2

มิวเพิ่งตกงานจึงต้องการเงิน 30,000 บาทมาเป็นทุนขายของ วันหนึ่งมิวได้รับ SMS เสนอเงินกู้ มิวกดลิงก์จาก SMS เพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน กรอกข้อมูล และส่งเอกสารให้ หลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมาทางไลน์ว่า มีค่าธรรมเนียมหมื่นละ 500 บาท มิวจึงโอนไป 1,500 บาท รอจนข้ามวันแล้วแต่เงินก็ยังไม่มา มิวไลน์ไปถามก็ตอบว่าเลขบัญชีผิด มีค่าแก้ไขข้อมูลอีก 1,000 บาท มิวก็โอนไปอีก แต่รอแล้วรอเล่าก็ไม่มีเงินโอนเข้าบัญชี แถมถูกบล็อกไลน์ ติดต่อไม่ได้อีกเลย นอกจากไม่ได้เงินแล้ว มิวยังเสียเงินไปอีก เดือดร้อนหนักไปกว่าเดิม

 

นี่เป็นหนึ่งเหตุการณ์ตัวอย่างของการกู้เงินในยุคปัจจุบันที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วผ่านมือถือโดยไม่ต้องออกจากบ้านให้ยุ่งยาก แต่สิ่งที่ยากสำหรับผู้กู้คือ จะรู้ได้อย่างไรว่า ใครคือผู้ให้กู้ที่ไม่คิดดอกเบี้ยหรือทวงถามหนี้โหด หรือไม่ใช่มิจฉาชีพที่จะมาหลอกเอาเงินเราไปอย่างเรื่องราวข้างต้น ก่อนกู้ เราจึงควรทำภารกิจต่อไปนี้ให้ลุล่วงเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะได้รับเงินกู้และไม่ถูกหลอก

 

 

ภารกิจที่ 1 แยกแยะตัวปลอมออกจากตัวจริง

 

ลองมาดูว่าผู้ให้บริการ 3 แห่งด้านล่างนี้ ใครคือผู้ให้กู้ในระบบ ผู้ให้กู้นอกระบบ และมิจฉาชีพ

2

 จะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันมาก ๆ แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะรู้ว่า

 

 - ผู้ให้กู้ในระบบหรือผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต (แอปฯ A) จะให้เงินกู้เราเต็มจำนวน และอัตราดอกเบี้ยไม่เกินที่ทางการกำหนด

 

- ผู้ให้กู้นอกระบบ (แอปฯ B) ที่มักจะให้เงินกู้เราไม่เต็ม อ้างว่าเป็นค่าดำเนินการเอกสาร แถมเรายังต้องจ่ายคืนเต็มจำนวนที่เรากู้บวกกับดอกเบี้ยหรือค่าปรับสูง

 

- แอปพลิเคชันเงินกู้ปลอม (แอปฯ C) ที่เนียน ๆ ว่าให้เรากู้ได้เยอะ แต่ไม่ได้ให้กู้จริง ซึ่งมักจะให้แอดไลน์มาคุยกันหลังจากที่ดาวน์โหลดแอปฯ และมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับเรื่องราวของมิว

 

 

ภารกิจที่ 2 ตามหาผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต

 

ในการป้องกันตัวเองไม่ให้เสียท่าหลงไปกู้เงินกับแอปเงินกู้นอกระบบหรือแอปเงินกู้ปลอม เราจึงควรเลือกกู้กับผู้ให้กู้ที่ได้รับอนุญาตเพราะมีทางการกำกับดูแล โดยต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนใช้บริการ

 

1. สังเกตข้อมูลของแอป โดยการอ่านรีวิว หรือดูจำนวนการดาวน์โหลด และรายละเอียดของแอป (About app) เช่น

          -  ชื่อผู้พัฒนาระบบ (Offered by) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชื่อของผู้ประกอบธุรกิจ และมีที่อยู่ติดต่อได้

          -  อีเมลของผู้พัฒนาระบบ หากเป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตจะให้อีเมลขององค์กรสำหรับการติดต่อ

          2. ตรวจสอบข้อมูล บางครั้งมิจฉาชีพหรือแอปเงินกู้นอกระบบจะตั้งชื่อแอปคล้ายคลึงกับผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต หรือสวมรอยเป็นผู้ได้รับอนุญาตเลย ก่อนตัดสินใจกู้เราจึงควรตรวจสอบโดย

 

-  เทียบกับรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต นำข้อมูลชื่อและที่อยู่ที่ได้จากแอปมาตรวจสอบกับหน่วยงานที่กำกับดูแล ว่าเป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตหรือไม่

 

-  โทรติดต่อไปยังผู้ให้บริการที่ถูกอ้างชื่อ อย่าเพิ่งเชื่อใจใช้เบอร์โทรที่เขาให้มาหรือที่เขาโฆษณาโทรกลับไป แต่เราควรค้นหาเบอร์ติดต่อจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อสอบถามว่าเป็นผู้ให้บริการแอปพลิเคชันนี้จริง ๆ หรือไม่

 

 

ภารกิจสุดท้าย  กู้อย่างมั่นใจอย่าลืมอ่านเงื่อนไขก่อนกู้

 

เมื่อรู้แน่ ๆ แล้วว่าเป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตตัวจริง ก็อย่าเพิ่งรีบกู้จนลืมดูรายละเอียดที่จำเป็น เช่น อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา จำนวนเงิน วิธีการคืนเงินกู้ ที่สำคัญ ต้องคำนึงถึงความสามารถในการผ่อนชำระของเราโดยควรกู้เท่าที่จำเป็น และรวมภาระผ่อนชำระหนี้ทุกก้อนของเราต่อเดือนไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน