​depa ผนึกพลังพันธมิตร สร้างสรรค์เศรษฐกิจดิจิทัลไทย

ทุกวันนี้องค์กรธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องแนวคิดและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจ (digital transformation) เพราะสามารถเปลี่ยนแปลงระบวนการทำธุรกิจ สร้างโอกาสใหม่ และลดต้นทุน แต่ผู้ประกอบการ SME ต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ ทำให้ยังไม่สามารถใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้เต็มศักยภาพ และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน

หนึ่งในองค์กรสำคัญที่ทำหน้าที่สนับสนุนให้ SME ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นคือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa (Digital Economy Promotion Agency) โดยมีทั้งกลไกทางการเงินและภาษี การให้ความรู้ผ่านการอบรมสัมมนา และอีกหลายมาตรการ เพื่อทำให้ SME แข่งขันได้ในเศรษฐกิจดิจิทัล


ภารกิจดิจิทัลที่หลากหลายของ depa

ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการ กลุ่มยุทธศาสตร์และ บริหาร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า depa ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์และภารกิจขององค์กรตามที่ระบุใน พ.ร.บ. การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 และแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยภารกิจแบ่งออกเป็นหลายด้าน ได้แก่ (1) การส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (2) การส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และ คุณภาพชีวิต (3) การสนับสนุนและพัฒนาบุคลากรทางด้านดิจิทัล และ (4) การส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ดิจิทัล รวมถึงการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กฎหมาย และกฎระเบียบต่าง ๆ

"ในเรื่องเศรษฐกิจ depa เน้นเพิ่มขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะในส่วนที่ประเทศไทยมีศักยภาพ นั่นคือ การสนับสนุนภาคบริการดิจิทัล โดยการสร้างดิจิทัลสตาร์ทอัปให้เกิดขึ้นได้และเติบโต เรายังดูแลภาคการผลิตดั้งเดิมอย่างภาคการเกษตร รวมถึงด้านสังคม depa เน้นลงพื้นที่ชุมชนตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อไปสร้างความตระหนักเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล และเสริมทักษะ โดยเน้นที่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และผู้พิการ เช่น สอนผู้สูงอายุเกี่ยวกับการทำวิดีโอใน YouTube เพื่อสร้างรายได้จากการเป็น youtuber หรือ influencer ซึ่งเป็นอาชีพใหม่ในยุคดิจิทัล" ดร.กษิติธรกล่าว

นอกจากนั้น depa ยังเน้นการใช้ประโยชน์ดิจิทัลในเชิงพื้นที่ (area-based) ผ่านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ smart city ซึ่งเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนที่รัฐบาลมุ่งเน้น depa จึงเร่งพัฒนา Thailand Digital Valley ในพื้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยคาดหวังให้เป็นพื้นที่ที่ทั้งบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่และสตาร์ทอัปมาอยู่ที่เดียวกัน มีแพลตฟอร์มการพูดคุยแลกเปลี่ยน ทำงานร่วมกัน และเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดการลงทุนทางด้านดิจิทัลในประเทศไทย เรื่องสุดท้ายที่ depa ทำภายใต้แผนส่งเสริม คือ cybersecurity ส่งเสริมให้เกิดการตระหนักรู้ ส่งเสริมอุตสาหกรรม และพัฒนาคนทำงานทางด้านนี้

จากบทบาทที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ depa มุ่งเน้นทำงานร่วมกับพันธมิตรอีกหลายหน่วยงาน และเน้นไปที่ภาคส่วนที่ต้องการการสนับสนุน และสร้างผลกระทบในวงกว้าง อาทิ ร่วมกับผู้ประกอบการดิจิทัลในการทำเรื่อง transformation ให้กับ SME และการส่งเสริมให้สตาร์ทอัปเกิดและเติบโต สร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัลยุคใหม่ รวมถึง smart city สร้างความอยู่ดีมีสุขของประชาชนในแต่ละพื้นที่



Digital Transformation Fund และมาตรการทางภาษี

เทคโนโลยีดิจิทัลมีความสำคัญต่อธุรกิจ SME ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบบริหารจัดการธุรกิจหรือสินค้า การทำการตลาด หรือช่องทางขายออนไลน์ แต่บางรายติดขัดเรื่องเงินลงทุนและความรู้ด้านดิจิทัล ทำให้ไม่สามารถจัดหาและใช้งานดิจิทัลได้อย่างเต็มที่

ในการกระตุ้นการใช้งานดิจิทัล ดร.กษิติธรกล่าวว่า depa มีกลไกสนับสนุนทางด้านการเงินที่เรียกว่า digital transformation fund เพื่อสนับสนุน SME ที่สนใจพัฒนาและปรับเปลี่ยนธุรกิจด้วยดิจิทัล แต่อาจมีทุนทรัพย์ไม่เพียงพอ

"depa เป็นกึ่งที่ปรึกษา เป็นโค้ช และเป็นตัวเชื่อมระหว่าง SME กับผู้ให้บริการดิจิทัล หรือ digital providers โดยผู้ให้บริการดิจิทัลจะต้องมาขึ้นทะเบียนกับ depa และเมื่อ SME ต้องการ transform ธุรกิจ depa จะให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน จำกัดวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย โดยขึ้นอยู่กับสิ่งที่ SME ต้องการจะทำ"

ดร.กษิติธรอธิบายเพิ่มเติมว่า กลไกนี้ไม่ใช่การให้เงินฟรี แต่เป็นลักษณะของ matching fund โดย SME ที่ต้องการการสนับสนุนจาก depa ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลต้องมีโครงการที่ชัดเจน มีการหาทุนด้วยตัวเองเพิ่มเติมเพราะคนอาจไม่เห็นคุณค่าจากเงินที่ได้มาฟรี ๆ

ในช่วงที่ผ่านมา depa ได้สนับสนุนการใช้ดิจิทัลสำหรับ SME ในหลายภาคส่วน เช่น ภาคบริการและท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม การผลิตและโรงงาน ภาคเกษตร และกำลังพิจารณาถึงกลุ่มหาบเร่ แผงลอย

ในการช่วยเหลือ SME ให้ทำการปรับเปลี่ยนธุรกิจในยุคดิจิทัล depa ได้ทำงานร่วมกับหลากหลายพันธมิตร อาทิ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และสมาคมด้านการท่องเที่ยว ดร.กษิติธรยกตัวอย่างการทำงานร่วมกับสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ที่ depa เป็นผู้ให้ทุนสมาคมฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวว่า

"การทำงานโดยส่วนใหญ่ depa ร่วมดำเนินการกับพันธมิตร depa ไม่ได้ลงไปในรายละเอียดว่า SME แต่ละรายเป็นอย่างไร เพราะไม่ได้รู้จัก SME แต่ละรายเท่ากับพันธมิตร โดย depa ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี ช่วย SME ไปแล้วเกือบ 6,500 ราย"

นอกจากกลไกสนับสนุนด้านการเงินให้กับ SME แล้ว depa ยังร่วมงานกับกรมสรรพากรสร้างแรงจูงใจให้ SME ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้วยมาตรการทางภาษีสำหรับรายจ่ายที่เป็นค่าซื้อ จ้างทำ หรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้แก่ผู้ขาย ผู้รับจ้างทำ หรือผู้ให้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก depa

"ในอนาคต depa อยากผลักดันให้มาตรการทางภาษีครอบคลุมมากกว่าซอฟต์แวร์ แต่รวมถึงธุรกิจดิจิทัลอื่นด้วย เช่น ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อย่างการซื้อโดรน และ CCTV เพราะเป็นการขยายตลาดให้กับธุรกิจดิจิทัล แม้รัฐอาจสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีบางส่วนที่ SME นำไปลดหย่อน แต่จะไปกระตุ้นการใช้งานช่วยลดต้นทุนของธุรกิจ เพิ่มยอดขาย เพิ่มรายได้ให้กับทั้ง SME และผู้ประกอบการดิจิทัล น่าจะทำให้รัฐจัดเก็บภาษีในอนาคตได้มากขึ้นตามฐานรายได้ของธุรกิจที่เพิ่มขึ้น" ดร.กษิติธรกล่าว


SME และประโยชน์ของเทคโนโลยีพื้นฐาน

แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด 19 ในปี 2563 แต่ ดร.กษิติธรเปิดเผยว่า เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ อุตสาหกรรมดิจิทัลได้รับผลกระทบน้อยกว่า และการเติบโตของการใช้บริการดิจิทัลเพิ่มขึ้นสูงมากจากมาตรการล็อกดาวน์ และการทำงานจากบ้าน โดยอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว เนื่องจากความพร้อมของโครงข่ายโทรคมนาคม ความต้องการใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ การสร้างปฏิสัมพันธ์ผ่านช่องทางดิจิทัลทดแทนด้านกายภาพ เกิดการผลิตข้อมูลจำนวนมหาศาล ทำให้หลายองค์กรเห็นพลังของข้อมูลและหันมาให้ความสำคัญกับ big data มากขึ้น

แต่หากพูดถึงความพร้อมของ SME ในการเปิดรับ ปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ก็ยังคงตามหลังองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ในยุคดิจิทัล SME ต้องพัฒนาความสามารถเชิงแข่งขันของธุรกิจในหลายด้าน แต่ SME มักประสบปัญหาในเรื่องการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะด้านดิจิทัล รวมถึงขาดทุนทรัพย์สนับสนุน

"สิ่งที่ depa พยายามทำคือ การสร้างความตระหนักในเรื่องดิจิทัล เจ้าของธุรกิจ SME ต้องตระหนักก่อนแล้วจึงเพิ่มทักษะและความเข้าใจ โดย depa ทำเรื่องนี้ผ่านการจัดอบรมสัมมนา รวมถึงการจัดงาน 'DIGITAL THAILAND BIG BANG' มหกรรมแสดงเทคโนโลยีดิจิทัลระดับนานาชาติ"

ดร.กษิติธรกล่าวเสริมอีกว่า SME ควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัย รุ่นล่าสุด เพียงแค่เข้าใจและสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีหรือบริการดิจิทัลที่เหมาะสม เช่น การใช้โซเชียลมีเดียในการทำธุรกิจ การขายสินค้าใน e-Commerce การใช้ซอฟต์แวร์บริหารจัดการธุรกิจ point of sale สำหรับธุรกิจที่มีความพร้อมทั้งความรู้และเงินลงทุน ก็อาจพิจารณาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง เช่น การใช้งาน internet of things ในกระบวนการผลิตในโรงงาน นอกจากลดความผิดพลาดในกระบวนการผลิตแล้ว ยังได้รับข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อใช้ในการวางแผนธุรกิจได้อีกด้วย



การสนับสนุนความร่วมมือในอนาคต

ดร.กษิติธรกล่าวว่า ข้อมูลการสำรวจบางเรื่องของ ธปท. และ depa มีหลักการคล้ายกัน แต่ในรายละเอียดมีคำถามต่างกัน ในขณะที่ ธปท. ฉายภาพใหญ่ของธุรกิจ แต่ depa ฉายภาพย่อยเฉพาะอุตสาหกรรมดิจิทัล ข้อมูลของทั้งสองหน่วยงานจึงหนุนเสริมซึ่งกันและกัน

"ในอนาคต depa อาจจะทำงานร่วมกันกับ ธปท. รวมทั้งพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อทำ survey หรือพัฒนาดัชนีใหม่ ๆ ขึ้นมาก็ได้ โดย ธปท. มีความเข้าใจ และเห็นการเคลื่อนไหวของระบบเศรษฐกิจ แต่ depa มีความเข้าใจเรื่องอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะฉะนั้น การทำงานด้วยกันน่าจะใช้ประโยชน์จากทั้งสองฝ่าย ทำให้เกิดแรงบวกมากขึ้น"


อุตสาหกรรมดิจิทัลประกอบด้วย 1. อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ เช่น โดรน กล้อง CCTV 2. อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ 3. อุตสาหกรรมดิจิทัลเซอร์วิสหรือบริการดิจิทัล เช่น ฟินเทค การศึกษา 4. อุตสาหกรรมโทรคมนาคม (telecommunication) เช่น บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริการอินเทอร์เน็ต และ 5. อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น แอนิเมชัน เกม และคาแรคเตอร์

Point of Sale (POS) คือ อุปกรณ์พร้อมซอฟต์แวร์ที่ติดตั้ง ณ จุดชำระเงินที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบข้อมูล
ต่าง ๆ ทางออนไลน์ได้ตลอดเวลา