่วไปสำหรับธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อรวมของกลุ่มในแต่ละสถาบันการเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท และเป็นลูกหนี้ดี โดยไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้และไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต และ (2) การให้สินเชื่อใหม่ (soft loan) วงเงิน 500,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปีเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยภาครัฐชดเชยดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก
สำหรับธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อรวมของกลุ่มในแต่ละสถาบันการเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท และเป็นลูกหนี้ดี ซึ่งลูกหนี้สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้คงค้างที่มีอยู่กับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มาตรการช่วยเหลือดังกล่าวนี้ คาดว่า จะช่วยให้ธุรกิจ SMEs สามารถดำเนินธุรกิจและคงการจ้างงานได้ต่อไป ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
การบรรเทาภาระให้แก่เจ้าหนี้
ในการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ธปท. ได้คำนึงถึงการดำเนินงานและภาระต่าง ๆ ของสถาบันการเงินด้วย โดยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์กำกับดูแล เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างคล่องตัว ทันการณ์ โดยไม่มีภาระหรือต้นทุนเกินสมควร
การปรับปรุงหลักเกณฑ์กำกับดูแลที่สำคัญ ประกอบด้วย การจัดชั้นและกันเงินสำรอง การปรับโครงสร้างหนี้ การรายงานต่อบริษัทข้อมูลเครดิต และการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ด้านสินเชื่อมาช่วยปรับโครงสร้างหนี้ได้ ซึ่งแนวปฎิบัติที่กำหนดมีความสอดคล้องกับหลาย ๆ ประเทศที่ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เป็นการทั่วไป
การสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ธปท. ได้ให้ความสำคัญกับการสื่อสารมาตรการช่วยเหลือทั้งของ ธปท. และของสถาบันการเงินเป็นอย่างยิ่ง โดยได้รวบรวมมาตรการให้ความช่วยเหลือของสถาบันการเงินแต่ละราย และเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียของ ธปท. รวมทั้งเผยแพร่ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ธปท. ได้ติดตามความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อให้การช่วยเหลือรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและสามารถช่วยเหลือประชาชนได้เป็นวงกว้าง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน