​กยศ. กองทุนที่เป้าหมายไม่ใช่กำไร แต่คือ "การให้โอกาส"

"การศึกษา" คือพื้นฐานของการสร้างคุณภาพชีวิตซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมโดยรวมให้ดีขึ้นในอนาคต แต่ความยากจนกลับกีดกันเยาวชนบางส่วนออกจากระบบการศึกษา เมื่อผู้ปกครองไม่มีรายได้มากพอจะจ่ายค่าเล่าเรียน เด็กไทยจำนวนไม่น้อยจึงไม่สามารถเรียนต่อในระดับมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย การสูญเสียโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนก็เปรียบเหมือนการสูญเสียโอกาสของประเทศ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จึงหยิบยื่นโอกาสนั้นให้กับเยาวชนอีกครั้ง เพราะเชื่อว่าการลงทุนในการศึกษาจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต

คุณชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. กล่าวถึงความตั้งมั่นในการทำงานของกองทุนนี้ว่า "กยศ. กำเนิดจากคำว่า การให้โอกาส เพราะคนส่วนหนึ่งยากจน จึงขาดโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษา กยศ. จะช่วยให้โอกาสนั้น แล้วความยากจนจะไม่ใช่อุปสรรคของการเข้าถึงการศึกษาอีกต่อไป เราจะเป็นหลักประกันให้กับเด็กทุกคนที่ขาดแคลนในประเทศนี้ ขอให้มั่นใจว่าเรามีเงินให้กู้เรียนได้อย่าง เพียงพอ"


กองทุนที่บริหารด้วย "ใจ" และ "ระบบ"

หากมองย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของ กยศ. ในปี 2538 ด้วยทุนประเดิมจากงบประมาณแผ่นดินจำนวน 3 พันล้านบาทเพื่อให้โอกาสกับเด็กที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับอาชีวศึกษา และระดับปริญญาตรี และดำเนินการต่อเนื่องมา จนถึงวันนี้กลายเป็นกองทุนหมุนเวียนที่สมบูรณ์แบบ ไม่ต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาลอีกต่อไป ในเวลากว่า 10 ปี ได้ปล่อยกู้ให้กับเยาวชนมากกว่า 5.7 ล้านคนด้วยเงินให้กู้ประมาณ 6 แสนล้านบาท สร้างทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในปีนี้ได้ขยายกรอบการให้กู้มากขึ้นถึง 37,000 ล้านบาทโดยไม่จำกัดโควตาจำนวนผู้กู้

การที่กองทุนสามารถทำอย่างนี้ได้เพราะมีคนที่เรียนจบกลับมาชำระหนี้มากขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการที่ทำให้ กยศ. มีเงินทุนหมุนเวียนที่ดีได้

"ความยากของการบริหารกองทุนคือ เราเป็นหน่วยงานของรัฐ เงินที่เราจะให้โอกาสกับเด็ก ๆ ก็เป็นของรัฐ ฉะนั้น เราต้องใช้เงินอย่างระมัดระวัง ไม่เอาเงินไปทำอะไรที่ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งถ้าเป็นสถาบันการเงินจะให้กู้โดยมีวัตถุประสงค์คือกำไร แต่เราไม่ได้แสวงหากำไร กองทุน กยศ. เน้นคำว่าให้โอกาสกับคน"

อุปสรรคของการเก็บหนี้มี 3 เหตุผลคือ (1) ความยากจน แม้บางคนจะใช้เงินกู้จาก กยศ. จนเรียนจบไปแล้ว แต่ก็ยังก้าวไม่พ้นความยากจน (2) ขาดวินัยทางการเงิน แม้ว่าจะมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ แต่กลับนำเงินที่มีไปซื้อของอย่างอื่น เช่น รถหรือบ้าน แล้วเลือกผ่อนชำระหนี้ที่ดอกเบี้ยแพงกว่าแต่ละเลยหนี้ กยศ. ที่มีดอกเบี้ยน้อยมากเพียงร้อยละ 1 ต่อปี และชำระหนี้เพียงปีละครั้งเท่านั้น และเหตุผลที่ (3) คือ เป็นกลุ่มคนที่ขาดจิตสำนึก ถึงแม้มีเงิน แต่ไม่จ่ายจนกว่าจะถูกบังคับคดี

ดังนั้น การบริหารกองทุนจึงต้องใช้ทั้ง "ใจ" ทำงานเพื่อเสริมสร้างวินัยทางการเงิน ไปจนถึงสร้าง "ระบบ" ที่เอื้อให้ผู้กู้ชำระหนี้ได้ง่ายขึ้น เมื่อมีพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ที่เปิดโอกาสให้เข้าถึงข้อมูลลูกหนี้ได้ สิ่งที่ กยศ. ทำคือ ทำระบบ หักเงินเดือน ที่ช่วยให้ลูกหนี้สามารถจ่ายหนี้ได้ตรงเวลา ในปี 2562 จึงมีเงินชำระหนี้เข้ามาสูงสุดในรอบ 10 ปี คือกว่า 3 หมื่นล้านบาท

