​ส่องภาพรวมนโยบาย ESG

ผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการลงทุน

ESG trend

กระแสความกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤตจากภัยธรรมชาติ และโรคระบาดที่เกิดถี่ขึ้นในระยะหลัง ขับเคลื่อนให้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ ESG (Environmental, Social และ Governance) ก้าวขึ้นมามีบทบาทและเป็นรูปธรรมมากขึ้น องค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ต่างให้ความสนใจกับการลงทุนใน ESG ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าบริษัทที่ไม่คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ในระยะยาว

 

ข้อตกลงที่สำคัญจากการประชุม COP26 ที่จัดขึ้นในปี 2564 ว่าด้วยเรื่องการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ การสนับสนุนเทคโนโลยีสะอาด รวมถึงสนับสนุนด้านการเงินในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยิ่งผลักดันให้ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกเร่งสร้างบรรทัดฐาน นิยาม และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนแนวคิด ESG อย่างจริงจัง บทความนี้จะชวนมาดูการพัฒนา ESG ในภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงความคืบหน้าว่าเป็นอย่างไร โดยจะเน้นด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นด้านที่มีการขับเคลื่อนเด่นชัด


สหภาพยุโรป ผู้นำในการพัฒนา ESG

 

ยุโรปเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาแนวคิดและหลักปฏิบัติก่อนใคร และยังมีมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่ก้าวหน้า ซับซ้อน และเข้มงวดที่สุด กฎระเบียบที่สหภาพยุโรปสร้างขึ้นจะกลายเป็นต้นแบบให้ภูมิภาคอื่น ๆ และจะกำหนดทิศทางภูมิทัศน์ ESG ทั่วโลกเลยทีเดียว

 

ย้อนกลับไปปี 2562 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกแผนการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) โดยตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50-55% ภายในปี 2573 และเหลือศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 รวมถึงการให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเน้นการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน

 

ตัวอย่างมาตรการภายใต้ Green Deal อาทิ กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) โดยผู้นำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง 7 ประเภท จะต้องซื้อใบรับรองการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือ CBAM certificates ตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่แท้จริงจากกระบวนการผลิตของสินค้านั้น ๆ ทั้งนี้ จะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะกระทบการผลิตและส่งออกในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ขาดความคล่องตัวและมีต้นทุนสูงขึ้น

 

ไม่เพียงแต่ในด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอร่างกฎหมาย EU Directive on Corporate Sustainability Due Diligence ที่มีสาระสำคัญคือ ให้ภาคเอกชนทั่วโลกที่ทำธุรกิจกับบริษัทในสหภาพยุโรปต้องตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานและสอบทานธุรกิจของตน เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม คาดว่าร่างกฎหมายนี้จะผ่านในปี 2566 ทำให้บริษัทที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายมีเวลาอีก 3-5 ปีในการเตรียมความพร้อมและปรับตัวก่อนบังคับใช้จริง เพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ

 

ขณะที่เยอรมนีได้ประกาศใช้ The German Supply Chain Due Diligence Act กำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่ตรวจสอบการดำเนินงานของตนและ supplier ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ESG ตั้งแต่กระบวนการสกัดวัตถุดิบไปจนถึงการส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้า โดยมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา

 

อีกทั้งยังมีความพยายามขจัดปัญหาการฟอกเขียว (green washing) หรือคำกล่าวอ้างเกินจริงว่าบริษัทดำเนินธุรกิจแบบคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จากการที่บริษัททั่วสหภาพยุโรปจะต้องรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของตนตามระเบียบวิธีใหม่ที่กำหนด โดยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 คณะกรรมาธิการยุโรปได้นำเสนอแผนปฏิรูป Sustainable Products Initiative ต่อสภายุโรปและคณะมนตรียุโรป เพื่อผลักดันให้สินค้าของสหภาพยุโรปมีความทนทาน นำกลับมาใช้ได้บ่อยครั้ง และใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการใช้มาตรฐานวัดค่าทางสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า Product Environmental Footprint (PEF) หรือการวัดผลกระทบของผลิตภัณฑ์และผลการดำเนินงานของบริษัทตลอดห่วงโซ่อุปทาน คาดว่าร่างกฎหมายนี้จะผ่านช่วงกลางปี 2566

 

ไม่เพียงเท่านั้น สหภาพยุโรปต้องการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของภาคธุรกิจผ่านการออกกฎให้บริษัทต่าง ๆ จัดทำรายงาน 2 ฉบับ ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2566 และ 2567 กดดันให้ภาคธุรกิจและนักลงทุนต้องเร่งตอบสนอง วางแผน และปรับตัวจากเกณฑ์ใหม่นี้

ESG trend

สวนแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างบนเกาะ Flevopolder ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มาภาพ : Robin Utrecht-ABACAPRESS.COM-REUTERS

สงครามรัสเซีย-ยูเครนซึ่งกระทบต่อระบบพลังงานของยุโรปอย่างมาก ก็มีส่วนในการกำหนดทิศทางและส่งผลมาที่นโยบาย ESG เช่นกัน เมื่อปีที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้นำเสนอแผนปฏิรูปด้านพลังงาน หรือ RePowerEU เพื่อลดการพึ่งพาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย หาพลังงานอื่นทดแทน พร้อมกับเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในยุโรปให้ได้ 45% ภายในปี 2573 โดยล่าสุดสามารถลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเหลือเพียง 20% และเพิ่มการสำรองก๊าซธรรมชาติได้มากกว่า 85% แล้ว พร้อมมีนโยบายสนับสนุนเพื่อเร่งกระบวนการอนุญาตการทำฟาร์มกังหันลม รวมทั้งดำเนินการสร้างแผงโซลาร์เซลล์ให้มากขึ้น และเพิ่มการผลิตปั๊มความร้อนภายใต้แผน REPowerEU

ESG trend

สหรัฐอเมริกาเร่งเครื่องด้าน ESG

 

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก จึงต้องเร่งเครื่องทำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามรับรองกฎหมาย Inflation Reduction Act (IRA) ซึ่งใช้งบประมาณ 3.69 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปูทางให้ผู้บริโภคหันมาใช้พลังงานสะอาด ผ่านการใช้นโยบายภาษีหลากหลายรูปแบบ เช่น มอบเครดิตภาษีให้กับผู้ประกอบการที่ปรับธุรกิจมาใช้พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และให้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่ รวมทั้งมอบเครดิตภาษีสูงถึง 7,500 ดอลลาร์สหรัฐ ให้กับชาวอเมริกันที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า หรือมอบเงินอุดหนุนจากรัฐ 30% ของราคาแผงโซลาร์เซลล์หากติดตั้งบนหลังคาบ้าน โดยเริ่มใช้เครดิตภาษีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 นอกจากกฎหมายนี้จะก่อให้เกิดการลงทุนในพลังงานสะอาดแล้ว ยังคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐฯ ลงกว่า 40% ภายในปี 2573 และเกิดการสร้างงานใหม่ ๆ ทั้งในด้านการผลิต การบริการ และการศึกษาอีกด้วย

ESG trend

ในปี 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ของสหรัฐฯ ผลักดันให้มีมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกำกับดูแลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศและกระบวนการจัดการความเสี่ยง ผลกระทบต่อกลยุทธ์และรูปแบบธุรกิจ รวมไปถึงกำหนดให้บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยอุตสาหกรรมทั้งหมดจะถูกตรวจสอบเข้มข้นกว่าที่เคย คาดว่าจะเริ่มมีผลในปี 2566 มาตรฐานนี้อาจเพิ่มความกดดันให้ภาคธุรกิจแสดงความโปร่งใสมากขึ้น แต่ SEC สหรัฐฯ เชื่อว่าทั้งบริษัทและนักลงทุนต่างก็ได้รับประโยชน์จากการเปิดเผยที่ชัดเจน ไม่เพียงแค่มาตรฐานข้างต้น แต่ SEC สหรัฐฯ ยังมีข้อเสนอด้าน ESG ที่รอดำเนินการในปี 2566 อีกจำนวนมาก

 

ในแง่การลงทุนของสหรัฐฯ ก็เติบโตไม่แพ้ในยุโรป จากรายงานของ Bloomberg มีความเป็นไปได้ที่สินทรัพย์ ESG จะสูงถึง 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 คาดว่าในปี 2566 impact investing จะเพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนจะเลือกบริษัทที่มีคะแนน ESG สูงกว่า เพราะเชื่อว่ากรอบการวัดผลที่เข้มงวดและสม่ำเสมอของบริษัทเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงโดยรวมได้

 

นอกจากนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกามีความหลากหลายของสีผิวและเชื้อชาติอย่างมาก จึงมีอีกปัจจัยที่เริ่มมีความสำคัญในการตัดสินใจของนักลงทุน คือ การที่ธุรกิจให้ความสำคัญต่อความหลากหลาย (Diversity) ความเสมอภาค (Equity) และการรวมกลุ่ม (Inclusion) หรือ DEI อาทิ ความหลากหลายของกรรมการ พนักงาน ตลอดจนผลกระทบจากแนวปฏิบัติทางธุรกิจ และนโยบายที่มีต่อชุมชนที่มีความหลากหลาย

ESG trend

เอเชียกับการดำเนินการด้าน ESG ที่เข้มข้นขึ้น

 

หลายประเทศในเอเชียมีการปรับปรุงแนวปฏิบัติด้าน ESG มากขึ้น ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม การตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นโยบาย ESG ในเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หรือคิดเป็น 20% ของนโยบาย ESG ทั่วโลก เริ่มจากการจัดทำ taxonomy เพื่อนิยามกิจกรรมสีเขียวในประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย มองโกเลีย ส่วนประเทศที่กำลังจัดทำ ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง และไทย

ESG trend

แผงโซลาร์เซลล์ในประเทศสิงคโปร์

หน่วยงานกำกับดูแลบางประเทศ เช่น ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) เริ่มบังคับใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อให้บริษัทมหาชนเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG หรือการกำหนดเกณฑ์การลงทุนในกองทุนตราสารทุนที่ยั่งยืนในสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น อาเซียน ไทย และไต้หวัน ในขณะที่จีนออก Green Bond Principles เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อรวมตลาดตราสารหนี้สีเขียวของจีนที่เคยแยกส่วนและมีมาตรฐานที่ต่างกันให้เป็นหนึ่งเดียวและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล หลักการที่สำคัญคือ การกำหนดให้ใช้เงินทุนจากการออกตราสารหนี้ 100% ไปกับโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (จากเดิม 70%) โดยต้องชี้แจงขั้นตอนการคัดเลือกและประเมินโครงการสีเขียวต่อนักลงทุนด้วย ซึ่งมาตรฐานที่ชัดเจนนี้จะส่งผลให้เกิดการลงทุนที่ยั่งยืนระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น

 

เอเชียเป็นภูมิภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 50% ของทั้งโลก โดยเฉพาะประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ดังนั้น ในการประชุม COP26 ทั้ง 5 ประเทศจึงได้ให้คำมั่นสัญญาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ตั้งเป้าบรรลุในปี 2593 ขณะที่จีนและอินโดนีเซียตั้งไว้ที่ปี 2603 และอินเดียตั้งไว้ที่ปี 2613 เช่นเดียวกับองค์กรต่าง ๆ ทั่วเอเชียก็ร่วมใจกันตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันจากทั้งสาธารณชนและนักลงทุน จึงเห็นการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสะอาด โดยระหว่างปี 2559-2563 การลงทุนด้านพลังงานโดยเฉลี่ยต่อปีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ประมาณ 70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประมาณ 40% มุ่งไปที่เทคโนโลยีพลังงานสะอาด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแผงโซลาร์เซลล์ พลังงานจากลม และสมาร์ตกริด

ESG trend

กังหันลมผลิตไฟฟ้าในรัฐราชาสถาน Rajasthan ประเทศอินเดีย

ปัจจุบันจีนเป็นเจ้าตลาดในการผลิตเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และกำลังเร่งก่อสร้างโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมขนาดใหญ่ในแอ่งไฉต๋ามู่ ด้านผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในญี่ปุ่นก็พัฒนารถยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงออกวางจำหน่ายได้สำเร็จ ขณะที่รัฐบาลอินเดียเร่งเพิ่มการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ด้วยการออกมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและลดมลพิษจากเชื้อเพลิง และออกนโยบายสนับสนุน ESG ในภาคเอกชนมากขึ้น คาดว่ากำลังการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของอินเดียจะเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 400% ภายในสิ้นปี 2568

ESG trend

การก่อสร้างโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมขนาดใหญ่ในแอ่งไฉต๋ามู่ ประเทศจีน

