แลกเปลี่ยน เรียนรู้ สู่ความเป็นสากล
คน ธปท. กับประสบการณ์การทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ

ด้วยความเป็นองค์กรที่ไม่หยุดพัฒนา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงส่งเสริมให้พนักงานของเราได้ไปแลกเปลี่ยนความรู้และสะสมประสบการณ์การทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศมาโดยตลอด คอลัมน์ Inspiration ฉบับนี้ จึงอยากชวนท่านผู้อ่านมาพูดคุยกับ 8 คน ธปท. เกี่ยวกับการทำงานในองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) และสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) เพื่อแบ่งปันเกร็ดความรู้และข้อคิดดี ๆ สำหรับนำไปพัฒนาการทำงานกัน

BOT staff with exchange experiences

“กวีวุฒิ สุมาวงศ์” กับการสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยให้แก่ IMF

 

คุณกวีวุฒิ สุมาวงศ์ ปฏิบัติงานในฐานะที่ปรึกษาอาวุโส ประจำกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia Voting Group: SEAVG)[1] ของ IMF เป็นเวลา 2 ปี (2559-2561) ทำหน้าที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและนโยบายของประเทศ ให้แก่เจ้าหน้าที่และคณะกรรมการบริหาร (executive director) ของ IMF เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในเสถียรภาพและนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังดูแลผลประโยชน์ของประเทศสมาชิก South East Asia Voting Group หรือ SEAVG ทั้ง 13 ประเทศด้วย

 

[1] กลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia Voting Group หรือ SEAVG) มีสมาชิกทั้งหมด 13 ประเทศ ประกอบด้วย อาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา มาเลเซีย กัมพูชา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และอีก 3 ประเทศ คือ ฟีจี เนปาล และตองกา

Kaveevudh

กวีวุฒิ สุมาวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ

“งานที่ได้รับมอบหมายช่วยให้ได้เรียนรู้หลายอย่าง โดยเฉพาะการจัดทำท่าทีเกี่ยวกับข้อเสนอการดำเนินนโยบายของ IMF ให้กับกรรมการบริหาร SEAVG ซึ่งต้องมีการประเมินภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ สำหรับใช้ในการวิเคราะห์ด้วย โดยในช่วงเวลานั้นได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น การพิจารณาให้ความช่วยเหลือเงินกู้แก่อาร์เจนตินาที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ และต้องการวงเงินกู้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ การทบทวนโควตาของ IMF ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสียงของแต่ละประเทศ หรือในส่วนของประเทศไทยเอง ซึ่งคณะเจ้าหน้าที่ IMF ที่ประเมินภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยในช่วงนั้นเห็นต่างกับการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ทำให้หน้าที่หลัก ๆ คือ การชี้แจงกับกรรมการบริหารท่านอื่น ๆ ให้เข้าใจถึงบริบทเศรษฐกิจของประเทศไทย และเชื่อมั่นในการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ในขณะนั้น” 

 

คุณกวีวุฒิเล่าว่า โจทย์สำคัญในการทำงานคือ ทำอย่างไรให้กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งรวมถึงไทย มีสิทธิและเสียงใน IMF มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทที่เพิ่มขึ้นในเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางความท้าทายที่ประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ใน IMF มีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่

 

“บทเรียนสำคัญในการทำงานที่ได้รับก็คือ นอกจากความแม่นยำของหลักการและรายละเอียดของข้อเสนอแล้ว การสร้างความสัมพันธ์และการหารือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซึ่งจะช่วยให้เราได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการได้” 

Kaveevudh

คุณกวีวุฒิและเพื่อนร่วมงานที่ IMF

บทเรียนการทำวิจัยร่วมกับ BIS ของ “ณัฐธรรม จูฑศรีพานิช”

 

