7 เรื่องอยากเล่า จากชุมชนต้นแบบสวนมะพร้าวที่อัมพวา
ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงินร่วมกับฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ได้ลงพื้นที่บ้านคลองวัว หมู่ที่ 5 ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อศึกษาวิถีชีวิต การสื่อสาร และการเงินของคนในชุมชน เมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา ที่นี่เต็มไปด้วยมะพร้าว และพืชพันธุ์นานาชนิดที่น่าสนใจไม่แพ้ตลาดน้ำ รวมถึงเรื่องราวจากการสังเกตการณ์การประชุมลูกบ้านทุกเดือน ณ หมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งมีคุณณภัทร จาตุรัส หรือพี่เล็ก ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกับสมาชิกลูกบ้านร่วมพูดคุยกัน การประชุมที่นี่มีเรื่องราวที่น่าประทับใจ และใช้ได้จริง ผ่านการถ่ายทอดแบบง่าย ๆ ตรงไปตรงมา พวกเราจึงขอเก็บประเด็นที่น่าประทับใจมาเล่าสู่กันฟัง
1. โน้มน้าวน่าฟัง
พี่เล็กได้บอกเล่าปัญหาทางด้านการเงินของคนในชุมชนที่ เกิดขึ้น เช่น ปัญหาหนี้นอกระบบดอกเบี้ยสูง หรือการสร้างหนี้ใหม่ เพื่อใช้หนี้เก่าวนเวียนเป็นงูกินหาง โดยตั้งคำถามว่า อะไรคือสาเหตุของปัญหาเพื่อให้ลูกบ้านคิดตามและเข้าใจต้นตอของปัญหา พร้อมแชร์วิธีแบ่งเงินของตนเองที่ได้รับจากการปลูกมะพร้าวทุก 2 เดือนออกเป็นส่วน ๆ คือ พอได้เงินมาให้หักต้นทุนก่อนที่เหลือแบ่งเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกไว้ใช้ช่วง 2 เดือนถัดไป อีก 2 ส่วน ออมเพื่อลูก 2 คน และส่วนสุดท้ายเป็นของตนเองกับคู่ชีวิต ซึ่งตรงกับกระแสเงินสดเข้าออกในแง่รายได้ - รายจ่ายส่วนตัวและอาชีพ ซึ่งลูกบ้านสามารถนำไปปรับใช้กับครอบครัวตนเองได้ นอกจากการเล่าสู่กันฟังกับลูกบ้านแล้ว พี่เล็กยังเชิญตัวแทนหน่วยงานทางการ เช่น เกษตรอำเภอ พัฒนาชุมชนอำเภอ มาพูดคุยหรือบรรยายสั้น ๆ ให้ลูกบ้านฟังอีกด้วย
2. ความฝันที่ไม่ต่างกัน
ชาวสวนก็มีความฝันไม่ต่างจากคนในเมือง แต่การจะทำฝันให้สำเร็จได้ก็ต้องเริ่มต้นจากการเก็บออม เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินใคร พี่เล็กยกตัวอย่างความฝันอยากนั่งเครื่องบินไปเที่ยวเชียงใหม่ ซึ่งทำให้เป็นจริงได้ไม่ยาก เริ่มจากเก็บแค่วันละ 20 บาทเป็นเวลา 1 ปี ก็จะได้เงิน 7,300 บาท ซึ่งพอสำหรับค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าโรงแรม และอาจจะรวมค่าเหมารถแดงได้อีกด้วย ซึ่งมีลูกบ้านทำได้จริงมาแล้ว พี่เล็กย้ำตอนเล่าเรื่องนี้จบว่า “อย่าคิดว่าชาวบ้านอย่างเราต้องมีเงินล้านถึงจะได้นั่งเครื่องบิน แค่หลักพันก็ไปได้แล้ว” สำหรับการส่งเสริมการออมจะใช้การกระตุ้นให้ออมผ่านเงินฝากสัจจะออมทรัพย์ โดยรับฝากเงินทุกครั้งที่มีการประชุมลูกบ้าน ซึ่งพี่เล็กให้กำลังใจทุกคนว่า “มีน้อยก็ฝากน้อยไม่เป็นไร ดีกว่าไม่เก็บเงินเลย”
3. รวมพลังต่อรองผู้ซื้อ
สินค้าของชาวสวนแต่ละรายขายได้ราคาไม่เท่ากัน เพื่อแก้ไขปัญหานี้ จึงต้องอาศัยการพูดคุยกับผู้ซื้อ และการรวมตัวกันตั้งศูนย์ สินค้าเกษตรเพื่อกำหนดราคากลางในชุมชน และมีป้ายราคาสินค้าเป็นราคากลางของหมู่บ้านด้วย
