Bangkok FinTech Fair 2020 พร้อมรับวิถีใหม่
Digital Transformation for the New Normal


แม้ว่าโลกดิจิทัลอาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับภาคธุรกิจ เราได้เห็นการปรับตัวขององค์กรต่าง ๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกธุรกิจที่จะเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและลุกขึ้นมาลงทุนกับเรื่องนี้ สถานการณ์โควิด 19 ได้กลายเป็นตัวเร่งสำคัญให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว เพราะผู้บริโภคกำลังก้าวเดินไปในวิถีชีวิตใหม่ที่คาดเดาได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันการแข่งขันในโลกธุรกิจก็เข้มข้นมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

งาน Bangkok FinTech Fair 2020 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 - 19 กันยายน 2563 ซึ่งในปีนี้ จัดในรูปแบบงานสัมมนาออนไลน์เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของคนยุคใหม่ ภายใต้แนวคิด "Digital Transformation for the New Normal : พร้อมรับวิถีใหม่ SME ก้าวต่อไปด้วยดิจิทัล" เพื่อส่งเสริมการปรับตัวของภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SME ให้พร้อมรองรับความท้าทายใหม่ ๆ ในวิถี new normal โดยมีผู้ให้บริการทางการเงินและฟินเทคเป็นตัวช่วยสำคัญ ซึ่งมีไฮไลท์สำคัญของงาน คือ การเสวนาเพื่อรับฟังมุมมองและประสบการณ์จากนักธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจ SME ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มของคนไทยที่มีประสบการณ์ในการประยุกต์ใช้ดิจิทัลในการปรับตัว โดยเฉพาะ ในช่วงโควิด 19 การเสวนาชี้ให้เห็นถึงนวัตกรรมที่สำคัญ เช่น ทิศทางการพัฒนาเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) และการนำเสนอนวัตกรรมและบริการจากผู้ให้บริการทางการเงินและฟินเทคที่เป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจในการปรับกระบวนการไปสู่ดิจิทัล เช่น บริการชำระเงิน สินเชื่อ ระบบ ERP digital marketing


การสนับสนุนการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล

ที่ผ่านมา ธปท. ร่วมกับหลายภาคส่วนจัดทำโครงการสนับสนุนการปรับตัวไปสู่ยุคดิจิทัล ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินโดยประยุกต์ใช้มาตรฐาน ISO20022 ที่รองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางธุรกิจไปพร้อมกับข้อมูลการชำระเงิน ช่วยให้ธุรกิจกระทบยอดและต่อยอดบริการได้ดีขึ้น (2) ยกระดับการใช้ข้อมูลการชำระเงินเพื่อให้ลูกค้าเจ้าของข้อมูลได้รับประโยชน์และได้รับบริการที่ตรงความต้องการมากขึ้น (3) การผลักดัน digital ID ที่เปิดกว้างเพื่อรองรับธุรกรรมที่หลากหลาย (4) การต่อยอดโครงการอินทนนท์โดยทดสอบการใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกับการชำระเงินในภาคธุรกิจ (5) การออกหลักเกณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อโดยอาศัยข้อมูลที่หลากหลาย และ (6) การสร้างระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล (digital factoring) ที่ธุรกิจสามารถใช้ใบรับของในการขอสินเชื่อ (invoice) ได้

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ถูกพัฒนาขึ้นเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจ ทั้งในระยะสั้นสำหรับการปรับตัวรองรับสถานการณ์โควิด 19 จนกว่าจะคลี่คลาย และการปรับตัวในระยะยาวสำหรับรองรับชีวิตวิถีใหม่ในอนาคต


เปลี่ยนเพื่อปรับรับ New Normal

ภาคธุรกิจทั้งองค์กรขนาดใหญ่และธุรกิจ SME ต่างต้องปรับตัว เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและเตรียมการสร้างอนาคตระยะยาว ซึ่ง 5 เรื่อง สำคัญที่ต้องปรับ ได้แก่

1. mindset มองเห็นด้านบวกในวิกฤติและปิดจุดอ่อนให้ได้ ไม่ยึดติดความสำเร็จเก่าแต่ต้องเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อคิดและตัดสินใจให้เร็วขึ้น

2. กลยุทธ์ มองหาโอกาสต่อยอดธุรกิจใหม่ ๆ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ ลงมือและเรียนรู้ไปพร้อมกัน เน้นสร้างความร่วมมือ และหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยทำเรื่องที่ไม่ถนัด

3. กระบวนการทงาน นำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ไปจนถึงพัฒนาธุรกิจใหม่

4. นำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ และตอบโจทย์ผู้บริโภค

5. ทักษะ พัฒนาบุคลากรให้รู้รอบด้าน เพิ่มทักษะใหม่ ๆ เช่น โซเชียลมีเดีย ดาต้าอนาไลติกส์ เพื่อพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ในช่วงหลังโควิด 19 ภาคธุรกิจต้องหาโอกาสใหม่ ๆ โดยใช้เทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นช่องทางในการเปิดตลาดใหม่บนโลกออนไลน์ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยปรับตัวสร้างแพลตฟอร์มที่เริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ หรือร่วมมือกับคนรอบข้างและในชุมชน สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ซึ่งฟินเทคจะมีส่วนช่วยอย่างมากในโลกออนไลน์ ทั้งในเรื่องการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ การบันทึกรายการทำธุรกรรม การทำประกันผ่านดิจิทัล ก่อให้เกิดเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกขึ้นด้วย


ยกเครื่องธุรกิจด้วยฟินเทค

โควิด 19 ทำให้ digital payment ไม่ใช่ทางเลือกของธุรกิจอีกต่อไป แต่กำลังเป็นทางหลักที่ธุรกิจต้องทำ เมื่อผู้บริโภคยุค new normal หันมาทำธุรกรรมการเงินผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เรียกว่า super platform มากขึ้น ซึ่งการที่ภาคการเงินพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้องแม่นยำและมีความปลอดภัยสูง เพื่อรองรับการทำธุรกิจแบบครบวงจร จะช่วยสร้างระบบนิเวศ ทางการเงินดิจิทัล ก่อให้เกิดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สามารถนำไปต่อยอดการให้บริการทางการเงินอื่น ๆ เช่น สินเชื่อออนไลน์หรือการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าที่ดีขึ้น

ตัวอย่างหนึ่งคือ สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (digital personal loan) เป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่ภาคการเงินสามารถใช้ข้อมูลทางเลือก เช่น การชำระค่าน้ำ ค่าไฟ หรือพฤติกรรมซื้อขายออนไลน์มาประเมินความสามารถและความเต็มใจในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อแทนหลักฐานรายได้หรือหลักประกัน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนและธุรกิจ SME รายเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้มากขึ้น ซึ่งในงานนี้ มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ดิจิทัลของฟินเทคสตาร์ทอัปที่ช่วยเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการด้วยการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และข้อมูลทางเลือกมาช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวก รวดเร็ว ด้วยต้นทุนที่เป็นธรรม

รวมไปถึงการพัฒนา CBDC ที่อาจกลายเป็นอนาคตของการเงินและการธนาคาร ซึ่งปัจจุบัน ธปท. กำลังศึกษาพัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ว่าจะเข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเงินและส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินอย่างไร ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านั้น อย่างไรก็ดี การพิจารณาใช้ CBDC สำหรับภาคประชาชนจำเป็นต้องศึกษาผลกระทบรอบด้านที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลต่อระบบธนาคารพาณิชย์ สิ่งสำคัญคือ การเตรียมนโยบายที่คำนึงถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมในระบบการเงิน



ปรับแนวคิด พลิกธุรกิจด้วยเครื่องมือและข้อมูล

เมื่อองค์กรต้องปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือช่วย เริ่มจากฟินเทคที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยธุรกิจ SME เช่น การเก็บข้อมูลทางบัญชี การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำการตลาดที่ตรงความต้องการของลูกค้า การใช้ AI พยากรณ์ผลผลิต การเสริมศักยภาพให้ธุรกิจ e-Commerce ตั้งแต่ขั้นตอนการบรรจุ จัดส่ง บริหารคลังสินค้า และรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน QR code หรือบัตรเครดิต

