​BOT Symposium 2020 ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้เกิดได้จริง Restructuring the Thai Economy

งานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประจำปี 2563 จัดขึ้นภายใต้ธีม "ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้เกิดได้จริง (Restructuring the Thai Economy)" เพื่อชี้ประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจไทยหลังจากวิกฤติโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง และเผยให้เห็นจุดเปราะบางเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่สั่งสมมานาน ประเทศไทยจึงต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของโลกใหม่ และรับมือความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น ภายในงานสัมมนาวิชาการครั้งนี้ มีการนำเสนอบทความทางวิชาการ การบรรยายในรูปแบบ perspectives และปิดท้ายด้วยการเสวนาในหัวข้อเดียวกับธีมการจัดงาน

เศรษฐกิจไทยท่ามกลางความไม่แน่นอน : ปรับกระบวนทัพ รับความท้าทาย

โดย ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ดร.พิม มโนพิโมกษ์ ดร.อาชว์ ปวีณวัฒน์ คุณชัยธัช จิโรภาส และคุณทศพล อภัยทาน

ผู้วิจารณ์ : ดร.สันติธาร เสถียรไทย

งานวิจัยชิ้นนี้ทำความเข้าใจกับความไม่แน่นอน โดยสร้างดัชนีบ่งชี้ระดับความไม่แน่นอนที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ศึกษาผลกระทบความไม่แน่นอนในด้านต่าง ๆ ต่อระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งในระดับมหภาคและระดับบริษัท รวมถึงให้ข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการและผู้ดำเนินนโยบาย


4 ความไม่แน่นอนต่อระบบเศรษฐกิจไทย

งานวิจัยชิ้นนี้แบ่งความไม่แน่นอนต่อระบบเศรษฐกิจไทยออกเป็น 4 ด้านคือ (1) ความไม่แน่นอนด้านภาวะเศรษฐกิจ ประกอบด้วยความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจมหภาค และความไม่แน่นอนด้านตลาดการเงิน โดยพบว่า ความไม่แน่นอนปรับตัวสูงขึ้นในช่วงวิกฤติการเงินสหรัฐฯ ปี 2551 (วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์) น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และวิกฤติโควิด 19 (2) ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจ ประกอบด้วยความไม่แน่นอนด้านนโยบายการเงินและการคลัง โดยล่าสุดดัชนีอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งมาจากความล่าช้าและไม่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์วิกฤติโควิด 19 (3) ความไม่แน่นอนด้านการเมืองไทย ส่วนมากดัชนีจะอยู่ในระดับสูงช่วงที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศที่นำไปสู่การประท้วง การทำรัฐประหาร และการประกาศใช้กฎอัยการศึก และ (4) ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นดัชนีเดียวที่ทะยานสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ จนในปัจจุบันอยู่ในระดับสูงที่สุดเท่าที่เคยวัดมา

ประเทศไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นทั้ง 4 ด้าน โดยความไม่แน่นอนด้านภาวะเศรษฐกิจส่งผลเชิงลบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งรุนแรงที่สุดอยู่ที่ระยะเวลาประมาณ 1 ปี และจะใช้เวลาอีก 3 - 4 ปี ผลกระทบจึงจะหายไป ผลที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้มาจากการลดลงของการบริโภคเป็นหลัก แต่มาจากการหดตัวของการลงทุนและการส่งออกเป็นสำคัญ

ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออกและการลงทุน


ความไม่แน่นอนด้านการเมือง ส่งผลกระทบการท่องเที่ยว

สำหรับความไม่แน่นอนด้านการเมือง แม้จะส่งผลเชิงลบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจแต่ละด้าน แต่เมื่อเทียบกันแล้ว ความรุนแรง และระยะเวลาของผลกระทบไม่ได้รุนแรงเท่ากับความไม่แน่นอน ด้านภาวะเศรษฐกิจและด้านนโยบายเศรษฐกิจ

งานวิจัยยังพบว่า ในช่วงที่เกิดความไม่แน่นอนด้านการเมือง การส่งออกสินค้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่า ช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ผู้ประกอบการต้องการกระจายหรือ หาแหล่งส่งออกสินค้าใหม่ ๆ เพื่อชดเชยกับอุปสงค์ที่เสียไปในประเทศ ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนด้านการเมืองยังส่งผลเชิงลบที่ค่อนข้างรุนแรงต่อการท่องเที่ยว หรือการส่งออกของภาคบริการ

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนด้านภาวะเศรษฐกิจสามารถอธิบายความผันผวนของเศรษฐกิจไทยสูงถึงร้อยละ 40 ตามด้วยความไม่แน่นอนในด้านอื่น ๆ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว แต่ละด้านสามารถอธิบายความผันผวนของเศรษฐกิจไทยได้ร้อยละ 22


การวิจัยในโลกสมมติ

งานวิจัยยังสร้างโลกสมมติที่จำกัดความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงไปกว่าร้อยละ 80 ของระดับที่เกิดขึ้นจริง พบว่าในช่วงปี 2550 - 2562 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจากความแตกต่างระหว่างโลกสมมติและโลกจริง สามารถคิดเป็นมูลค่าเงินบาทสะสมสูงถึง 4.9 ล้านล้านบาท ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจจึงมีต้นทุนสูงต่อระบบเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น ในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง ประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยมีประสิทธิภาพต่ำกว่าช่วงปกติเกือบครึ่งหนึ่งแสดงให้เห็นถึงขีดจำกัดของการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้บริโภคไม่ต้องการจับจ่ายใช้สอย และผู้ประกอบการไม่ต้องการลงทุน

งานวิจัยจัดกลุ่มอุตสาหกรรมแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมดาวรุ่ง คือ อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตเฉลี่ยสูงและมีความอ่อนไหวต่อความไม่แน่นอนต่ำ ประกอบด้วย ร้านอาหาร ร้านค้าและบริการยานพาหนะ โรงพยาบาลและการผลิตยา (2) อุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วง คือ อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตเฉลี่ยต่ำและมีความอ่อนไหวต่อความไม่แน่นอนสูง เช่น การผลิตคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและการผลิตกระดาษ (3) อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่มีการเติบโตเฉลี่ยสูงและมีความอ่อนไหวต่อความไม่แน่นอนปานกลาง เช่น ค้าปลีก และการศึกษา และ (4) อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่มีการเติบโตเฉลี่ยปานกลางและมีความอ่อนไหวต่อความไม่แน่นอนต่ำ เช่น การผลิตอาหาร การเงิน และการโรงแรม

งานวิจัยพบว่า ความไม่แน่นอนส่งผลแตกต่างกันต่อบริษัทในอุตสาหกรรมคนละกลุ่ม ในภาวะที่ความไม่แน่นอนเพิ่มสูงขึ้น บริษัทปรับตัวด้วยการหันไปพึ่งตลาดต่างประเทศมากขึ้น และความ ไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้บริษัทที่ดีในภาวะปกติต้องเผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่องได้


ลดความไม่แน่นอน และเสริมกำลังให้ภาคธุรกิจ

ข้อเสนอของงานวิจัยมี 3 ประการ ได้แก่ (1) ภาครัฐควรลดความ ไม่แน่นอนให้มากที่สุด เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายด้าน บางด้านอยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาล แต่ก็มีความไม่แน่นอนที่รัฐอาจควบคุมหรือทำให้ลดลงได้ เช่น ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจไทย หากรัฐบาลทำการสื่อสารกับสาธารณชนให้ดียิ่งขึ้น เช่น การสื่อสารเกี่ยวกับทิศทางการดำเนิน นโยบาย จะช่วยให้สาธารณชนเข้าใจและลดความไม่แน่นอนลงได้ นอกจากนี้ ภาครัฐควรประสานงานระหว่างหน่วยงานให้การดำเนินนโยบายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนต่อ สาธารณชน

(2) การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่อุตสาหกรรมดาวรุ่งให้มากขึ้น โดยการเลือกส่งเสริมอุตสาหกรรมใด ไม่ควรพิจารณาเฉพาะการเติบโตเท่านั้น แต่ควรพิจารณาในมิติอื่นเพิ่มเติม เช่น ความอ่อนไหวต่อความไม่แน่นอน นอกจากนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมอุตสาหกรรมดาวรุ่ง และอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพให้ปรับตัวและก้าวมาเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่ง

(3) สภาพคล่องสำหรับธุรกิจมีความจำเป็นในภาวะความไม่แน่นอนสูง ธุรกิจจึงจำเป็นต้องสะสมสภาพคล่องในภาวะปกติ เพื่อรองรับผลกระทบในภาวะที่ความไม่แน่นอนเพิ่มสูงขึ้น และธุรกิจ ควรส่งออกในตลาดต่างประเทศที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านรายได้ ทางด้านภาครัฐควรสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากความ ไม่แน่นอน และภาครัฐอาจจำเป็นต้องเสริมสภาพคล่องในระยะสั้นให้กับธุรกิจที่ดี แต่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น


เหลียวหลัง แลหน้า อนาคตหนี้ครัวเรือนไทย

โดย ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ คุณอัจจนา ล􀁬่ำซ􀁬ำดร.ลัทธพร รัตนวรารักษ์ คุณณรงค์ฤทธิ์ อดุลย์ฐานานุศักดิ์ คุณปัณณธร ธนัพประภัศร์ และ ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ผู้วิจารณ์ : คุณสฤณี อาชวานันทกุล

หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในหลายปีที่ผ่านมา และมีความรุนแรงขึ้น เห็นได้จากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80.1 ในไตรมาสแรกปี 2563 เพิ่มจากร้อยละ 50.4 เมื่อปี 2552 ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่การเกิดโรคระบาดโควิด 19 ยิ่งทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีความท้าทายมากขึ้น และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า


หนี้ครัวเรือนกระจุกอยู่ในหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้

งานวิจัยครั้งนี้ได้ใช้ฐานข้อมูลเชิงสถิติจากเครดิตบูโร ที่ครอบคลุมสินเชื่อรายย่อย 23.1 ล้านคน จากสถาบันการเงิน 103 แห่ง มูลหนี้รวม 11.9 ล้านล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 88.3 ของหนี้ครัวเรือนในระบบทั้งหมด) ข้อมูลสินเชื่อเกษตรกรจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และข้อมูลสินเชื่อทุกประเภทจากการสำรวจสุขภาพการเงินครัวเรือนไทยในปี 2563

งานวิจัยพบว่า (1) หนี้ทั้งหมดกระจุกตัวอยู่กับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และผู้กู้ที่มีหลายบัญชี หากแยกตามประเภทสินเชื่อ จะพบว่าร้อยละ 80 ของบัญชีทั้งหมดกระจุกตัวในสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล และมีสัดส่วนมูลหนี้ถึงร้อยละ 70 หากแยกตามประเภทของผู้กู้ จะพบว่าจำนวนบัญชีของผู้กู้ที่มีมากกว่า 5 บัญชี มีสัดส่วนมากกว่าครึ่ง และสูงขึ้นเรื่อย ๆ

(2) สถานการณ์หนี้รายคน คนไทยเป็นหนี้สูงในวงกว้าง โดย 1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้ และมูลหนี้อยู่ในระดับสูง และ 1 ใน 6 ของผู้กู้มีหนี้เสีย และมีมูลหนี้เสียสูงขึ้น

(3) คนไทยเป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้นาน และเป็นหนี้จนแก่ โดยหากดูสัดส่วนคนไทยที่มีหนี้ในมิติอายุ พบว่าร้อยละ 60 ของคนอายุน้อยเป็นหนี้ และร้อยละ 20 ของคนหลังวัยเกษียณยังคงเป็นหนี้ หากดูมูลหนี้ต่อหัว พบว่ามูลหนี้อยู่ในระดับสูง และค้างตัวอยู่นานในช่วงวัยทำงาน แต่หลังเกษียณแล้ว มูลหนี้จะลดลงอย่างช้า ๆ

(4) กลุ่มผู้กู้อายุน้อยและผู้กู้หลายบัญชีมีความเปราะบางสูง โดย 1 ใน 4 ของผู้กู้อายุน้อยมีหนี้เสีย

(5) ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังพึ่งพาหนี้กึ่งในระบบและนอกระบบสูง จากการสำรวจครัวเรือนตัวอย่าง 720 ครัวเรือนใน 48 ตำบลทั่วประเทศ พบว่าร้อยละ 86 ของครัวเรือนมีหนี้กึ่งในระบบและ นอกระบบ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าร้อยละ 24 ของพอร์ตหนี้ของครัวเรือน การกู้ยืมของครัวเรือนส่วนใหญ่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และใช้เพื่อรับมือกับ shock ในด้านต่าง ๆ

(6) ครัวเรือนที่เป็นหนี้ส่วนใหญ่เปราะบางต่อ shock สูง และ มาตรการภาครัฐอาจทำให้หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาระยะยาว โดยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างนโยบายรถคันแรก ส่งผลต่อหนี้ คนเมือง ขณะที่โครงการพักชำระหนี้และลดภาระหนี้แก่เกษตรกรอาจ ไม่ใช่คำตอบในการแก้หนี้เกษตรกรในระยะยาว จากการศึกษาพบว่า เกษตรกรที่เข้าโครงการฯ มีหนี้สะสมมากขึ้น และกลายเป็นหนี้เสีย มากกว่าเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าโครงการฯ อย่างมีนัยสำคัญ


โควิด 19 กระทบหนี้ครัวเรือนไทย

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยที่ผ่านมา มีความเปราะบางเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และมากขึ้นเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด 19 ระบาด ส่งผลให้ครัวเรือนจำนวนมากมีปัญหาในการชำระหนี้

คณะผู้วิจัยได้ใช้วิธีการแยกบัญชีและผู้กู้ที่เข้ามาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อของ ธปท. ระหว่างเดือนเมษายน - มิถุนายน 2563 พบว่า มีจำนวน 8.1 ล้านบัญชี หรือมูลหนี้ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท (ประมาณร้อยละ 70 ของจำนวนบัญชีที่ ธปท. รายงานว่าเข้า มาตรการ) ส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 59 เข้าร่วมมาตรการในเดือนเมษายน โดยร้อยละ 42.6 ของผู้เข้าร่วม อยู่ในมาตรการครบ 3 เดือน ขณะที่ร้อยละ 16.6 ออกจากมาตรการก่อนครบ 3 เดือน แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของสถานการณ์ที่ไม่เท่ากันของผู้กู้แต่ละกลุ่ม โดยผู้กู้เข้ามาตรการแบบเลื่อนชำระหนี้ถึงร้อยละ 71 สะท้อนถึงการมีปัญหาในการชำระหนี้ ขณะที่ร้อยละ 26 ใช้วิธีลดอัตราชำระหนี้ และร้อยละ 3 เข้ามาตรการสำหรับสินเชื่อที่เป็น NPL คือ ปรับโครงสร้างหนี้ หรือ โครงการคลินิกแก้หนี้

ด้านผู้ให้บริการทางการเงินที่เป็นผู้ให้กู้ พบว่ากลุ่มบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (non-bank) มีสัดส่วนสินเชื่อในพอร์ตที่เข้าโครงการมากที่สุด ร้อยละ 37 - 75 ของสินเชื่อในพอร์ต ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อ เช่าซื้อที่ขอลดอัตราการชำระหนี้เป็นหลัก แสดงให้เห็นว่า กลุ่ม non-bank อาจจะมีความเปราะบางมากกว่าสถาบันการเงินกลุ่มอื่น เห็นได้จากมีบัญชีที่เข้ามาตรการจำนวนมาก และอาจมีความเสี่ยงที่ผู้กู้จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ขอเลื่อนระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป และหากสถานการณ์โควิด 19 ยังยืดเยื้อ ผู้กู้ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้มากขึ้น เมื่อพิจารณาผู้กู้ที่เข้ามาตรการพบว่าส่วนใหญ่มีภาระหนี้สูง ค่ากลางมูลหนี้ประมาณ 5 แสนบาทต่อราย สูงกว่าผู้กู้ที่ไม่เข้ามาตรการ (1 แสนบาทต่อราย) และมีการกู้ 4 - 5 บัญชีขึ้นไป


ผู้กู้ทยอยฟื้นตัว และออกจากมาตรการ

ในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งครบกำหนดมาตรการช่วยเหลือของสินเชื่อบางประเภท พบว่ามีผู้กู้ที่ออกจากมาตรการ 2.1 ล้านราย หรือร้อยละ 36.7 ของผู้กู้ที่เข้ามาตรการ และมีบัญชีที่ขอออกจากมาตรการ 3.4 ล้านบัญชี หรือร้อยละ 44 ของบัญชีที่เข้ามาตรการ ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อ และเป็นผู้กู้ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากกว่าภาคอื่น โดยเป็นลูกหนี้ของ non-bank เป็นหลัก แต่บาง non-bank ที่มียอดสินเชื่อสูงก็ยังคงสูงอยู่ เพราะแม้จะมีบัญชีที่ขอออกจากมาตรการบ้าง แต่อยู่ในสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับบัญชีสินเชื่อที่เข้ามาตรการ ส่วนด้านผู้กู้พบว่า ผู้กู้ที่ออกจากมาตรการ จะมีค่ากลางมูลหนี้ต่ำกว่า 2.5 แสนบาทต่อราย น้อยกว่าผู้ที่ยังอยู่ในมาตรการต่อ ที่มีค่ากลางมูลหนี้ 5 แสนบาทต่อราย

จากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนดังกล่าว ผู้วิจัยได้ทำแบบจำลอง เพื่อพยากรณ์สถานการณ์หนี้ที่อาจจะมีปัญหาจากวิกฤติโควิด 19 ภายใต้รูปแบบต่าง ๆ ผลการศึกษาพบว่า ภาคการท่องเที่ยว มีบทบาทในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้กู้ที่คาดว่าจะมีปัญหาการชำระหนี้มีจำนวนน้อยลง จากสถานการณ์ปกติที่ประเมินว่าอาจจะทำให้ผู้กู้ 2.1 ล้านคน หรือ 2.5 ล้านบัญชีมีปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ แต่ทั้งนี้ก็อาจมาพร้อมกับความเสี่ยงในการระบาดระลอก 2 ที่นำไปสู่การล็อกดาวน์ประเทศ และส่งผลให้เกิดการชะงักของระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง


Restructuring the Thai Economy

โดย คุณกมลพงศ์ สงวนตระกูล บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง

(เคเคทีที) จำกัด นพ.สุภกร บัวสาย กองทุนเพื่อความเสมอภาค ทางการศึกษา และ ดร.วิรไท สันติประภพ

ผู้ดำเนินการสนทนา : ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์


ใช้การมีส่วนร่วม มุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก

ในวงเสวนาปิดท้ายงานสัมมนาวิชาการครั้งนี้ นพ.สุภกร อดีต ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งผันตัวมาทำงานด้านการศึกษาได้แชร์ประสบการณ์การรณรงค์ เพื่อการไม่สูบบุหรี่ว่า การผลักดันจนมีการขึ้นภาษีบุหรี่เป็นเหตุการณ์ที่จบในครั้งเดียว ไม่สามารถเรียกร้องรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เราจึงต้องหาวิธีทำงานให้มีความต่อเนื่อง แต่การให้ความรู้เพียงอย่างเดียวนั้นไม่ได้ผล ต้องทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มีกลไกในการผลักดัน มาตรการหรือนโยบายสาธารณะที่สำคัญ และขยายเป็นโมเดล เรื่องสุขภาพหลาย ๆ เรื่อง ไม่เฉพาะแค่บุหรี่ ขณะเดียวกันก็ต้องต่อสู้กับผลประโยชน์ของธุรกิจขนาดใหญ่รวมถึงธุรกิจสุรา จึงต้องอาศัยแพลตฟอร์มทางกฎหมายเข้ามาช่วย

นพ.สุภกรกล่าวว่า "ไม่ถึงกับยากมากจนทำไม่ได้ แต่ต้องเริ่มต้นจากการที่มีความเข้าใจพอสมควรว่า เรากำลังจะทำอะไร ด้วยเหตุผลอะไร และมีความรู้ข้อมูลพื้นฐานเพื่อให้เรามั่นใจว่า สิ่งที่เราเสนอต่อภาคนโยบายมันใช่ และไม่มีผลตรงข้ามจากที่คิดไว้ตามมาทีหลัง เรื่องความรู้เป็นเรื่องสำคัญ สุดท้ายเราคุยกับภาคนโยบายอย่างเดียว บางทีไม่ได้ผล ต้องดึงสังคมเข้ามาช่วยระหว่างการรณรงค์ไปด้วย เป็นการดักคอ เพราะบางทีคุยกับภาคนโยบาย ตอนแรกอย่างหนึ่ง ออกมาแล้วเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เหมือนกับที่เคยคุยกันตอนต้น โดยสรุปคือ ทำได้ แต่ต้องมีความรู้ มีการพูดคุยกับภาคนโยบาย แบบกลาง ๆ ในลักษณะที่ยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ไม่ใช่ไปให้ประโยชน์กับทางการเมืองเป็นหลัก และในกระบวนการต้องโปร่งใส เพื่อจะให้สังคมเข้ามาตรวจสอบขั้นตอนต่าง ๆ ไม่ให้ผิดเพี้ยนไป"


เอาชนะปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้วยพลังจากท้องถิ่น

ทางด้านคุณกมลพงศ์กล่าวว่า โครงสร้างประเทศไทยเป็นการบริหารแบบรวมศูนย์ (centralization) การพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ ตามปกติต้องนำเสนอผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการทำโครงสร้างพื้นฐานจะติดขัดเรื่องงบประมาณโดยตลอด "เราเข้าใจ รัฐบาลส่วนกลางมีลูกตั้ง 70 กว่าคน จะดูแลลูกแค่คนเดียวอาจจะลำบาก เพราะถ้ามาช่วยที่หนึ่งแล้วอีกจังหวัดหนึ่งจะเป็นอย่างไร"

