สานสัมพันธ์เพื่อสร้างความสำคัญ

ตัวแทนผู้อยู่เบื้องหลังความร่วมมือ
และการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจการเงินไทยในเวทีโลก

BOT people ฉบับนี้พาท่านผู้อ่านมาพูดคุยกับ 3 ตัวแทนจากฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศอย่าง ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ คุณกฤษฏิ์ เดชารักษ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ และคุณผาติ โตโพธิ์ไทย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อทำความรู้จักบทบาทหน้าที่ กลยุทธ์การทำงานด่านหน้า ตลอดจนคุณค่างานต่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

BOT inter staff

ธปท. เป็นองค์กรที่เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ มีหลายสายงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนและสอดประสานเพื่อให้งานของ ธปท. ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงอยากเริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักกับฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ ว่าต้องทำอะไรบ้างเพื่อผลักดันงานของ ธปท. ให้เกิดประโยชน์กับประเทศได้อย่างที่ตั้งใจไว้

 

คุณชญาวดี : ภาพรวมงานของฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศคือ ทำหน้าที่ดูแลหน้าบ้านที่ต้องสัมพันธ์กับประเทศอื่น ทั้งเรื่องการสื่อสาร การสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงาน การเจรจานโยบายระหว่างประเทศ งานที่ทำจึงมีหลายด้าน ต้องทำงานกับหลายกลุ่มประเทศ หลายองค์กร ทั้งหมดก็เพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงิน ทั้งของไทยและภูมิภาค

 

ยกตัวอย่างเช่น ไทยมีระบบพร้อมเพย์ที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเพื่อยกระดับบริการระหว่างประเทศได้ จึงเป็นหน้าที่ของ ธปท. ในการผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงไปยังระบบการชำระเงินระหว่างประเทศเพื่อเชื่อมโยงภาคธุรกิจเข้าด้วยกัน เช่นเดียวกับการหาทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับประชาชนเมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐมีความผันผวนสูง ธปท. จึงส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น เพราะค่าเงินเพื่อนบ้านเราไม่ได้ผันผวนมากนัก แน่นอนว่าสุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้เลือกเองว่าจะใช้หรือเปล่า แต่หน้าที่ของ ธปท. คือ ต้องสร้างทางเลือกที่ช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยงของการทำธุรกิจเอาไว้ให้พร้อม

 

สิ่งที่ ธปท. ผลักดันนั้น ต้องอาศัยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี จึงเป็นที่มาของการมีฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อทำหน้าที่นี้ เราไม่ใช่ประเทศใหญ่ ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ หรือกับองค์กรระหว่างประเทศ จะช่วยให้เรามี “เสียง” ในสิ่งที่เราต้องการ หากเราไม่เริ่มสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้ อาจต้องตกอยู่ในสภาวะจำยอม และเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของประเทศได้

 

คุณกฤษฏิ์ : งานที่ทำมีความหลากหลายเพราะครอบคลุมทั้งกลุ่มประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก มีทั้งมิติที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ และมิติที่เรานำเสนอสิ่งที่เราทำได้ดีให้คนอื่นรับรู้ไปด้วยในเวลาเดียวกัน  

 

สิ่งที่เราทำได้ดีและสามารถเป็นต้นแบบให้กับคนอื่น ก็อย่างเรื่องของระบบการชำระเงิน ทั้งในประเทศ และการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ รวมถึงเรื่องการผลักดันแนวคิดและการใช้นโยบายแบบผสมผสาน หรือ Integrated Policy Framework (IPF) ที่ ธปท. พิจารณานโยบายการเงินควบคู่ไปกับการคลัง อัตราแลกเปลี่ยน และ macroprudential ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการพิจารณานโยบายแบบแยกส่วน แต่เนื่องจากเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจโดยเฉพาะกับองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีบริบทต่างจากเรา 

 

คุณชญาวดี : IPF เป็นสิ่งที่เราทำมานานแล้ว แต่โควิด 19 ได้ตอกย้ำให้เห็นว่า เราจะมองนโยบายการเงินแบบแยกส่วนกันไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีมาตรการช่วยเหลือ เศรษฐกิจก็ไปเองไม่รอด เหมือนกันกับที่นโยบายทำงานด้วยตัวเองไม่ได้ แต่ต้องมีปัจจัยอื่นมาเสริม โมเดลนี้ของเรากลายเป็น pilot case ที่ International Monetary Fund (IMF) ให้ประเทศอื่นมาศึกษาร่วมกันและนำไปปรับใช้

Chayawadee

ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์

ความแตกต่างและโดดเด่นของโมเดลการทำงานของเราคือ นำไปใช้ได้จริง มีการศึกษารองรับ มีการวิเคราะห์ผลที่จะได้รับ เราผสมผสานวิชาการกับประสบการณ์จริงจากการปฏิบัติเพื่อให้ได้ scenarios ที่ดีต่อประเทศเรา และประเทศอื่นก็สามารถนำไปปรับใช้ในบริบทของเขาได้

