"การเป็นหนี้คือทุกข์แสนสาหัส" ประโยคนี้ คนไม่เคยเป็นหนี้อาจไม่เข้าใจ แต่สำหรับคนที่เคยมีหนี้สินล้นพ้นตัวอย่าง คุณอาจิน จุ้งลก รองประธานมูลนิธิสุภา วงค์เสนา เพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ เธอน่าจะเข้าใจประโยคนี้ดีกว่าใคร เพราะครั้งหนึ่งในชีวิต เธอเคยคิดว่า "ตายดีกว่าอยู่อย่างเป็นหนี้ท่วมหัว" แต่หลังจากได้สติ เธอไม่เพียงยืนหยัดลุกขึ้นแก้ปัญหาหนี้ของตัวเองเท่านั้น แต่ยังอุทิศตัวเพื่อช่วยปลดทุกข์ในใจให้กับลูกหนี้ทั้งหลาย ผ่านการเป็นแกนนำขับเคลื่อนการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ และเรียกร้องการแก้ไขกลไกทางกฎหมายเพื่อนำความเป็นธรรมมาให้กับลูกหนี้ รวมถึงปฏิวัติความคิดของลูกหนี้ให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เพื่อความสุขอย่างยั่งยืนทั้งของตัวเอง ครอบครัว และสังคม
เข้าสู่วงการ "ลูกหนี้ NPL" จากวิกฤติปี 2540
ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 คุณอาจินก็เหมือนกับมนุษย์เงินเดือนหลาย ๆ คน ที่ไม่ได้เอะใจว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ดูเหมือนกำลังไปได้ดี จะต้องมาเผชิญกับหายนะทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยเฉพาะกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เธอทำงานอยู่ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในครั้งนั้น ส่งผลให้เธอถูกลดเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยง
ขณะนั้นเธอมีหนี้บ้าน 2 หลัง หนี้รถ 1 คัน หนี้บัตรเครดิต 2 - 3 ใบ หนี้จากการลงทุนทำธุรกิจถ่ายพิมพ์เขียว หนี้จากการค้ำประกัน และหนี้นอกระบบ ที่ต้องผ่อนชำระอยู่เท่าเดิม โดยที่ดอกเบี้ยก็มีแต่ทบต้นเพิ่มขึ้นทุกวัน จนมูลหนี้ทั้งหมดพุ่งไปกว่า 5 ล้านบาท เมื่อไม่สามารถจัดการหนี้ได้ ในที่สุดก็มีหมายศาลมาที่บ้าน
"ตอนนั้น รู้สึกว่าไม่มีทางออก คิดว่าตายดีกว่า แต่เพื่อนโทรมาชวนไปปฏิบัติธรรมที่วัดพระญาติการาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา"
ผลจากความสงบและการปฏิบัติธรรมทำให้คุณอาจินกลับมามีสติ ก่อนออกจากวัดเธอจึงเข้าไปกราบภาพของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พร้อมกับอธิษฐานจิตว่า จะขอช่วยเหลือคนที่มีความทุกข์เช่นเดียวกับเธอ ขณะนั้นเอง คำว่า "เลิกทาสดอกเบี้ย" ก็ผุดขึ้นมาในหัว และเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอเดินหน้าหาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้อย่างจริงจัง
"ตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจว่า ทำไมคนที่มีหนี้ท่วมหัวมีเยอะมาก มีกลไกอะไรในระบบที่ไม่ถูกต้องหรือเปล่า ระหว่างนั้นเราก็พยายามเสาะหาแนวทางแก้ปัญหาไปด้วย รัฐมีโครงการแก้หนี้อะไรออกมา ก็ไปทุกที่ที่คิดว่ามีแสงสว่าง เดินหน้าแบบคนเมาหมัด 3 ปีเต็ม แต่ก็ไม่ช่วยแก้อะไร เลยมาทบทวนว่า ทำไมเราไม่ไปเผชิญหน้ากับเจ้าหนี้ ไปบอกตามตรงว่าเราเดือดร้อน ซึ่งแบงก์ก็รับฟัง สุดท้ายก็ยอมปรับลดมูลหนี้ให้ และงดการขายทอดตลาด"
จากประสบการณ์แก้ปัญหาหนี้มาหลายครั้ง คุณอาจินเล่าว่า ลูกหนี้ส่วนใหญ่มักรู้สึกกลัวที่จะเจรจากับเจ้าหนี้ แต่นั่นเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อรักษาสิทธิของพวกเขาเอง
