​ชวนคุยชวนคิด ปรับวิถีธุรกิจท้องถิ่นในโลกใหม่อย่างยั่งยืน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาค จึงได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาวิชาการ สำนักงานภาค ประจำปี 2563 ภายใต้ธีม "ชวนคุยชวนคิด ปรับวิถีธุรกิจท้องถิ่นในโลกใหม่อย่างยั่งยืน" ภายในงาน ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คุณมารุต ชุ่มขุนทด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Class Café และคุณยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งแอปพลิเคชัน Wongnai ได้มาร่วมพูดคุยเรื่องทิศทางเศรษฐกิจ เสนอแนวคิดโลกหลังโควิด 19 และแลกเปลี่ยนมุมมองให้ภาคธุรกิจท้องถิ่นก้าวข้ามผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้


วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ต่างจากวิกฤติที่ผ่านมา ดังนั้น โครงสร้างเศรษฐกิจ คือสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนัก

วิกฤติโควิด 19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นจากปัญหาด้านสาธารณสุขซึ่งแตกต่างจากวิกฤติครั้งก่อนที่มักเกิดขึ้นจากด้านเศรษฐกิจมหภาคหรือสถาบันการเงิน วิกฤติครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและการส่งออก ธปท. จึงได้ออกมาตรการการเงินต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน อย่างไรก็ดี ในด้านสถาบันการเงินยังถือว่ามีความเข้มแข็งและเสถียรภาพด้านต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี หากไม่มีการระบาดรุนแรงเกิดขึ้นอีก คาดว่าเศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวและกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดวิกฤติได้ในปลายปี 2564

เมื่อมองย้อนดูความได้เปรียบของไทยในวิกฤติครั้งนี้ พบว่า เราสามารถควบคุมการระบาดได้เร็วกว่าประเทศอื่น แม้การเยียวยาเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่าคือ การช่วยกันปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจไทย ด้วยการมุ่งเน้นพัฒนาทักษะที่จำเป็น โดยใช้เทคโนโลยีเป็นหัวใจของการปรับตัวสำหรับโลกยุคหลังโควิด 19 จัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยย้ายทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจที่ศักยภาพด้อยลงมากไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่ศักยภาพยังดีอยู่ พร้อมกับร่วมมือกันปฏิรูป ปรับปรุงกฎเกณฑ์กติกาและลดข้อจำกัดให้เอื้อต่อการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในโลกยุคใหม่


ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงมากขึ้นท่ามกลางโลกที่ไม่แน่นอน

ภายใต้โลกที่มีความไม่แน่นอนสูง นอกจากเราจะต้องมองโควิด 19 เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนในระยะยาว (long-term complicated relationship) ที่มา ๆ หาย ๆ ไม่ไปไหนง่าย ๆ และไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร ซึ่งทำให้ต้องคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงให้มากขึ้นแล้ว ภาคธุรกิจต้องเตรียมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ด้วยการตั้งข้อสังเกต ทดลองทำ จัดการกับองค์ความรู้ให้เป็น รักษาสภาพคล่องทางการเงิน ลดต้นทุน อุดหนุนเครือข่ายธุรกิจ กระจายความเสี่ยง มองทุกวิกฤติให้เป็นโอกาส รวมถึงปรับแนวคิดการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่


ปรับคุณภาพด้วยเทคโนโลยี คือแนวคิดในโลกยุคใหม่

การทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ที่ให้ความสำคัญกับปริมาณเพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่แนวทางเพื่อนำไปสู่เป้าหมายอย่างเดิมได้ การแข่งขันในโลกยุคใหม่จึงต้องหันมาเน้นที่คุณภาพให้มากขึ้น วิกฤติครั้งนี้เป็นตัวเร่งให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในธุรกิจเร็วขึ้น ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวไปใช้เทคโนโลยีให้เร็วที่สุด เช่น การบริการจัดส่งอาหารทางออนไลน์ (online food delivery) ที่เป็นทางรอดเดียวของธุรกิจร้านอาหารในช่วงปิดเมือง หรือการชำระเงินทางดิจิทัล (digital payment) ที่เป็นทางเลือกหลักของการชำระเงินในช่วงโควิด 19 ทั้งนี้ การปรับตัวไปใช้เทคโนโลยีของผู้บริโภคอาจแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ซึ่งธุรกิจต้องเตรียมรับมือให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป


เปลี่ยนกระบวนการทำงานเพื่อก้าวสู่ความยั่งยืน


การเตรียมตัวเข้าสู่โลกที่ไม่แน่นอน ต้องปรับกระบวนการทำงานใน 3 ด้าน คือ (1) ลดการใช้สิ่งที่ไม่จำเป็นให้มากที่สุดหรืออาจลดขนาดธุรกิจ (lean) (2) ปรับตัวให้ไว (speed) และ (3) มีความยืดหยุ่นและพร้อมเปลี่ยนแปลง (flexibility) ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้หากมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้ ธุรกิจขนาดเล็กสามารถใช้วิกฤติครั้งนี้ให้เป็นโอกาสเพราะมีความคล่องตัวในการปรับได้เร็วกว่า ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้เติบโตได้ ท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนล้วนต้องปรับตัว ปรับใจ ปรับทัศนคติ ในโลกที่เปลี่ยนไว ซับซ้อน และคลุมเครือ เพื่อความยั่งยืนในอนาคต