 

อย่างที่บอกว่า สิ่งที่ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศต้องทำคือ การอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าทำไมเราต้องใช้นโยบายแบบนี้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เมื่อก่อนบางนโยบายเขาไม่ยอมเลย บอกว่าขัดกับการเปิดเสรี แต่เราก็อธิบายว่า เศรษฐกิจของเรามีขนาดเล็ก ถ้ามีคนมาเก็งกำไรจะทำอย่างไร หน้าที่ของเราคือโน้มน้าวให้เขายอมรับจุดยืนของไทย เพราะถ้ายอมอย่างเดียว ก็อาจเกิดผลเสียต่อประเทศได้

 

คุณผาติ : อีกเรื่องที่เราดูแลคือ ความร่วมมือระดับภูมิภาคซึ่งเป็นกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เพื่อนสมาชิกที่เกิดวิกฤต ยกตัวอย่างเช่น Chiang Mai Initiative Multilateralization (CMIM)เป็นความร่วมมือทางการเงินที่เกิดขึ้นมาหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง นอกจากนั้นยังมีความร่วมมือระหว่างกันในรูปแบบทวิภาคีกับประเทศใน ASEAN+3[1] ด้วย

 

[1] ASEAN+3 ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ คือ บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย สปป.ลาว เมียนมา มาเลเซีย กัมพูชา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และอีก 3 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

การสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศถือเป็นการกรุยทางไปสู่ความร่วมมือระหว่างกันในเรื่องต่าง ๆ ธปท. มีแนวคิด กลยุทธ์ และเคล็ดลับในเรื่องนี้อย่างไร ในการผลักดันจุดยืนและนโยบายด้านต่างประเทศให้สำเร็จตามที่ต้องการ

 

คุณชญาวดี : ความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ก็เหมือนทำงานกลุ่มกับเพื่อนของเรา เหมือนช่วยกันเสริมเสถียรภาพมากกว่า เมื่อเพื่อนต้องการอะไร เราพร้อมสนับสนุน รักกันไว้ก่อน รักษาเครือข่าย พบปะ รู้จักกันไว้เพื่อกรุยทางเปิดรับความสัมพันธ์ เพราะในอนาคตอาจมีประเด็นที่อยากผลักดันร่วมกัน

 

เมื่อรวมทีมส่งเสียงร่วมกัน เสียงก็จะดังขึ้น แต่การจะกรุยทางต้องวางแผนให้ดี จะไปไหน จะเจอใคร ด้วยจุดหมายอะไร มีนัดคุยนอกรอบ กินข้าว ดื่มกาแฟ ก็เป็นการกรุยทางได้ทั้งนั้น

 

คุณกฤษฏิ์ : มีครั้งหนึ่งองค์กรระหว่างประเทศมาขอข้อมูลเกี่ยวกับเสถียรภาพเศรษฐกิจเพื่อนำไปประเมินผลดีผลเสียของนโยบาย ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ได้เผยแพร่ทั่วไป และเรามองว่าหากเปิดเผยข้อมูลและมีการรั่วไหล อาจส่งผลข้างเคียงโดยเฉพาะต่อตลาดการเงินของเราที่มีขนาดเล็ก ต่างกับประเทศใหญ่ ๆ ที่สามารถให้ได้เพราะได้รับผลกระทบน้อย

 

เรารู้ว่าถ้าค้านคนเดียวคงยากแน่ จึงคุยกับเพื่อนบ้านที่เห็นตรงกัน สุดท้ายพวกเรา 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทยก็รวมตัวกันทำจดหมายแสดงจุดยืนร่วมกันว่า ประเทศของเรามีข้อจำกัดอะไร เผชิญความเสี่ยงและมีความกังวลอะไรบ้าง เรื่องนี้ถือเป็น mission impossible มาก (ยิ้ม) เพราะอยากให้ผู้ว่าการธนาคารกลางของแต่ละประเทศเซ็นชื่อลงในเอกสารแผ่นเดียวกัน ภายใต้กรอบเวลาที่กระชั้นมาก ๆ โชคดีที่มีประชุมระดับภูมิภาคจัดขึ้นช่วงนั้นพอดี เราถือไปให้ผู้ว่าการเกือบทุกท่านลงนามวันนั้น มีท่านหนึ่งไม่มาก็ฝากตัวแทนประเทศเขาถือกลับไปให้ลงนามจนครบ สุดท้ายส่งไปให้องค์กรระหว่างประเทศนั้นได้ทันเวลาพอดี ทำให้ชะลอเรื่องนี้ไว้ได้

