ถ่ายทอดบทเรียนและความประทับใจ

จาก 4 "ผู้ช่วย" ของผู้ว่าการวิรไท


เป็นที่ทราบกันดีว่าภาระหน้าที่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้นเป็นงานที่หนักแค่ไหน นอกจากการมุ่งมั่นดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินร่วมกับเพื่อนพนักงาน ธปท. ทุกคนแล้ว ในยุคสมัยของผู้ว่าการ ดร.วิรไท สันติประภพ ท่านยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ธปท. และมีตำแหน่งงานที่เรียกว่าได้เรียนรู้การทำงานโดยตรงกับผู้ว่าการ นั่นคือ "ผู้ช่วย" หรือ PA (Personal Assistant) ของผู้ว่าการ BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับนี้ได้พูดคุยกับ PA ผู้ว่าการวิรไท ทั้ง 4 คน เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้และความประทับใจสุดพิเศษ


 

เอิร์ธ - ฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์

(ปี 2558 - 2559)

พนักงานปฏิบัติงานพิเศษ ประจำ ธปท.

(อยู่ระหว่างลาศึกษาต่อ)

 

ตอนได้รับโอกาสมาเป็น PA ผู้ว่าการเมื่อปี 2558 ผมทำงานที่ ธปท. มาได้เพียง 3 ปีเศษ ประสบการณ์ทำงานเกือบทั้งหมดในตอนนั้นเป็นทักษะด้านนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจ การทำงานในฐานะ PA จึงเรียกได้ว่าเป็นการ "เปิดโลก" เกี่ยวกับงานของ ธปท. ผมได้ช่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจหลาย ๆ ด้าน ทั้งนโยบายการเงินซึ่งคุ้นเคยอยู่แล้ว ตลอดจนงานด้านตลาดการเงิน การกำกับดูแลสถาบันการเงิน และการต่างประเทศ เพียงช่วงเวลา 1 ปีที่เป็น PA ทำให้เข้าใจบทบาทหน้าที่และการขับเคลื่อนนโยบายของ ธปท. มากขึ้นมาก

 

บทเรียนสำคัญอันหนึ่งคือ ธปท. มีพันธกิจหลากหลายด้าน ซึ่งล้วนเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับความกินดีอยู่ดีของคนไทย อย่างไรก็ตาม โจทย์สำคัญคือ ธปท. จะทำอย่างไรให้นโยบายมีประสิทธิผล (แบบพิสูจน์ได้) และเท่าทันบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องอาศัยการคิดนอกกรอบโดยยึดถือหลักการของการเป็นนายธนาคารกลางที่ดี

 

ผู้ว่าการเป็นผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและหัวหน้าที่น่าเลื่อมใสหลายประการ แต่มีสองอย่างที่อยากจะกล่าวถึงเป็นพิเศษ ข้อแรกคือ ท่านแสดงให้เห็นว่า ทำนโยบายอย่างไรให้ภาพใหญ่ไม่หลุด ขณะที่รายละเอียดปลีกย่อยทุกอย่างก็ต้องไม่มีที่ติเช่นกัน ผมได้ซึมซับสิ่งนี้ผ่านการร่วมเขียนสุนทรพจน์ ก่อนเริ่มเขียนทุกครั้ง ท่านจะขอให้เล่า strategic message ที่ต้องการสื่อสารกับผู้ฟัง และถกกับท่านจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่น่าพึงพอใจ ก่อนจะพูด ท่านจะแก้ไขร่างหลายครั้งด้วยความอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง โดยมักจะสอนเสมอว่า คำทุกคำมีความหมาย ต้องคิดให้ถี่ถ้วน ข้อสองคือ การที่ท่านให้โอกาสเด็กที่มีประสบการณ์ไม่มากมาลองทำงานที่ท้าทาย โดยเฉพาะกับการเป็น PA คนแรก แม้จะมีภาระงานรัดตัว ท่านก็ยังสละเวลาให้คำแนะนำ ตอบคำถาม และแลกเปลี่ยนความคิดอย่างเป็นกันเองอยู่เสมอ การเป็น PA ถือเป็นประสบการณ์การทำงานที่ผมภาคภูมิใจและเป็นความทรงจำที่พิเศษของผมที่ ธปท. ครับ



เวนส์ - ดร.นครินทร์ อมเรศ

(ปี 2559 - 2560)

รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ

 