คุณกมลพงศ์และคนอื่น ๆ ในจังหวัดขอนแก่นจึงมีการพูดคุยหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาเมือง ผลสรุปคือ กว่า 20 องค์กรธุรกิจในขอนแก่นร่วมลงทุนและก่อตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด ในเชิงธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) เพื่อพัฒนาจังหวัดบ้านเกิด โดยจะเน้น 2 เรื่อง คือ (1) MICE city เมืองประชุมและสัมมนา และ (2) โครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชน

เราเชื่อมั่นว่า ถ้าเกิดโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit: LRT) ขึ้นจริง ๆ เราจะมีงาน มีโอกาส เพราะการจะทำระบบขนส่งมวลชนภายในจังหวัด เราจะไม่ใช้วิธีไปซื้อสินค้ามา เราอยากจะให้เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี (technology transfer) สามารถสร้างรายได้ช่องทางใหม่ ๆ ให้กับทางจังหวัด เป็น New S-Curve ถ้าสมมติว่าเกิดอุตสาหกรรมระบบรางขึ้นจริง ๆ ในจังหวัด เราจะสามารถสร้างงาน สร้างโอกาสให้คนที่เดินทางไปใช้ชีวิตและทำงานอยู่ต่างจังหวัดกลับมาที่บ้านเกิดได้มากยิ่งขึ้น" คุณกมลพงศ์กล่าว


ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจด้วยแนวคิด 4Ds

ด้าน ดร.วิรไทเล่าถึง "พร้อมเพย์" ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบการชำระเงินของประเทศไทย โดยย้อนไปก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. โครงสร้างระบบการชำระเงินมีความบิดเบือนขนาดใหญ่ ช่วงหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ธนาคารพาณิชย์หันมาให้ความสำคัญกับลูกค้ารายย่อย จากเดิมเน้นดูแลลูกค้าขนาดใหญ่ จะเห็นว่ามีการแข่งขันกันเปิดสาขาธนาคารทั่วประเทศไทย พร้อมกับติดตั้งตู้ ATM โดยที่ต้นทุนการให้บริการที่สาขาธนาคารพาณิชย์และ ตู้ ATM อยู่ในระดับสูง แต่ประชาชนรู้สึกว่าฟรีไม่มีต้นทุน พอเกิดบริการอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีต้นทุนถูก ทุกธนาคารต้องหาทางเอารายได้คืนจากการที่ไปแข่งกันให้บริการผ่านสาขาหรือตู้ ATM ธนาคารจึงคิดค่า ธรรมเนียมแพงจากบริการอิเล็กทรอนิกส์

"ถ้าเรายังติดกับดักเรื่องค่าธรรมเนียมแบบเดิม เรื่องโครงสร้างรายได้แบบเดิม ไม่มีทางเลยที่เศรษฐกิจไทยจะสามารถเดินหน้าได้บนพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล ผมใช้เวลาพูดคุยกันค่อนข้างมากกับสถาบันการเงินต่าง ๆ การมีเทคโนโลยีทำให้มีทางเลือกค่อนข้างเยอะ แต่สิ่งที่ยากคือ การประสานประโยชน์ค่าธรรมเนียมการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เขาเคยได้ปีละมากกว่าหมื่นล้านบาท คำถามคือ ทำอย่างไรที่จะยอมให้มีการเปลี่ยนวิธีคิด และทำให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างจริงจัง"

ดร.วิรไทกล่าวว่า ธปท. ได้ทำระบบใหม่ที่มีโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่โปร่งใส เป็นระบบที่เปิดกว้าง และเน้นมาตรฐานกลาง ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ทำ standard QR code โดยทำงาน ร่วมกับบริษัทบัตรเครดิตรายใหญ่ 5 ราย ทำให้เป็นมาตรฐานกลางที่เปิดกว้าง ไม่ให้ใครมาครองตลาด ยึดหัวหาดในโลกดิจิทัล

ในเรื่องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ดร.วิรไทกล่าวว่า มีกลไกเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พร้อมแนวคิด 4Ds ประกอบด้วย (1) data สร้างนโยบายบนฐานข้อมูล (data-driven policy) (2) digital tools เครื่องมือดิจิทัล เช่น digital factoring (3) decentralized approach การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ต้องเปลี่ยนแนวคิดจากการทำเองแบบรวมศูนย์ไปเป็นการทำแพลตฟอร์มที่ใครก็เข้ามาเชื่อมโยงได้ และ (4) deregulate การลดกฎเกณฑ์ หรือการผ่อนคลายกฎระเบียบ