​มาตรการ ธปท. ช่วยลูกหนี้รับมือวิกฤติโควิด 19

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทั่วโลกส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งที่เป็นประชาชนรายย่อยและธุรกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยพยุงลูกหนี้ที่มีศักยภาพที่ได้รับผลกระทบชั่วคราว ให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้


มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย

ธปท. ได้ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเริ่มต้นจากลูกหนี้รายย่อย ประกอบด้วยการขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุก เพื่อป้องกันลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดีไม่ให้ถูกขึ้นบัญชีดำ(blacklist) รวมถึงให้สถาบันการเงินพักชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้เป็นวงกว้างในช่วงที่ประเทศไทยประกาศล็อกดาวน์และคนส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้าน

นอกจากนี้ ธปท. ได้หารือร่วมกับผู้แทนจากสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ผ่านสมาคมและชมรม 9 แห่ง1 เพื่อให้ได้แนวทางที่จะสามารถ ช่วยบรรเทาภาระหนี้รายเดือนของลูกหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้มีเงินเหลือใช้จ่ายในช่วงที่บางกิจการต้องหยุดให้บริการชั่วคราว รวมถึงไม่ให้ลูกหนี้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมมากเกินไป เช่น การลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด การลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ตลอดจนการเพิ่ม "ทางเลือก" ให้ลูกหนี้สามารถเปลี่ยนยอดหนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดเป็นสินเชื่อระยะยาว ผ่อนชำระ 48 งวด โดยลดดอกเบี้ยจากร้อยละ 18 และ 28 ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ 12 และ 22 ต่อปีตามลำดับ


กลไกเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยประวัติดี

แม้ว่าปัจจุบันการระบาดของโควิด 19 ในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ภาคธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการตามปกติ แต่สถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อในต่างประเทศทั่วโลกกลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ลูกหนี้บางส่วนโดยเฉพาะที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงธุรกิจการส่งออก ยังคงได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลง ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 1 ได้ทยอยครบกำหนด สถาบันการเงินหลายแห่งก็ตระหนักถึงปัญหาและความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว จึงได้หารือกับ ธปท. เพื่อหากลไกเพิ่มเติม ที่จะสามารถช่วยลูกหนี้รายย่อยโดยเฉพาะกลุ่มที่มีประวัติชำระหนี้ดีมาตลอด คือ

1. การแจ้งความจำนงเข้าร่วมมาตรการ : แนวคิดสำคัญในการแก้ไขปัญหาของ ธปท. คือ ต้องคำนึงถึงต้นทุนและผลประโยชน์ (cost and benefit) ทั้งด้านสถาบันการเงินและลูกหนี้ ทีมงานจึงได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ตั้งแต่สถาบันการเงิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน และองค์กรภาคประชาชน เช่น มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อพิจารณาถึงผลกระทบและแนวทางการออกมาตรการในหลายมุมมอง เช่น การให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพแต่ได้รับผลกระทบแจ้งความจำนงในการเข้าร่วมมาตรการ (opt-in) โดยไม่พักชำระหนี้เป็นวงกว้างแบบช่วงที่ประเทศประกาศล็อกดาวน์ เพื่อให้ลูกหนี้ได้พูดคุยกับสถาบันการเงินโดยไม่ขาดการติดต่อ และได้ออกเป็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 2 ซึ่งลูกหนี้สามารถติดต่อสมัครร่วมโครงการผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งสาขา call center และเว็บไซต์ของสถาบันการเงิน แนวทางดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นแกนสำคัญในการช่วยพยุงให้เศรษฐกิจมีความมั่นคงและสนับสนุนการให้สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในช่วงหลังโควิด 19

2. มาตรการรวมหนี้ : จากการหารือกับผู้เกี่ยวข้องข้างต้นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นที่มาของการออกมาตรการเกี่ยวกับการรวมหนี้ (debt consolidation) ซึ่งมีกลไกหลัก คือ "การใช้ประโยชน์จากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีหลักประกัน" มาช่วยลดความเสี่ยงและลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยให้ลูกหนี้สามารถนำสินเชื่อรายย่อยอื่นที่ไม่มีหลักประกันและมีอัตราดอกเบี้ยสูง เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อเช่าซื้อมารวมหนี้ โดยการจดจำนองมูลค่าหลักประกันให้ครอบคลุมภาระหนี้นั้น ลูกหนี้จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน ซึ่งระยะแรกจะสามารถรวมหนี้สินเชื่อรายย่อยได้เฉพาะภายในกลุ่มธุรกิจการเงินเดียวกัน โดย ธปท. จะพิจารณามาตรการรวมหนี้ข้ามกลุ่มธุรกิจทางการเงินในระยะถัดไป

