ภารกิจเสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการ
รับมือความผันผวนด้วยการใช้เงินสกุลท้องถิ่น

เวลาฟังข่าวหรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ผู้อ่านอาจคุ้นเคยกับการกำหนดราคาเป็นดอลลาร์สหรัฐ แต่ทราบหรือไม่ว่าหลายกรณีผู้ประกอบการกำหนดราคาซื้อขายเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ[1] ทั้ง ๆ ที่ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าไม่มีใครอยู่ในสหรัฐอเมริกาเลย แต่ที่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเพราะได้รับความนิยมในการเป็นสื่อกลางทางการค้ามายาวนาน ทำให้ผู้ประกอบการมีความคุ้นชิน แต่ในช่วงที่ผ่านมาเงินดอลลาร์สหรัฐผันผวนรุนแรง อาจจะทำให้ผู้ที่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐต้องปวดหัวมากเพราะการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินด้วยเช่นกัน

 

[1] นอกจากดอลลาร์สหรัฐแล้ว เงินอีกสองสกุลหลักที่นิยมใช้ในการซื้อขายทั่วโลก ได้แก่ ยูโร และปอนด์สเตอร์ลิง

factory

เป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในภูมิภาค เพื่อให้เป็นทางเลือกของผู้ประกอบการในการชำระเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินที่อาจกระทบต่อผลประกอบการของธุรกิจ โดยมีความร่วมมือกับทางการเพื่อสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นของ 4 ประเทศ ได้แก่ เงินหยวนของจีน เงินริงกิตของมาเลเซีย เงินรูเปียของอินโดนีเซีย และเงินเยนของญี่ปุ่น

rank
share

ลดความเสี่ยงจากความผันผวนด้วยการใช้เงินสกุลท้องถิ่น

 

การกำหนดราคาและชำระค่าสินค้าหรือบริการเป็นเงินสกุลของประเทศคู่ค้าในภูมิภาค ช่วยลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้กับผู้ประกอบการ เพราะค่าเงินของประเทศในภูมิภาคเดียวกันมักจะเคลื่อนไหวในทิศทางสอดคล้องกันและยังผันผวนระหว่างกันน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก 

example

นอกจากประโยชน์ในเรื่องการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว การใช้เงินสกุลท้องถิ่นยังอาจช่วยสร้างโอกาสในการขยายตลาดไปยังคู่ค้าใหม่ในประเทศนั้น ๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะคู่ค้าที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่อาจมีความยุ่งยากในการกำหนดราคาสินค้าเป็นเงินสกุลหลัก รวมถึงมีความกังวลในการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนหากต้องชำระหรือรับชำระค่าสินค้าเป็นเงินสกุลหลักและอาจต้องการใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากกว่า 

สถิติการใช้เงินสกุลท้องถิ่น

 

ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่องผ่านความร่วมมือกับธนาคารกลางของประเทศคู่ค้าสำคัญ ทั้งจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทำให้ที่ผ่านมาสัดส่วนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น[2] ระหว่างคู่ค้าทั้ง 4 ประเทศเพิ่มขึ้นจาก 23.6% ของมูลค่าการค้าระหว่างกัน ในปี 2559 มาเป็น 26.1% ปี 2566[3]  

 

[2] ประกอบด้วย บาท เยน หยวน ริงกิต และรูเปีย

[3] ข้อมูลล่าสุดถึงเดือนกันยายน 2566

line graph

ที่ผ่านมา ธปท. ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการและธนาคารพาณิชย์เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ใช้งานจริง และพบตัวอย่างที่น่าสนใจจากผู้ประกอบการที่ค้าขายกับคู่ค้าในจีนซึ่งใช้เงินหยวนชำระค่าสินค้านอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐ โดยมีความเห็นว่า การใช้เงินหยวนช่วยลดความผันผวนของรายได้และค่าใช้จ่ายในการค้าขายของทั้งผู้ประกอบการและคู่ค้าในจีนได้จริง ส่งผลให้สามารถเจรจาและตกลงราคาสินค้าระหว่างกันได้ง่ายขึ้น อีกทั้งปัจจุบันการเข้าถึงธุรกรรมเงินหยวนทำได้ง่ายขึ้น และสภาพคล่องก็มีมากขึ้น การใช้เงินหยวนหรือเงินสกุลท้องถิ่นอื่น ๆ จึงเป็นทางเลือกที่สะดวก รวดเร็ว ช่วยลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และช่วยให้ผู้ประกอบการมีเวลาให้กับการบริหารธุรกิจได้อย่างเต็มที่มากขึ้น

สร้างความร่วมมือ เพิ่มแรงหนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น

 

แม้ยอดการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพิ่มขึ้น แต่ทั้ง ธปท. ผู้ประกอบการ และธนาคารพาณิชย์เห็นตรงกันว่า หลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินสกุลท้องถิ่นในภูมิภาค ตลอดจนขั้นตอนการทำธุรกรรมอาจยังมีความยุ่งยาก ซับซ้อนอยู่บ้าง ส่งผลให้การใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อการค้าระหว่างประเทศไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

 

ธปท. จึงร่วมมือกับธนาคารกลางมาเลเซีย ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ธนาคารกลางจีน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านการหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล ปรับปรุงระเบียบและหลักเกณฑ์ ตลอดจนจัดทำโครงการสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศของอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม โดยลดข้อจำกัดและเพิ่มความสะดวกในการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อการค้าให้กับทั้งสถาบันการเงินและผู้ประกอบการ

 

แก้ปัญหาสภาพคล่องด้วยความร่วมมือกับธนาคารกลางอินโดนีเซียและมาเลเซีย

 

หลักเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินทั้ง 2 ประเทศมีความเข้มงวด ทำให้ธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ (offshore banks) ไม่สามารถถือเงินริงกิตและรูเปียนอกประเทศได้ โดยมีเฉพาะสาขาที่ตั้งอยู่ใน 2 ประเทศนี้เท่านั้นที่สามารถถือครองได้ ส่งผลให้การบริหารจัดการสภาพคล่องเงินสกุลดังกล่าวทำได้ยาก ธปท. จึงจัดทำความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency Settlement Framework: LCSF) กับธนาคารกลางมาเลเซีย ในปี 2559 และธนาคารกลางอินโดนีเซีย ในปี 2561 เพื่อขจัดอุปสรรคดังกล่าวและสนับสนุนการใช้เงินบาท ริงกิต รูเปียในการทำธุรกรรมระหว่างกัน และได้มีการยกระดับความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือดังกล่าวนี้เป็นการด้วยการผ่อนคลายเกณฑ์ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับการคัดเลือกหรือที่เรียกว่า Appointed Cross Currency Dealer (ACCD) ให้สามารถบริหารสภาพคล่องได้สะดวกขึ้น

 

ภายใต้ความร่วมมือนี้ ภาคธุรกิจไทยสามารถมีบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “บัญชี FCD” เป็นเงินสกุลริงกิตหรือรูเปียกับธนาคารพาณิชย์ โดยผู้ส่งออกสามารถฝากเงินริงกิตหรือรูเปียที่ได้รับจากการขายสินค้าหรือบริการไว้ในบัญชี FCD กับธนาคารพาณิชย์ไทยแล้วอาจรอแลกเป็นเงินบาทในภายหลัง หรือเพื่อเตรียมชำระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องจ่ายเป็นสกุลริงกิตหรือรูเปียในอนาคตโดยไม่ต้องแลกเงินกลับไปมา ช่วยให้ไม่ต้องเสียส่วนต่างจากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศหลายรอบ ทำให้ทั้งธนาคารและผู้ประกอบการเกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการเงินทั้ง 2 สกุลมากยิ่งขึ้น 

ปลดล็อกข้อจำกัดของผู้ประกอบการด้วยความร่วมมือกับทางการจีน

 

แม้หลักเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินหยวนของจีนไม่ได้เข้มงวดเท่ากับกรณีของอินโดนีเซียและมาเลเซีย แต่ต้นทุนในการทำธุรกรรมยังนับว่าอยู่ในระดับสูง อีกทั้งธนาคารและผู้ประกอบการมีปัญหาด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดปลีกย่อยของหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินของทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงการเรียกเอกสารหลักฐานที่ใช้ทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินหยวน (underlying document) ซึ่งธนาคารในจีนมีความเข้มงวดในการเรียกเอกสารดังกล่าวที่แตกต่างกันในแต่ละธนาคารและแต่ละมณฑล ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การใช้เงินหยวนและเงินบาทสำหรับการชำระค่าสินค้ายังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

 

ธปท. จึงได้หารือกับธนาคารกลางจีน และจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และศึกษาความเป็นไปได้ในการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินที่เป็นอุปสรรคเพิ่มเติม รวมถึงมีแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น เช่น การผ่อนเกณฑ์การทำธุรกรรมระหว่างธนาคารบางประการ และการจัดทำคู่มือการทำธุรกรรมเงินหยวนและเงินบาทเพื่อการค้าระหว่างประเทศ ซึ่ง ธปท. อยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคารกลางจีนและหน่วยงานของทางการจีนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันความร่วมมือของทั้งสองประเทศให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเมื่อต้นทุนในการทำธุรกรรม และข้อจำกัดต่าง ๆ ลดลง ผู้ประกอบการก็จะได้รับความสะดวกในการใช้เงินหยวนหรือเงินบาทและทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น

 

ไม่เพียงเท่านั้น ธปท. ยังร่วมกับธนาคารพาณิชย์ประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์และคู่มือขั้นตอนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น นอกจากนี้ ธปท. ยังเดินหน้าประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ประกอบการ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียของ ธปท. และสื่อสารไปถึงภาคธุรกิจ โดยได้รับการสนับสนุนจากสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยและสมาคมต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด

 

ในระยะข้างหน้า ธปท. และธนาคารกลางจีนจะร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ในจีนเพิ่มการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้ง 2 ประเทศทราบข้อมูล หลักเกณฑ์และขั้นตอนในการทำธุรกรรมที่ถูกต้อง

 

นอกจากความร่วมมือข้างต้น ธปท. ยังได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้เงินบาทสำหรับการค้าชายแดนอีกด้วย 

หมุดหมายต่อไปของการใช้เงินสกุลท้องถิ่น

 

ในระยะถัดไป ธปท. จะร่วมมือกับธนาคารกลางในภูมิภาคเพื่อผ่อนคลายหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกรรมโดยใช้เงินสกุลท้องถิ่น ทั้งนี้ ธปท. จะร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์และภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการทำธุรกรรม ตลอดจนประชาสัมพันธ์และส่งเสริมความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากขั้นตอนที่สะดวก มีประสิทธิภาพสูง และต้นทุนต่ำ 

 

ธปท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การใช้เงินสกุลท้องถิ่นจะเป็นทางเลือกในการชำระเงินสำหรับการค้าขายระหว่างประเทศ และเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยลดต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคธุรกิจ ช่วยลดผลกระทบความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในการค้าขายระหว่างประเทศ ตลอดจนช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถแข่งขันในโลกท่ามกลางความไม่แน่นอนได้ดียิ่งขึ้น 

vocab

เรื่อง : ฝ่ายตลาดการเงิน ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ และฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine Payment Systems Knowledge Corner ความร่วมมือระหว่างประเทศ FX ecosystem The Knowledge