"วันนี้เราเข้าถึงข้อมูลเงินเดือนน้อง ๆ ที่กู้ กยศ. และอยู่ระหว่าง ชำระหนี้ประมาณ 4 ล้านคน เมื่อเรียนจบแล้วเข้าไปทำงานในระบบราชการและบริษัทเอกชนประมาณ 1.6 ล้านคน นายจ้างเขาก็จะหักเงินเดือนส่งให้กองทุนผ่านทางกรมสรรพากร ซึ่งตอนนี้หักเงินเดือนไปแล้วประมาณ 9 แสนคน"

ขณะเดียวกัน กยศ. ก็ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนให้นักเรียนและนักศึกษาที่เป็นผู้กู้ยืมเงินได้เรียนรู้หลักสูตรเงินทองต้องวางแผนผ่านระบบ e-learning เพื่อเป็นการส่งเสริมวินัยทางการเงิน รู้จักวางแผนการใช้จ่ายเงินอย่างเหมาะสม และมีเทคนิคการจัดการเงินอย่างถูกวิธี ตลอดจนสามารถวางแผนชำระคืนเงินกู้ยืมได้ตามกำหนด


นโยบายผ่อนผันเพื่อช่วยเหลือผู้กู้ที่เจอวิกฤติโควิด 19

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ในวันนี้รุ่นพี่ที่ส่งมอบโอกาสคืนมีจำนวนมากขึ้น ทำให้แม้ในปีนี้เราจะเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 แต่ตัวเลขการชำระหนี้คืนกลับลดลงเพียงร้อยละ 10 จากปีที่แล้วเท่านั้น อย่างไรก็ตามในช่วงวิกฤติทำให้หลายคนตกงานหรือถูกลดเงินเดือนจนไม่สามารถช ำระหนี้ได้ กยศ. ก็ได้มีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้กู้ยืมหลายทางด้วยกัน

มาตรการแรก ลดเบี้ยปรับจากร้อยละ 7.5 เหลือเพียงร้อยละ 0.5 ในกรณีที่ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระเงินกู้ยืมและยังไม่ถูกดำเนินคดี แต่ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด กองทุนจะปรับลดเบี้ยปรับให้กับผู้กู้ยืมเป็นการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ธันวาคม 2563

มาตรการที่สอง ลดจำนวนหักเงินเดือนเหลือ 10 บาท/คน/เดือน กองทุนจะปรับลดจำนวนเงินที่แจ้งให้หักเงินเดือนเพื่อชำระเงินคืนกองทุนของผู้กู้ยืมทุกรายในกลุ่มหน่วยงานเอกชน จากจำนวนเงินที่เคยแจ้งหัก เป็นแจ้งให้นายจ้างหักเงินของผู้กู้ยืมทุกราย ๆ ละ 10 บาท ระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 30 มิถุนายน 2563

มาตรการที่สาม ลดเบี้ยปรับร้อยละ 80 สำหรับผู้กู้ยืมทุกกลุ่มที่ค้างชำระหนี้ และปิดบัญชีในครั้งเดียว โดยขยายระยะเวลา จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 ลดเบี้ยปรับร้อยละ 75 เฉพาะผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ) โดยขยายระยะเวลาจากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564

มาตรการที่สี่ พักชำระหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืมที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2 ปี สำหรับผู้กู้ยืมที่มีสถานะยังไม่ถูกดำเนินคดี โดยยื่นคำขอรับสิทธิถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563

มาตรการที่ห้า ผ่อนผันการชำระหนี้สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 8,008 บาทต่อเดือน สามารถขอผ่อนผันการชำระหนี้ได้ครั้งละ 1 ปีไม่เกิน 2 ครั้ง หรือกรณีที่มีรายได้ถดถอย สามารถขอผ่อนผันให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้ตั้งแต่ 1.5 - 2.5 เท่าของระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญากู้ยืมเดิม

และมาตรการที่หก งดการขายทอดตลาด และชะลอการบังคับคดีเป็นการชั่วคราว


เพิ่มโอกาสเยาวชน เพิ่มศักยภาพให้ประเทศ

ความมั่นคงของ กยศ. ที่มีมากขึ้น ไม่เพียงแต่จะเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาให้เด็กยากจนเท่านั้น แต่ยังขยายขอบเขตการให้กู้มากขึ้น เพื่อตอบสนองเศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่ต่างไปจากโลกใบเก่าและต้องการทักษะแรงงานใหม่ ๆ โดยปี 2564 ได้เตรียมพร้อมให้มีการกู้ยืมเพื่อการศึกษาถึง 4 ลักษณะ คือ