จุดเด่นของมาตรการรวมหนี้ คือ ลูกหนี้จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงสำหรับสินเชื่อรายย่อยอื่นที่นำมารวม จากเดิมที่อาจสูงถึงร้อยละ 25 เป็นไม่เกิน MRR (ปัจจุบัน MRR อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.75 - 8.80) ทันที รวมถึงการเจรจาเพื่อขอปรับเปลี่ยนระดับการผ่อนค่างวดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามความสามารถในการชำระหนี้


มาตรการชุดใหญ่เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจ

เมื่อหันมามองที่ลูกหนี้ธุรกิจ ที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกมาตรการชุดใหญ่เพื่อมุ่งช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่และ SME ที่พึ่งพิงแหล่งเงินทุนทั้งในตลาดทุนและตลาดเงิน เช่น มาตรการ Corporate Bond Stabilization Fund (BSF) ที่ช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับธุรกิจในตลาดตราสารหนี้ และมาตรการชะลอการชำระหนี้สำหรับธุรกิจ SME ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน รวมถึงมาตรการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ(soft loan) ให้แก่ธุรกิจ SME วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี

นอกจากนี้ ธปท. ยังเร่งหาแนวทางบรรเทาภาระหนี้ของลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย จึงเป็นที่มาของ "โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ธปท. สถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่พร้อมใจกันช่วยเหลือลูกหนี้ในเชิงรุก (pre-emptive) เพื่อให้ลูกหนี้ธุรกิจสามารถฟื้นตัวกลับมาดำเนินกิจการ ไม่กลายเป็นหนี้เสียในระบบการเงิน


ถอดบทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้งสู่ DR BIZ

DR BIZ มาจากคำว่า Debt Restructuring for Business หรือ การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจ และเรียกกันสั้น ๆ ว่า ดีอาร์บิส แต่หากใครจะเรียกว่า ด็อกเตอร์บิส หรือคุณหมอธุรกิจ ก็คงจะได้ เพราะสถาบันการเงินภายใต้โครงการนี้จะทำหน้าที่เป็นเหมือนคุณหมอที่ร่วมกันเยียวยา รักษาบาดแผลให้กับภาคธุรกิจ ก่อนที่จะลุกลามใหญ่โตกลายเป็นโรคร้ายกับระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

โครงการ DR BIZ มีแนวคิดมาจากการถอดบทเรียนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เมื่อครั้งวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ ธปท. ได้เข้าไปช่วยเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างลูกหนี้ NPL รายใหญ่กับสถาบันการเงิน เจ้าหนี้ แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ซึ่งมีลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงต้องมีแนวทางมาตรฐานให้สถาบันการเงินสามารถตัดสินใจแก้ไขหนี้ร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว ภายใต้กรอบความร่วมมือที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน ลดโอกาสเกิด coordination failure โดยลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายรายสามารถจัดการหนี้เดิมได้แบบรวมศูนย์ (one-stop service) ไม่จำเป็นต้องเจรจากับสถาบันการเงินเจ้าหนี้แต่ละราย พร้อมมีโอกาสได้รับสินเชื่อใหม่ ซึ่งสถาบันการเงินจะมีแรงจูงใจจากการกำหนด incentive structure ที่เหมาะสม เช่น เจ้าหนี้ที่ให้สินเชื่อใหม่จะมีสิทธิ์ในการรับชำระหนี้คืนเป็นลำดับแรก

หลักการของโครงการ DR BIZ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับลูกหนี้ธุรกิจทุกวงเงิน อย่างไรก็ดี เพื่อให้การจัดการมีประสิทธิภาพ ในช่วงเริ่มต้นจะมุ่งที่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ธุรกิจที่มีวงเงินระหว่าง 50 - 500 ล้านบาท และเมื่อได้เริ่มเห็นเคสจริงที่สมัครเข้ามาแล้ว ธปท. จะทบทวนหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป เพื่อให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมและไม่ละทิ้งกลุ่มใดไว้ข้างหลัง


ความท้าทายสำคัญที่ ธปท. ต้องผลักดัน

การกำหนดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เหมาะสม และการสร้างความเข้าใจกับกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง ยังเป็นความท้าทายสำคัญของ ธปท. ที่ต้องผสานหลักคิดจากหลายมิติและคำนึงถึงการนำปฏิบัติจริงให้สัมฤทธิผล เพื่อให้การออกมาตรการต่าง ๆ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศในระยะยาว และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ ธปท. ต้องลงมือทำเพิ่มขึ้น คือ การสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจ ทั้งต่อประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสถาบันการเงิน เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจพาประเทศไทยให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนสูงนี้ และกลับมาเดินหน้าฟื้นตัวให้ได้อีกครั้ง

[1] ประกอบด้วย 1. สมาคมธนาคารไทย 2. สมาคมธนาคารนานาชาติ 3. สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ 4. สมาคมลีสซิ่งไทย 5. สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย 6. สมาคมการค้า ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ 7. สมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย 8. ชมรมธุรกิจบัตรเครดิต-สมาคมธนาคารไทย 9. ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล