“การพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน” คือภารกิจสำคัญของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ การทำงานสืบสานแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ได้หล่อหลอมให้ คุณดุ๊ก – หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ค้นพบความสุขและความหมายของชีวิตการทำงานเพื่อพัฒนาคนไทยอย่างยั่งยืน
ต้อง “ปลูกคน” จึงจะ “ปลูกป่า” ได้อย่างยั่งยืน
คุณดุ๊กเล่าว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนตามแนวพระราชดำริฯ โดยเริ่มต้นจากโครงการพัฒนาดอยตุง
“สมัยเริ่มต้นโครงการ คนในพื้นที่ดอยตุงมีความยากจน ต้องพึ่งพาการค้าฝิ่นและการทำไร่เลื่อนลอยซึ่งทำให้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่ภาครัฐเข้าไปไม่ถึง ทำให้เกิดช่องว่างในเรื่องการพัฒนา หลายคนต้องประกอบอาชีพไม่สุจริตเพื่อความอยู่รอด คุณพ่อ (หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล) เคยเล่าให้ฟังถึงพระราชดำรัสของสมเด็จย่าว่า 'ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง' จริง ๆ แล้วหากตีความหมายให้ดี ๆ เราจะเข้าใจว่าสิ่งที่ทรงตั้งพระทัย คือ การ 'ปลูกคน'”
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงให้ความสำคัญกับการสร้างอาชีพเพื่อให้ประชาชนมีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ เพราะเมื่อคนมีรายได้มากกว่ารายจ่าย ก็จะมีเงินออม สามารถนำไปลงทุนหรือซื้อของที่จำเป็นได้ เช่น หลายคนสามารถซื้อทรัพย์สิน ลงทุนในที่ทำกิน และเปลี่ยนจากการทำไร่เลื่อนลอยเป็นการปลูกไม้ยืนต้น รวมถึงการลงทุนเพื่อการศึกษาของลูกหลาน เมื่อคนมีอนาคตที่มองไปได้ไกล พวกเขาจึงจะสามารถดูแลป่าได้
“เมื่อเราต้องการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในพื้นที่ จึงต้องเริ่มจากการเปลี่ยนทัศนคติของคนให้ยอมรับว่าเขาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาในชุมชน ทำให้เขาพร้อมที่จะเปลี่ยนบทบาท และอยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา การแก้ปัญหานั้นจึงจะยั่งยืน เช่น ชาวบ้านต้องเข้าใจว่าป่าไม้หายไปจากการกระทำของเขา และต้องพร้อมที่จะลุกขึ้นมาดูแลธรรมชาติเมื่อมีทางเลือกในการประกอบอาชีพใหม่ ๆ ที่สุจริต”
คุณดุ๊กกล่าวเสริมว่า มนุษย์ทุกคนสามารถสร้างความพยายามให้เกิดขึ้นได้ แม้เราจะมีต้นทุนติดตัวมาไม่เท่ากัน และสิ่งที่มีความหมายอย่างยิ่งในโลกปัจจุบัน คือ ความรู้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงพยายามให้ความรู้ เพราะเมื่อชาวบ้านมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นถึงการทำงานในมิติต่าง ๆ จากการทำงานร่วมกัน ก็จะช่วยพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการพัฒนาดอยตุงจึงไม่อาจวัดด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ควรวัดด้วยตัวชี้วัดทางสังคมคือ การสร้างสังคมที่เคารพกฎกติกา สามารถพึ่งพาตนเองได้ และหมั่นยกระดับตนเองอย่างต่อเนื่อง และตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม คือความสมบูรณ์ของป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น
จากโมเดลพัฒนาชุมชนสู่ต้นแบบ “ธุรกิจเพื่อสังคม”
ด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ทำการเกษตร และการดูแลทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นที่ดอยตุง ทำให้การสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนต้องเน้นการแปรรูปผลผลิตจากการเกษตรและการสร้างแบรนด์เพื่อเพิ่มมูลค่า จึงเป็นที่มาของแบรนด์ “ดอยตุง” ที่ได้รับยกย่องให้เป็นต้นแบบของธุรกิจเพื่อสังคม
