​ ฤกษ์ดีปีใหม่เลิก 5 นิสัยไม่ดีทางการเงิน

“ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่” คงเป็นประโยคที่เราคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงปลายปี หลายคนคงเริ่มคิดว่า new years resolution หรับตัวเองในปีหน้าจะเป็นเรื่องอะไรดี ทั้งเรื่องการดูแลสุขภาพ การทงาน การใช้ชีวิต หรือเรื่องการเงิน เพื่อเป็นเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนชีวิตให้ดียิ่งขึ้น และอยู่รอดได้ในยุคที่มีความไม่แน่นอนสูง เช่น ในปีนี้ที่โลกได้รับผลกระทบจากทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องและเหตุไม่คาดฝันอย่างโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อการเงินของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายคนรายได้ลดหรือหดหาย ทให้ต้องนำเงินที่เก็บออมไว้ออกมาใช้จ่าย หรือช่วยเหลือคนรอบข้างอย่างไม่ทันตั้งตัว หรือบางรายอาจต้องไปเจรจากับเจ้าหนี้เพราะมีเงินไม่พอจ่ายหนี้และใช้ในชีวิตประจำวัน

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสิ่งที่เราได้เรียนรู้ในปีนี้ Financial Wisdom จึงขอเชิญชวนผู้อ่านเลิก 5 นิสัยไม่ดีทางการเงินที่อาจเป็นภัยต่อเงินในกระเป๋าของเรา เพื่อเริ่มต้นใหม่ในปีหน้าอย่างมั่นคง


1. เลิกใช้ก่อนออม

เคยเป็นกันใช่ไหม ที่เงินเดือนเข้าบัญชีทีไรก็ต้องรีบใช้จ่ายทุกครั้ง รู้ตัวอีกทีก็ไม่มีเงินเหลือเก็บ แถมต้องรอรายได้เดือนใหม่เข้ามาช่วยชีวิตต่อไป จากนี้ลองเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่วางแผนการเงินด้วยสมการ

เงินเดือน - เงินออม - เงินจ่ายหนี้ = เงินที่สามารถใช้จ่ายได้

เมื่อได้รับเงินเดือนให้หักเงินออมไว้อย่างน้อยร้อยละ 10 และทยอยเพิ่มให้ถึง 1 ใน 4 ของรายได้ต่อเดือน เพื่อใช้ในยามฉุกเฉินหรือเติมเต็มทุกความฝันในชีวิต และต้องไม่ลืมแบ่งเงินไว้จ่ายหนี้ให้ตรงเวลาแล้วจึงใช้จ่ายให้ได้ตามเงินที่เหลืออยู่ จะได้ไม่ต้องเจอปัญหาไม่มีเงินออม ไม่มีเงินจ่ายหนี้ตามกำหนด และไม่มีเงินเหลือสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน


2. เลิกใช้ชีวิตติดเทรนด์

กระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ไอทีที่ซื้อกันมาจากห้างร้าน หรือ CF ผ่านร้านออนไลน์กันมาแบบไม่ลังเลการท่องเที่ยวในสถานที่แปลกใหม่ การชิมอาหารร้านหรูที่ต้องจองข้ามเดือน เสียเงินเท่าไหร่ไม่ว่าแต่ขอเป็นคนหนึ่งที่ยืนอยู่ในกระแสเหมือนเพื่อน ๆ ทั้งในโลกจริงและโลกโซเชียล

การหาความสุขจากการไล่ตามกระแสสังคมแต่ทำลายสุขภาพการเงินให้ย่ำแย่แบบนี้ต้องรีบเลิกให้ได้ แล้วเริ่มใหม่ด้วยการตั้งสติ และถามตัวเองก่อนซื้อว่า มีเงินไหม จำเป็นไหม รอได้ไหม ใช้ได้คุ้มค่าหรือไม่ หรือหากควบคุมตัวเองไม่ได้ ก็ให้ตั้งงบประมาณสำหรับซื้อของเพื่อความสุขจากวิถีชีวิตแบบนี้ เช่น ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ จะได้มีเงินใช้จ่ายให้พอหายอยากในวันนี้และสบายใจไปได้ยาว ๆ เพราะไม่มีปัญหาหนี้มากวนใจในอนาคต