 

มันจะมีงานลักษณะแบบนี้ ที่ท้าทาย ไม่มีแบบแผน แต่เมื่อสำเร็จ เราก็ภูมิใจมาก

Krit

คุณกฤษฏิ์ เดชารักษ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ

ที่ผ่านมาความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ ธปท. ทำมาหลายสิบปี ได้ผลิดอกออกผลมาสนับสนุนการทำงานของ ธปท. อย่างไร และสามารถช่วยเสริมความเข้มแข็งของ ธปท. เมื่ออยู่บนเวทีโลกได้อย่างไร

 

คุณชญาวดี : งานด้านต่างประเทศแม้บางครั้งดูไกลตัว อย่างเช่นเรื่องเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) เพราะพอว่าด้วยเรื่องการทำความตกลงทางการค้าของประเทศ ก็เต็มไปด้วยภาษากฎหมาย มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีข้อห้าม มีความกังวลฝังไว้เต็มไปหมด แต่พอเราเจรจาได้ ซึ่งก็ต้องผ่านความสัมพันธ์ต่าง ๆ ด้วย ก็ส่งผลดีต่อคนไทยมากมาย อีกตัวอย่างที่ใกล้ตัวประชาชนก็อย่างเช่น เมื่อก่อนเวลาไปต่างประเทศต้องแลกเงินเยอะมาก เดี๋ยวนี้เตรียมเงินสดเป็นค่าทิปอย่างเดียวพอ ที่เหลือจ่ายผ่านแอปฯ ได้ ไม่ต้องเสี่ยงพกเงินสดเยอะ ๆ

 

ที่สำคัญความสัมพันธ์ยังเป็นการป้องกันระยะยาวด้วย หากในอนาคตเราเจอวิกฤต เราก็รู้ว่ามีคนที่สามารถพึ่งพาและช่วยเหลือได้ เพราะการทำงานด้านต่างประเทศคือ “การสร้างความสัมพันธ์เพื่อสร้างความสำคัญ” บางครั้งเราไม่เห็นผลทันที 

 

คุณผาติ : ประเทศไทยได้รับเสียงสนับสนุนประมาณหนึ่งเลย เพราะเรามีพันธมิตรในภูมิภาคเยอะ  ตั้งแต่พี่ ๆ รุ่นก่อน ๆ และสานต่อความสัมพันธ์มาถึงปัจจุบัน พอถึงเวลาที่เราจะเสนอหรือคัดค้าน เพื่อนเราก็จะช่วยสนับสนุน ผนวกกับที่เราเตรียมข้อมูลเอาไว้แน่นปึก ก็ยิ่งมีพลัง

 

ก่อนจะตกลงอะไรเราต้องเตรียมการ นัดแนะ คุยกันนอกรอบก่อนเสมอ เมื่อเจรจาสำเร็จตามที่หวังไว้ก็ภูมิใจ แต่เวลาไม่เป็นไปตามที่คุยกันไว้ ก็พยายามต่อรองและประนีประนอมกัน สิ่งสำคัญคือ เราต้องรู้จุดยืนของเขาและเรา หากไม่อาจส่งเสริมกันได้ อย่างน้อยก็ต้องไม่ขัดแย้งกัน ต้องตระหนักเสมอว่า เราพร้อมสนับสนุนเพื่อนสมาชิก แต่ก็ต้องปกป้องผลประโยชน์ของประเทศเราเองด้วย

Pati

คุณผาติ โตโพธิ์ไทย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ

คุณกฤษฏิ์ : ต้องมีหลักการและความสม่ำเสมอในแนวคิดและจุดยืนด้วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการสร้างความเข้าใจ ความเชื่อใจและความสัมพันธ์ระยะยาวหลายเรื่อง เราพูดมานาน ต่อเนื่อง เน้นย้ำ message ที่ชัดเจนเพื่อให้ทุกคนได้รู้ว่าจุดยืนเรื่องนี้ของประเทศไทยอยู่ตรงไหน

 

คุณชญาวดี : เมื่อใดที่การประชุมไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เราหวังจะได้ยินเพื่อนพูดว่า “Let’s hear it from Thailand” 

แน่นอนว่าความสำเร็จต้องเริ่มต้นจากในบ้าน ธปท. จะต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างมั่นใจ อีกทั้งคนที่ทำหน้าที่นี้จะต้องมีทักษะอะไร จึงจะทำหน้าที่ตัวแทนของประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม

 

คุณชญาวดี : ทุกงานหน้าบ้านเป็น mission impossible ที่สำเร็จได้เพราะทีม งานต่างประเทศเป็นงานที่ละเอียดอ่อนมาก เราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องเตรียมหลายอย่าง เมื่อออกไปนอกบ้าน เราต้องเป็นตัวแทนทุกฝ่ายใน ธปท. อีกทั้งจะต้องมีตัวแทนหน้างานที่คอยประสานกับแขกนอกบ้าน คอยหาคำตอบจากประเทศอื่นให้ได้ว่าเขาต้องการอะไร เพื่อจะได้นำข้อมูลกลับไปสื่อสารต่อฝ่ายงานได้อย่างถูกต้อง

