แบงก์ชาติแก้หนี้ให้พี่น้องเกษตรกรอีสาน

 

 

farmers

“อีสาน” ภูมิภาคที่มีพื้นที่มากที่สุดของไทย และมีประชากรกว่า 21 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด แต่คนอีสานจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ซึ่งมีภาระหนี้เกินกว่าศักยภาพในการชำระหนี้และมีความเสี่ยงที่หนี้จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของตนเองและสมาชิกในครัวเรือน[1]

 

การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นภารกิจที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ให้ความสำคัญและผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “แบงก์ชาติภาคอีสาน” ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อเร่งแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น ขอนแก่น สกลนคร กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี อย่างเข้มข้นในหลายมิติ

 

มิติแรก : การแก้ปัญหาหนี้สิน โดยได้ลงพื้นที่ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ เพื่อเก็บข้อมูลและช่วยเหลือเกษตรกรในหลายจังหวัด ภายใต้ “โครงการแก้หนี้เกษตรกรสกลนครโมเดล” และ “โครงการเพื่อนคู่คิดการเงินเกษตรกร”

 

มิติที่สอง : การให้ความรู้ทางการเงิน โดยร่วมกับกองทุนหมู่บ้าน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด
ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน ในการดำเนิน “โครงการเสริมแกร่งการเงินกองทุนหมู่บ้าน”

 

มิติที่สาม : การศึกษาวิจัยเชิงลึก โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการศึกษาพฤติกรรมการก่อหนี้ของเกษตรกรอีสาน อีกทั้งร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อศึกษาแนวทางแก้หนี้ยั่งยืนของกลุ่มเกษตรกรด้วย

solving debt

ผสานพลังแก้หนี้-พร้อมเรียนรู้ไปพร้อมเกษตรกร

 

เพื่อช่วยบรรเทาและแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรที่มีปัญหาในการชำระหนี้ แบงก์ชาติภาคอีสานจึงได้ช่วยประสานให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้สถาบันการเงินมาเจอกัน โดยได้ลงพื้นที่ “ประชุมกลุ่มร่วมกับเกษตรกร” ในการเก็บข้อมูลทางการเงินของลูกหนี้แต่ละราย และนำมาวิเคราะห์ “แนวทางแก้หนี้” ร่วมกับเกษตรกร เพื่อใช้ในการนำไปเจรจากับเจ้าหนี้จนได้ “ทางออก” ในการแก้หนี้

 

ที่ผ่านมาแบงก์ชาติภาคอีสานได้ลงพื้นที่ในจังหวัดสกลนครและกาฬสินธุ์ เพื่อพูดคุยหาทางแก้หนี้กับเกษตรกรไปแล้ว 117 ราย ซึ่งบันไดขั้นแรกที่ทำให้เกิดความร่วมมือก็คือ การสร้าง “ความเข้าใจและเชื่อใจ” ของเกษตรกร เพราะส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าแบงก์ชาติจะสามารถช่วยได้อย่างไร นอกจากนี้ ยังได้รับบทเรียนจากโครงการแก้หนี้เกษตรกรสกลนครโมเดล ซึ่งเป็นโครงการแรกที่ทำให้เรียนรู้ว่า ความรู้สึกของเกษตรกรเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญมากในการแก้ปัญหาหนี้ เพราะหากเกษตรกรเกิดความรู้สึกอายว่าเป็นคนที่มีปัญหาหนี้สิน ก็จะทำให้มีคนมาร่วมโครงการน้อย ดังนั้น ในการลงพื้นที่ครั้งถัดมาที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จึงได้เปลี่ยนชื่อโครงการเป็น “เพื่อนคู่คิดการเงินเกษตรกร” โดยร่วมมือกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ทำให้มีคนเข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็น 82 คน

farmer debt
20240425_แบงก์ชาติลุยแก้หนี้ให้พี่น้องเกษตรกรอีสาน
meeting

ปัญหาหนี้เรื้อรัง ฉุดรั้งเกษตรกรไทย

 

จากการลงพื้นที่ทำให้ทราบว่าหนี้ของเกษตรกรในภาคอีสานนั้นมีลักษณะเป็น “หนี้เรื้อรัง” เพราะ

 

“จ่ายแค่ดอกเบี้ย” และไม่สามารถจ่ายในส่วนเงินต้นได้ เกษตรกรจึงไม่รู้ว่าจะปิดจบหนี้ได้เมื่อไหร่ และทำให้หลายคนหมดกำลังใจในการแก้หนี้

 

“ยิ่งอายุมาก หนี้ยิ่งเยอะ” เพราะเกษตรกรมักไม่ได้เริ่มเป็นหนี้แค่ในวันนี้ หากแต่สะสมภาระหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวจนเกินศักยภาพในการจ่ายคืน เช่น กู้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าจะเต็มเพดานมูลค่าหลักประกันที่สถาบันการเงินกำหนด หรือ ขอสินเชื่อตามนโยบายรัฐแต่จ่ายคืนไม่ไหวและกลายเป็นหนี้สะสมเพิ่มขึ้น

 

“มีมรดกหนี้จากพ่อแม่” เพราะเกษตรกรเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ใช้เป็นหลักประกัน จึงได้รับโอนหนี้ด้วย

debt

ผลการแก้หนี้ สร้างวินัยที่ดีให้เกษตรกร

 

ที่ผ่านมา เกษตรกรในภาคอีสานที่เข้าร่วมโครงการแก้หนี้กับแบงก์ชาติ[2] ได้รับความช่วยเหลือในการแก้ไขหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ (เช่น เปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนตามศักยภาพ เปลี่ยนหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาว) ทั้งหมด 61 คน (52%)  โดยปัจจุบันมีทั้งคนที่ปิดจบหนี้ได้แล้ว และคนที่ยังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้

 

นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรอีก  44 คน (38%) ที่สามารถแก้หนี้ด้วยตัวเอง จากการเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงิน ทั้งการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น หวย เหล้า บุหรี่ รวมทั้งการหารายได้เพิ่ม เช่น ขายผ้าย้อมครามทางออนไลน์ ปลูกพืชผักสวนครัวขาย

เสริมแกร่งทางการเงินผ่านกองทุนหมู่บ้าน

 

นอกจากการทดลองข้างต้น การวางแผนทางการเงินและวินัยทางการเงิน เป็นอีกเรื่องที่แบงก์ชาติให้ความสำคัญและต้องการผลักดันเพื่อให้การแก้ปัญหาหนี้มีความยั่งยืน ดังนั้น ในปี 2566 แบงก์ชาติภาคอีสาน จึงได้จัดให้มีโครงการ “เสริมแกร่งการเงินกองทุนหมู่บ้าน” ขึ้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู โดยมีการอบรมและให้ความรู้ทางการเงินแก่กรรมการกองทุนหมู่บ้านกว่า 2,100 คน ซึ่งผลลัพธ์ที่เห็นคือ “การเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงิน” ไปในทางที่ดีขึ้น เช่น ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เก็บออมเงินสำหรับอนาคต ดังนั้น ในปี 2567 นี้ จะขยายผลโครงการไปยังจังหวัดอื่น ๆ  ในภาคอีสานเพิ่มเติมต่อไป

 

knowledge

วิจัยและพัฒนา พาเกษตรกรออกจากหนี้

 

ปัจจุบันแบงก์ชาติภาคอีสานอยู่ระหว่างการศึกษา “เจาะลึกพฤติกรรมการก่อหนี้ของเกษตรกรอีสาน” ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อทำความเข้าใจมุมมองและทัศนคติที่มีผลต่อพฤติกรรมการเป็นหนี้ของเกษตรกรอีสาน สำหรับนำไปวางแผนนโยบายและมาตรการเพื่อสร้างพฤติกรรมทางการเงินที่ดีให้กับเกษตรกรในวงกว้าง

 

นอกจากนี้ ในภาพใหญ่ของการแก้หนี้ภาคการเกษตร สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ ธ.ก.ส. อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยแนวทางการแก้หนี้อย่างยั่งยืนและทดลองวิธีจูงใจให้เกษตรกรชำระเงินคืนและปิดจบหนี้ได้ โดยได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและทดลองกับกลุ่มตัวอย่างในทุกภาคทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยทำให้ “เข้าถึงและเข้าใจ” ปัญหาและความกังวลเรื่องหนี้สินของเกษตรกรได้อย่างถูกต้อง เพื่อจัดทำนโยบายได้ตรงจุดต่อไป 

 

 

โครงการและมาตรการแก้หนี้ให้กับเกษตรกรในภาคอีสานเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการแก้หนี้อย่างยั่งยืนของแบงก์ชาติ ซึ่งมุ่งออกแบบนโยบายและมาตรการต่าง ๆ โดยคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของปัญหา ความต้องการ และบริบทของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนมีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างแท้จริง

[1] “กับดักหนี้กับการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนฐานราก” ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และทีมวิจัยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (ปี 2565)

 

[2]  จากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแก้หนี้ 117 คน มีคนที่ไม่ได้รับการแก้ไขหนี้ 12 คน (10%) เพราะไม่สามารถติดต่อได้อีก หลังจากการลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลทางการเงิน

 

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine จัดการหนี้ แก้หนี้ยั่งยืน เศรษฐกิจติดดิน เศรษฐกิจภูมิภาค