การไปทำงานที่สำนักงานตัวแทนของ BIS ที่ฮ่องกงเป็นเวลา 6 เดือนในช่วงปี 2556 นั้น คุณณัฐธรรมได้มีโอกาสร่วมทำการวิจัยในหัวข้อ Foreign exchange intervention: strategies and effectiveness เพื่อศึกษาเป้าหมาย ประสิทธิผลในการเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารกลางต่าง ๆ ที่มีกลยุทธ์แตกต่างกัน รวมถึงผลกระทบต่องบการเงิน ซึ่งทำให้ได้ทราบว่าไม่มีกลยุทธ์การเข้าแทรกแซงใดที่โดดเด่นเป็นพิเศษ และเป้าหมายในการเข้าแทรกแซงที่ต่างกันก็จะนำมาสู่ผลกระทบในระยะยาวที่แตกต่างกันมากด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การเข้าแทรกแซงเพื่อมุ่งลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน มีแนวโน้มส่งผลกระทบในระยะยาวผ่านปริมาณเงินสำรองที่ผันผวนสูงขึ้น และต้นทุนการเข้าแทรกแซงที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ BIS เพื่อเป็นข้อมูลแก่ธนาคารกลางอื่น ๆ ที่สนใจ

Nuttathum

ณัฐธรรม จูฑศรีพานิช ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน

นอกจากทำวิจัยแล้ว คุณณัฐธรรมยังได้รับมอบหมายให้ช่วยจัดทำเอกสารข้อมูลสำคัญ หรือที่เรียกว่า Background Note สำหรับการประชุม Central banks' Monetary Policy Operating Procedures (MPOPs) ด้วย ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินนโยบายการเงิน ระหว่างผู้แทนธนาคารกลางหลายแห่งในเอเชียแปซิฟิกกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve System: Fed) ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) และธนาคารกลางสหราชอาณาจักร (Bank of England: BoE)

 

“การมีส่วนร่วมในการทำวิจัยและจัดทำประเด็นที่จะนำมาหารือในที่ประชุม รวมถึงการได้พูดคุยกับผู้แทนของแต่ละประเทศเพื่อนำมาใช้ประกอบการจัดทำ Background Note เป็นประโยชน์ต่อการทำงานที่ ธปท. มาก เพราะได้เรียนรู้ทั้ง hard skills อย่างความรู้เชิงเทคนิคต่าง ๆ ที่ช่วยในการนำมาประกอบการวางกลยุทธ์การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. รวมถึง soft skills โดยเฉพาะวิธีการทำงานแบบมืออาชีพที่แม้จะมีการถกเถียงและให้ความเห็นเชิงวิชาการกันอย่างเข้มข้น แต่พอจบการนำเสนอแล้วทุกคนก็สามารถร่วมงานกันได้ดีเหมือนเดิม ที่สำคัญ สำนักงานตัวแทนมีจำนวนพนักงานไม่มาก ทุกคนจึงรู้จักกันหมด มีบรรยากาศการทำงานเป็นกันเอง และสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเสรี”

“วัชรกูร จิวากานนท์” กับประสบการณ์ด้านการพัฒนาระบบชำระเงินของต่างประเท

 

คุณวัชรกูรเคยผ่านประสบการณ์การทำงานด้านระบบการชำระเงินในต่างประเทศหลายครั้ง ครั้งแรกในปี 2557 ได้ร่วมทำงานกับ Payment and Settlement Systems Department ที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (Bank of Korea) เป็นเวลา 6 เดือน และต่อมาในปี 2560-2562 ได้ทำงานกับ Committee on Payments and Market Infrastructures (CPMI) ของ BIS ณ เมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นเวลา 2 ปี 

 

ในช่วงที่ทำงานที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้นั้น คุณวัชรกูรได้ศึกษาการพัฒนาระบบการชำระเงินและศึกษาโครงสร้างการกำกับดูแล รวมถึงเจาะลึกเรื่องประสบการณ์และบทเรียน การเติบโตของการชำระเงินผ่านบัตรของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการมาทำงานที่ BIS ในฐานะเลขานุการคณะทำงานด้าน digital innovations และด้าน cybersecurity ด้วยเช่นกัน โดยได้มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับธนาคารกลางชั้นนำของโลก และหน่วยงาน standard setting bodies[2] ต่าง ๆ เพื่อออกแนวนโยบายและมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประเทศอื่นนำไปปรับใช้ อีกทั้งยังได้ทำหน้าที่ให้ความรู้ด้านระบบการชำระเงินกับภูมิภาคต่าง ๆ เช่น กลุ่มธนาคารกลางในยุโรปตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

[2] หน่วยงานในการกำหนดมาตรฐานสากลในด้านต่าง ๆ เช่น International Organization of Securities Commissions (IOSCO), Financial Stability Institute (FSI), Financial Stability Board (FSB) และ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS)

Vacharakoon

วัชรกูร จิวากานนท์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน[3]

 

[3] สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารจัดการธนบัตร

“ประสบการณ์จากทั้งที่ธนาคารกลางเกาหลีและ BIS นั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินนโยบายและการพัฒนาระบบการชำระเงินของไทยในหลายเรื่อง เช่น กลยุทธ์และมาตรการส่งเสริมการใช้ digital payment การติดตามและกำกับดูแลนวัตกรรมการชำระเงินใหม่ ๆ เช่น digital asset และ stablecoin รวมถึงการประเมินระบบการชำระเงินไทยตามมาตรฐานสากล (Principles for Financial Market Infrastructures: PFMI)

 

“มากไปกว่านั้น มิตรภาพ เครือข่าย แนวคิด และวิธีการทำงานต่าง ๆ ที่ได้รับ ยังเป็นประโยชน์มากสำหรับการทำงานที่ ธปท. ด้วย ตัวผมเองก็รู้สึกภูมิใจที่ทำให้ใคร ๆ ได้รู้ว่า ธปท. ธนาคารกลางเล็ก ๆ แห่งนี้ มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และมีระบบชำระเงินที่ก้าวหน้าไม่แพ้ชาติใดในโลก”

Vacharakoon

คุณวัชรกูรกับเพื่อนร่วมงานที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้

Vacharakoon

คุณวัชรกูรและเพื่อนร่วมงานที่ BIS

“เบญญาภรณ์ จันทนา” กับประสบการณ์ดี ๆ ที่ AMRO

 

“การทำงานที่ AMRO ประเทศสิงคโปร์ เป็นเวลา 2 ปี ในฐานะเศรษฐกรที่ติดตามและประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจการเงิน รวมทั้งจัดทำรายงานความยั่งยืนทางการเงินของสมาชิกในภูมิภาค ASEAN+3[4] นั้น เป็นโอกาสดีที่ทำให้ได้เข้าใจมุมมองด้านการกำกับดูแลและประสบการณ์ที่หลากหลายในสายตาของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ด้วยความที่ AMRO มีประเทศสมาชิกที่มีความแตกต่างกัน ทั้งที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึง CLMV”

 

[4] ASEAN+3 ประกอบด้วย อาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย สปป.ลาว เมียนมา มาเลเซีย กัมพูชา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และอีก 3 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ 

ฺBenyaporn

เบญญาภรณ์ จันทนา ผู้วิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ

คุณเบญญาภรณ์มองว่า บริบททางเศรษฐกิจและการเงินที่ต่างกันในแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแนวนโยบายการเงิน การกำกับดูแลสถาบันการเงิน การบริหารจัดการหนี้ครัวเรือน หรือแม้แต่การให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการทำนโยบายและมาตรการของ ธปท. และรู้สึกประทับใจโอกาสที่ได้รับจากการไปประชุมแลกเปลี่ยนกับประเทศสมาชิกในแต่ละปี (Annual Consultation Visit) เพราะทำให้ได้สร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับธนาคารกลาง กระทรวงการคลัง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจภาคเอกชน ซึ่งเป็น think tank ในด้านต่าง ๆ 

Benyaporn

บรรยากาศการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของ AMRO ณ สปป.ลาว

“วิลดา มีแย้ม” กับประสบการณ์ด้านการพัฒนาตลาดการเงิน 

 

