การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นกระบวนการสำคัญในการนำพาให้ประเทศไทยอยู่รอดได้ในโลกปกติใหม่ ภายใต้สถานการณ์ที่ศักยภาพการขยายตัวของประเทศมีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ ทั้งจากการหดตัวของการค้าโลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 และการลงทุนที่ขยายตัวในระดับไม่สูงนักมาระยะหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ปัญหาสำคัญอีกด้าน คือ ศักยภาพของแรงงานไทยที่ต่ำลง โดยสถานการณ์โควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานในวงกว้างแต่มีพัฒนาการดีขึ้นตามลำดับ โดยในระยะแรกของการระบาด การล็อกดาวน์กิจกรรมในไตรมาสที่สองทำให้ภาครัฐต้องดำเนินมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งหลังจากที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดจนกระทั่งผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์แล้วในไตรมาสสามเป็นต้นมานั้น มาตรการภาครัฐได้เปลี่ยนผ่านจากการมุ่งเยียวยามาเป็นการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ตลาดแรงงานขาดกลไกการจับคู่
นอกจากมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว มาตรการด้านแรงงานมีความสำคัญในการช่วยให้แรงงานสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน อย่างไรก็ดี บทความ "Labor Market Digital Transformation: หนทางต้านวิกฤติ" FOCUSED AND QUICK (FAQ) ฉบับที่ 171 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย กัมพล พรพัฒนไพศาลกุล ได้ระบุปัญหาเชิงโครงสร้างสำคัญของตลาดแรงงาน คือ นายจ้างอาจมีความต้องการแรงงานมากและยินดีจ่ายค่าจ้างในอัตราสูงแต่ไม่สามารถหาแรงงานที่มีคุณสมบัติและทักษะตรงกับความต้องการมาเติมในตำแหน่งที่ว่างได้ เนื่องจากประชาชนไม่สามารถเข้าถึงหรือมองเห็นภาพรวมของภาวะตลาดแรงงานได้ว่า หน่วยงานรัฐหรือเอกชนใดที่เปิดรับสมัครงานหรือต้องการแรงงานทักษะประเภทใดได้อย่างเป็นระบบ หรือขาดกลไกในการจับคู่ตำแหน่งงานที่มีประสิทธิภาพ โดยสาเหตุหนึ่งของปัญหาดังกล่าวมาจากกระบวนการจัดหางานที่ทำแบบแยกส่วนและกลไกการออกแบบการพัฒนาทักษะแรงงานยังไม่ตอบโจทย์และสนับสนุนการย้ายงานของแรงงานได้เท่าที่ควร โดยเฉพาะในห้วงเวลาวิกฤติเช่นนี้
เว็บไซต์ไทยมีงานทำ
จากปัญหาข้างต้น กระทรวงแรงงานจึงจัดทำเว็บไซต์ www.ไทยมีงานทำ.com ร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และ ธปท. พัฒนาแพลตฟอร์มกลางในการจับคู่งานให้แรงงานกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยใช้หลักการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มตามบทความที่ได้อ้างอิงเบื้องต้น คือ ออกแบบให้แพลตฟอร์มสามารถวิเคราะห์ผลการจับคู่ตำแหน่งที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็วตามทักษะหรือความสามารถของแรงงาน เพื่อช่วยให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบและต้องออกจากงาน สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ง่ายและเร็วขึ้น โดยอาศัยข้อมูลข่าวสารตำแหน่งงานว่างที่มาจากการจ้างงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะถูกนำเสนอให้กับแรงงานได้อย่างรวดเร็วและโปร่งใสผ่านแพลตฟอร์ม หรือหากสถานการณ์จ้างงานกลับมาปกติแล้ว ระบบนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตลาดแรงงานผ่านการเคลื่อนย้ายแรงงานที่เสรี และนำไปสู่อาชีพหรือตำแหน่งงานที่มองไปในอนาคตมากขึ้น รวมถึงการเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนบุคลากรที่มีความสามารถ (talent exchange) ระหว่างหน่วยงานที่เป็นธุรกิจ SMEs กับบริษัทขนาดใหญ่เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานและความรู้ได้