เครื่องมือนี้ยังรวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ ตั้งแต่ประเภทที่มีความซับซ้อน เช่น หุ่นยนต์ ไปจนถึงเครื่องมือง่าย ๆ เช่น การสร้าง dashboard แสดงยอดขายหรือการเก็บข้อมูลลูกค้าแล้วนำไปวิเคราะห์เพื่อเพิ่มยอดขาย ยกระดับบริการให้ตรงใจลูกค้า จัดการวัตถุดิบให้สัมพันธ์กับความต้องการของหน้าร้านและหลังร้าน รวมทั้งช่วยสร้างธุรกิจให้โดดเด่นและมีความแตกต่างจากคู่แข่ง

ไม่เพียงแต่ต้องใช้เครื่องมือดิจิทัลเท่านั้น ปัจจุบันธุรกิจต้องรู้จักใช้ "ข้อมูล" มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการออกแบบ การผลิต การตลาด การขนส่ง เพื่อเพิ่มผลผลิตหรือพัฒนาคุณภาพของบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้า ซึ่งเมื่อเทียบกับการทำธุรกิจโดยไม่ใช้ข้อมูลแล้ว ผลลัพธ์จากการตัดสินใจแบบมีหลักฐานในเชิงข้อมูลจะมีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งธุรกิจสามารถปรับใช้ข้อมูลให้เหมาะสมกับลักษณะและขนาดของธุรกิจ

ธุรกิจ SME อาจเริ่มจากการใช้ small data แทนที่จะเป็น big data ก็ได้ โดยเก็บข้อมูลเท่าที่จะสามารถทำได้ เมื่อนำมารวมกัน ก็จะเป็นประโยชน์ในที่สุด หัวใจสำคัญของการใช้ข้อมูลไม่ได้ อยู่ที่เงินหรือเทคโนโลยีขั้นสูง แต่อยู่ที่วิธีมองตรรกะ และวิธีคิดที่จะประยุกต์ใช้ข้อมูลนั้นให้เหมาะสมกับธุรกิจ


Digital Solution ตัวช่วยธุรกิจปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล

ภายในงานยังมีการนำเสนอการแก้ปัญหาด้วยระบบดิจิทัลจากบริษัทฟินเทคไทย สถาบันการเงิน และบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับตัวของธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลเพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ ได้แก่

การแก้ปัญหาการวิเคราะห์ข้อมูล ที่จะช่วยให้ธุรกิจวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ตั้งแต่เครื่องมืออย่างง่ายใช้ฟรีแต่เห็นผลจริง ไปจนถึงเครื่องมือที่ซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลได้ เกิดประโยชน์สูงสุด

การแก้ปัญหาจากสถาบันการเงิน การผนึกกำลังกับบริษัทฟินเทค เพื่อสร้างสรรค์โครงการและบริการที่จะช่วยธุรกิจ SME ก้าวสู่ดิจิทัลอย่างครบวงจร ทั้งการให้คำปรึกษา อบรมเพื่อเสริมจุดแข็งของธุรกิจ และการแก้ปัญหาง่าย ๆ ที่ช่วยปรับกระบวนการได้ครบตั้งแต่การขาย จัดส่งสินค้า ระบบบัญชี และสินเชื่อ

การตลาดดิจิทัล การทำตลาดดิจิทัลในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่การทำคอนเทนต์ดี หรือลงทุนลงโฆษณาไปในหลาย ๆ ช่องทางเท่านั้น เพราะบางครั้งลงทุนไปอาจได้ยอดขายกลับมาไม่คุ้มค่า ซึ่ง 7 เรื่องที่ธุรกิจ SME ควรจะรู้ในการทำการตลาด ดิจิทัลคือ (1) รู้จักและเรียนรู้จากลูกค้า (2) การลงโฆษณาไม่ใช่ทุกคำตอบ (3) ลูกค้าจริงน่าเชื่อถือมากที่สุด (4) พาลูกค้าไปปิดการขายให้ไว (5) เก็บข้อมูลเอาไว้ใช้วิเคราะห์ (6) ตั้งงบประมาณและ ใช้ให้สัมพันธ์กับการขาย และ (7) ให้คนรู้จริงเป็นคนทำแน่นอนที่สุด

การแก้ปัญหาระบบบัญชีและการจัดการข้อมูล ช่วยวางระบบบัญชีและเปลี่ยนเอกสารทางธุรกิจเป็นข้อมูลดิจิทัล ยกระดับการทำงานให้รวดเร็ว ลดต้นทุน ลดความผิดพลาด และสร้างข้อมูลเพื่อต่อยอดธุรกิจได้ง่าย ๆ