ลักษณะที่ 1 นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เป็นผู้กู้ยืมที่มีรายได้ครอบครัวต่อปีไม่เกิน 360,000 บาท

ลักษณะที่ 2 นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร

ลักษณะที่ 3 นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลน เช่น วิชาโบราณคดี วิชาดนตรีไทย วิชาช่างสิบหมู่ เป็นต้น จากการที่ประเทศไทยมีวัฒนธรรมอันดีงามจึงต้องอนุรักษ์องค์ความรู้เหล่านี้ไว้

และลักษณะที่ 4 นักเรียนหรือนักศึกษาที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ ให้กู้ยืมเงินเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ระดับประกาศนียบัตรบัณทิตและปริญญาโท เพื่อสร้างความเป็นเลิศด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศไทย

นอกจากการขยายลักษณะการให้กู้ยืมแล้ว ยังมีโครงการพิเศษคือ โครงการส่งเสริมพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยนักศึกษาผู้กู้ยืมเงินในระดับปริญญาตรีเมื่อสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่กำหนดจะคิดดอกเบี้ยอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 ต่อปี และได้ส่วนลดเงินต้นร้อยละ 30 และสำหรับนักเรียนและนักศึกษาผู้กู้ยืมเงินในระดับอาชีวศึกษา เมื่อสำเร็จการศึกษา ในสาขาวิชาที่กำหนดจะคิดดอกเบี้ยอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 ต่อปี และได้ส่วนลดเงินต้นร้อยละ 50

"ประเทศของเราในปัจจุบันนี้ เราต้องการคนที่เรียนเฉพาะทางเพื่อสร้างผลผลิตให้กับประเทศ จึงแนะนำให้น้อง ๆ ไปเรียนอาชีวะก่อนแล้วไปต่อปริญญาตรีทีหลัง และพยายามเรียนในสิ่งที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากเดิม ยกตัวอย่าง ช่างเชื่อม ถ้าเรียนช่างเชื่อมธรรมดาจะได้เงินเดือนระดับหนึ่ง แต่ถ้าเรียนช่างเชื่อมใต้น้ำจะสร้างรายได้มากขึ้น"


ยกเครื่ององค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

ไม่เพียงแต่ขยายโอกาสการสนับสนุนเยาวชนเท่านั้น แต่ กยศ. ยังยกระดับการทำงานขององค์กรด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ

"เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ก่อนหน้านี้เราใช้กระดาษเป็นหลัก ปัญหาคือเราต้องให้นักเรียนกู้ประมาณ 6 แสนคนต่อปี กู้ผ่านสถานศึกษาประมาณ 4,400 แห่ง ปล่อยเงินกู้ 37,000 ล้านบาทภายในเวลา 4 เดือน และต้องทำสัญญากับนักเรียนทุกคนโดยมีผู้ปกครองหรือญาติลงนามค้ำประกัน จากอดีตจนถึงปัจจุบันมีเอกสารที่เกี่ยวข้องรวมแล้วประมาณ 80 ล้านแผ่น วันนี้เราจะเปลี่ยนมาใช้ดิจิทัล ปรับเปลี่ยนจากการใช้กระดาษมาลงนามสัญญาอิเล็กทรอนิกส์"

การเปลี่ยนผ่าน กยศ. สู่การเป็นองค์กรดิจิทัล ตั้งเป้าหมายไว้ที่ในอนาคตนักเรียนและนักศึกษาจะสามารถยื่นกู้ผ่านโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งในปัจจุบันมีการยื่นกู้พิจารณาโดยสถานศึกษาผ่านทางระบบอยู่แล้วแต่ยังต้องพิมพ์สัญญาเป็นกระดาษออกมาลงนาม

นอกจากนี้ ยังเปิดใช้งานระบบบริหารหนี้ (Debt Management System - DMS) ผ่านเว็บไซต์ www.studentloan.or.th และแอปพลิเคชัน กยศ. Connect ซึ่งจะทำให้ผู้กู้ยืมสามารถตรวจสอบข้อมูลบัญชีเงินกู้ ยอดเงินที่ต้องชำระ หรือรายการชำระเงินย้อนหลังได้แบบเรียลไทม์และจัดการข้อมูลได้ด้วยตนเอง รวมถึงผู้ค้ำประกันยังสามารถตรวจสอบข้อมูลการค้ำประกันตามสัญญา เพิ่มความสะดวกให้กับผู้กู้ได้มากขึ้นด้วย

"การที่จะเปลี่ยนระบบทุกอย่างให้เป็นดิจิทัลไม่สามารถทำได้ง่ายและทำได้ในทันที ต้องมีโครงการนำร่องในเขตกรุงเทพฯ ก่อนแล้วจึงขยายออกไปในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เมื่อถึงวันนั้นจะสามารถลดปริมาณการใช้กระดาษได้เกือบทั้งหมด"