ยกระดับและปรับทักษะผ่านแพลตฟอร์มฝึกอบรม
ในอีกมุมหนึ่ง แรงงานหรือภาคธุรกิจอาจใช้เวลาในช่วงวิกฤติที่เกิดขึ้นชั่วคราวเป็นโอกาสในการยกระดับและปรับทักษะ (upskill and reskill) ของตัวเองหรือบุคลากรในองค์กรไปสู่อาชีพหรือรูปแบบการผลิตในอนาคต ระบบแพลตฟอร์มด้านการฝึกอบรมจึงเป็นสิ่งที่จะเอื้อให้แรงงานเข้าถึงหลักสูตรต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและยืดหยุ่นมากขึ้น ด้วยระบบการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ซึ่งได้รับความนิยมและเหมาะสมในช่วงที่เรายังต้องเว้นระยะห่างทางกายภาพอีกด้วยพร้อมกันนี้ ระบบแพลตฟอร์มจะช่วยแนะนำหลักสูตรที่เหมาะสมให้กับผู้เรียนตามความสามารถและตามความต้องการของนายจ้างที่อิงกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม เช่น หลักสูตรที่ยกระดับทักษะความเข้าใจและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ digital literacy ในการประกอบอาชีพหรือทักษะด้านอารมณ์ต่าง ๆ ที่หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ได้ยาก เป็นต้น
ใช้ Big Data เพื่อช่วยเหลือแรงงานอย่างตรงจุด
นอกจากระบบแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงให้นายจ้าง แรงงานทุกกลุ่ม และสถาบันฝึกอบรมเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้นแล้ว การอาศัยการวิเคราะห์ฐานข้อมูลด้านแรงงานขนาดใหญ่ (big data analytics) ที่ป้อนเข้ามาในระบบแพลตฟอร์มจะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึก เพื่อออกแบบมาตรการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมทั้งในด้านการเงินและที่ไม่ใช่การเงิน ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุดและตรงความต้องการของแต่ละกลุ่มอีกด้วยในช่วงที่ผ่านมา เว็บไซต์ www.ไทยมีงานทำ.com ได้รวบรวมงานภาคเอกชนและงานชั่วคราวภาครัฐรวมกว่า 500,000 ตำแหน่ง และได้สร้างงานไปแล้วกว่า 160,000 ตำแหน่ง ณ กลางเดือนพฤศจิกายน 2563 จึงมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบได้บางส่วน อย่างไรก็ดี ยังมีผู้สมัครงานอีกเกือบ 100,000 คน และมีตำแหน่งงานว่างอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถหาแรงงานได้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยมาตรการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ทั้งในส่วนของการยกระดับให้แรงงานมีทักษะสูงขึ้น หรือ upskill และการปรับทักษะแรงงานให้มีความยืดหยุ่น สามารถย้ายงานไปสู่ธุรกิจในรูปแบบใหม่ ๆ ได้ หรือ reskill ซึ่งกระทรวง อว. ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม มารองรับและเชื่อมโยงเข้ากับแพลตฟอร์มของกระทรวงแรงงานอย่างครบวงจรเพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยที่มีความประสงค์จะทำงานแต่ยังหางานไม่ได้เพราะมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ได้เข้ารับการอบรมทักษะที่นายจ้างต้องการให้สามารถทำงานที่ต้องการได้ในที่สุด
เรื่อง :
พ.อ. สุริยะ ทองเพชร และทีมงาน กระทรวงแรงงาน
ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ และทีมงาน สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ
จีรพรรณ โอฬารธนาเศรษฐ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
อาวีวรรณ อินทกาญจน์ รองผู้อำนวยการ และทีมงาน ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย
กัมพล พรพัฒนไพศาลกุล และกลุ่มงานนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย