บทเรียนชวนคิด หลังวิกฤติโควิด 19

         ปี 2563 ถือเป็นปีแห่งความท้าทายของใครหลายคน โดยเฉพาะวิกฤตการณ์การระบาดของโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายใจ การใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงเรื่องเงินที่ได้รับผลกระทบกันไปมากบ้างน้อยบ้าง Financial Wisdom จึงขอหยิบยก 3 บทเรียนทางการเงินที่สำคัญจากวิกฤติโควิด 19 และขอเสนอแนวทางเพื่อฟื้นฟูและเตรียมความพร้อมทางการเงินก่อนเข้าสู่สภาวะปกติดังนี้

sustainable shopping

บทเรียนที่ 1 ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

 

         เจ้าของธุรกิจหรือพนักงานทั่วไป ล้วนประสบปัญหาแบบที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด 19 ธุรกิจมีลูกค้าน้อยลง ยอดขายตก หรือไม่สามารถเปิดร้านได้ชั่วคราว ส่งผลให้รายได้ที่เคยมีและน่าจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ กลับลดลงจนไม่พอกับรายจ่าย และต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดกันยกใหญ่ เช่น ร้านอาหารที่เปลี่ยนรูปแบบไปสู่บริการส่งถึงบ้าน หรือธุรกิจบางอย่างก็เลือกที่จะลดเงินเดือนหรือเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดต้นทุนและประคองธุรกิจให้อยู่รอด ทำให้พนักงานที่เคยมีรายได้แน่นอนพร้อมรายได้อื่น ๆ เช่น ค่าโอที ค่าคอมมิชชัน หรือค่าเซอร์วิสชาร์จ กลายเป็นคนตกงานหรือมีรายได้ไม่พอใช้ ดังนั้นสิ่งที่เราทุกคนควรปรับตัวเพื่อ "ไปต่อ" คือการมองหาช่องทางหรือพัฒนาทักษะเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม เช่น ขายของออนไลน์ ทำอาหารขาย ขับรถส่งของ สอนพิเศษ หรืองานอื่น ๆ จากความสามารถพิเศษของเรา เพื่อให้มีรายได้มากกว่าหนึ่งทาง เพราะเมื่อรายได้จากงานหลักลดลง รายได้เสริมเหล่านี้ อาจช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดจากความไม่แน่นอนในชีวิตที่เกิดขึ้นได้

บทเรียนที่ 2 วินัยการเงินคือกุญแจสำคัญ

 

         ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ที่ "รอด" จากความเดือดร้อนเรื่องเงินในวิกฤติช่วงนี้ไปได้กลุ่มหนึ่งคือผู้ที่มีวินัยทางการเงิน เช่น มีเงินออมสำรองไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น ไม่ก่อหนี้เกินตัว การมีวินัยทางการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการเงินที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ เริ่มจาก (1) แบ่งออมทันทีก่อนนำเงินไปใช้จ่าย อย่างน้อยร้อยละ 10 และพยายามเพิ่มให้ถึง 1 ใน 4 ของรายได้ต่อเดือน (2) จำกัดภาระผ่อนหนี้ ไม่ให้เกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน (3) ควบคุมตนเองไม่ให้ใช้จ่ายตามกระแส ลดการใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นลง หรือตั้งงบประมาณสำหรับซื้อของที่อยากได้ เช่น ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้และทำให้ได้ตามนั้น และ (4) สร้างเครื่องมือช่วยลดความเสี่ยงในชีวิต เช่น ออมเงินเผื่อฉุกเฉินที่ 3 - 6 เท่าของรายจ่ายจำเป็นและภาระผ่อนหนี้ต่อเดือน เพื่อเตรียมไว้สำหรับใช้จ่าย เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน และสำรวจสวัสดิการจากที่ทำงานว่าครอบคลุมค่าใช้จ่ายในยามฉุกเฉินได้หรือไม่ เช่น ค่ารักษาพยาบาลหรือเงินชดเชยเมื่อว่างงาน หากยังไม่ครอบคลุม ก็ควรออมเงินเพิ่ม หรือทำประกันเพื่อช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายเหล่านี้ที่มีให้เลือกหลายรูปแบบ ทั้งประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันชีวิต หรือประกันสังคมเพื่อค่ารักษาพยาบาลและเงินชดเชยเมื่อว่างงาน

บทเรียนที่ 3 การทำแผนการเงินล่วงหน้า

 

          การทำแผนการเงินล่วงหน้าเป็นตัวช่วยกำหนดทิศทางในการใช้จ่ายว่าจะต้องรัดเข็มขัดมากขึ้นหรือสามารถใช้จ่ายได้ตามสบาย โดยเริ่มจากการคาดการณ์รายรับ - รายจ่ายที่อาจเกิดขึ้นใน 3 เดือนหลังจากนี้ แล้วนำตัวเลขรายรับมาหักลบรายจ่าย หากผลออกมาเป็นบวก ให้ลองหาช่องทางต่อยอดเงินเหลือให้เป็นเงินออมเพิ่มเติม แต่หากผลออกมาติดลบก็ควรวางแผนเพิ่มรายรับหรือลดรายจ่ายไม่จำเป็น ซึ่งสิ่งที่สำคัญนอกจากการทำแผนการเงินคือ การลงมือทำตามแผนอย่างเคร่งครัดและทบทวนเส้นทางการใช้จ่ายของตนเองให้เป็นไปตามแผนอยู่เสมอ

     แม้ความยากลำบากและปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตช่วงนี้ อาจทำให้เราเหนื่อยและท้อใจไปบ้าง แต่เชื่อหรือไม่ว่าอุปสรรคเหล่านี้จะเป็นเหมือนบททดสอบที่ทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตมากขึ้น เมื่อรวมกับความอดทนไม่ย่อท้อ สติ และการลงมือป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ก็จะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ที่เราจะสามารถรอดพ้นจากทุกวิกฤติที่เกิดขึ้นในชีวิตได้เสมอ Financial Wisdom ขอเป็นกำลังใจให้ผู้อ่านทุกท่านสามารถก้าวข้ามความท้าทายนี้ไปสู่ new normal ได้อย่างราบรื่น

lists