สิ่งที่ได้เรียนรู้มากที่สุดคือ ได้เห็นผู้ว่าการแสดงตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการทำงานอย่างกลมกล่อม โดยเฉพาะการเป็นแบบอย่างในการออกแบบขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจอย่างสมดุลบนสามฐานหลัก คือ ฐานคิด ประเมินสถานการณ์บนพื้นฐานข้อมูลและเครื่องมืออย่างรอบด้าน มีการให้มุมมองไปข้างหน้าอย่างครบถ้วนทั้งในด้านบวกและด้านลบ แล้วนำไปสู่ ฐานทำ ลงมือปฏิบัติให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุด ทั่วถึง เพียงพอ และทันการณ์ อย่างไรก็ดีี การคิดและทำจะไม่เพียงพอ เพราะการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจนั้น จะมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ในคราวเดียวกัน โดยเป็นเรื่องปกติที่ผู้ได้ประโยชน์มักจะไม่แสดงออกนัก ต่างจากผู้เสียประโยชน์ที่อาจแสดงความคิดเห็นได้มากในวงกว้าง ทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต้องยึดฐานที่สาม ฐานใจ ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่อแรงกดดันรายรอบ คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติในภาพรวม มีการรักษาความสมดุลระหว่างการกระจายตัวทั่วถึงของกลุ่มผู้ได้รับความช่วยเหลือและไม่ให้เป็นภาระต่อประเทศในอนาคตมากเกินควร รวมถึงความสมดุลระหว่างการเยียวยาให้ภาคเศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้โดยไม่บั่นทอนแรงจูงใจในการขวนขวายปรับตัวพัฒนา

 

ประสบการณ์ทำงานที่ประทับใจมีมากครั้ง เกิดขึ้นทุกครั้งที่นโยบายของ ธปท. มีผลจริงในทางปฏิบัติ แต่ที่ประทับใจเป็นพิเศษ ไม่ใช่งานของ ธปท. โดยตรง แต่เป็นการสนับสนุนผู้ว่าการในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต โดยท่านได้ปรับเนื้อหาปาฐกถาที่มีกำหนดการล่วงหน้า เพื่ออัญเชิญพระบรมราโชวาทสำหรับสะท้อนตัวอย่างการประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสได้รับฟังท่านให้สัมภาษณ์ในฐานะนักเรียนทุนอานันทมหิดล จึงเกิดความเข้าใจในหลักคิดของพระองค์ท่านอย่างลึกซึ้ง และมีแรงบันดาลใจที่จะน้อมนำองค์ความรู้พระราชทานมาใช้ในชีวิตประจำวัน



โป้ง - วรภัทร ปราณีประชาชน

(ปี 2560 - 2562)

รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร

 

สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้คือ การที่ได้ซึมซับหลักการขับเคลื่อนงานของผู้ว่าการแบบ end-to-end เริ่มจากท่านจะคอย challenge หลักการหรือแนวคิดเพื่อให้เข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การหา "intended outcome" หรือผลลัพธ์ที่ต้องการ ซึ่งการตั้งเป้าหมายให้ชัดตั้งแต่ต้น เป็นสิ่งที่ท่านให้ความสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้เราทำนโยบายที่ตอบโจทย์ปัญหาอย่างแท้จริงได้ บางครั้งเราใช้เวลาทั้งหมดในการประชุมเพื่อถกเป้าให้ชัดด้วยซ้ำ ถัดมาคือความเข้าใจบริบทของคนที่เกี่ยวข้อง เราต้องหา "champion" หรือคนที่อยากได้ในสิ่งที่เราอยากได้ให้เจอ จึงจะสามารถขับเคลื่อนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นร่วมกับแนวทางไปพร้อมกับเราได้ ท้ายที่สุดคือการสื่อสารนโยบาย หรือที่ท่านเรียกว่า "last mile" เพราะแม้นโยบายที่เราคิดจะดีเพียงใด แต่หากละเลยไม่สื่อสารให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจ ก็จะทำให้ตกม้าตายได้

 

หลายคนอาจไม่ทราบว่าในแต่ละวันตารางของผู้ว่าการแน่นขนาดไหน คนใกล้ชิดจะรู้ว่าหนึ่งวันของท่านจะอยู่ในที่ประชุมแทบจะตลอดเวลา บ่อยครั้งเวลารับประทานอาหารกลางวันก็ยังประชุมด้วยซ้ำ แต่ไม่ว่าจะยุ่งแค่ไหน ท่านก็พยายามหาเวลาไปพูดคุยกับพนักงานอย่างสม่ำเสมอ ครั้งหนึ่งท่านได้ไปเซอร์ไพรส์น้อง ๆ สายนโยบายการเงินระหว่างการประชุม Macro Focus ที่เป็นการประชุมที่เปิดโอกาสให้น้อง ๆ เศรษฐกรได้นำเสนอภาพเศรษฐกิจที่ตนรับผิดชอบ ในจังหวะที่ท่านเดินเข้าไป เสียงถกเถียงกันไปมากลับเงียบลง น้อง ๆ ที่กำลังนำเสนอเริ่มพูดสะดุดติดอ่าง แต่เมื่อตั้งสติได้พวกเขาก็ไม่ทำให้ผิดหวัง นำเสนองานต่ออย่างเต็มความสามารถ วันนั้นท่านใช้เวลาเกือบสามชั่วโมงรับฟังและให้คำแนะนำ เพื่อให้น้อง ๆ พัฒนาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เก่งยิ่งขึ้น ผมเชื่อว่าน้อง ๆ ในวันนั้นคงไม่ลืมอย่างแน่นอน

