ผลกระทบวิกฤติโควิด 19 กับเศรษฐกิจโลก

This Time is Different

เวลานี้ คงไม่มีประเด็นใดที่คนสนใจได้มากเท่ากับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 (COVID-19) ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกระดับให้เป็น "ภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic)" แล้ว แม้มีข่าวดีจากจีนที่สถานการณ์เริ่มทรงตัว แต่การแพร่ระบาดกลับขยายไปมากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก จากข้อมูลรวบรวมโดยมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 มีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 2 ล้านราย โดยสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดกลายเป็นประเทศศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่


This Time is Different : ผลกระทบครั้งนี้ไม่เหมือนอดีต

 

นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกออกมาวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกว่าจะมีผลกระทบผ่านห่วงโซ่อุปทานโลกจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบ เนื่องจากจีนซึ่งเป็นโรงงานผลิตและส่งออกสินค้าขั้นกลางรายใหญ่ของโลก จำเป็นต้องหยุดการผลิตตามที่ทางการจีนมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด "อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" ต่างจากการระบาดของโรคซาร์สในมณฑลกวางตุ้งเมื่อปี 2546 โดยเฉพาะการปิดเมืองอู่ฮั่นซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดรวมทั้งเมืองใหญ่อื่น ๆ

 

ต้องไม่ลืมว่าเมืองอู่ฮั่นเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ เป็นศูนย์กลางการค้าการขนส่งของจีน ทั้งรถไฟและสนามบินที่เชื่อมต่อกับสายการบินหลักของโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่วิกฤตินี้จะส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรง อย่างไรตาม ผลกระทบต่อการผลิตอาจต่างกันในแต่ละประเทศขึ้นกับการพึ่งพาวัตถุดิบขั้นกลางจากจีนและความแตกต่างกันของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ส่วนใหญ่มีระบบการผลิตแบบสินค้าคงคลังเท่ากับศูนย์ (zero inventory) หรือ just in time มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่า


ผลกระทบคาดว่าจะรุนแรงกว่าซาร์ส

 

หลายสถาบันคาดว่า โควิด 19 จะสร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงกว่ากรณีของโรคซาร์สที่มีจุดกำเนิดที่จีนเช่นกัน โดยครั้งนั้นมีการประเมินว่าทำให้ GDP โลกลดลง 54,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็น ร้อยละ 0.14 สำหรับผลกระทบครั้งนี้ ในด้านการค้าโลก รายงานของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ปี 2563 ชี้ว่า ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ของจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ลดลงต่ำสุดตั้งแต่ปี 2547 และประเมินว่าจะสร้างความเสียหายต่อการส่งออกในห่วงโซ่อุปทาน 50,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมีผลกระทบมากสุดในสหภาพยุโรป (15,600 ล้านดอลลาร์ สรอ.) รองลงมาคือ สหรัฐฯ (5,800 ล้านดอลลาร์ สรอ.) ญี่ปุ่น (5,200 ล้านดอลลาร์ สรอ.) เกาหลี (3,800 ล้านดอลลาร์ สรอ.) เวียดนาม (2,300 ล้านดอลลาร์ สรอ.) ขณะที่ไทยอยู่ที่อันดับ 11 ด้วยมูลค่าความเสียหาย 700 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยอุตสาหกรรมผลิตยางและพลาสติก เครื่องมือเครื่องจักร เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์สื่อสาร ยานยนต์ ในไทยเป็นสาขาที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด

 

ด้านการท่องเที่ยว สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประเมินว่า กรณีที่มีการแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัด รายรับการท่องเที่ยวโลกจะลดลง 63,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยเอเชียจะได้รับผลกระทบสูงสุด รองลงมาคือ ยุโรปอื่น ญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมนี ซึ่งล้วนเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประเมินภายใต้ข้อสมมติว่า หากสถานการณ์คลี่คลายได้ภายใน 6 เดือน ไทยจะสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 7 แสนล้านบาท โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงกว่า 13 ล้านคน หรือลดลงร้อยละ 33 จากปีก่อน1

 

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผลกระทบครั้งนี้คาดว่าจะมากกว่าในกรณีของการระบาด 3 ครั้งใหญ่ ได้แก่ โรคซาร์ส ไข้หวัดใหญ่ 2009 และโรคเมอร์ส เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่กว่าเดิม รวมทั้งมีความเชื่อมโยงทั้งการค้า การลงทุน การขนส่งกับโลกมากขึ้น ในปี 2561 เศรษฐกิจจีนมีขนาดร้อยละ 16 ของเศรษฐกิจโลก ใหญ่กว่าช่วงการระบาดของซาร์ส 4 เท่า ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 13 ของมูลค่าการส่งออกโลกร้อยละ 39 ของการผลิตอุตสาหกรรมโลก และร้อยละ 18 ของมูลค่าการท่องเที่ยวโลก รวมทั้งปัจจุบันที่มีระดับโลกาภิวัตน์ขั้นสูงที่ประชากรของโลกถูกหลอมรวมกันทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและสังคมวัฒนธรรมมากขึ้นกว่าในอดีต


สถานการณ์ข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง แต่ในวิกฤติย่อมมีโอกาสและสร้างบทเรียนเสมอ

 

ในช่วงที่ผ่านมาตลาดการเงินโลกเคลื่อนไหวเร็วตามความกังวลของนักลงทุน ดัชนี Dow Jones และดัชนี S&P 500 รวมถึงตลาดหุ้นไทยปรับลดลงทุบสถิติต่ำสุดในรอบหลายปี องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) มองเหตุการณ์เป็น 2 สถานการณ์2 สถานการณ์แรก คือ การแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัด โดยสถานการณ์ในจีนจะรุนแรงสูงสุดในไตรมาส 2 และทยอยคลี่คลายลง ขณะที่สถานการณ์นอกจีนมีการแพร่ระบาดมากขึ้นแต่ยังอยู่ในวงจำกัด ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกปี 2563 ขยายตัวต่ำลงร้อยละ 0.5 แต่จะกลับมาดีขึ้นในไตรมาส 3 สถานการณ์ที่สอง คือ การแพร่ระบาดขยายวงกว้าง ประเทศอื่นนอกจีนควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ กรณีนี้ความเสียหายน่าจะสูงและกินเวลานานเป็นปี ขณะที่ความเห็นของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่าผลกระทบจะทำให้เศรษฐกิจโลกปี 2563 ประสบภาวะถดถอย แต่จะลดลงเท่าใดนั้นคาดเดายาก ขึ้นกับความสามารถในการควบคุมการระบาดของประชาคมโลก และเตรียมที่จะปล่อยเงินกู้ 1 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 193

 

แม้สถานการณ์จะรุนแรงแต่ในวิกฤติย่อมมีโอกาสและสร้างบทเรียนเสมอ รายงานของ World Economic Forum ปี 2563 นำเสนอกรณีศึกษาของจีนพบว่า การระบาดครั้งนี้ทำให้เห็นพัฒนาการหลายอย่าง อาทิ (1) ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชนในการจัดการวิกฤติโควิด 19 ที่มีความโปร่งใส รับฟังความเห็นของประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้ง WeChat และ Weibo (2) การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจการเงินและการคลังที่รวดเร็วเพื่อลดผลกระทบและ (3) โอกาสใหม่ ๆ ของภาคธุรกิจ วิกฤติครั้งนี้ช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี มีการให้บริการแก่ผู้บริโภคทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งการค้า การศึกษา และธุรกิจบันเทิง

ในระยะข้างหน้า สิ่งสำคัญที่เราน่าจะได้เห็นจากเหตุการณ์นี้คือ การพัฒนาด้านสาธารณสุขและการยกระดับความร่วมมือทางการแพทย์ทั่วโลกจะมีความสำคัญมากขึ้น การเปิดรับบรรทัดฐานสังคมใหม่ ๆ ที่เป็นผลพวงจากการใช้ระยะห่างทางสังคม (social distancing) อาทิ สังคมไร้เงินสด การทำงานทางไกล และเหนือสิ่งอื่นใด ประชาคมโลกต้องร่วมกันปฏิบัติตามมาตรฐานสุขภาพระหว่างประเทศเพื่อลดผลกระทบจากภัยคุกคามนี้ และเราจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยกันเพราะ "We are in the same boat and live under the same sky"

 

 

 

1 ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563

2 ข้อมูล ณ วันที่ 3 มีนาคม 2563

3 ข้อมูล ณ วันที่ 3 เมษายน 2563

 

 

ที่มา : IATA (2020), COVID-19 Initial impact Assessment of the Novel Coronavirus, IATA Economics, 20 Feb

IMF (2020), Transcript of Kristalina Georgieva's Participation in the World Health Organization Press Briefing, April 3

The Johns Hopkins University School of Medicine, Coronavirus Resource Center

Knobler S, Mahmoud A, Lemon S, et al., editors. (2004), Learning from SARS: Preparing for the Next Disease Outbreak: Workshop Summary. Washington (DC): NationalAcademies Press (US)

UNCTAD (2020), Technical Note: Global Trade Impact of the Coronavirus (COVID-19) Epidemic, 4 Mar

UN (2020), Coronavirus COVID-19 Wipes $50 billion off Global Exports in February Alone, as IMF Pledges Support for Vulnerable Nations, Economic Development,UN News, 4 Mar

WEF (World Economic Forum) (2020), Coronavirus in China - Insights on the Impacts and Opportunities for Change, 4 Mar