คุณวิลดาได้มีโอกาสทำงานที่ IMF เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านตลาดการเงินหลายครั้ง โดยในปี 2554-2556 ได้ทำงานที่ Central Bank Operations Division, Monetary and Capital Markets Department เป็นเวลา 2 ปี เพื่อศึกษาและให้คำแนะนำแก่ธนาคารกลางของประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินในตลาดการเงิน (Open Market Operations: OMOs) การพัฒนาตลาดการเงิน และการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีทั้งการให้คำแนะนำเชิงเทคนิค และการให้ความเห็นต่อรายงานนโยบายและมาตรการติดตามและเฝ้าระวังต่าง ๆ รวมถึงการจัดอบรมสัมมนาซึ่งทำให้ต้องเดินทางไปทำงานในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยูเครน เคนยา ยูกันดา ซูดาน ฮอนดูรัส คูเวต ฟิลิปปินส์ และบรูไน

vilada

วิลดา มีแย้ม รองผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน

7 ปีต่อมา คุณวิลดาได้มีโอกาสกลับไปทำงานให้กับ IMF อีกครั้งเป็นเวลา 1 ปี ในตำแหน่ง Resident Advisor on Monetary Operations ที่ธนาคารกลางกัมพูชา (National Bank of Cambodia: NBC) ซึ่งเป็นความช่วยเหลือทางด้านเทคนิครูปแบบหนึ่งที่ IMF ให้แก่ประเทศสมาชิก โดยได้ไปช่วยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวางกรอบและหลักเกณฑ์ของการทำ OMOs ตลอดจนการปรับปรุงประมาณการสภาพคล่องในตลาดเงิน และการพัฒนาตลาดเงินและตลาดพันธบัตร             

 

“การทำงานที่ฝ่ายตลาดการเงินที่ ธปท. ซึ่งได้มีส่วนร่วมวางแผนพัฒนากรอบและเครื่องมือการทำ OMOs ให้เอื้อต่อนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (flexible inflation targeting) ของไทยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้น ถือเป็นองค์ความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการให้คำแนะนำทางปฏิบัติแก่ธนาคารกลางที่อยากจะเริ่มใช้นโยบายการเงินในลักษณะคล้าย ๆ กัน หรือต้องการพัฒนาให้ตลาดเงินตลาดพันธบัตรมีกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีเครื่องมือ และผู้เล่นที่หลากหลาย ในทางตรงกันข้าม การทำงานกับธนาคารกลางที่มีกรอบนโยบายและโครงสร้างระบบการเงินแตกต่างไปจากไทยก็ถือเป็นความท้าทายที่ช่วยให้ตัวเราได้พัฒนาทักษะทางความคิดว่าความรู้และประสบการณ์ของเราจะสามารถปรับใช้กับประเทศที่มีบริบทแตกต่างไปจากไทยได้อย่างไร”

การนำแนวคิดแบบ Global มาประยุกต์ใช้กับงาน Local ของ “ศราวัลย์ อังกลมเกลียว”

 

ในช่วงปี 2552 (หลังจากที่โลกเพิ่งเกิดวิกฤตซับไพรม์ไปได้ 1-2 ปี) เป็นจังหวะที่คุณศราวัลย์ได้ไปทำงานที่สำนักงานตัวแทนของ BIS ที่ฮ่องกง เป็นเวลา 4 เดือนเพื่อศึกษาเรื่อง “Issues and Developments in Loan Loss Provisioning: The Case of Asia” ร่วมกับคนจาก BIS Asian Office อีก 2 ท่าน สำหรับเผยแพร่ในรายงานรายไตรมาสของ BIS 

sarawan

ศราวัลย์ อังกลมเกลียว ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

คุณศราวัลย์เล่าว่า หลังวิกฤตซับไพรม์ ปี 2550-2551 นั้น ประเทศฝั่งตะวันตกมีความตื่นตัวอย่างมากเรื่องการนำ macroprudential policy หรือเกณฑ์การกำกับสถาบันการเงินมาใช้เพื่อดูแลความสมดุลและรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ใช้กันก็คือ การกันสำรองเผื่อหนี้สูญ ซึ่งจากการเข้าไปศึกษาเจาะลึกแนวทางของ 9 ประเทศในเอเชียรวมถึงไทย ก็เห็นว่าสถาบันการเงินในภูมิภาคเอเชียมีสำรองที่สูงและเข้มแข็งมาก ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปัญหาซับไพรม์ไม่ลุกลามมาที่เอเชีย

 