3. เลิกใช้เงินมากกว่าที่หาได้

ซื้อทุกสิ่งที่เห็นแล้วอยากได้ตั้งแต่เช้าวันเงินเดือนออก พอถึงกลางเดือนเงินเริ่มหมด ต้องรูดบัตรเครดิตหรือใช้บัตรกดเงินสดแล้วรอเงินเดือนเดือนใหม่เข้ามาเพื่อใช้จ่ายหนี้บัตร นาน ๆ ไปก็จ่ายยอดเต็มไม่ได้ ดอกเบี้ยทับถมจนกลายเป็นปัญหาหนี้สินตามมาถ้าอยากแก้ปัญหาหรือไม่อยากให้ชีวิตมีปัญหาในวันข้างหน้าให้เริ่มจากการลงมือทำ “แผนใช้เงิน (budgeting)” โดยคาดการณ์รายได้และค่าใช้จ่ายล่วงหน้า จากนั้นนำตัวเลขรายได้ทั้งหมดที่คาดไว้มาหักลบค่าใช้จ่ายที่รออยู่ เพื่อดูว่าเงินของเราจะพอไหม ถ้าไม่พอก็ต้องปรับแผนลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง ไม่ใช้จ่ายนอกเหนือจากแผนที่วางไว้ และคอยควบคุมไม่ให้รายจ่ายสูงเกินกว่ารายได้ที่ได้รับอยู่เสมอ จะได้ไม่ต้องปวดหัวกับปัญหาเงินไม่พอใช้ในช่วงปลายเดือน


4. เลิกใช้เงินแบบไม่นึกถึงอนาคต

เมื่อก่อนนี้หลายคนคิดว่า แค่ใช้เงินแบบเดือนชนเดือนหรือวันต่อวันได้ก็ถือว่าเยี่ยม แถมมั่นใจว่าชีวิตของเราคงเรียบง่ายสบาย ๆ ไปเรื่อย ๆ โดยไม่เคยเผื่อใจให้เหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ในวันข้างหน้า แต่พอเกิดโควิด 19 ระบาด งานที่เคยมีก็กลับไม่มีลูกค้าที่เคยแวะเวียนมาก็หายไป ทำให้รายได้น้อยลง ต้องลดความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต หรือเดือดร้อนหนักถึงขั้นไม่มีเงินใช้จ่ายเลย

นิสัยการใช้เงินแบบไม่นึกถึงอนาคตที่มีความไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งที่ควรเลิกไปให้เร็วที่สุดอีกอย่างหนึ่ง แล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการวางแผนการเงินเพื่อตอบโจทย์ที่ว่า “หากพรุ่งนี้ตกงาน ป่วยจนทำงานไม่ได้ หรือไม่มีรายได้เข้ามาเลย จะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร” ซึ่งคำตอบก็คือการเริ่มเตรียมแผนรองรับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ด้วยการออมเงินไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉินให้ได้ 3 - 6 เท่าของรายจ่ายจำเป็นและภาระผ่อนหนี้ในแต่ละเดือน และมองหาช่องทางในการหารายได้เสริมตามทักษะและความสามารถที่มี เพื่อเป็นเบาะรองรับแรงกระแทกจากความไม่แน่นอนต่าง ๆ ในชีวิตที่อาจเกิดขึ้นได้


5. เลิกลงทุนโดยไม่ศึกษาหาความรู้

ในยุคที่ทุกคนมีความหวังที่จะใช้เงินทำงานหรืออยากต่อยอดเงินออมที่มีให้งอกเงยมากขึ้น จึงนำเงินที่มีไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ เช่น ประกันสะสมทรัพย์ กองทุน หุ้น รวมถึงการลงทุนตามคำโฆษณาว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาสั้น ๆ หรือลงทุนตามกระแสและคำเชิญชวนของบุคคลที่ดูน่าเชื่อถือ แต่ยังขาดความเข้าใจในเงื่อนไขของสิ่งที่กำลังจะลงทุน รู้ตัวอีกทีก็อาจขาดทุนหรือถูกมิจฉาชีพหลอกเสียแล้ว

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้งควรศึกษาและทำความเข้าใจเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์ ประเมินความเสี่ยงที่เรารับได้ ติดตามข่าวสารภัยการเงินอยู่เสมอ หรือสอบถามกับหน่วยงานทางการ เช่น ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ของแบงก์ชาติ โทร. 1213 หรือศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ กระทรวงการคลัง โทร. 1359 เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่ใช้ผลตอบแทนสูงเกินจริงมาล่อใจเรา จะได้ไม่ทั้งเสียเวลา ความรู้สึก และเสียเงินที่หามาได้ อย่างยากลำบาก

สำหรับใครที่มีนิสัยทางการเงินข้อใดข้อหนึ่งที่กล่าวมาข้างต้น แม้ในปีนี้จะยังเปลี่ยนตัวเองไม่ได้ แต่ก็อยากให้ลองใช้โอกาสในการก้าวเข้าสู่ปีใหม่นี้ให้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนใหม่ให้มีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น Financial Wisdom ขอสวัสดีปีใหม่ และเป็นกำลังใจให้ผู้อ่านในการเลิกนิสัยเดิมที่ไม่เป็นผลดีต่อการเงินของเราได้สำเร็จ และบรรลุ new years resolution ทุกข้อที่ได้วางไว้สู่การเป็นคนใหม่ในปี 2564