​เทพวรรณ คณินวรพันธุ์ พลิกเกมธุรกิจทำอีเวนต์เล็กให้ยิ่งใหญ่ด้วย Creativity

การแพร่ระบาดของโควิด 19 คือ ความท้าทายครั้งใหญ่ของแทบทุกธุรกิจให้ต้องหาทางรอดธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก ๆ คือ กลุ่มการท่องเที่ยวและการจัดอีเวนต์ เมื่อต้องเว้นระยะห่างทางสังคมทำให้ธุรกิจจัดอีเวนต์หยุดชะงัก ยังไม่ต้องพูดถึงคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีที่เคยทำเงินได้มหาศาลเลยด้วยซ้ำ ช่วงจังหวะนั้นเองที่เราได้เห็น ZAAP Party ส่องสว่างท่ามกลางวิกฤติจากการใช้ความครีเอทีฟสร้างสรรค์งานอีเวนต์โฉมใหม่ที่เหมาะกับยุคโควิด 19

ทั้ง Amazing Thailand TUK TUK Festival เทศกาลดนตรีที่ทำให้คนได้สนุกสุดเหวี่ยงบนรถตุ๊กตุ๊ก Social This Camping ที่ชวนคนไปตั้งแคมป์ฟังคอนเสิร์ต หรือ Hotel Fest เปิดประสบการณ์ชมคอนเสิร์ตจากริมระเบียงห้องพักเป็นรูปแบบความสนุกที่ คุณบาส - เทพวรรณ คณินวรพันธุ์ ผู้ก่อตั้งธุรกิจ ZAAP PARTY บอกว่าถ้าไม่มีโควิด 19 คงไม่มีงานแบบนี้เกิดขึ้น


พลิกโฉมวงการอีเวนต์ไทยในยุคโควิด 19

ในแต่ละปี ZAAP จัดงานคอนเสิร์ตขนาดใหญ่รองรับคนนับพันไปจนถึงหลักหมื่น ไม่ว่าจะเป็น S2O Songkran Festival, Fullmoon Party Live in Bangkok, Single Festival หรือ Bodyslam Fest วิชาตัวเบา Live in ราชมังคลาฯ แต่การมาถึงของโควิด 19 ทำให้จัดงานใหญ่ขนาดนี้ไม่ได้ รายได้หลักหายไปและมีข้อจำกัดในการทำงานเพิ่มขึ้น ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคมและมาตรฐานท่องเที่ยว มั่นใจปลอดภัยด้านสาธารณสุข หรือ SHA (Amazing Thailand Safety and Health Administration) ที่กลายมาเป็นความท้าทายในการทดลองไอเดียใหม่ให้เหมาะกับเทรนด์ของคนยุคนี้

งาน TUK TUK Festival เป็นไอเดียจากที่เห็นคนต่างประเทศแก้ปัญหาการไปดูคอนเสิร์ตด้วยการขับรถเข้าไปดูเป็น drive-in concert หรือที่เกาหลีมี drive-in cinema ซึ่งธุรกิจจัดอีเวนต์ก็สามารถทำแบบนั้นได้เหมือนกัน พวกเขาจึงเลือกใช้รถตุ๊กตุ๊กที่สามารถนำเสนอความเป็นไทยได้ดี

เทรนด์ของยุคนี้คือการออกไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ จากการท่องเที่ยวและแคมปิ้ง เพราะในช่วงโควิด 19 ผู้คนต้องอยู่ที่บ้านและที่ทำงานเป็นส่วนใหญ่จนเกิดความเครียด ZAAP จึงทำโปรเจกต์ที่ชื่อว่า Social This Camping ขึ้นที่จังหวัดเชียงราย รองรับคนกว่า 3,000 คน ในพื้นที่ที่จัดสัดส่วนเป็นอย่างดีด้วยการทำกรอบสี่เหลี่ยมให้คนอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง วิธีนี้ได้กลายเป็นเทรนด์ใหม่ของการจัดอีเวนต์ในเมืองไทยไปตาม ๆ กัน

"หลายอย่างที่เกิดขึ้นในยุคนี้มาจากการปรับตัว สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือการลงทุนเยอะขึ้น แต่รายได้ลดลงหรือเท่าเดิม เรามีหน้าที่ต้องบริหารจัดการต้นทุนที่แตกต่างจากเดิม ในเชิงของการทำงานหรือการสร้างงานก็แตกต่างในมุมการบริหารก็ต่าง เราต้องปรับตัวเพราะ ZAPP ก็เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัวทุกวัน ทุกวินาที"


3Cs บทเรียนสำเร็จรูปจากการผ่านวิกฤติ

จากประสบการณ์ในช่วงโควิด 19 คุณบาสเรียนรู้บทเรียนว่าต้องทำอย่างไรจึงจะสร้างงานอีเวนต์หรือทำให้ธุรกิจเดินต่อได้ด้วย 3Cs นั่นก็คือ creative, collaboration และ customers insight