4. ถ้าเราผิด เราต้องยอมรับ
พี่เล็กยังได้เล่าสาเหตุของการขายมะพร้าวไม่ได้ที่เกิดจากฝั่งผู้ขาย 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ความกลัว เช่น การที่เกษตรกรกลัวว่าจะต้องเสียภาษีมาก จึงรายงานจำนวนผลผลิตต่ำกว่าความเป็นจริง อีกเรื่องหนึ่งคือ ความคาดหวัง เวลาเห็นราคามะพร้าวจะขึ้น ก็กักตุนไว้ไม่ยอมขาย เมื่อของมีไม่พอกับที่โรงงานต้องการ ก็ต้องมีการนำเข้า และเกิดการแย่งส่วนแบ่งในตลาด ส่งผลให้ในที่สุดเกษตรกรก็ขาดทุน พี่เล็กกล่าวสรุปในเรื่องนี้ว่า “ถ้าเราผิดจริง เราก็ต้องยอมรับ”
5. สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า
พี่เล็กได้นำความรู้จากการไปดูงานในต่างประเทศ เช่น เรื่องมะพร้าวที่อินโดนีเซีย และเรื่องกล้วยที่จีนมาเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ของชุมชนโครงการที่กำลังดำเนินงานอยู่คือ โครงการมะพร้าวอินทรีย์ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และน้ำมันมะพร้าวผสมอะโวคาโดที่ได้พันธุ์จากจังหวัดตากมาปลูกในชุมชน เพื่อป้องกันปัญหาต้นทุนผันผวนจากราคาวัตถุดิบนอกพื้นที่ ส่วนโครงการในอนาคตคือกล้วยและใบตอง พี่เล็กบอกว่าต้องค่อย ๆ ทำและหากอยากได้ความรู้ใหม่ ๆ หน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และแบงก์ชาติ ก็พร้อมที่จะสนับสนุน
6. พอเพียง มั่นคง แล้วมั่งคั่งจะตามมา
“ต้องมีคอนโดริมแม่น้าเจ้าพระยาหรือเปล่าถึงมีความสุข?” พี่เล็กตั้งคำถามให้ทุกคนในที่ประชุมลองคิดหาคำตอบให้แก่ตัวเอง แม้ว่านิยามความสุขของแต่ละคนจะแตกต่างกัน แต่ถ้าทุกคนมีความสุขจากความพอเพียง ไม่ต้องมีบ้านหรูหราหลายล้าน อยู่บ้านท้ายสวนใช้ชีวิตที่เรียบง่ายกับครอบครัว แค่นี้ก็มีความสุขได้ เมื่อมีความสุขกับความพอเพียงได้ความมั่นคงและความมั่งคั่งก็จะเกิดขึ้นกับทุกคน และชุมชนต่อไป
7. หอกระจายข่าวยังไม่ตาย
นอกจากการประชุม หมู่บ้านทั้ง 12 หมู่บ้านในตำบลนี้ยังใช้หอกระจายข่าว (ในขณะที่ในบางชุมชนเป็นสื่อที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมแล้ว) มีการจัดตารางในการสื่อสารกับประชาชน อย่างจริงจัง เช่น หมู่ที่ 5 ประกาศรอบ 6 โมงเช้า หมู่ที่ 1 ประกาศรอบ 7 โมงเช้า จึงได้ข้อสรุปที่ว่าไม่มีสื่อไหนล้าสมัย และคำตอบของ คำถามที่ว่าจะใช้สื่ออะไรดีก็คงขึ้นอยู่กับบริบท ความชอบ และความเข้าถึงได้ของแต่ละชุมชนเอง
การได้มาเรียนรู้จากบ้านคลองวัว นอกจากทำให้เข้าใจวิถีชีวิตการประกอบอาชีพ และวิธีการสื่อสารของประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังได้ต้นแบบความเป็นผู้นำที่มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่ร่วมกัน และเหนือสิ่งอื่นใด การได้พูดคุยกับผู้คนในชุมชนเป็นโอกาสที่มีคุณค่ายิ่งของแบงก์ชาติที่ช่วยเพิ่มความเข้าใจและเข้าถึงประชาชน ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่การสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากขึ้น