สถานการณ์โควิด 19 ส่งผลให้ภาคธุรกิจทั้งองค์กรขนาดใหญ่และ SME จำเป็นต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด เตรียมพร้อมการสร้างอนาคตในระยะยาว รวมถึงหาทางรับมือกับความท้าทายยุคดิจิทัลแบบ new normal
ทั้งนี้ ในงาน Bangkok FinTech Fair 2020 ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจัดขึ้นได้เปิดเวทีให้ผู้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นอย่างเข้มข้นในหลากหลายประเด็นด้วยกัน โดยเฉพาะหัวข้อ "5 เรื่องต้องปรับรับ new normal" ซึ่งมาพร้อมผู้ร่วมเสวนา อันได้แก่ คุณฐากร ปิยะพันธ์ อดีตประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์, คุณอริยะ พนมยงค์ CEO และผู้ก่อตั้งบริษัท Transformational และคุณอภิรัตน์ หอมชะเอม Chief Digital Officer บริษัท SCG Cement-Building Materials โดยมีผู้ดำเนินรายการคือ คุณมนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล ผู้ประกาศข่าวเศรษฐกิจสถานีโทรทัศน์ TNN ช่อง 16 ทั้ง 3 ท่านต่างฉายภาพให้เห็นถึงเทรนด์ความเปลี่ยนแปลง รวมถึงสิ่งที่ภาคธุรกิจควรเรียนรู้จากวิกฤติและปรับตัว เพื่อก้าวต่อไปในโลกการแข่งขันแบบไม่ปกติ (no normal) ผ่าน 5 ประเด็นสำคัญ ๆ ได้แก่ (1) mindset (2) strategy (3) process (4) data และ (5) skill
1. Innovation Mindset
ระหว่างที่ผู้คนทั่วโลกต้องเผชิญวิกฤติปัญหาต่าง ๆ ทั้งข้อจำกัดและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดวิถีการใช้ชีวิตแบบ new normal ส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนมากเปิดรับนวัตกรรมและพร้อมที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ดังนั้น โจทย์ใหญ่สำหรับผู้ประกอบการและภาคธุรกิจคือ การปรับ mindset ของทุกคนในองค์กร เพื่อมองเห็นด้านบวกในวิกฤติ พร้อมปิดจุดอ่อนให้ได้ โดยเฉพาะจากเดิมที่แนวคิดเรื่องนวัตกรรมเคยเป็นแค่ "ทางเลือก" แต่ปัจจุบันต้องกลายเป็น "ทางรอด" เพื่อจะได้บริหารวิกฤติระยะสั้นไปพร้อมกับการสร้างอนาคตในระยะยาว
2. Windows of Opportunity
การปรับกลยุทธ์ มองหาโอกาสต่อยอดธุรกิจใหม่ ๆ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือนั้น ผู้เสวนาทั้ง 3 ท่านต่างเน้นย้ำว่า ธุรกิจควรเริ่มลงมือทำและเรียนรู้หากเกิดข้อผิดพลาด เพราะจังหวะนี้เราต่างกำลังอยู่ในโลกที่ต้องสร้างความร่วมมือโดยหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยในสิ่งที่เราไม่ถนัดและน ำเทคโนโลยี และข้อมูลมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างกลยุทธ์ใหม่ที่จะช่วยกำหนดทิศทางให้องค์กรสามารถเข้าใจว่า สิ่งไหนคือวิกฤติ สิ่งไหนคือโอกาส แล้วในโอกาสนั้น ต้องทำอย่างไรธุรกิจของเราจึงจะกระโดดเข้าไปได้ เร็วกว่าคนอื่น ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าคนอื่น และเข้าใจลูกค้าได้ดีกว่าคนอื่น
3. Digitalization
ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่ทุกองค์กรที่จะกลายเป็น Tech Company ได้เหมือนกับ Facebook หรือ Google แต่เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ธุรกิจควรนำมาใช้เพื่อปรับกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ตลอดจนพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นภาคธุรกิจจริง (real sector) หรือธุรกิจการบริการ ต่างก็ควรนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้เพื่อให้สามารถขยายธุรกิจได้ มากขึ้น
4. Data is Everything
สิ่งสำคัญสำหรับองค์กรและธุรกิจในอนาคตข้างหน้าย่อมหนีไม่พ้นข้อมูล (data) โดยการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์และเป็นเข็มทิศกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ จำเป็นต้องรู้ก่อนว่าโจทย์คืออะไร แล้วจะใช้ข้อมูลอะไรเพื่อตอบโจทย์นั้น ๆ คิดแบบ outside-in รวมถึงสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้กลายเป็น data-driven organization
5. Workforce Transformation
ประเด็นเรื่อง "คน" ในโลกยุค new normal ถือว่าทรัพยากรบุคคลมีความสำคัญยิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมา เพราะจะต้องพัฒนาให้บุคลากรเดิมที่มีอยู่ สามารถสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้กับองค์กรได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับทักษะ พัฒนาบุคลากรให้เป็นคนที่รู้รอบด้าน พร้อมเพิ่มทักษะใหม่ ๆ เช่น social media, data analytic, storytelling พร้อม unlearn ความสำเร็จเก่า ๆ และ relearn องค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อคิดและตัดสินใจให้เร็ว ดังนั้น ภาพของกำลังแรงงานในอนาคตจะมีความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถครอบคลุมมากขึ้น เพราะสามารถทำงานแบบเฉพาะทางได้อย่างรวดเร็วกว่า ภายใต้ต้นทุนที่ถูกกว่า ด้วยการใช้เทคโนโลยีทดแทน