เจ้าพ่องาน event กล่าวว่า creative หรือความคิดสร้างสรรค์ของเขาแตกต่างจากเมื่อก่อน จากที่เคยหาอะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลา ต้องทำอะไรที่ล้ำหน้าและโลกต้องจำ แต่งานอีเวนต์ของ ZAAP ในตอนนี้คือการคิดจากสิ่งที่มีอยู่แล้วหรือเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น เช่น อีเวนต์ drive-in concert ที่หากไม่เคยมีคนทำมาก่อนลูกค้าก็จะไม่เข้าใจและไม่เชื่อมั่นเพราะนึกภาพรูปแบบงานไม่ออก

ข้อ 2 collaboration เขายกตัวอย่างการร่วมมือกับค่ายเพลง Muzik Move และ Sneak out ซึ่งเป็นสื่อและรายการท่องเที่ยว รวมถึงร่วมมือกับโรงแรมจนเกิดเป็นงาน Hotel Fest ที่ให้ผู้ชมอยู่ตรงระเบียงดูศิลปินเล่นดนตรีอยู่ข้างล่าง เป็นอีกงานหนึ่งที่กระตุ้นภาคการท่องเที่ยวไทยให้กลับมาคึกคักและได้ช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 เช่นเดียวกัน

"เราเอา creative ไป collab กับคนอื่นจึงเกิดสิ่งใหม่ขึ้น ผมเชื่อเรื่องการช่วยเหลือกันก่อนแล้วผมถึงจะได้ เราเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่สามารถเดินมาขอเงินสปอนเซอร์แล้วได้เลย ผมต้องทำอะไรให้เขาก่อน ถ้าทำได้ทุก ๆ โอกาสก็จะกลับมาที่เราเอง อย่างผมไปช่วยโรงแรมโดยการคิด Hotel Fest ทุกวันนี้ก็มีโรงแรมติดต่อมาเพียบเลย"

ส่วนตัว C สุดท้าย consumer insight ในมุมมองที่ต่างออกไป พวกเขามองหาสิ่งที่ผู้บริโภคชอบทำ มองหาเทรนด์ที่เป็นรูปธรรม เช่น คนที่ชอบเล่นเซิร์ฟบอร์ด ชอบทำอาหาร ชอบแคมปิ้ง หรือเที่ยวทะเล เพื่อมาต่อยอดเป็นอีเวนต์หรือเทศกาลดนตรีที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนได้ลงลึกมากขึ้น

กลุ่มเป้าหมายของ ZAAP Party คือ "วัยรุ่น" นับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นธุรกิจเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ก็เพื่อตอบสนองความสนุกของคนวัยเดียวกัน แต่วันนี้คุณบาสเติบโตมาเป็นวัยรุ่นตอนปลายวัย 29 ปีที่อาจจะไม่เข้าใจวัยรุ่นตอนต้นเหมือนที่เคย การชะลอตัวของธุรกิจในช่วงโควิด 19 กลายเป็นโอกาสได้ถอยออกมาเห็นมิตินี้

"ก่อนโควิด 19 เรามีแค่เวลาที่จะโฟกัสงานใหญ่ ๆ จนเราลืมจุดเล็ก ๆ โควิด 19 ทำให้เราได้มาเริ่มต้นใหม่ ได้มาเห็นช่องโหว่ที่เราพลาดไป"

ZAAP เริ่มหาเด็กรุ่นใหม่เข้าทีม เพื่อเป็นพาร์ทเนอร์ที่สร้างงานตอบสนองความต้องการของคนรุ่นเขา ปัจจุบัน ZAPP มีทีมงานมากกว่า 50 ทีมที่พร้อมจะสร้างอีเวนต์ทั่วประเทศผ่านไอเดียการสร้างสรรค์และการโปรโมทผ่านกลุ่มคนเหล่านั้น โดยที่คุณบาสและทีม ZAAP ทำหน้าที่เป็นโค้ชให้น้อง ๆ ได้สร้างงานแล้วมาแบ่งผลกำไรกัน

"เราได้วัยรุ่นยุคใหม่ที่รู้จักกับ ZAAP ส่วนน้อง ๆ ได้ทำงานและได้เงินเหมือนที่เราได้ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ เราทำตรงนี้เพื่อให้พูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่ากลุ่มเป้าหมายของ ZAAP ยังเป็นวัยรุ่นแต่วิธีการที่จะได้วัยรุ่นแต่ละกลุ่มมาจะมีความแตกต่างจากเดิม"


ธุรกิจสร้างสรรค์ที่บริหารคนด้วยอารมณ์

ตั้งแต่ที่ธุรกิจต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด 19 อนาคตกลายเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยาก สิ่งที่บั่นทอน CEO หนุ่มคนนี้มากที่สุดคือ "ความกลัว" กลัวว่าพูดอะไรออกไปแล้วจะทำไม่ได้ ในวันนี้เขาจึงกำลังบริหารความกลัวไม่ให้มาทำลายทีมงานไปด้วย

"เราต้องทำงานด้วย creativity ถ้ามัวแต่คิดว่าถ้ารายได้ไม่ถึงจะทำยังไง ถ้าเกิดโควิด 19 รอบ 2 จะทำยังไง แค่นี้ก็คิดงานไม่ออกแล้วเพราะเรากลัวไปหมด การบริหาร ZAAP เป็นการบริหารด้วยอารมณ์ ตัวเลขจะมาที่หลัง ถ้าผมไม่มีอารมณ์จะสร้างงานใหม่ ๆ หรือไม่มีอารมณ์จะสู้กับโควิด 19 หลายอีเวนต์คงไม่เกิด"

ในวันนี้ ZAAP มีทีมงานอยู่ประมาณ 40 คน แต่การทำงานกลับมีประสิทธิภาพอย่างมาก จากความใส่ใจในการบริหารคนโดยคำนึงถึงความรู้สึกของพวกเขา คุณบาสเล่าว่าคนที่เข้ามาทำงานกับ ZAAP มักต้องเจอ 2 คำถามเสมอ

"คำถามแรกคือ รู้ใช่ไหมว่าสมัครครีเอทีฟเงินเดือน 30,000 บาทต้องทำอะไรบ้าง บริษัททั่วไปจะถามคำถามนี้ ผมก็สนใจเรื่องนี้เหมือนกัน มันเป็น KPI ของเขา แต่ผมทำงานกับวัยรุ่นต้องถามข้อ 2 ด้วยว่าเขาอยากทำอะไร บางคนอยากเป็นบล็อกเกอร์ บางคนอยากไปดูแลศิลปิน บางคนอยากทำอาหารขาย บางคนอยากไปทำงานฝ่ายอื่น"

คำถามที่ 2 นั้น เปิดโอกาสให้ทีมงานได้ลองทำในสิ่งที่อยากทำ เรื่องนี้เองที่ส่งผลดีชัดเจนในช่วงโควิด 19 เมื่อคุณบาสชวนพนักงานที่อยากทำบราวนี่หรือคุกกี้ขาย มาต่อยอดขายในงาน ZAAP On Sale ทำให้มีรายได้ในช่วงที่บริษัทจัดอีเวนต์ได้น้อยลง

"ผมเอาสิ่งที่พนักงานอยากทำมาต่อยอดเสมอ นี่คือสิ่งที่ ZAAP ใช้ขับเคลื่อนองค์กร เราเป็นบริษัทเล็กเราทำตรงนี้ได้ พนักงานก็มีความสุขขึ้น งานหลักก็ได้ งานรองก็ดี นี่คือสิ่งที่ผมต้องพึงนึกไว้เสมอเพราะผมทำงานกับวัยรุ่น เพราะเขาได้ทำในสิ่งที่เขารักจึงทำให้คนที่ทำงานกับ ZAPP ไม่เปลี่ยนงาน"

หลายอีเวนต์ของ ZAAP เกิดจากความอยากลองของทีมงาน อย่างการทำงาน Foods Fest หรือโซนขายของใช้ของสัตว์เลี้ยงในงาน ZAAP On Sale ที่ทำได้ดีและได้ทำอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ปีนี้รายได้ของ ZAAP จะยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด 19 เพราะยังคงไม่สามารถจัดงานใหญ่ที่เป็นรายได้หลักได้ แต่คุณบาสมองว่าตัวเลขเหล่านั้นไม่ได้ท้าทายเขาเท่ากับการได้คิดงานรูปแบบใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น

"บางทีเรามองเห็นเป้าใหญ่แต่ลืมมองจุดเล็ก ๆ เช่น ถ้ามัวแต่มองว่าธุรกิจจะต้องกลับมา 90% แต่ลืมว่าทีมงานกำลังกลัวหรือเปล่า ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้อยู่ที่ว่าเราต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง ผมว่าทุกคนเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เปลี่ยนจากการทำด้วยตัวเองคนเดียวไปช่วยเหลือคนอื่น เปลี่ยนจากการที่คิดอะไรเดิม ๆ ไปทำสิ่งใหม่ ๆ เปลี่ยนจากที่เคยทำสิ่งที่สำเร็จแล้วทำแต่แบบเดิม ๆ ไปทำอะไรที่ยังไม่เคยสำเร็จบ้าง ช่วงเวลานี้คือโอกาส"