 

ท้ายสุดนี้ ผมขออวยพรให้ท่านผู้ว่าการ "พี่ก็" ได้พักผ่อนดูแลครอบครัวตามที่ได้ตั้งใจไว้ครับ


 

 

อาร์ต - ดร.ฐิติ ทศบวร

(ปี 2562 - ปัจจุบัน)

พนักงานปฏิบัติงานพิเศษ ประจำ ธปท.

 

แม้ว่าก่อนที่จะมาเป็น PA ผมจะได้มีโอกาสไปเวียนงานและได้เรียนรู้งานหลักของ ธปท. จากพี่ ๆ หลายท่าน แต่เมื่อมีโอกาสติดตามผู้ว่าการเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ก็เรียกได้ว่ามีสิ่งใหม่ที่ได้เรียนรู้อยู่เกือบทุกวัน โดยเรื่องที่คิดว่าได้เรียนรู้มากที่สุดคือ การสื่อสาร อาจเพราะหน้าที่สำคัญหนึ่งของผู้บริหารคือการนำเอาสิ่งที่สายงานคิดและคัดกรองมาอย่างดีแล้วมาสื่อสารต่อ ให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เพื่อให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ประสบผลสำเร็จ

 

สิ่งหนึ่งที่จะได้ยินผู้ว่าการถามบ่อยมากคือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเขากังวลเรื่องอะไรและเราจะปรับแก้มาตรการหรือสื่อสารเพื่อตอบโจทย์ความกังวลของเขาได้อย่างไรบ้าง ซึ่งผมคิดว่าการ "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" เป็นหัวใจของการออกมาตรการและการสื่อสารมาตรการที่ดีเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย บางครั้งท่านจะเอาคำถามนี้มาใช้กับพวกเราด้วย โดยเฉพาะตอนปรับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ว่า ถ้าเอาเกณฑ์นี้ออกไปแล้ว เรามีข้อกังวลอะไร มีวิธีอื่นไหมที่จะปิดข้อกังวลนี้ได้ หรือตั้งคำถามว่างานที่ทำต่อ ๆ กันมานั้นยังจำเป็นอยู่หรือไม่ เพื่อเป็นการทบทวนกระบวนการคิดและการทำงานของตัวเอง

 

ตั้งแต่มาทำงานเป็น PA มีเรื่องที่ประหลาดใจและประทับใจเกี่ยวกับผู้ว่าการเยอะมาก ตั้งแต่ความสามารถในการบริหารเวลา การนำการประชุม ไปจนถึงความเป็นกันเองและการเอาใจใส่คนรอบข้าง หลายครั้งที่จะได้ยินท่านพูดว่า สินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดของ ธปท. คือพนักงาน ซึ่งสิ่งนี้ถูกถ่ายทอดออกมาในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การจัด Town Hall เพื่อสื่อสารกับพนักงาน ทุกครั้งท่านจะหารือก่อนว่าประเด็นอะไรที่พนักงานอยากจะรู้หรืออยากจะฟัง การส่งเสริมให้เกิดช่องทางที่พนักงานสามารถสื่อสารโดยตรงกับผู้บริหารระดับสูงได้ผ่านการเชิญพนักงานมาทานกาแฟร่วมกันหรือผ่านทาง LINE @บ้านเลขที่ 273

 

ที่เห็นชัดที่สุดคือ การผลักดันให้เกิดวัฒนธรรม bottom-up เมื่อก่อนการทำงานอาจมีเวทีให้เสนอความเห็นผ่านวาระการประชุมเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียวที่น้องเสนอไป ผู้บริหารก็จะตัดสินใจว่าผ่านหรือไม่ โดยอาจจะไม่ได้ทราบว่าทำไมข้อเสนอของตนจึงไม่ผ่าน เวที Power Up BOT จึงถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างของการทำให้เกิดการสื่อสารสองทาง ผู้บริหารมีช่องทางในการสื่อสารความเห็น ข้อกังวลเกี่ยวกับไอเดียที่เสนอมา ขณะที่ผู้เสนอไอเดียก็มีโอกาสที่จะปรับข้อเสนอของตนให้ตอบโจทย์ แทนที่จะถูกตีตกไปแต่แรก ซึ่งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกกับสภาพแวดล้อมการทำงานหลาย ๆ อย่างขึ้นได้

 

>> ดาวน์โหลด PDF Version
>> อ่าน e-Magazine