“นอกจากประสบการณ์ในการทำวิจัยเชิงนโยบายที่เป็นมาตรฐานสากลแล้ว ยังได้เห็นวิธีการทำงานขององค์กรระหว่างประเทศ ที่มีหัวใจสำคัญคือ การประสานและแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางในภูมิภาคด้วยกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ขึ้นภายในภูมิภาค ซึ่งก็ได้นำบทเรียนที่ได้มาปรับใช้กับการทำงานที่สำนักงานภาคในปัจจุบัน ที่เราเองก็ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันทั้งโจทย์ของ ธปท. และโจทย์ร่วมของภาคอีสาน เพื่อสร้างผลลัพธ์ให้เกิดในวงกว้างอย่างแท้จริง”

sarawan

คุณศราวัลย์และเพื่อนร่วมงานที่ BIS

บทบาทที่แตกต่างของ “รัญชนา พงศาปาน” ในการทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ

 

การทำงานทั้งที่ IMF และ AMRO ทำให้คุณรัญชนาได้เรียนรู้การทำงานและทักษะที่แตกต่างกันในหลากหลายมิติ ทั้งในฐานะ staff และผู้บริหาร โดยได้รับโอกาสไปร่วมงานกับ IMF ใน 3 บทบาท เริ่มจากการเป็นเศรษฐกร ในปี 2552-2554 ซึ่งเป็น 2 ปีที่ได้สะสมประสบการณ์เกี่ยวกับการประเมินเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และการเสนอแนะด้านนโยบาย หลังจากนั้นได้มีโอกาสเป็นผู้เชี่ยวชาญภาคการเงิน ในปี 2557-2559 ในฐานะหัวหน้าทีม (mission chief) ที่ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคด้านนโยบายการเงินและตลาดการเงินแก่ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา รวมทั้งการทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินในโครงการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program: FSAP)5 ด้าน systemic risk และ lender of last resort และที่สำคัญชั่วโมงบินที่สะสมมานั้นยังเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการเป็น Financial Stability Advisor ประจำธนาคารกลางประเทศกัมพูชา ที่คุณรัญชนาได้รับคัดเลือกไปทำงานในปี 2561-2562 และได้รับมอบหมายงานสำคัญในการผลักดันการจัดทำรายงานเสถียรภาพระบบการเงินครั้งแรกของกัมพูชา 

runchana

รัญชนา พงศาปาน รองผู้อำนวยการ ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ

ปัจจุบันคุณรัญชนาอยู่ระหว่างทำงานที่ AMRO ในฐานะ Group Head and Principal Economist ที่รับผิดชอบงานด้าน country surveillance และเป็น mission chief ในการประเมินภาวะเศรษฐกิจการเงินและนโยบายของประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ที่ดูแลทีมเศรษฐกรจากหลายประเทศ

 

“ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกของ IMF และ AMRO จึงทำให้การทำงานในสององค์กรนี้เป็นประโยชน์ต่องานของ ธปท. โดยตรง ทั้งในแง่เนื้อหาของงานที่เกี่ยวกับการประเมินภาวะเศรษฐกิจการเงินและเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งนโยบายในด้านต่าง ๆ และในแง่ความเข้าใจด้านความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ

 

“ยกตัวอย่างเช่น ได้นำประสบการณ์จากการเป็นผู้ประเมินในโครงการ FSAP มาใช้เป็นประโยชน์เพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้ารับการประเมิน FSAP ครั้งที่ผ่านมา และการทำงานในองค์กรระหว่างประเทศทำให้ ‘รู้เขา รู้เรา’ ทั้งในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิก และความเข้าใจเชิงลึกในภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและระบบการเงิน นโยบาย รวมทั้งบริบทด้านการเมืองของประเทศในภูมิภาคและประเทศมหาอำนาจ ซึ่งจะสามารถช่วยสนับสนุนการวางกลยุทธ์ด้านต่างประเทศของ ธปท. ได้เป็นอย่างดี”

 