เปลี่ยนปัญหาให้เป็น "แสงสว่าง" เพื่อลูกหนี้คนอื่น
"คนไทยไม่มีความรู้เรื่องการจัดการหนี้เลย ไม่เคยมีใครสอนเรา พอเกิดปัญหาขึ้น ก็ไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร ไม่รู้ถึงสิทธิอันพึงมีของลูกหนี้ เพราะไม่มีใครเคยบอกสูตรการแก้หนี้ให้กับเรา" นี่คือปัญหาของ คุณอาจินเมื่อ 20 กว่าปีก่อน
บนหนทางการปลดหนี้อันยาวไกล เธอพยายามศึกษาหาข้อมูล และสอบถาม "ผู้รู้" เกี่ยวกับประเด็นหนี้ ทั้งความรู้เชิงกฎหมายและการบริหารจัดการเงินด้วยตัวเอง ร่วมกับการถอดบทเรียนจากการลองผิดลองถูก และทดลองกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้ จนตกผลึกทางปัญญาออกมาเป็น "หลักสูตรการจัดการเงินและจัดการหนี้ (Economic Empowerment Program)" และ "นวัตกรรมการแก้หนี้" แบบที่ไม่ต้องกู้เพิ่ม ซึ่งเธอมั่นใจว่าเป็นการแก้หนี้ที่ยั่งยืน
เนื่องจากปัญหาหนี้มีอยู่ในทุกชุมชน และเมืองไทยไม่มีหมอแก้หนี้ มีแต่หมอการเงิน เมื่อเกิดวิกฤติหนี้ จึงหาคนแก้ไม่ได้ คุณอาจินจึงทุ่มเทฝึกฝนและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ลูกหนี้จิตอาสาที่พร้อมเป็น "อาสาสมัครหมอแก้หนี้" เพื่อขยายวงความช่วยเหลือให้กว้างขึ้น และจัดตั้ง "ชมรมปฏิรูปสิทธิลูกหนี้" ขึ้นในปี 2552 เพื่อเป็นที่พึ่งทั้งด้านความรู้และด้านกำลังใจให้ลูกหนี้ พร้อมกับรณรงค์ให้เกิดการแก้ไขกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรม เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะยาว ต่อมา ในปี 2557 จึงได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในนาม "มูลนิธิสุภา วงค์เสนา เพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้"
นับตั้งแต่เริ่มจัดอบรมหลักสูตรฯ ให้กับลูกหนี้มาตั้งแต่ปี 2553 มีลูกหนี้เข้าอบรมแล้ว 2,535 คน และมีลูกหนี้ที่ผ่านการอบรมเป็นอาสาสมัครหมอแก้หนี้ 125 คน ซึ่งถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือ
คุณอาจินเล่าว่า สิ่งที่ลูกหนี้จะได้รับเมื่อเข้ามาปรึกษามูลนิธิฯ คือ การสำรวจหนี้ทั้งหมด และวิเคราะห์สภาพหนี้ว่าแต่ละก้อนมีความรุนแรงและเร่งด่วนระดับไหน พร้อมกับการตรวจสุขภาพทางการเงิน และความสามารถในการชำระหนี้โดยที่ยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข จากนั้นทางมูลนิธิฯ จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนกฎหมาย และคัดกรองแยกแยะหนี้แต่ละก้อนเพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยเหลือต่อไป
"มูลนิธิฯ ไม่เคยบอกว่าไม่ต้องชำระหนี้ แต่เราจะสอนกระบวนการแก้ปัญหาหนี้อย่างถูกวิธี มีหลักการ และเป็นระบบ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้ครบทุกคนแต่อยู่บนยอดหนี้ที่เป็นธรรม ซึ่งแปลว่าต้องมีการเจรจาประนอมหนี้ หาจุดที่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ยอมรับได้ นอกจากนี้ เรายังสอนให้ลูกหนี้รู้จัก 'ชนะใจ ชนะหนี้' เพราะแค่เรายอมทะเลาะกับตัวเองเพื่อไม่สร้างหนี้ใหม่ เราก็จะได้ไม่ต้องทะเลาะกับคนอื่น (เจ้าหนี้)"
"เลิกทาสดอกเบี้ย" สร้างความเป็นธรรม คืนความเป็นไทให้ลูกหนี้
