อรุษ นวราช จาก “สามพรานโมเดล” สู่การขับเคลื่อน “สังคมอินทรีย์” ในไทย
แม้ว่าในยุคปัจจุบันจะมีความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะหลังเกิดวิกฤติโควิด 19 ที่เป็นตัวเร่งให้ผู้คนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในการบริโภคสิ่งต่าง ๆ อย่างเห็นได้ชัด แต่ในมุมของคุณโอ - อรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สวนสามพราน ในฐานะผู้ริเริ่มและขับเคลื่อนแนวคิดการทำธุรกิจเกื้อกูลสังคมอย่าง “สามพรานโมเดล” นอกจากจะมองเห็นศักยภาพทางธุรกิจผ่านความร่วมมือกับเกษตรกรเพื่อขับเคลื่อนวิถีเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนแล้ว ปัจจุบันยังขยายผลสู่โครงการต่าง ๆ รวมถึงเป็น “พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง” ให้ทุกคนได้เห็นความเชื่อมโยงของเส้นทางวัตถุดิบและอาหาร ตั้งแต่ต้นทางการผลิต การแปรรูป กระทั่งมาถึงมือผู้บริโภค
Inspiration ฉบับนี้จะพาทุกท่านไปทำความรู้จัก “ต้นทางความคิด” ของคุณอรุษ กว่าจะมาเป็นสามพรานโมเดล รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้ทำงานเพื่อชุมชนและผลักดันด้านเกษตรอินทรีย์จนกลายเป็นสังคมอินทรีย์ที่ค่อย ๆ เติบโตอย่างเข้มแข็ง
จุดประกายการเรียนรู้และส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน คุณอรุษเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้สวนสามพรานจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการทำธุรกิจเพื่อส่งมอบคุณค่าและประสบการณ์ที่แตกต่าง จนเป็นที่มาของ “สามพรานโมเดล”
คุณอรุษมองว่า การที่ธุรกิจได้เข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงหันมาทำเกษตรอินทรีย์นั้น ส่งผลให้เกิดเส้นทางการเรียนรู้และพัฒนาจนกลายมาเป็น “สามพรานโมเดล” แบบอย่างของธุรกิจที่เกื้อกูลสังคมบนฐานรากแห่งการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์และการค้าที่เป็นธรรม
“ความรู้ที่ได้จากการลงมือทำคือเส้นทางการเรียนรู้ของเรา พอมาถึงวันนี้ เราตั้งใจให้สวนสามพรานเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ เราไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นโรงแรม เป็นร้านอาหาร หรือเป็นที่พัก แต่เป็นพื้นที่ที่ให้ทุกคนได้แรงบันดาลใจในการเรียนรู้ เพื่อกลับไปเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตดีขึ้น ให้สังคมดีขึ้น และให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น”
ขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์
สำหรับแนวคิดการทำงานของ “สามพรานโมเดล” คุณอรุษอธิบายว่า ไม่ได้เป็นเพียงการออกไปช่วยเหลือเกษตรกรให้เปลี่ยนวิถีมาทำเกษตรอินทรีย์เท่านั้น แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การชักชวนให้เกษตรกรมาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ รวมถึงพันธมิตรอื่น ๆ อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร สื่อต่าง ๆ และองค์กรภาครัฐ
“โมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคมของเราเป็นการประยุกต์ใช้กับธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร แล้วทำอย่างไรจึงจะสามารถเกื้อกูลสังคมได้ เริ่มจากพาร์ทเนอร์ที่ทำงานด้วยคือ เกษตรกร แทนที่จะซื้อวัตถุดิบผ่านพ่อค้าคนกลาง เราซื้อตรงจากเกษตรกรในพื้นที่แทน พร้อมทั้งช่วยพัฒนาให้เขาหยุดใช้สารเคมีและมาทำเกษตรอินทรีย์ แต่สำหรับโรงแรมอื่น อาจไม่ต้องมาร่วมพัฒนาแบบนี้ก็ได้ แค่ซื้อวัตถุดิบตรงจากเกษตรกร เขาก็จะได้เกื้อกูลเกษตรกร เกื้อกูลสิ่งแวดล้อม รวมถึงลูกค้าของโรงแรมก็จะได้รับประทานของที่ดีต่อไปด้วย”
คุณอรุษกล่าวเสริมว่า การซื้อวัตถุดิบโดยตรงจากเกษตรกรอินทรีย์นั้น ย่อมช่วยให้เกษตรกรสามารถกำหนดราคาที่เป็นธรรม มีรายได้เพิ่มขึ้น และข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการไม่พึ่งพาสารเคมีนั่นคือ ค่าใช้จ่ายในส่วนของปัจจัยการผลิตที่ลดลงกว่าร้อยละ 70
“มันเป็นการเปลี่ยนระบบการทำงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีการเชื่อมโยงภายในพื้นที่เป็นผลให้เราสามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพและสังคม เราจึงชวนโรงแรมอื่น ๆ และธุรกิจที่เคยเป็นคู่แข่ง ให้มาร่วมเป็นสังคมเดียวกัน เพราะสังคมอินทรีย์คือเป้าหมายของเรา
“ที่สำคัญ เราอยากให้คนในชุมชนทำธุรกิจเป็น เนื่องจากการเป็นเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ ผมว่ารอดแค่ครึ่งเดียว ต้องเป็นผู้ประกอบการอินทรีย์ได้ด้วย ดังนั้น เราจึงเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้ซื้อโดยตรงกับเกษตรกร โดยเราอาจคอยช่วยเหลือในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นเกษตรกรจะต้องติดต่อกับลูกค้าโดยตรง เขาก็จะเริ่มวางแผนการผลิต ได้รู้จักการพูดคุยต่อรอง จัดการเอกสารต่าง ๆ ตั้งราคาเป็น และในที่สุดจะต้องอยู่รอดได้อย่างเข้มแข็งด้วยตัวเอง”
เชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าจาก “ต้นน้ำ” ถึง “ปลายน้ำ”
“จริง ๆ หน้าที่หลักของทีมเราคือ เป็นโค้ชให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ ให้พวกเขาได้มาเข้าใจและร่วมมือกัน พร้อมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมให้พวกเขากล้าออกจากกรอบเดิม ๆ กล้าที่จะทำในสิ่งที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างถ้าเราอยากให้เกษตรกรหยุดใช้สารเคมี การบังคับให้เขาหยุดใช้มันไม่มีประโยชน์ ส่วนใหญ่ที่อยากหยุดใช้สารเคมีเพราะว่าเกษตรกรอยากมีรายได้เพิ่มขึ้น พวกเขาอยากปลดหนี้ ดังนั้น คำถามต่อมาคือเปลี่ยนแล้วช่องทางการตลาดเป็นอย่างไร เขาจะได้ราคาเท่าไหร่”
แนวทางการดำเนินธุรกิจภายใต้ร่มใหญ่ของสามพรานโมเดล คุณอรุษอธิบายว่า ยังมีเครื่องมืออื่น ๆ ที่ช่วยสนับสนุนการสร้างสังคมอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีชีวิตอย่าง “ตลาดสุขใจ” ที่เปิดมากว่า 10 ปี โดยเป็นสถานที่ให้ผู้บริโภคได้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกับเกษตรกรผู้ผลิตโดยตรง
อีกทั้งขยายผลสู่การสร้าง “ปฐม” แบรนด์สินค้าอินทรีย์เพื่อมอบประสบการณ์วิถีอินทรีย์และการเรียนรู้เส้นทางอาหารผ่าน “ปฐมออร์แกนิกฟาร์ม” “ปฐมออร์แกนิกวิลเลจ” และ “ปฐมออร์แกนิกคาเฟ่” โดยผลิตสินค้าจากวัตถุดิบอินทรีย์ของเกษตรกรในเครือข่ายสามพรานโมเดลเพื่อตอบสนองความต้องการตลาดที่เพิ่มมากขึ้น