 

คนอาจมองว่าทำงานด้านนี้ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางเยอะ แต่อันนั้นเราไม่ห่วง เรื่องความรู้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง มันเรียนรู้เพิ่มเติมกันได้เสมอ ทั้งคนในทีมก็สามารถเสริมข้อมูลให้กันได้ เพราะน้อง ๆ เก่ง และมีความเชี่ยวชาญหลากหลาย แต่งานด้านความสัมพันธ์ต้องใช้ soft skills สูงมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราก็ได้ฝึกและพยายามฝึกน้อง ๆ ให้คอยสังเกต ใส่ใจผู้อื่น รู้เขารู้เรา มีทักษะในการรับมือกับสถานการณ์และผู้คน

 

ที่สำคัญ การทำงานด้านความสัมพันธ์ ต้องยืดหยุ่น อะลุ่มอล่วย มันมีความสวยงามของมัน คนอาจคิดว่าดีจังเลยได้เดินทางบ่อย แต่ความจริงแล้วเหนื่อยมาก ต้องเตรียมตัวทั้งหน้างานและหลังงาน จบทริปโทรมกันมาก แต่ก็สนุกมากเช่นกัน

 

ความตั้งใจตอนนี้คือ อยากให้ทีมงานมีกำลังใจ เพราะงานมันยาก บางทีเขาอาจยังไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำอยู่มันสำคัญอย่างไร แต่จากประสบการณ์ ที่ตรงนี้คือสนามฝึกซ้อมที่ดีที่สุด ได้เรียนรู้ทุกขั้นตอน ได้ใกล้ชิดและเรียนรู้โดยตรงว่า ผู้นำที่มีประสบการณ์เขาคิด ตัดสินใจ และวางตัวอย่างไร จะว่าไปเป็นโอกาสที่หาที่ไหนไม่ได้แล้ว เราพยายามทำให้น้องเห็นว่างานของเขามีความหมาย และความยากที่เขาเผชิญอยู่ตอนนี้ มันจะเตรียมให้เขาไปได้อีกไกล ไม่ว่าต่อไปจะทำงานอะไร

 

คุณผาติ : จริง ๆ แล้ว ช่วงเวลาที่ได้กดไมค์พูดในการประชุมอาจไม่นาน แต่เบื้องหลังเตรียมการยาวนานมาก ทำให้ตอนกดไมค์พูด มันฟินมาก (ยิ้ม) เหมือนเราพูดแทนทุกคน ยิ่งเวลามีคนกดสนับสนุน “I support Thailand” มันภูมิใจ

 

ทุกงานเบื้องหน้ามีทีมงานเบื้องหลังอยู่ทั้งนั้น ฝ่ายเรามีคนหลากหลายจากหลายฝ่าย มีทั้งคนที่เคยผ่านงานด้านบัญชี บริหารความเสี่ยง ฝ่ายตลาดการเงิน ฝ่ายสถาบันการเงิน ทุกคนมีคลังความรู้ของตนเอง และพร้อมช่วยสนับสนุนข้อมูลให้กับทีมเสมอ เราเองก็ไม่ได้จบมาด้านนี้โดยตรง แต่ก็ได้เรียนรู้มากมายจากทุกคนในทุก ๆ วัน

BOT Inter Staff

คุณกฤษฏิ์ : อยู่ที่นี่คือได้เรียนรู้ทุกวัน งานด้านความสัมพันธ์เป็นเรื่องระยะยาวและต่อเนื่อง ไม่ได้สร้างในวันเดียวหรือเจอกันแค่ประชุมเดียว มีประวัติศาสตร์และความเป็นมา ทุกบทสนทนา ทุกความสัมพันธ์มันคือสิ่งที่ส่งต่อและต่อยอดกันมาเรื่อย ๆ เป็นงานที่เหมือนได้เห็นประวัติศาสตร์ และมองเห็นโลกทั้งใบในห้องประชุม

 

คุณชญาวดี : ต้องขอบคุณพี่ ๆ รุ่นก่อนที่สร้างความสัมพันธ์ไว้เป็นอย่างดี ทำให้งานของพวกเราในวันนี้ดำเนินต่อไปได้ พวกเราก็จะส่งต่อความรู้และความสัมพันธ์ดี ๆ ให้รุ่นต่อไป เพื่อจะได้ต่อยอดออกมาเป็นดอกผล ให้กับประเทศของเรา

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine ความร่วมมือระหว่างประเทศ Interview BOT People