เหตุแห่งการเป็นหนี้ในสังคมไทยมีตั้งแต่ "หนี้กตัญญู" หรือหนี้จากการดูแลญาติผู้ใหญ่ "หนี้อุปถัมภ์" หรือหนี้จากการเลี้ยงดูบุตรหลาน "หนี้หลงเชื่อ" หรือหนี้จากการค้ำประกันหรือกู้ยืมให้คนอื่น "หนี้หลงผิด" หรือหนี้จากความไม่รู้หรือเข้าใจผิดในการใช้เงิน "หนี้หลงระเริง" หรือหนี้ที่เกิดจากความอยากได้อยากมี ฯลฯ
"หลายคนเป็นหนี้เพราะชีวิตติดลบมาตั้งแต่ต้น พ่อแม่ยากจน ต้องกู้เรียน เรียนจบ ทำงานได้เงินเดือนน้อย หนี้เก่ายังจัดการไม่ได้ หนี้ใหม่ก็เข้ามาได้ง่าย ๆ เพราะแบงก์ปล่อยสินเชื่อหละหลวม ไม่มีธรรมาภิบาล หวังได้ดอกเบี้ยสูง หลายคนเอาหนี้ระยะสั้นมาโปะหนี้ระยะยาว บางคนกดเงินจากบัตรหนึ่งมาโปะอีกบัตร กลายเป็นงูกินหาง ขณะที่หลายคนเป็นหนี้เพราะไม่วางแผนการออมระยะยาว เช่น ไม่มีประกันสุขภาพ พอตัวเองหรือคนในครอบครัวเจ็บหนัก ก็ต้องกู้เงินมารักษา ขณะที่อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยมีหนี้สินรุงรังแบบไม่รู้ตัว ก็คือ กลไกดอกเบี้ย"
หลายโครงการของสถาบันการเงินมีส่วนผลักดันให้คนไทยตกเป็นทาสดอกเบี้ย และมีโอกาสกลายเป็น "ลูกหนี้ NPL ถาวร" ได้ง่าย ๆ เช่น การผ่อนบ้าน 30 ปี หรือบางแห่งให้ผ่อนยาวถึง 70 ปี ซึ่งเงินที่ลูกหนี้ผ่อนจ่ายแต่ละงวดจะตัดเงินต้นเพียงเล็กน้อย และมีความเสี่ยงสูงที่ลูกหนี้จะผิดนัดชำระหนี้ จนในที่สุดก็จ่ายไม่ไหว
คุณอาจินยกอีกตัวอย่างของการเป็นทาสดอกเบี้ยจากสัญญาเงินกู้ที่ระบุให้การผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทุกงวด ทำให้ลูกหนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากฐานของเงินต้นคงค้างทั้งหมด จนเมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับปรุงแนวปฏิบัติให้เป็นธรรมขึ้น โดยให้สถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยผิดนัดฯ จากฐานของเงินต้นในงวดที่มีการผิดนัดชำระจริงเท่านั้น ทำให้มูลค่าดอกเบี้ยผิดนัดฯ ลดลงอย่างมาก
"เราขับเคลื่อนการเลิกทาสดอกเบี้ยในประเด็นนี้มานาน แต่ไม่มีใครรับฟัง กระทั่งแบงก์ชาติยุคผู้ว่าการวิรไท สันติประภพ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนตัวเล็ก ๆ อย่างเราเข้ามานำเสนอเชิงนโยบาย และต้องขอชื่นชมว่าแบงก์ชาติยุคนี้ทำงานได้เท่าทันสถานการณ์อย่างมาก โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงวิกฤติโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นคลินิกแก้หนี้ ทางด่วนแก้หนี้ การพักชำระหนี้ การลดดอกเบี้ย และการรวมหนี้ (debt consolidation)"
คุณอาจินย้ำว่า หัวใจของการเลิกทาสดอกเบี้ยคือ การทำให้เงินทุกบาทที่ลูกหนี้จ่ายเจ้าหนี้ ถูกนำไปตัดเงินต้นมากที่สุด โดยอาจมีดอกเบี้ยได้เพียงเล็กน้อย และด้วยหนทางนี้ ลูกหนี้จึงจะได้รับความเป็นธรรมและ "เป็นไท" ได้เร็วขึ้น
"ความฝันสูงสุด" กับ 20 ปี แห่งการเรียกร้องเพื่อลูกหนี้
คุณอาจินมองว่า แม้วิกฤติโควิด 19 จะสร้างความเสียหายรุนแรง กว้างไกล และลงลึกถึงรากหญ้ามากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 แต่สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่ากลับอยู่ที่ความรุนแรงของกระบวนการทางแพ่งที่ย่ำยีลูกหนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เริ่มจากสัญญาเงินกู้ของสถาบันการเงินที่ระบุให้ยกเว้น "มาตรา 733" ที่เป็นการคุ้มครองลูกหนี้ให้ไม่ต้องรับผิด หากการขายทรัพย์ที่นำมาประกันไม่พอชำระหนี้ แต่ในสัญญากลับระบุให้เจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ได้จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่เจ้าหนี้
