DIGITAL TRANSFORMATION ในระบบการเงินไทย 
"โครงสร้างพื้นฐาน" สู่การพัฒนาประเทศ

 

 

 

1

 

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีขับเคลื่อนให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมภาคธุรกิจและระบบการเงินไทย ในการสร้างความพร้อมเพื่อปรับตัวเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เท่าทัน ทั่วถึง และมั่นคงปลอดภัย ยิ่ง "ชีวิตวิถีใหม่" ในโลกหลังโควิด 19 บริการทางการเงินดิจิทัลจะยิ่งมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและในการดำเนินธุรกิจ

 

 BOT พระสยาม Magazine ฉบับนี้จึงเชิญคุณรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. มาบอกเล่า roadmap การวางโครงสร้างพื้นฐานสู่ระบบการเงินดิจิทัลของไทย ตลอดจนความท้าทายในการทำงานเพื่อก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

"หัวใจ" ของโครงสร้างพื้นฐานสู่ระบบการเงินดิจิทัล

 

 แผนยุทธศาสตร์ ธปท. ฉบับ พ.ศ. 2563 – 2565 มีการยกประเด็น "ระบบการเงินเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลอย่างรวดเร็ว" เป็นหนึ่งในความท้าทายในการทำงานของ ธปท. ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ธปท. ให้ความสำคัญอย่างมากกับการวางโครงสร้างพื้นฐานสู่บริการทางการเงินดิจิทัล ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและศักยภาพของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs

 

"หัวใจสำคัญที่ ธปท. คำนึงถึงเสมอในการทำ digital transformation มี 2 มิติ คือ (1) การตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทุกภาคส่วน ทั้งในแง่การเข้าถึง ความสะดวกรวดเร็ว ต้นทุนที่เหมาะสม และการได้รับบริการที่เป็นธรรม และ (2) ความปลอดภัยของระบบ รวมถึงการดูแลในเรื่องการคุ้มครองทางการเงินให้กับผู้ใช้บริการ"

 

 โครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินดิจิทัลที่ดีควรนำไปสู่ผลลัพธ์ ได้แก่ creativity คือ การพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ inclusivity คือการเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างครอบคลุม และ efficiency คือการเพิ่มประสิทธิภาพและการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังต้องมี interoperability หรือการเชื่อมโยงการทำธุรกรรมระหว่างผู้ให้บริการในระบบ เพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาบริการที่ต่อยอดจากโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว

 

ตัวอย่างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในระบบการเงินดิจิทัลของไทย อย่างระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) ที่คนไทยคุ้นเคยอย่างพร้อมเพย์ (PromptPay) และ Standard Thai QR Code ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ธปท. หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน มาตั้งแต่ 4 - 5 ปีก่อน โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ยิ่งตอกย้ำความจำเป็นของระบบ e-payment เห็นได้จากปริมาณธุรกรรม ณ เดือนพฤษภาคม 2564 ที่เพิ่มเป็น 243 ครั้งต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้น 80% จากปี 2562 ที่มีปริมาณการใช้งาน 135 ครั้งต่อคนต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการซื้อขายออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ การชำระเงินด้วย QR code เพื่อลดการสัมผัสเชื้อโรค และการส่งผ่านความช่วยเหลือทางการเงินของภาครัฐผ่านระบบพร้อมเพย์ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ e-payment ได้อย่างตอบโจทย์และเท่าทันสถานการณ์

 

Digital Transformation ยกระดับการเข้าถึงสินเชื่อ

 

 "หลังโควิด 19 เทคโนโลยีดิจิทัลต้องตอบโจทย์ที่ต่อยอดไปมากกว่าเรื่อง e-payment นั่นคือ จะทำอย่างไรให้ผู้ที่ยังไม่เข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐานสามารถเข้าถึงบริการเหล่านั้นได้มากขึ้น อีกกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการด้านสินเชื่อคือกลุ่มธุรกิจ SMEs ซึ่งถ้าสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น ก็จะมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น"

 

 ที่ผ่านมา ธปท. ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับบริการด้านสินเชื่อ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการ ตั้งแต่การขอสินเชื่อ การประเมินความเสี่ยงและความสามารถในการชำระหนี้ ไปจนถึงการอนุมัติสินเชื่อ โดยใช้ "ข้อมูลทางเลือก (alternative data)" เช่น ข้อมูลประวัติการชำระค่าโทรศัพท์มือถือและสาธารณูปโภค ข้อมูลการซื้อขายสินค้าออนไลน์ หรือใช้ข้อมูลหลายประเภทในการพิจารณาสินเชื่อ แทนการใช้เอกสารหลักฐานรายได้หรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบของผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับกลุ่มธุรกิจ SMEs และกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีรายได้ประจำไม่สามารถพิสูจน์รายได้ และไม่มีทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน เป็นต้น