“แบรนด์ดอยตุงมีวัตถุประสงค์ชัดเจนเพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง และสามารถปรับตัวต่อสภาพความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ควบคู่กับการดูแลรักษาป่าต้นน้ำและสิ่งแวดล้อม”
อัตลักษณ์ของแบรนด์ “ดอยตุง” อยู่ที่การนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาผสานกับการตลาดที่ทันสมัย บวกกับคุณค่าของแบรนด์ในเรื่องการสร้างงานและธุรกิจเพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังใช้ปัจจัยเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นเงื่อนไขในการรับซื้อสินค้าหรือบริการของชุมชน เข้าสู่โมเดลการพัฒนาชุมชน “ดอยตุง” ด้วย เช่น ชุมชนที่รับจ้างผลิตสินค้าแฟชั่น ต้องจัดการกับของเสียจากกระบวนการผลิตด้วย เช่น ไม่ปล่อยน้ำเสียสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“เราใช้ 'ดอยตุง' เป็นแพลตฟอร์มในการพัฒนาธุรกิจให้กับชุมชน อย่างงานหัตถกรรม เรามีดีไซเนอร์ช่วยออกแบบสินค้าแล้วให้ชุมชนผลิตส่งมา โดยในช่วงแรกเราจะเป็นผู้รับซื้อทั้งหมดเพื่อสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง และลดความเสี่ยงของชุมชน ชาวบ้านก็จะได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสพัฒนาฝีจักรและฝีมือการตัดเย็บของเขาให้ดีขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่ง เขาก็พร้อมจะเริ่มออกแบบเอง สร้างแบรนด์ของตัวเอง ขณะเดียวกันเราก็มีการให้ทุนการศึกษาเด็กในชุมชน ถ้าวันหนึ่งมีเด็กที่จบด้านการออกแบบกลับมา เขาก็จะมีฐานการผลิตในชุมชนรองรับ นี่คือทิศทางที่เราใช้ในการพัฒนาชุมชน
“ฐานลูกค้าส่วนใหญ่ในปัจจุบันของเรานั้นเป็น gen X baby boomer และลูกค้าต่างประเทศ มันมีความสำคัญต่อความยั่งยืนขององค์กรในระยะยาวที่จะขยายฐานลูกค้าของเราให้ครอบคลุมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ๆด้วย โดยเราพยายามพัฒนาวิธีสื่อสารแบรนด์ของเราให้เข้าถึงตลาดกลุ่ม gen Y และ gen Z โดยเน้นวิธีการสื่อสารแบบออนไลน์มากขึ้น เราต้องเปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่องราวของเราใหม่ ต้องพยายามเข้าใจบุคลิกของเขาและปรับกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น รวมถึงพัฒนาสินค้าให้สวย ใช้ดี และราคาจับต้องได้ เพื่อสร้าง brand value ในระยะยาว”
หลักเศรษฐกิจพอเพียงกับการสร้างธุรกิจและชุมชน
ในมุมมองของคุณดุ๊ก องค์ประกอบในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกัน ที่ต้องตั้งอยู่บน 2 เงื่อนไขสำคัญในการตัดสินใจ ได้แก่ ความรู้และคุณธรรม ทั้ง 5 คุณสมบัตินี้ ถือเป็นหลักสำคัญในการใช้ชีวิต และเป็นทัศนคติที่ช่วยเสริมสร้าง “ศักยภาพ” ให้บุคคลหรือธุรกิจสามารถพึ่งพาตัวเองและปรับตัวให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี
“เวลาพูดว่า 'พอเพียง' คนส่วนใหญ่มักรู้สึกว่า ต้องทิ้งของ ต้องละทิ้งความสะดวกสบาย ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบที่ต้องการได้ ก็เลยไม่อยากทำ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ทุกคนสามารถกำหนดได้ว่า 'พอเพียง' สำหรับแต่ละคน คือแค่ไหนและอะไรคือ 'ส่วนเกิน' ผมเชื่อว่า คนที่ประสบความสําเร็จและสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย เกือบทุกคนมีครบทั้ง 5 คุณสมบัติเหล่านี้ ฉะนั้น หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเปรียบได้กับแสงนำทางให้เดินไปสู่หนทางที่ดีขึ้นที่บุคคล ชุมชน หรือธุรกิจ ควรนำไปใช้”