ต่อจากนั้นเป็นกระบวนการขายทอดตลาด เริ่มจากการที่ธนาคารใช้ราคาตลาดในการประเมินวงเงินสินเชื่อให้กับลูกหนี้ แต่กรมบังคับคดีกลับใช้ราคาประเมินของกรมที่ดินมาเป็นราคาขายทอดตลาด จึงไม่น่าแปลกถ้าลูกหนี้จะหมดตัวไปแล้วแต่ก็ยังจ่ายหนี้ไม่ครบ เพราะมีโอกาสที่มูลหนี้คงค้างหลังรวมดอกเบี้ยปรับผิดนัดฯ จะสูงกว่าทรัพย์สินขายทอดตลาดที่ถูกกดราคาจากกฎหมาย นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังย่ำยีลูกหนี้ ด้วยการไม่ให้สิทธิลูกหนี้ในการคัดค้านราคา และให้เวลาลูกหนี้เพียง 5 วันก่อนการขายทอดตลาดในการหาเงินมาซื้อคืน
"การที่กรมบังคับคดีเร่งขายทรัพย์ ทำให้ลูกหนี้แทบไม่มีโอกาสหาเงินมาซื้อทรัพย์ของตัวเองคืนได้ทัน ซึ่งทรัพย์นั้นอาจเป็นบ้านหลังสุดท้ายหรือที่ดินทำกินแปลงสุดท้ายของเขา"
การย่ำยีอีกรอบมาจากกฎหมายล้มละลายที่กำหนดมูลหนี้ฟ้องล้มละลายไว้เพียง 1 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งคุณอาจินเล่าว่า มูลนิธิฯ เรียกร้องให้ปรับขึ้นมาตลอด และเมื่อบวกกับระยะเวลาบังคับคดีที่ยาวถึง 10 ปี กับอีก 30 วัน ซึ่งจริง ๆ แค่ลูกหนี้มีมูลหนี้คงค้างเพียง 5 แสนบาท ถูกดอกเบี้ยปรับร้อยละ 15 ต่อปี แค่เพียง 5 ปี ลูกหนี้ก็มีโอกาสถูกฟ้องล้มละลายได้แล้ว และสำหรับข้าราชการ การถูกฟ้องล้มละลายจะทำให้พวกเขาไม่เหลือแม้กระทั่งอาชีพ
จาก "ความรุนแรงทางแพ่ง" ที่เล่ามา ทำให้ความใฝ่ฝันสูงสุดของคุณอาจินคือ การขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง เพื่อให้มีการปกป้องคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ให้ได้รับความชอบธรรม ควบคู่กับการจัดตั้ง "ศูนย์ประสานงานร่วมแก้หนี้แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service Debtor Center)" ซึ่งมีภารกิจเร่งด่วนคือ ชะลอหรือหยุดการขายทอดตลาด และทำให้หนี้บุคคลธรรมดาทั้งหมดเข้าสู่ "แผนฟื้นฟูหนี้" ตามกระบวนการแก้หนี้ที่มูลนิธิฯ ดำเนินมา
นอกจากนี้ ยังมีภารกิจสำคัญ คือการคุ้มครองทรัพย์สินสุดท้ายของครอบครัวให้กับลูกหนี้ และการพัฒนาอาชีพให้แก่ลูกหนี้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งยังมีอีกภารกิจสำคัญ ได้แก่ การสร้าง "อาสาสมัครหมอแก้หนี้ชุมชน (อสก.)" เพื่อให้คำแนะนำและเป็นพี่เลี้ยงในการแก้ปัญหาหนี้ รวมทั้งเฝ้าระวังและป้องกัน "โรคหนี้ซ้ำซาก" คุณอาจินฝันอยากเห็น อสก. อยู่ในทุกชุมชน เหมือนกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
"จากเหยื่อของปัญหาหนี้ จนมาเป็นหมอแก้หนี้ทำมากว่า 20 ปี เพิ่งรู้สึกว่าได้เห็นแสงแห่งความหวังจากสิ่งที่แบงก์ชาติทำ ไม่ว่าจะเป็นความจริงจังในการกำกับดูแล การให้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม หรือการที่แบงก์ชาติรับฟังเสียงของลูกหนี้ที่เป็นเหยื่อเป็นครั้งแรก พี่ฝากความหวังให้แบงก์ชาติลุกขึ้นมาเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดตั้งศูนย์ประสานงานร่วมฯ พร้อมกับเป็นผู้นำ เพื่อเตรียมพร้อมในการจัดการปัญหาหนี้สำหรับวิกฤติปี 2563 ที่กำลังจะตามมา" คุณอาจินฝากถึงผู้บริหาร ธปท. เป็นการทิ้งท้าย