 

"เราหวังว่าการใช้ข้อมูลทางเลือกจะช่วยให้ผู้กู้ได้รับวงเงินสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้กู้แต่ละราย และที่สำคัญคือเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบของผู้ใช้บริการ ซึ่งน่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสให้กับธุรกิจรายย่อยและคนตัวเล็กในสังคมได้บ้าง ไม่มากก็น้อย"

 

 การนำข้อมูลทางเลือกมาใช้ เป็นการสร้าง "ข้อมูลรอยเท้าดิจิทัล (digital footprint)" ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญเพื่อต่อยอดไปสู่บริการทางการเงินดิจิทัลที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคแต่ละรายให้ดียิ่งขึ้น และยังช่วยผู้ให้กู้สามารถติดตามพฤติกรรมและวินัยทางการเงินของผู้กู้ได้ แต่ทั้งนี้ การใช้ข้อมูลทางเลือกต้องระวังเพื่อไม่ให้เกิดการใช้ข้อมูลผิดรูปแบบ หรือเกิดความลำเอียงของข้อมูลที่นำไปใช้ และต้องคำนึงถึงสิทธิการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล รวมถึงการทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าการใช้ข้อมูลเหล่านั้นเป็นไปเพื่อบริการที่ปลอดภัยและเป็นประโยชน์กับตนอย่างแท้จริง

 

Digital Factoring โครงสร้างพื้นฐานด้านสินเชื่อเพื่อ SMEs

 

เพื่อช่วยให้ SMEs โดยเฉพาะรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างสะดวกขึ้นและมีต้นทุนที่ต่ำลง คุณรณดลได้ยกตัวอย่างโครงการแนวทางการพัฒนา ecosystem สำหรับการให้บริการดิจิทัลแฟ็กเตอริง (Digital Factoring) ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นการใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาระบบนิเวศสำหรับการทำธุรกรรมแฟ็กเตอริงในรูปแบบดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในกระบวนการที่เกี่ยวข้อง โดย ธปท. ได้สร้างระบบฐานข้อมูลกลาง (Central Web Service: CWS) เพื่อให้ผู้ให้บริการแฟ็กเตอริงใช้ตรวจสอบข้อมูลใบแจ้งหนี้ทางการค้าก่อนพิจารณาให้สินเชื่อแก่ลูกค้า ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการปลอมแปลงเอกสารในการขอสินเชื่อและการขอสินเชื่อซ้ำซ้อน (double financing)

2

 

"แพลตฟอร์มนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นลูกหนี้รายย่อย ที่เป็น 'ผู้ขาย' ใน supply chain ของบริษัทขนาดใหญ่ สามารถนำใบวางบิล / ใบแจ้งหนี้กับบริษัทใหญ่เหล่านั้นมาเป็นหลักฐานในการกู้ยืมหรือเบิกเงินล่วงหน้าจากผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงหรือสถาบันการเงิน ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อน ใบวางบิล / ใบแจ้งหนี้เหล่านี้ ไม่มีใครให้กู้หรอก เพราะผู้กู้ไม่รู้ว่าเป็นเอกสารตัวจริงหรือไม่ และได้นำไปใช้กู้ยืมกับที่อื่นมาหรือยัง ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะช่วยทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับผู้ให้กู้และผู้กู้ และจะทำงานได้ดีต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ซื้อผู้ขายในการใส่ข้อมูลในระบบ"

 

สำหรับความคืบหน้าของโครงการดิจิทัลแฟ็กเตอริง ขณะนี้ ธปท. ได้พัฒนาระบบ CWS เสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการทดสอบระบบ เชื่อว่าจะเริ่มมีการทำธุรกรรมดิจิทัลแฟ็กเตอริงได้ก่อนสิ้นปีนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ประกอบการรายเล็กในห่วงโซ่ธุรกิจและจะช่วยขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด 19 ได้ไม่น้อย

 

ธปท. กับการพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อระบบการเงินดิจิทัล

 

 แม้ปัจจุบัน ภาพรวมของระบบการเงินไทยจะมีความพร้อมในหลายด้าน แต่ยังมีอีกหลายมิติที่ ธปท. ยังต้องผลักดันและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เพื่อรองรับการให้บริการดิจิทัลได้สะดวกขึ้น และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการใช้ข้อมูล (data ecosystem) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น อาทิ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามหน่วยงานผ่านแพลตฟอร์ม National Digital ID (NDID) นำร่องโดยภาคธนาคารสำหรับการเปิดบัญชีเงินฝากออนไลน์ โดยลูกค้าไม่ต้องไปที่สาขา หากได้พิสูจน์และยืนยันตัวตนไว้กับธนาคารหนึ่งแล้ว ซึ่งจะขยายการใช้งานไปสู่ภาคส่วนอื่น ทั้งบริการทางการเงินของภาครัฐและภาคเอกชนอื่น ๆ เช่น การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ และการซื้อกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้ระบบการเงินไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

 

 นอกจากนี้ ธปท. ยังเน้นการพัฒนามาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลระหว่างกันเพื่อส่งเสริมบริการทางการเงิน (API Standard) ซึ่งจะยกระดับประสบการณ์การใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลที่ไร้รอยต่อ สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลการเงินของตนเองได้สะดวกขึ้น โดยในระยะแรก คณะทำงานได้ร่วมศึกษาและจัดทำมาตรฐาน API สำหรับการรับส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝาก (bank statement) ย้อนหลังระหว่างธนาคาร ซึ่งจะช่วยลดภาระของลูกค้าในการขอและรับส่งข้อมูลอย่างมาก เพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น การขอสินเชื่อ

 

นอกจากนี้ ธปท. ยังร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และผู้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินในการพัฒนาโครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business เพื่อสนับสนุนการชำระเงินที่เชื่อมโยงข้อมูลธุรกรรมการค้าครบวงจร ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนและเพิ่มศักยภาพให้กับภาคธุรกิจ เนื่องจากมี "ข้อมูลรอยเท้าดิจิทัล" มากขึ้น ขณะที่ภาคการเงินและภาครัฐสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อต่อยอดบริการที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจและผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น

 

 "หัวใจสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการเงินดิจิทัล คือผู้ใช้โครงสร้างพื้นฐานต้องเห็นประโยชน์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงระบบกันได้จริง ผมอยากเห็นการขับเคลื่อนให้เกิดแพลตฟอร์มกลาง และเกิด Data Bureau มาทำหน้าที่ดูแลฐานข้อมูลนี้ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับเจ้าของข้อมูล รวมทั้งนำไปใช้วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ โดยที่ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่มีการละเมิดสิทธิและความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูล"

 

 อนึ่ง ธปท. ยังให้ความสำคัญอย่างมากกับการปรับกฎเกณฑ์กติกา (soft infrastructure) เพื่อเอื้อให้สถาบันการเงินสามารถให้บริการการเงินดิจิทัลได้ง่ายขึ้น รวมถึงการกำหนดมาตรฐานการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (market conduct) ตลอดจนการส่งเสริมความรู้ทางการเงินดิจิทัล (digital financial literacy) แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

 

 

ธปท. กับการทำงานอย่างเท่าทันในยุคการเงินดิจิทัล

 

ในโลกการเงินดิจิทัล ความท้าทายของ ธปท. รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ คือ การบริหารความยืดหยุ่นในการกำกับดูแลที่เหมาะสมกับความเสี่ยง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันที่เอื้อให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่ และการพัฒนานวัตกรรมหรือบริการทางการเงินใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

 

"เราต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการและมุมมองของเรา แต่ก่อนเราอาจเคยเป็นผู้กำกับดูแล ที่ค่อนข้างระมัดระวังในการอนุญาตให้ทำสิ่งใหม่ ต่อมาเราเริ่มเปิดให้มีการนำนวัตกรรมและบริการทางเงินใหม่ ๆ เข้ามาทดสอบในระบบ เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันผ่านกลไก 'Regulatory Sandbox' แต่วันนี้ เราจำเป็นต้องจับมือกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ เพื่อผลักดันนวัตกรรมร่วมกันระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล (co-sandbox) เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว"

 

ในอนาคต ธปท. ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ จึงจำเป็นต้องปรับกระบวนการทำงานในเชิงรุกให้มากยิ่งขึ้นไปอีก โดยอาศัยการจับมือเป็นพันธมิตรกับหลายภาคส่วน และการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วยเสีย (stakeholder) อย่างรอบด้าน รวมถึงการให้ความสำคัญกับการสื่อสารนโยบายอย่างเข้าใจและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ digital transformation ในระยะถัดไป

 

"ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผลักดันให้ระบบการเงินต้องพัฒนาเร็วตามไปด้วย ทำให้ ธปท. ต้องปรับปรุงกระบวนการทำงาน วัฒนธรรมการทำงานศักยภาพในการทำงาน ตลอดจนกรอบความคิดของคนทำงาน ซึ่งยอมรับว่าเหนื่อย แต่เราก็หวังว่าความเหนื่อยของเราจะเป็นประโยชน์ และเป็นความสุขของประชาชน" คุณรณดลทิ้งท้าย