การกำกับดูแลสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน

          ปัจจุบันมีการประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยมีทะเบียนรถเป็นประกันอย่างแพร่หลาย แต่ยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลอย่างชัดเจน รวมทั้งมีข้อร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมาก ทั้งการคิดดอกเบี้ยแพงและแนวการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ภาครัฐโดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามากำกับดูแลการประกอบการในส่วนนี้ เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะรายย่อยสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ในอัตราที่เหมาะสม และได้รับการบริการจากผู้ประกอบธุรกิจอย่างเป็นธรรม

 

          

sustainable shopping

การกำหนดแนวทางการกำกับดูแล

 

          ในปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจที่กระจายทั่วประเทศมีความหลากหลายค่อนข้างมาก ทั้งในเชิงขนาดของผู้ประกอบการและประเภทของการให้บริการ ประกอบกับที่ผ่านมาทางการได้รับเรื่องร้องเรียนว่าในบางกรณี ผู้บริโภคอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับมาตรฐานการให้บริการสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ไม่ว่าจะในแง่ของข้อมูลที่ผู้บริโภคได้รับเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจขอสินเชื่อ หรือการเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ การไม่ได้รับเอกสารสัญญาใด ๆ รวมทั้งการถูกเอาเปรียบไม่ได้รับคืนส่วนต่างจากการขายรถที่เกินมูลค่าหนี้เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้

 

         ด้วยเหตุนี้ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการกำหนดกฎกติกากลางในการเข้ามากำกับดูแลธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจนี้สามารถเป็นแหล่งเงินทุนให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องพึ่งเงินนอกระบบในสถานการณ์ที่อาจต้องการเงินฉุกเฉิน ซึ่งมุ่งเน้นหลักการกำกับดูแล 3 ด้านหลัก ได้แก่ การเข้าถึง (Inclusion) การคุ้มครอง (Protection) และการแข่งขัน (Competition)

 

         กล่าวคือ ทางการพยายามจะออกแบบแนวทางการกำกับดูแล โดยยังคงรักษาหัวใจสำคัญของธุรกิจการให้บริการสินเชื่อสำหรับลูกค้าที่นำรถมาเป็นประกันนี้ไว้ นั่นคือ ลูกค้ายังคงสามารถ “เข้าถึง” บริการสินเชื่อนี้ได้ ดังนั้นหลักเกณฑ์การกำกับดูแลจึงต้องมีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับลักษณะการกู้ยืมและลักษณะลูกค้า ตลอดจนไม่กำหนดหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดจนกระทั่งทำให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถทำธุรกิจนี้ได้ ซึ่งอาจทำให้ลูกหนี้ต้องไปใช้บริการสินเชื่อนอกระบบ

 

          อย่างไรก็ดี แม้ว่ากติกาดังกล่าวควรมีความยืดหยุ่น แต่ยังคงต้องดูแลเพื่อให้มั่นใจว่า ลูกค้าที่มาใช้บริการสินเชื่อนี้ “คือประชาชน” ได้รับการ “คุ้มครอง” สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ในจำนวนและราคาที่มีความเหมาะสม และได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม

 

ความหลากหลายของผู้ประกอบการ ส่งเสริมให้เกิดการ “แข่งขัน” ในธุรกิจ

 

          นอกจากนี้ เราเชื่อมั่นว่า ความหลากหลายของผู้ประกอบการจะส่งเสริมให้เกิดการ “แข่งขัน” ในธุรกิจนี้ ทำให้ผู้ประกอบการมุ่งเน้นที่จะให้บริการแก่ลูกค้าที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์และความต้องการของลูกค้าได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนมีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้น ในการออกแบบนโยบายในการกำกับดูแลธุรกิจ ทางการจึงยังคงมุ่งเน้นที่จะรักษาความหลากหลายของผู้ประกอบการไว้ เห็นได้จากการให้มีผู้ที่สามารถประกอบธุรกิจได้สองระดับ ได้แก่ ระดับของผู้ประกอบการที่สามารถให้บริการได้ทั่วประเทศ และผู้ที่ให้บริการในวงค่อนข้างจำกัดเฉพาะในจังหวัดเท่านั้น ซึ่งทางกระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะดูแลในส่วนของผู้ประกอบการที่ให้บริการในระดับจังหวัด ผ่านการกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด (Pico Finance) ซึ่งจะสามารถให้สินเชื่อได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมได้ไม่เกินร้อยละ 36 (ไม่รวมค่าติดตามทวงถามหนี้) ส่วน ธปท. จะดูแลในส่วนของผู้ประกอบการที่ให้บริการในระดับประเทศผ่านการกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ซึ่งจะสามารถให้สินเชื่อได้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้และเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมได้ไม่เกิน ร้อยละ 28 (ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นตามที่ ธปท. กำหนด)

 

          หลักการ “เข้าถึง คุ้มครอง แข่งขัน” นี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ลูกค้าประชาชนผู้ขอสินเชื่อ ทำให้ได้รับบริการที่เป็นธรรม ในราคาและปริมาณที่เหมาะสม มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจว่าควรจะใช้บริการหรือไม่ และหากเลือกใช้ ควรใช้กับผู้ประกอบการรายใด และเมื่อตัดสินใจขอสินเชื่อไปแล้ว บริการที่ได้รับก็ยังคงต้องมีความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ และสุดท้าย แม้ว่าเมื่อลูกหนี้มีปัญหาในการชำระเงิน ลูกหนี้เหล่านี้ก็ควรได้รับสิทธิพื้นฐานที่จะได้รับการคุ้มครองดูแลที่เป็นธรรมเช่นกัน

 

          ขณะเดียวกัน เมื่อการประกอบธุรกิจนี้มีการกำกับดูแลด้วยหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ผู้ประกอบธุรกิจทุกรายสามารถทำธุรกิจภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ก็จะทำให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ และจะส่งผลในระยะยาวให้ผู้ประกอบการจะสามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนให้แก่ประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพ

 

          ในภาพรวม จะส่งผลดีต่อประเทศ ทำให้ประชาชนมีช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้หลากหลายในราคาและปริมาณที่เหมาะสม โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับหนี้นอกระบบ ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อีกทางหนึ่ง