ความยั่งยืนกับความท้าทายในบริบททุนนิยม
กลไกของระบบทุนนิยมในปัจจุบัน ถูกพัฒนาไปเพื่อที่จะกระตุ้นให้เกิดการบริโภคอย่างไร้สติ (consumption without conscience) และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความหายนะใหญ่ของโลก
“ระบบทุนนิยมในปัจจุบัน ไม่ได้ก่อให้เกิดความเท่าเทียม หรือสร้างความสมดุลในมิติอะไรเลย คนที่มีทุนมากมักจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าคนที่มีทุนน้อย ระบบมันเอื้อประโยชน์ให้กับคนที่มีทุนมากกว่าอยู่โดยตลอด คุณพ่อใช้คำว่า greed drives growth หรือความโลภขับเคลื่อนการเติบโต ก่อให้เกิดภาวะความไม่สมดุลของโลก (global imbalance) จากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาภาวะโลกร้อน (climate change) ที่เราทุกคนก็สัมผัสได้และนักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วด้วย
“ปัญหาของโลกเราวันนี้ก็เหมือนดอยตุงเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ทุกคนรู้ว่ามีปัญหาแต่ไม่ตระหนักว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือมองว่าปัญหายังไกลตัว หลักคิดแบบนี้ไม่มีทางสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้ ผมคิดว่าการทำธุรกิจในปัจจุบันต้องทำบนวิสัยทัศน์ที่ไกลขึ้น บนโจทย์ที่ยากขึ้น และต้องพยายามที่จะเปลี่ยนจากการสร้างผลกำไรทางเศรษฐกิจมาเป็นการสร้างผลกำไรในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแทน”
ดอยตุงเองก็พยายามปรับตัวให้เป็นธุรกิจที่ทำให้โลกนี้ดีขึ้น โดยพยายามลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น การนำนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) มาปรับใช้ในกระบวนการผลิต การลด carbon footprint และการมุ่งสู่การเป็นองค์กร carbon neutral หรือแม้กระทั่งการเป็นองค์กรที่ไม่มีขยะสู่บ่อฝังกลบ ซึ่งได้ขยายผลลงสู่ทั้งชุมชน และคนในชุมชนได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน
“ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง มันอาจจะสร้างความไม่สะดวกสบายให้กับชีวิตเรา แต่ก็เป็นความไม่สะดวกสบายที่จำเป็น (inconvenience is necessary)”
แหล่งพลังในการทำงานและความสุขแห่งชีวิต
“ผมตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่า คนคนหนึ่งจะสามารถทุ่มเททำงานได้มากขนาดไหน เท่าที่จำความได้ ไม่มีวันไหนที่สมเด็จย่าและในหลวง ร.9 จะไม่เสด็จทรงงาน พอเราได้ใกล้ชิดกับคนที่มีระดับความทุ่มเทสูงมาก เลยรู้สึกว่าเรายังทุ่มเทไม่มากพอ”
หลักการสำคัญ 3 ข้อที่คุณดุ๊กปฏิบัติเป็นกิจวัตร คือ (1) พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องในทุกงาน และทุกงานต้องมีพัฒนาการที่ดีกว่าครั้งก่อนหน้าแม้จะเป็นงานเดิม ๆ ก็ตาม (2) คิดแบบ “ไม่ติดกรอบ” และไม่คิดว่า “ทำไม่ได้” แต่จะเปลี่ยนมุมมองเป็น “ทำอะไรได้บ้าง” และ (3) เน้นการทำงานร่วม หรือที่คุณดุ๊กเรียกว่าการทำงานแบบ “แกงโฮะ”
“ผมชอบคุยร่วม ฟังร่วม ตกลงร่วม แล้วค่อยแยกกันทำ เพราะการทำงานร่วมจะทำให้ได้ความหลากหลายของไอเดียและมุมมองที่แตกต่าง ทำให้ทุกคนได้มองเห็นกว้างและรอบด้านมากขึ้น และยังทำให้เกิดการเรียนรู้ไปด้วยกันตลอดเวลา แถมยังทำให้งานเดินหน้าเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องมานั่งพูดซ้ำกับคนทีละคน”
คุณดุ๊กทิ้งท้ายว่า “ความสุขในบ้าน” คือเคล็ด (ไม่) ลับของความสำเร็จในการทำงาน เพราะเมื่อ “บ้าน” เรียบร้อย ครอบครัวมีความสุข ทุกคนก็มีพลังที่จะออกไปทำงานได้ด้วยความสบายใจ