มีคนเปรียบเปรยไว้ว่า "หากต้องการแสวงหาความสงบให้เข้าวัด แต่หากอยากได้ความตื่นเต้นวุ่นวายให้มาที่ตลาดการเงิน" โดยเฉพาะตลาด FX หรือตลาดเงินตราต่างประเทศ เพราะแทบจะไม่มีวันไหนเลยที่อัตราแลกเปลี่ยนจะนิ่งสงบ ในแต่ละวัน แต่ละนาทีค่าเงินสามารถพลิกผันได้ตลอดเวลา ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง อัตราแลกเปลี่ยนก็จะยิ่งผันผวนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ความผันผวนของค่าเงินในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ค่าเงินหลาย ๆ สกุลแกว่งตัวผันผวนอย่างมาก

ในยามที่ค่าเงินเผชิญกับความผันผวนเช่นนี้ คนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดก็คงหนีไม่พ้นผู้ประกอบการที่ทำการค้าระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางความผันผวนอยู่ตลอดเวลา การนำพาธุรกิจฝ่าคลื่นลมแห่งความผันผวนจึงมิใช่เรื่องง่าย แต่ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป หากเรารู้เคล็ดลับในการบริหารจัดการความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม และนำไปใช้ป้องกันภัยอย่างสม่ำเสมอ


4 วิธีรับมือความผันผวนของค่าเงิน

1. ทำสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า / Forward /

คือการล็อกเรทไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่เราจะสั่งซื้อสินค้าหรือได้รับคำสั่งซื้อเข้ามา และเมื่อถึงวันที่เราต้องชำระเงิน เราก็แลกเงินตราต่างประเทศด้วยอัตราที่ตกลงกันไว้แล้วนั่นเอง วิธีนี้จะช่วยสร้างความแน่นอนให้กับต้นทุนหรือรายได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าค่าเงินบาทในอีก 3 เดือน 6 เดือนข้างหน้าจะเป็นเท่าใด เพราะได้ทำสัญญาล็อกเรทไว้แล้ว แต่จุดอ่อนคือ เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนจริง ๆ ในอนาคตเกิดวิ่งไปในทิศทางที่เราชอบ เช่น เมื่อบาทอ่อนค่าลงกว่าอัตรา forward ที่ทำไว้ ผู้ส่งออกก็อาจจะรู้สึกเสียดาย เพราะไม่สามารถ เปลี่ยนแปลงสัญญาได้

2. ทำประกันค่เงิน / FX Options /

เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอีกประเภทหนึ่ง มีลักษณะคล้ายการทำประกันรถ ลองนึกภาพว่าถ้าเราซื้อประกันแล้วเกิดอุบัติเหตุ เราก็นำกรมธรรม์ไปเรียกชดเชยความเสียหายได้ ประกันค่าเงินก็เช่นกัน หากเกิดอุบัติเหตุกับค่าเงินในอนาคต เช่น แข็งค่าหรืออ่อนค่าไปกว่าอัตราที่เราทำไว้ เราก็ไปขอเคลมเพื่อรับส่วนต่างได้ แต่ถ้าไม่ได้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น เราก็ทิ้งประกันนี้ไป ซึ่งจะเห็นว่าเครื่องมือนี้ยืดหยุ่นกว่าวิธีแรก โดยสามารถเลือกว่าจะใช้สิทธิหรือไม่ อย่างไรก็ดี ผู้ซื้อประกันค่าเงินก็จะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกัน (premium) ในการซื้อสิทธิแลกเงินในอนาคต ซึ่งต่างจาก วิธีแรกที่ไม่มีค่าใช้จ่าย

3. ใช้บัญชีเงินฝกเงินตรต่งประเทศ / Foreign Currency Deposit: FCD /

เป็นการเปิดบัญชีและฝากเงินสกุลต่างประเทศไว้ในธนาคาร เช่น หากผู้ประกอบการมีรายรับเป็นเงินสกุลต่างประเทศ และไม่ต้องรีบเร่งแปลงเป็นเงินบาทก็สามารถฝากเงินไว้ที่ในบัญชี FCD นี้ก่อนได้ เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับที่พอใจแล้วค่อยแลกเป็นเงินบาท หรือกรณีผู้ประกอบการมีทั้งรายรับและรายจ่ายเป็นเงินสกุลเดียวกัน ก็สามารถนำเงินฝากในบัญชี FCD ที่มีอยู่ไปชำระค่าสินค้า โดยถอนเงินจากบัญชี FCD ไปจ่ายได้เลย ช่วยให้ไม่ต้องเสียส่วนต่าง (spread) ในการซื้อและขายเงินต่างประเทศหลายรอบ

4. ทำการค้าด้วยเงินสกุลท้องถิ่น / Local Currency /

เป็นการลดทอนผลกระทบจากความผันผวนแบบง่าย ๆ โดยให้ตั้งราคาซื้อขายสินค้า (invoicing currency) กันเป็นเงินบาทหรือใช้เงินสกุลท้องถิ่นอื่น ๆ นอกเหนือจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะเงินสกุลท้องถิ่นส่วนใหญ่มักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินบาท


โครงการประกันค่าเงินเพื่อ SME

หากผู้ประกอบการ SME สนใจวิธีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนข้างต้น ธปท. ได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดทำโครงการประกันค่าเงิน เพื่อ SME ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยติดอาวุธความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ SME ให้มีความรู้ความเข้าใจวิธีบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน รูปแบบโครงการในครั้งนี้ได้ปรับให้เข้ากับช่วงโควิด 19 โดยจะจัดอบรมแบบออนไลน์และเมื่อเข้าอบรมและทำตามเงื่อนไขของโครงการครบถ้วนแล้ว SME จะได้รับสิทธิในการทดลองใช้ประกันค่าเงิน (วิธีที่ 2) ได้ฟรี โดยภาครัฐจะสนับสนุนค่าเบี้ยประกันค่าเงินให้ถึง 80,000 บาท ซึ่งจะครอบคลุมมูลค่าการค้าประมาณ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถใช้ได้กับ invoice การค้าถึง 7 สกุลเงิน ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐฯ ยูโร เยน หยวน ปอนด์ ดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์สิงคโปร์ นอกจากนี้ ยังจะได้รับการสนับสนุนค่าธรรมเนียมการค้าระหว่างประเทศ เช่น ค่าโอนเงินระหว่างประเทศ หรือค่าธรรมเนียมในการเปิด Letter of Credit (L/C) อีก 20,000 บาท โดยศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.exim.go.th ในหัวข้อ "อบรมสัมมนา" ซึ่งจะมีรายละเอียดในการสมัครและ ลิงก์สำหรับสมัครเข้าร่วมโครงการ

ไม่เพียงแต่เราต้อง "ไม่ประมาท" ในสถานการณ์โควิด 19 แต่ภายใต้สถานการณ์ค่าเงินที่มีความผันผวน เราก็ต้อง "การ์ดอย่าตก" เช่นกัน ... มาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนกันดีกว่า