​ตั้งการ์ด สู้หนี้ เริ่มที่ตัวเรา



เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้รายรับของเราไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ตัวอย่างที่เห็นชัดในตอนนี้ก็คือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด 19 ต่อคนจำนวนไม่น้อยทั่วโลก สิ่งที่ตามมาคือความกังวลใจเรื่องค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ที่ยังคงมีอยู่ แม้หลายคนจะพยายามหาวิธีลดค่าใช้จ่าย หาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ หรือพยายามขายทรัพย์สินเพื่อเอาเงินมาใช้จ่ายและชำระหนี้ แต่ก็อาจพบว่ายังไม่พออยู่ดี วันนี้ Financial Wisdom จะมาแนะนำ 3 ขั้นตอน เพื่อเตรียมตัวเราให้พร้อมสู้ปัญหาหนี้


3 ขั้นตอน เพื่อเตรียมตัวเราให้พร้อมสู้ปัญหาหนี้

1. ตั้งสติ ยอมรับความเป็นจริงว่าเรากำลังมีปัญหาหนี้ เพื่อเตรียมตัวหาทางแก้ไข และตั้งมั่นว่าจะไม่ก่อหนี้ใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาในครั้งนี้

2. เขียนรายการหนี้สินของตนเองออกมาให้หมด เพื่อช่วยเรียบเรียงข้อมูลการกู้หนี้ของเราให้เป็นระเบียบ และทำให้เห็นภาพชัดเจน ไม่คิดวนเวียน ซึ่งทำให้มีความเครียดมากขึ้น เช่น หนี้นอกระบบ หนี้บัตรกดเงินสด หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต หนี้เช่าซื้อรถ หนี้ที่อยู่อาศัย หนี้ที่ยืมญาติและเพื่อน โดยทำเป็นตาราง ประกอบด้วย ประเภทหนี้ เจ้าหนี้ อัตราดอกเบี้ยต่อปี ยอดหนี้ที่คงเหลือ ยอดผ่อนชำระต่อเดือน และนำข้อมูลยอดผ่อนชำระต่อเดือนมาเปรียบเทียบกับรายรับที่เหลืออยู่ เพื่อคิดหาวิธีว่าจะจัดการชำระหนี้ก้อนไหนอย่างไร เช่น จ่ายหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อนเพื่อประหยัดเงินที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ขายทรัพย์สินมาปิดหนี้ที่มียอดคงเหลือน้อยที่สุด เพื่อลดจำนวนเจ้าหนี้และสร้างกำลังใจในการจัดการหนี้สิน หรือหากพบว่าเริ่มชำระหนี้ไม่ไหว ให้ลองมองหาช่องทางที่ช่วยแก้ปัญหา หนี้ต่อไป

3. หาข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ว่ามีมาตรการที่ตรงกับประเภทสินเชื่อที่เรามีหรือไม่ แล้วรีบติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เพื่อลดภาระที่ต้องจ่าย อย่างในช่วงโควิด 19 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้หลายอย่าง เช่น ลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ลดจำนวนเงินจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 5 ของยอดหนี้ และการขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินในการช่วยเหลือลูกหนี้ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การพักชำระหนี้ การเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสินเชื่อระยะยาว การช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ (debt consolidation) รวมทั้ง มีช่องทาง "ทางด่วนแก้หนี้" ที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกหนี้จากปัญหาทางการเงินในช่วงโควิด 19 ในกรณีที่ลูกหนี้ทำการติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้แล้ว แต่ยังไม่สามารถหาทางออกในการแก้ไขปัญหาหนี้ร่วมกันได้ เช่น คุณสมบัติไม่ผ่าน หรือไม่สามารถชำระหนี้ได้แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือ ลูกหนี้สามารถส่งข้อมูลมายังทางด่วนแก้หนี้ เพื่อให้ ธปท. ช่วยประสานงานระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ให้สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ เช่น ปรับแผนการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายรับของลูกหนี้ที่ลดลง


คลินิกแก้หนี้

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่มีมาตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19 เช่น คลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มี หลักประกัน โดยรวมหนี้จากเจ้าหนี้หลายเจ้าให้เป็นก้อนเดียวและให้ลูกหนี้ผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ย ที่ถูกลง สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่


การติดต่อกับเจ้าหนี้เพื่อขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้

แต่หากไม่พบมาตรการช่วยเหลือที่ตรงกับปัญหาของเราก็อย่าเพิ่งสิ้นหวัง เพราะยังมีทางออกอีกทางหนึ่ง คือ การติดต่อกับเจ้าหนี้ เพื่อขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ (debt restructuring) เพื่อปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง ซึ่งเราควรรีบไปติดต่อเจ้าหนี้โดยไม่ต้องรอให้เป็นหนี้เสีย (Non-Performing Loan: NPL) การปรับโครงสร้างหนี้มีหลายรูปแบบ เช่น

  • การขอขยายเวลาชำระหนี้ เพื่อให้ค่างวดลดลง เช่น สัญญาฉบับเดิมมีระยะเวลาการกู้อยู่ที่ 10 ปี ค่างวดอยู่ที่ 10,000 บาทต่อเดือน ตอนนี้เหลือระยะเวลาผ่อนอยู่ 3 ปี แต่เริ่มผ่อนไม่ไหว จึงขอเจรจาขยายเวลาชำระหนี้ออกไปจาก 3 ปีเป็น 5 ปี เพื่อให้ยอดผ่อนชำระต่อเดือนลดลงต่ำกว่า 10,000 บาท
  • การขอลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อเป็นการช่วยลดรายจ่ายของเราในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยแต่ละงวด
  • การรีไฟแนนซ์ (refinance) คือ การเปลี่ยนเจ้าหนี้หรือเปลี่ยนสัญญาใหม่กับเจ้าหนี้รายเดิมที่เสนออัตราดอกเบี้ยถูกลง แล้วนำเงินที่ได้จากการเปลี่ยนเจ้าหนี้หรือทำสัญญาใหม่มาปิดหนี้ก้อนเดิมที่มีอยู่ เพื่อเป็นการลดภาระดอกเบี้ย หรือได้เวลาผ่อนชำระยาวนานขึ้น แต่ก่อนที่จะตัดสินใจรีไฟแนนซ์ อย่าลืมสอบถามค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เราจะต้องจ่าย เช่น ค่าจดจำนอง ค่าประเมินหลักประกัน ว่าคุ้มค่าที่จะรีไฟแนนซ์หรือไม่เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ สามารถศึกษาวิธีการปรับโครงสร้างหนี้อื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.bot.or.th/covid19/Pages/content/ retail/restructuring/


การเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อนเข้าสู่กระบวนการเจรจา

นอกจากรู้ช่องทางและวิธีแล้ว ลูกหนี้ควรเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อนเข้าสู่กระบวนการเจรจา เช่น รวบรวมเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ จัดเตรียมเอกสารที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้ที่เปลี่ยนไปเนื่องจากรายได้ลดลง เช่น เอกสารถูกเลิกจ้างหรือขอลดเงินเดือน บันทึกยอดขาย บัญชี รายรับรายจ่ายส่วนตัวหรือของกิจการ หรือเอกสารที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ใบเรียกเก็บค่าเทอมลูก ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล หรือภาระหนี้อื่น ๆ ที่มี เพื่อใช้ประกอบการเจรจา ที่สำคัญ ก่อนรับข้อเสนอในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เจ้าหนี้เสนอมา ควรประเมินความสามารถในการผ่อนชำระของเราให้ดี และไม่รับเงื่อนไขการชำระหนี้ที่ทำไม่ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาผ่อนไม่ไหวซ้ำอีก

หากผ่านพ้นวิกฤติทางการเงินครั้งนี้ไปได้แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ การปรับพฤติกรรมการเงินใหม่ เช่น เมื่อได้เงินมาให้หักเงินออม ก่อนใช้จ่ายเพื่อเตรียมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน คอยควบคุมไม่ให้รายจ่าย มากกว่ารายรับ และมีหนี้เท่าที่จ่ายไหว ซึ่งจะทำให้เราสามารถจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการเตรียมความพร้อมต่อสู้วิกฤติที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต