​พาธุรกิจ SMEs ก้าวผ่านวิกฤติ ด้วยมาตรการ Soft Loan



การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นแหล่งการจ้างงานหลักของประเทศ เผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างเฉียบพลัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการอย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนและธุรกิจที่ประสบปัญหาในช่วงนี้หลายมาตรการ หนึ่งในนั้นคือการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan เพื่อเสริมสภาพคล่องให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง BOT พระสยาม MAGAZINE ขอนำเสียงตอบรับจากตัวแทนผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อ soft loan ว่าเงินฉุกเฉินนี้ช่วยต่อลมหายใจให้กับธุรกิจอย่างไร


ธุรกิจฝ่าวิกฤติได้ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

คุณวรงค์ วงศ์วรกุล

กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพร่ธำรงวิทย์ จำกัด

"ถึงแม้ธุรกิจของผมซึ่งเป็นธุรกิจก่อสร้างจะไม่ได้ถูกสั่งปิด แต่มาตรการในการยับยั้งโควิด 19 ทำให้การดำเนินการค่อนข้างลำบาก นับตั้งแต่การเคลื่อนย้ายแรงงาน การขนส่งวัสดุ เครื่องจักร เครื่องมือทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

"ผมว่า soft loan มาได้ถูกที่ถูกเวลาและค่อนข้างตอบโจทย์ สามารถเข้ามาเติมเต็มสภาพคล่องในยามฉุกเฉินสำหรับดำเนินธุรกิจได้อย่างดียิ่ง สินเชื่อที่ได้มา ส่วนใหญ่นำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเงินสำรองสำหรับดำเนินธุรกิจต่อไป เพราะไม่รู้ว่าวิกฤติครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร อาจจะใช้เวลา 3 - 5 เดือนหรือข้ามไปถึงปีหน้า ต้องขอบคุณที่มีโครงการดี ๆ เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจ SMEs ดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างราบรื่น ไม่สะดุด"


เติมกำลังใจ เติมทุนให้เกษตรกรไทยเดินได้ไม่ต้องหยุด

คุณชะลอ วันดี

ผู้นำวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาดุก หมู่บ้านห้วยกรด

"ที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุก หมู่บ้านห้วยกรด เราทำกิจการกันแบบชุมชนธรรมดา ๆ มานานหลายปี โดยเริ่มทำมาจากเล็ก ๆ ขับเคลื่อนมาเรื่อย ๆ แต่ในช่วงวิกฤติ เราขายไม่ออก ราคาต่ำลง ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ความเดือดร้อนมาแน่ ๆ เราต้องการเงินหมุนเวียน ถ้าเราซื้อเหยื่อซื้อของมาแต่ขายปลาไม่ได้เลย เราก็อยู่ไม่ได้

"สินเชื่อ soft loan ตอบโจทย์ได้ดี ทำให้เราไม่เครียดและมีเงินทุนหมุนเวียนเข้ามาต่อทุนขยายลูกปลาได้อีก ทำเรื่องแค่เดือนเดียวก็ได้รับเงินแล้ว ทำให้ลูกกลุ่มมีกำลังใจทำต่อ หลังจากที่กังวลกันอยู่ว่าจะเดินต่ออย่างไรถ้าทุนหมด"


ธุรกิจอยู่รอดเพราะเข้าใจสถานการณ์

คุณสะท้อน อ่อนแก้ว และคุณศศิอำไพ ศิริวิโรจน์

ผู้บริหารตลาดซิเคด้า

"ซิเคด้า มาร์เกตเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พอช่วงโควิด 19 การท่องเที่ยวเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง นักท่องเที่ยวน้อยลง ไม่มีนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ เราจึงปรับลดอัตราค่าเช่าพื้นที่ในตลาดให้กับผู้ค้า แม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นแล้ว โครงการก็ยังไม่เก็บค่าเช่าเพื่อให้ผู้ค้าในตลาดมีความแข็งแรงก่อน เพราะถ้าผู้ค้าอยู่ไม่ได้ ตลาดก็อยู่ไม่ได้

"วันที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ เราเรียกประชุมทีมงานเพื่อพิจารณาธุรกิจตามสถานการณ์จริง และได้ปรึกษากับธนาคารขอพักชำระเงินต้น 12 เดือน เพราะคาดการณ์ว่าวิกฤติครั้งนี้คงยาวนาน แต่พอมีสินเชื่อ soft loan ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ซึ่งเป็นความช่วยเหลือในแบบทันท่วงที เราจึงกล้ายืน กล้าที่จะลงทุน และกล้าที่จะช่วยเหลือคนอื่น ต้องบอกว่าอยากจะทำหนังสือไปขอบคุณจริง ๆ"


เติมเงินหมุนเวียนให้ธุรกิจที่หยุดชะงัก

คุณพินิต เหล่าสุนทร

กรรมการ บริษัท ยางวีเอ จำกัด

"เรามีโรงงานผลิตน้ำยางข้นที่จังหวัดตรัง ช่วงโควิด 19 มาเป็นช่วงที่น้ำยางออกมากพอดี พอผลิตเสร็จ ลูกค้าที่มีคำสั่งซื้อร้อยละ 70 เป็นลูกค้าต่างประเทศในโซนยุโรป ทำให้ไม่สามารถรับสินค้าได้ เราก็ต้องเก็บสต็อกสินค้าไว้ทำให้ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนค่อนข้างมาก

"เราไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่รุนแรงขนาดนี้มาก่อน ผมต้องให้ทุกคนใช้เงินอย่างประหยัดมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พอดี ธปท. ออกมาตรการ soft loan มาช่วยเหลือธุรกิจ SMEs เราจึงขอเข้าร่วมด้วย ซึ่งขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาดำเนินการและอนุมัติไม่ถึง 7 วัน ต้องขอบคุณที่ออกมาตรการนี้มาช่วยเหลือพวกเรา"


เงินทุนที่ผลักดันธุรกิจสู่โลกยุค New Normal

ดร.นิษฐา รัชไชยบุญ นันทขว้าง

กรรมการผู้จัดการ บริษัท สีฟ้าลุมพินี จำกัด

"ธุรกิจของสีฟ้ามีทั้งหมด 3 ธุรกิจ ธุรกิจแรกคือห้องอาหารสีฟ้า ซึ่งในช่วงโควิด 19 จะมีรายได้จากดิลิเวอรีเท่านั้น ธุรกิจที่สองคือรับจ้างทำอาหารและเครื่องดื่มในโรงแรม เรียกว่าช่วงนั้นแทบจะไม่มีรายได้เลย ส่วนธุรกิจที่สามคือรับผลิตอาหารกล่องให้กับแอร์เอเชีย ในขณะที่สายการบินก็หยุดบิน เพราะฉะนั้นรายได้จึงหายไปเกินร้อยละ 90 ร้านอาหารเป็นธุรกิจเงินสดต้องพึ่งพารายได้ที่เข้ามาวันต่อวัน ฉะนั้น เมื่อต้องปิดร้านก็จะกระทบต้นทุนคงที่ต่าง ๆ เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ และค่าไฟ รายได้ที่เข้ามาไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายตรงนี้

"พอธนาคารแจ้งเราว่ามี soft loan ของ ธปท. เราก็ติดต่อขอสินเชื่อเลย จากบริษัทที่ไม่มีรายได้ก็มีเงินสดหมุนเวียนมากขึ้น สภาพคล่องดีขึ้น พอพยุงให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ เราเอาเงินส่วนนี้มาจ่ายค่าจ้างพนักงานและซัพพลายเออร์ เพื่อให้ทุกคนอยู่รอดไปพร้อมกัน"


ตัวช่วยในวันที่เจอความเปลี่ยนแปลง

คุณวิชัย อริยรัชโตภาส

เจ้าของธุรกิจโรงแรม Loftel Group

"ธุรกิจ Loftel Group จะมี Loftel22 โฮสเทลในย่านเจริญกรุง ตามมาด้วย Loftel Station และ Four Sister Homestay โฮมสเตย์ที่แรกในย่านชุมชน แล้วขยับมาทำโรงแรมตั๊กหลักเกี้ย ตลาดน้อยและกำลังจะเปิดสาขาใหม่ แต่มาเจอพิษโควิด 19 พอดี ตอนแรกก็นึกไม่ถึงว่าจะรุนแรงขนาดนี้ แต่ด้วยธุรกิจของเราอยู่ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและที่พัก ผลกระทบจึงมาก เหมือนโดนช็อต ยิ่งพอล็อกดาวน์ มีเคอร์ฟิวก็ยิ่งกระทบหนัก จึงต้องปรับเปลี่ยนตั้งหลักใหม่ โชคดีที่เราเป็นธุรกิจครอบครัว เป็นธุรกิจ SMEs ทำให้ตัดสินใจง่าย

"พอได้ข่าวว่าจะมี soft loan เราสนใจมาก เมื่อธนาคารตอบกลับมาว่าเซ็นสัญญาได้แล้ว ได้รับเงินแล้วก็ดีใจที่ธุรกิจ SMEs อย่างเราได้รับเงินจริง"


ส่งต่อ Soft Loan สู่ Soft Rent ต่อลมหายใจผู้ค้าในตลาดนัด