​ สมาน คลังจัตุรัส ปรมาจารย์ศิลปะสีน้ำมัน

"อาจารย์สมาน คลังจัตุรัส" หรือ Mr. Rose คือ หนึ่งในสามศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังการรังสรรค์ภาพเขียนสีน้ำมันอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ท่านเป็นผู้ทุ่มเทชีวิตกว่าครึ่งศตวรรษให้กับการวาดภาพ สั่งสมทักษะฝีมือจนได้รับการยกย่องให้เป็น "ปรมาจารย์ศิลปะสีน้ำมัน" ที่มีชื่อเสียงทั้งในไทยและต่างประเทศ


จุดเริ่มต้นของเส้นทางจิตรกร

อาจารย์สมาน คลังจัตุรัส เกิดและเติบโตที่จังหวัดชัยภูมิ เริ่มค้นพบความชอบในการวาดรูปตั้งแต่ยังเด็ก ต่อมาด้วยความมุ่งมั่นที่จะยกระดับทักษะการวาดรูปของตนเอง จึงเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์ จนสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และตั้งใจจะสอบเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขาจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่เมื่อสอบไม่ได้ จึงตัดสินใจทุ่มเทฝึกฝนและพัฒนาตัวเอง พร้อมเรียนรู้จากงานจิตรกรรมภาพวาดตามสถานที่ต่าง ๆ และหาประสบการณ์จากการเป็นลูกจ้างวาดภาพให้ร้านแถวสี่พระยา ซึ่งในแต่ละวันจะมีชาวต่างชาติ สั่งวาดเป็นร้อยภาพ แต่ละภาพต้องใช้เวลาวาดไม่ถึง 2 ชั่วโมง ซึ่งช่วยขัดเกลาและเพิ่มทักษะฝีมือได้เป็นอย่างดี

จนกระทั่งปี 2536 ชื่อของ "สมาน คลังจัตุรัส" ก็ได้แจ้งเกิดในฐานะศิลปินผู้รังสรรค์พระสาทิสลักษณ์สีน้ำมัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการฉลองครบรอบ 80 ปี วิทยาลัยเพาะช่าง

เมื่อฝีมือของอาจารย์สมานกลายเป็นที่ประจักษ์ ต่อมาจึงได้รับมอบหมายงานชิ้นสำคัญ ได้แก่ การวาดพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งนับว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ เวลานั้น โดยมีขนาดกว้าง 3.5 เมตร สูง 5.5 เมตร ประดิษฐานที่หอประชุมมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ


ที่มาของฉายา Mr. Rose

นอกเหนือจากการวาดพระบรมสาทิสลักษณ์สีน้ำมัน ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับการยกย่อง และปรากฏสู่สายตาชาวไทยอย่างต่อเนื่อง อาจารย์สมานยังมีชื่อเสียงในฐานะปรมาจารย์ด้านภาพวาดสีน้ำมันที่โด่งดังในต่างประเทศอีกด้วย

โดยในปี 2544 อาจารย์สมานเป็นศิลปินไทยเพียงท่านเดียวที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม Arizona Art Group พร้อมเดินทางไปจัดแสดงผลงานที่ Lyon Gallery รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ซึ่งภายในงานท่านได้แสดงการวาดภาพดอกกุหลาบให้ผู้ร่วมงานชม จนเกิดเสียงชื่นชมอย่างมาก และหนึ่งในนั้นคือ สุภาพสตรีเจ้าของแกลเลอรีที่เรียกอาจารย์สมานว่า "Mr. Rose" จนกลายเป็นฉายาที่ติดตัวท่านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

"ดอกกุหลาบ" ไม่เพียงเป็นภาพสีน้ำมันที่อาจารย์สมานชอบวาดเท่านั้น แต่ยังมีความหมายเบื้องลึกที่สื่อถึงสัจธรรมของชีวิต ตั้งแต่ช่วงที่ดอกตูม - กำลังผลิบาน - บานเต็มที่ อันเปรียบเสมือนวัฏจักรเกิด - แก่ - เจ็บ - ตาย ของมนุษย์


ผู้อยู่เบื้องหลังภาพวาดสำคัญของ ธปท.


อาจารย์สมานถือเป็นจิตรกรที่มีความผูกพันกับ ธปท. มานาน เนื่องจากเป็นผู้วาดพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเป็นภาพที่ชนะการประกวดรางวัล Banknoteof the Year 2004 จากวารสาร Muenzen & Papier (Coins & Paper Money) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อใช้เป็นภาพประธานของธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ วันที่ 12 สิงหาคม 2547 นอกจากนั้น ท่านยังเป็นผู้วาดพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลซึ่งประดับอยู่ภายในตำหนักใหญ่ วังบางขุนพรหม ชั้น 1 อีกด้วย

ด้วยผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ ธปท. จึงได้มอบหมายให้อาจารย์สมานเป็นผู้วาดภาพเหมือนอดีตผู้ว่าการที่หมดวาระอีกหลายท่าน ตั้งแต่ผู้ว่าการเสนาะ อูนากูล ผู้ว่าการวิจิตร สุพินิจ เรื่อยมาจนถึงผู้ว่าการประสาร ไตรรัตน์วรกุล และผู้ว่าการวิรไท สันติประภพ ซึ่งภาพเหมือนสีน้ำมันแห่งความทรงจำเหล่านี้ ได้ถูกนำมาติดตั้งไว้ที่ห้องโถงสำนักงานใหญ่ร่วมกับภาพวาดอดีตผู้ว่าการฝีมือจิตรกรเอกท่านอื่น ๆ


ความสุขในฐานะศิลปิน

ด้วยเสน่ห์ของภาพเขียนสีน้ำมันที่เมื่อเวลาผ่านไป รายละเอียดอันงดงามยิ่งปรากฏให้พบเห็น สำหรับอาจารย์สมานแล้ว การได้รังสรรค์ผลงานต่อไปตราบเท่าที่กายและใจยังพร้อม นับเป็นความสุขสูงสุดของท่านในฐานะศิลปิน

ท่านเชื่อว่าหัวใจของการทำงานศิลปะทุกชนิดมีอยู่ 2 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่ การเป็นคนช่างสังเกตและตั้งอยู่ในสมาธิเป็นสำคัญ

ปัจจุบันในวัย 66 ปี อาจารย์สมานยังคงใช้เวลาทำงานศิลปะอยู่ที่สตูดิโอส่วนตัว ซึ่งตั้งอยู่ภายในบ้านย่านงามวงศ์วาน พร้อมอุทิศตนเพื่อถ่ายทอดวิชาความรู้ในการวาดรูปสีน้ำมันให้กับศิลปินรุ่นลูกรุ่นหลาน โดยสร้างหอศิลป์และห้องสมุดไว้ที่บ้านเกิดในตัวเมืองจังหวัดชัยภูมิ ชื่อว่า "หอศิลป์คลังจัตุรัส" ซึ่งหวังว่าในอนาคตจะกลายเป็น "ศูนย์รวมศิลปกรรมแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" ต่อไป