คุณรัญชนายังทิ้งท้ายอีกว่า การร่วมงานกับบุคลากรจากหลายประเทศและอิสระในการบริหารงาน ทำให้สามารถใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และเป็นโอกาสได้พัฒนาความรู้และฝึกฝนทั้ง hard skills และ soft skills เพื่อนำมาถ่ายทอดให้กับพนักงาน ธปท. ทั้งยังเป็นการช่วยสร้างเครือข่ายการทำงานให้กับ ธปท. ในเวลาเดียวกัน

runchana

คุณรัญชนากับ Director ของ Monetary and Capital Markets Department

runchana

คุณรัญชนาและผู้บริหาร AMRO เข้าพบผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย

ประสบการณ์ด้านนโยบายสาธารณะจาก IMF และ BIS
สู่การทำงานในรั้ว ธปท. ของ “ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล”

 

นอกจากคน ธปท. ที่ไปทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศแล้ว ในทางกลับกัน ก็มีคนจากองค์กรระหว่างประเทศมาทำงานกับ ธปท. ด้วยเช่นกัน

 

คุณภูริชัยเคยทำงานที่ IMF ฝ่ายเอเชียและแปซิฟิก ในช่วงปี 2553-2554 โดยทำวิจัยในประเด็นเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญกับภูมิภาคเอเชีย และยังเป็นสมาชิกของ mission teams ของกัมพูชาและมาเลเซีย ต่อมาในปี 2557 ได้ย้ายไปทำงานที่ BIS มีหน้าที่ทำวิจัยเกี่ยวกับนโยบายการเงิน และทำบทวิเคราะห์ประกอบการประชุมของผู้ว่าการธนาคารทั่วโลกที่มีขึ้นทุก 2 เดือนในเมืองบาเซิล กระทั่งเมื่อต้นปี 2566 นี่เองที่คุณภูริชัยได้ขอลา BIS เพื่อกลับมาปฏิบัติงานชั่วคราวที่ ธปท. ในตำแหน่งผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน 

Phurichai

ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน[6]

 

[6] สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 และมีกำหนดกลับไปดำรงตำแหน่ง Principal Economist, Monetary and Economic Department ที่ BIS ในวันที่ 1 มีนาคม 2567

“ประสบการณ์การทำงานที่ IMF และ BIS ช่วยให้ผมได้เข้าใจข้อต่อเศรษฐกิจที่ครอบคลุมปัญหาของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันไป ได้ฝึกฝนทักษะหลายด้านที่นอกเหนือจากวิชาการ รวมถึงได้หัดคิดนอกกรอบและตั้งคำถามกับแนวคิดกระแสหลักอยู่เสมอ เนื่องจากหน้าที่เราคือการพัฒนาองค์ความรู้และช่วยให้การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกดีขึ้น ซึ่งก็ได้นำบทเรียนหลายเรื่องมาใช้ที่ ธปท. ด้วย โดยเฉพาะเรื่องของมาตรฐานการทำงานระดับสากล และการสื่อสารที่เข้าใจได้ง่าย ซึ่งต้องผสมผสานทั้งศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกัน ที่สำคัญคือ การมีอิสระทางความคิด และ critical thinking ที่กล้าคิดต่าง และกล้าที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดี”

 

คุณภูริชัยยังได้ให้ข้อคิดดี ๆ เกี่ยวกับการบริหารคนและงาน นั่นก็คือ การให้น้ำหนักกับการเลือกคนที่ใช่และการสร้างแรงจูงใจเพื่อรักษาคนที่มีศักยภาพเอาไว้ ควบคู่กับการออกแบบกระบวนการทำงานที่กระชับและเป็นมืออาชีพเพื่ออุทิศทรัพยากรไปกับงานสำคัญอย่างเต็มที่

 

“ธปท. เป็นองค์กรที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้หาประสบการณ์จากภายนอก จึงต้องขอขอบคุณ ธปท. อย่างยิ่งสำหรับโอกาส และขอเชิญชวนน้อง ๆ เพื่อน ๆ ลองหาประสบการณ์การทำงานภายนอกสักครั้งหนึ่ง เพื่อช่วยพัฒนาตัวเองและสร้างประโยชน์ให้ ธปท. ระยะยาว”

Phurichai

คุณภูริชัยและเพื่อนร่วมงานที่ IMF

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine Interview ความร่วมมือระหว่างประเทศ Inspiration สมัครงานและทุน