ในโลกการเงินดิจิทัล คริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency) หรือที่รู้จักในชื่อว่าสกุลเงินดิจิทัล ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายว่าจะเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าที่จะมาทดแทนการใช้เงินสดหรือแม้แต่เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันได้หรือไม่ และด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ที่อยู่เบื้องหลังอย่างบล็อกเชน (blockchain) ที่มีความปลอดภัยและสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งาน ขณะที่เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยลดบทบาทตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน ที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ธนาคารกลางทั่วโลกจึงหันมาศึกษาความเป็นไปได้ในการนำบล็อกเชนมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงิน และการออกใช้ Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าที่จะเป็นตัวแทนของเงินได้จริง ๆ
CBDC ต่างกับคริปโตเคอร์เรนซีอย่างไร
CBDC ถือเป็น "สกุลเงิน" ในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งมีคุณสมบัติในการเป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ สามารถรักษามูลค่า และเป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ ซึ่งต่างจากคริปโตเคอร์เรนซีอย่าง Bitcoin Ether หรือ Ripple ที่ออกโดยภาคเอกชน และมีมูลค่าผันผวนจากการใช้เพื่อเก็งกำไร จึงไม่เหมาะสำหรับการนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ
CBDC สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale CBDC) และสำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (retail CBDC)
การตื่นตัวเรื่อง CBDC ของธนาคารกลางทั่วโลก
นอกจากประเทศจีนที่ประกาศใช้เงินดิจิทัลหยวนสำหรับประชาชนอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อช่วงต้นปี 2563 ยังมีหลายประเทศที่กำลังเดินหน้าศึกษาและทดลองเรื่องนี้ อาทิ การทดสอบการใช้ e-krona ของประเทศสวีเดน การออกแนวทางการศึกษาและออกแบบอย่างธนาคารกลางอังกฤษและแคนาดา โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งได้ริเริ่ม "โครงการอินทนนท์" ตั้งแต่ปี 2560 เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและความเป็นไปได้ของการใช้ CBDC ในภาคสถาบันการเงิน รวมถึงมีการทดลองการโอนเงินข้ามประเทศร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง ซึ่งผลการทดสอบและองค์ความรู้ในการทำโครงการฯ เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลของไทยในอนาคตที่ต้องให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพการเงินและการสร้างนวัตกรรมที่สนับสนุนภาคธุรกิจเอกชน
โครงการอินทนนท์กับการต่อยอดสู่ภาคธุรกิจเอกชน
หลายคนคงจำได้ถึงการเปิดตัว Libra ของเฟซบุ๊กเมื่อกลางปี 2562 ที่ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกตื่นตัวยิ่งขึ้นและเริ่มให้ความสนใจกับการพัฒนา CBDC สำหรับรายย่อยมากขึ้น โดย ธปท. อยู่ระหว่างศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบต้นแบบ CBDC ร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดการพัฒนาจากโครงการอินทนนท์ เพื่อศึกษารูปแบบ ผลกระทบ และข้อจำกัดในการนำ CBDC ไปใช้ในภาคเอกชน โดยเริ่มจากการเชื่อมต่อระบบการบริหารการจัดซื้อและการชำระเงินระหว่างบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน โดยมีบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบดังกล่าวร่วมทดสอบ อย่างไรก็ดี การนำระบบต้นแบบมาปรับใช้จริงในวงกว้างนั้น จำเป็นต้องใช้เวลาศึกษาและพิจารณาผลกระทบในมิติอื่น ๆ อย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นข้อกฎหมายเสถียรภาพของระบบ ความปลอดภัยในการใช้งาน และความพร้อมด้านเทคโนโลยีของผู้ใช้ เป็นต้น
ประชาชนกับ CBDC ในอนาคต
การพัฒนาเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และต้องพิจารณาให้รอบด้าน ซึ่งยากที่จะสามารถตอบได้ว่าเมื่อใดเราจะมี CBDC ใช้ เพราะความพร้อมอาจไม่ขึ้นอยู่กับ ธปท. เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องไปทั้งองคาพยพ ในด้านความพร้อมของภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน รวมถึงมาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง