รู้หรือไม่ แม้การเคลื่อนไหวของเงินบาทจะถูกกำหนดจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทยยังเป็นปัจจัยเสริมสำคัญที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในบาทช่วงเวลา
ปัญหาเชิงโครงสร้าง : ปัจจัยเสริมให้เงินบาทแข็งค่า
สถิติเงินบาทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่าร้อยละ 85 ของการเปลี่ยนแปลงรายวัน ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวไปตามทิศทางของสกุลเงินต่างประเทศซึ่งสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค แต่อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังคงมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญหลายประการที่เป็นปัจจัยเสริมให้เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริง กล่าวคือ
(1) เงินทุนเคลื่อนย้ายขาดความสมดุล โดยประเทศไทยมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศสูงจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่ประมาณร้อยละ 8 ของ GDP ต่อปี ขณะที่มีเงินทุนไหลออกจากไทยไปลงทุนต่างประเทศเฉลี่ยเพียงร้อยละ 4 ของ GDP ต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยตรง การกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ในต่างประเทศของนักลงทุนไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยสะท้อนได้จากดัชนี home bias1 ที่สูงถึงร้อยละ 95 ซึ่งแสดงถึงความคุ้นเคยกับการลงทุนในประเทศมากกว่าการลงทุนต่างประเทศอย่างชัดเจน
(2) ภาคธุรกิจสามารถรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างจำกัด เนื่องจากมีข้อจำกัดในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยปัจจุบันผู้ประกอบการมีการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนในสัดส่วนที่ต่ำเพียงประมาณร้อยละ 19 ของมูลค่าการส่งออก และร้อยละ 24 ของมูลค่าการนำเข้า
(3) ต้นทุนการทำธุรกรรมสูง เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ทำให้นักลงทุนไทยขาดการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ และผู้ประกอบการไทยมีการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างจำกัด โดยการทำธุรกรรมยังคงกระจุกตัวอยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์ถึงร้อยละ 99 และต้นทุนการให้บริการด้านอัตราแลกเปลี่ยนของไทยยังคงสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น ค่าธรรมเนียมธุรกรรมการโอนเงินไปต่างประเทศของไทยโดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่ค่าธรรมเนียมธุรกรรมการโอนเงินเฉลี่ยเพียงประมาณร้อยละ 3
(4) ธุรกรรมเงินบาทในตลาดต่างประเทศมีผลต่อค่าเงินสูง ตลาดเงินบาทในต่างประเทศ (offshore market) มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสะท้อนได้จากสัดส่วนธุรกรรมเงินบาทตลาดต่างประเทศของธุรกรรมเงินบาททั้งหมดที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 21 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 61 ในปัจจุบัน ซึ่งตลาด offshore มีขนาดใหญ่นั้นจะทำให้ความผันผวนของตลาดการเงินโลกส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทได้มากขึ้น รวมถึงยังลดทอนความสามารถในการบริหารจัดการค่าเงินของธนาคารกลางด้วย
แก้ปัญหาด้วยระบบนิเวศแบบใหม่
จากปัญหาที่กล่าวมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงให้ความสำคัญในการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (FX ecosystem) เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันผลักดันแบบบูรณาการเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดย ธปท. แบ่งแนวทางการผลักดันออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้
ด้านที่ 1 ผลักดัน new FX investment ecosystem ที่จะสนับสนุนให้เกิดสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้ายผ่านการลงทุนสินทรัพย์ต่างประเทศ โดยอนุญาตให้คนไทยสามารถลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศได้อย่างเสรีมากขึ้น โดยการแก้ไขกระบวนการและหลักเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค เพื่อให้การลงทุนหรือการถือครองสินทรัพย์ต่างประเทศให้ทำได้โดยง่ายและคล่องตัวใกล้เคียงกับสินทรัพย์ในประเทศ
เปิดเสรีบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit: FCD) ซึ่งอำนวยความสะดวกให้คนไทยใช้บัญชี FCD ในประเทศได้สะดวกขึ้นในการทำธุรกรรมฝาก ถอน และโอนเงินสกุลต่างประเทศระหว่างคนไทยในประเทศด้วยกันเองโดยไม่จำเป็นต้องแลกเป็นเงินบาท
ปรับหลักเกณฑ์และกระบวนการลงทุนให้ง่าย อาทิ การเพิ่มวงเงินลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยเป็น 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี การยกเลิกวงเงินลงทุนรวมที่ ธปท. จัดสรรให้นักลงทุนภายใต้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และการขยายขอบเขตสินทรัพย์เงินตราต่างประเทศที่สามารถนำเสนอขายในประเทศ (local FX product) มีความหลากหลายขึ้น เช่น การซื้อขายทองคำ Exchange Traded Fund (ETF) และ Depository Receipt (DR) ด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ผลักดันการเพิ่มการลงทุนต่างประเทศของภาคเอกชน ทั้งการลงทุนโดยตรงของผู้ประกอบการ และการลงทุนหลักทรัพย์ของนักลงทุนสถาบัน เช่น กลุ่มประกันชีวิต และกลุ่มกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ด้านที่ 2 การปรับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงิน (new FX regulatory framework)
ให้มีความสมดุลมากขึ้นในการดูแลเงินทุนขาเข้าและขาออก และให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างเสรีมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทประเทศที่เปลี่ยนไปทำให้ความจำเป็นในการควบคุมเงินทุนไหลออกลดลง รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถรองรับความผันผวนของค่าเงินได้ดีขึ้น โดยจะดำเนินการพร้อมกันใน 3 มิติ ประกอบด้วย (1) ปรับเกณฑ์เงินทุนเข้า - ออกให้สมดุลมากขึ้น (2) ลดข้อจำกัดในการบริหารความเสี่ยงของภาคเอกชน และ (3) ลดภาระเอกสารที่ต้องแสดงในการทำธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยน
ด้านที่ 3 สนับสนุนให้มีผู้ให้บริการรายใหม่ (service provider landscape) โดยผลักดันให้เกิดการแข่งขันของผู้ให้บริการ เพื่อลดต้นทุนในการทำธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนและเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการมากขึ้น เช่น (1) ขยายขอบเขตการทำธุรกรรมของผู้ให้บริการรายเดิมและสนับสนุนผู้เล่นรายใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม non-bank ซึ่งปัจจุบันยังให้บริการได้ในขอบเขตจำกัด และ (2) ปรับบริการให้รองรับบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ เช่น ธุรกรรมออนไลน์ และ digital platform สอดคล้องพฤติกรรมของผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนแปลงไป
ด้านที่ 4 ยกระดับการติดตามข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายเพื่อดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (surveillance and management) เพื่อให้ภาครัฐรู้เท่าทันความเสี่ยงและมีมาตรการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือในภาวะวิกฤติ เช่น (1) ลดบทบาทธุรกรรมเงินบาทในตลาดต่างประเทศ (offshore market) โดยสนับสนุนให้ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (non-resident) สามารถทำธุรกรรมกับธนาคารในไทยได้สะดวกมากขึ้น (2) พัฒนาระบบติดตามพฤติกรรมของผู้เล่นที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเงินบาท เช่น การลงทะเบียนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ (bond investor registration) และ (3) เตรียมแผนรองรับสถานการณ์วิกฤติที่พร้อมใช้และตรงจุด
กระบวนการผลักดันให้เกิด FX ecosystem ใหม่ ธปท. จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจาก 3 มาตรการแรกที่ประกาศเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ประกอบด้วย (1) เปิดให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี (2) ปรับกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และ (3) มีการลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ ซึ่งกระทรวงการคลัง ก.ล.ต. และ ธปท. ได้ให้ความเห็นชอบร่วมกันที่จะผลักดันมาตรการแบบองค์รวม ทั้งนี้ มาตรการและการดำเนินการในระยะถัดไปจะยังคงเป็นพันธกิจสำคัญของ ธปท. ที่ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศไทยอย่างยั่งยืนได้