รวมถึงโครงการความร่วมมือกับพันธมิตรจากภาคส่วนอื่น ๆ เช่น โครงการที่ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสร้างสังคมอินทรีย์อย่าง “Organic Tourism” โดยร่วมกับบริษัทแล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือ “โครงการ Farm to Functions” ที่ทำร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) เพื่อใช้การประชุม MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) มาขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์
นอกจากนั้น ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และการก่อตั้งสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย ก่อให้เกิดแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง “TOCA” (Thai Organic Consumer Association) เพื่อแสดงข้อมูลของเกษตรกรอินทรีย์ตั้งแต่ต้นน้ำ โดยมุ่งหวังให้สมาชิกผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงคลังข้อมูลเกี่ยวกับสังคมอินทรีย์ เรื่อยไปจนถึงการกดพรีออเดอร์สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ตนเองสนใจได้อย่างสะดวกสบาย
“สมมุติวันนี้เราจะไปเที่ยวราชบุรี ถ้าอยากรู้ว่ามีเกษตรกรอินทรีย์ที่ไหนบ้าง มีร้านไหนใช้วัตถุดิบอินทรีย์บ้าง ใครเปิดฟาร์มท่องเที่ยวบ้าง ใครสอนปลูกผักอินทรีย์บ้าง TOCA จะเป็นตัวที่ตอบโจทย์ได้เหมือน Pantip หรือ TripAdvisor พอไปมาแล้วชอบไหม ดีอย่างไร ก็ใส่เรตติ้งได้ โปร่งใส คือผมมองว่าถ้าเราจะผลักดันเรื่องสังคมอินทรีย์ มันจำเป็นต้องมีเครื่องมือแบบนี้”
พัฒนาอย่างสมดุลสู่อนาคตที่ยั่งยืน
สำหรับทิศทางในอนาคตอันใกล้ของสามพรานโมเดล คุณอรุษเผยถึงความตั้งใจเรื่องการขยายวงของสังคมอินทรีย์ ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือกลางในการวัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (impact assessment) เพื่อช่วยประเมินผลในด้านต่าง ๆ
“ตอนนี้ผมกำลังทำเรื่องการวัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งน่าจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานในช่วงสิ้นปี 2564 เพราะเชื่อว่าถ้ามีเครื่องมือที่สามารถวัดผลได้อย่างโปร่งใส จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ช่วยกระตุ้นให้ทุกคนตื่นตัว ทั้งนี้ การวัดผลไม่ได้มาประกาศว่าใครดีหรือไม่ดี แต่มีเพื่อส่งเสริมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน น่าจะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทำให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมได้เยอะขึ้นมาก”
จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานเพื่อชุมชนและผลักดันด้านเกษตรอินทรีย์ คุณอรุษสรุปทิ้งท้ายว่า หัวใจสำคัญของการทำหน้าที่เป็น “กระบวนกร (facilitator)” เพื่อคอยบริหารสภาพแวดล้อมให้ทุกฝ่ายพร้อมขับเคลื่อนและเกื้อกูลกัน ได้แก่ ความต่อเนื่องของการทำงาน และการสื่อสารให้พันธมิตรมองเห็นภาพรวม และมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน
“พอเราชวนพันธมิตรต่าง ๆ มาทำธุรกิจเกื้อกูลสังคม แน่นอนคุณได้เงินแน่และควรจะได้เงินมากขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้าเราโฟกัสเรื่องเงินอย่างเดียวมันก็จะไม่ยั่งยืน เพราะยังมีมุมเรื่องของสิ่งแวดล้อมและมิติด้านสังคมในการทำงานจึงต้องคิดถึงการทำธุรกิจแบบองค์รวมด้วย”