ในภาพรวมนโยบาย ESG จะยังเป็นปัจจัยทางธุรกิจที่สำคัญต่อไปในปี 2566 ผู้ประกอบการทั่วโลกจึงจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับมาตรฐานใหม่ ๆ รวมถึงปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแส ESG ในระยะยาวที่ไม่ใช่เป็นเพียงการทำ CSR สำหรับประเทศไทยที่เป็นทั้งฐานการผลิต ผู้นำเข้าและส่งออกสินค้าไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกต้องเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีการผลิตพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด เทคโนโลยีการดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนต้องตรวจสอบทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล โดยไม่ลืมประเด็นสิทธิมนุษยชนและความโปร่งใสของการดำเนินงาน

 

 

1การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26

 

2สินค้าทั้ง 7 ประเภท ประกอบด้วย (1) เหล็กและเหล็กกล้า (2) อะลูมิเนียม (3) ซีเมนต์ (4) ปุ๋ย (5) ไฟฟ้า (6) ไฮโดรเจน และ (7) สินค้าปลายน้ำบางรายการ อาทิ น็อตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า รวมถึงขยายขอบเขตให้ครอบคลุมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (indirect emissions) อาทิ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิตสินค้า

 

3บริษัทต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปมีรายงานที่ต้องเปิดเผยเพิ่มขึ้นตาม EU Sustainable Finance Disclosures Regulation (SFDR) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 และ Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) ซึ่งเพิ่งได้รับการอนุมัติจากรัฐสภายุโรปในเดือนพฤศจิกายน 2565 และมีผลบังคับใช้ในปี 2567

 

4นอกจากการให้เครดิตภาษีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่ IRA ยังให้เครดิตที่เป็นกลางทางเทคโนโลยี (technology-neutral credit) แก่แหล่งพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำหรือเป็นศูนย์ซึ่งครอบคลุมถึงนิวเคลียร์ด้วย เนื่องจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์สามารถผลิตไฮโดรเจนสะอาด (ที่เรียกว่า ไฮโดรเจนสีชมพู) และไฟฟ้าสะอาดได้

 

5Impact investing หมายถึง การลงทุนที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในมิติของสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมจากผลตอบแทนทางการเงิน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม นักลงทุนประเภทนี้จะค้นหาบริษัทหรือองค์กรที่สามารถดำเนินธุรกิจที่สร้างผลลัพธ์ชัดเจนว่าทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้น หรือดำเนินธุรกิจที่แก้ปัญหาโดยตรง

 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง :

สรุป COP26 ตั้งแต่ความรู้เบื้องต้น จนถึงโอกาสเศรษฐกิจสีเขียว Green Economy | workpointtoday

Four Upcoming Legislative Changes in ESG in Europe in 2023 and why Malaysian Companies Need to Adapt to Continue Exporting to the EU | mfcci

สหภาพยุโรปเผยแพร่ร่างกฎหมายว่าด้วยมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon border Adjustment Mechanism-CBAM) | กรมยุโรป

นโยบายกรีนดีล (European Green Deal) กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย | mreport

อียูเสนอร่างกฎหมายห่วงโซ่อุปทานธุรกิจยั่งยืน | EU watch (bangkokbiznews)

อียูเตรียมยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจ | EU watch (bangkokbiznews)

ส่องแผน 'RePower EU' ยุโรปรับมือวิกฤติพลังงาน | bangkokbiznews

สหภาพยุโรปเตรียมเสนอมาตรฐานใหม่ ขจัดปัญหา "การฟอกสีเขียว" ที่ธุรกิจอ้างว่าคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม | sdgmove

Southeast Asia Energy Outlook 2022 | iea

ESG Investing Trends for 2023 | U.S.News

US – ESG Momentum Remains Strong But May Face Headwinds In 2023 | conventus law

The United States SEC Climate Disclosure Rules | greenomy

Infographic: What has your country pledged at COP26? | aljazeera

What Will ESG Regulation Look Like In Asia 2023? | storm4

Does Asia Need a Unified ESG Taxonomy? | esginvestor

China launches green bond principles to standardize national market | responsible investor

Growth investing in Asia: Riding on India's improving fundamentals | eastspring

จีนเดินหน้าพัฒนา 'พลังงานแสงอาทิตย์-ลม' ใน 'แอ่งกระทะแห้งแล้ง' | xinhuathai

่juthamard