ยกระดับบริการทางการเงินดิจิทัลด้วยมาตรฐาน API
ในโลกดิจิทัลทุกวันนี้ "ข้อมูล" ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงานของเราเป็นอย่างมาก เบื้องหลังสำคัญที่ทำให้เกิดการนำข้อมูลต่าง ๆ มาใช้งานได้สะดวกและแพร่หลายคือ กลไกการรับ - ส่งข้อมูลแบบอัตโนมัติระหว่างระบบไอที ซึ่งเรียกว่า API ในบทความนี้จะเล่าถึงหน้าที่ของ API รวมถึงความจำเป็นในการพัฒนามาตรฐาน API เพื่อทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
API คืออะไร?
API ย่อมาจากคำว่า Application Programming Interface คือ ส่วนเชื่อมต่อ (interface) ที่กำหนดวิธีการสื่อสารระหว่างโปรแกรมของระบบไอทีหนึ่งกับระบบอื่น ๆ ซึ่งทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลรวมถึงการเรียกใช้งานโปรแกรมข้ามเครือข่ายระหว่างระบบไอทีทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
การใช้ API ในบริการทางการเงินไม่ใช่เรื่องใหม่ ในภาคการเงินไทย ธนาคารหลายแห่งมีการพัฒนา API เพื่อเชื่อมต่อการทำธุรกรรมระหว่างพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น การโอนเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ การชำระเงินด้วย QR code ซึ่งการพัฒนา API ที่ต่างคนต่างกำหนดโดยไม่มีมาตรฐานจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนและปัญหาในการทำงานร่วมกันตามมา
พวกเราคงจะเคยขอเอกสารหลักฐานข้อมูลของตนเองจากหน่วยงานรัฐหรือเอกชน เพื่อนำไปใช้ยื่นกับอีกหน่วยงานหนึ่ง เช่น การขอข้อมูลรายการเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝาก (bank statement) สำหรับนำไปขอสินเชื่อกับธนาคาร A เราจะต้องไปขอเอกสารดังกล่าวจากสาขาของธนาคาร B ที่ตนเองมีบัญชีเงินฝาก จากนั้นจึงนำเอกสารในรูปแบบกระดาษ (paper - based) ไปยื่นยังสาขาของธนาคาร A ที่จะขอสินเชื่อ
การรับ - ส่งข้อมูลข้างต้นจะสามารถดำเนินการผ่านระบบโดยอัตโนมัติได้ หากระบบของธนาคารมีการเชื่อม API ระหว่างกัน ทำให้เกิดช่องทางที่ผู้ให้บริการรายอื่นสามารถเข้าถึงบริการข้อมูลนี้ผ่าน API ที่ธนาคารเตรียมไว้ ดังนั้น ธนาคาร A จะสามารถเรียกขอข้อมูลจากธนาคาร B ได้โดยตรงผ่าน API (ตามความยินยอมของลูกค้าที่ยืนยันตัวตนแล้ว) และธนาคาร B จะสามารถส่งข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลไปยังธนาคาร A ผ่าน API ได้โดยตรงระหว่างระบบ (system - to - system data transfer) โดยไม่ต้องผ่านมือลูกค้า ซึ่งจะช่วยทำให้ขั้นตอนการดำเนินธุรกรรมทั้งหมดอยู่ในระบบอัตโนมัติอย่างสมบูรณ์ รวมถึงเพิ่มความคล่องตัวในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างมาก
การรับ - ส่งข้อมูลระหว่างผู้รับและผู้ส่งข้อมูลแต่ละคู่ สามารถมีข้อกำหนด (specification) ของการเชื่อมต่อ API และรูปแบบหน้าตาข้อมูลที่แตกต่างกันได้ ตามที่ผู้ให้บริการแต่ละรายจะกำหนดขึ้นเอง อย่างไรก็ดี ในการดำเนินธุรกิจ การเชื่อมต่อระหว่างผู้รับและผู้ส่งข้อมูลทีละคู่จะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการพัฒนาระบบ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐาน API ร่วมกัน (API standardization) เพื่อให้ระบบสามารถเชื่อมต่อกันได้ (interoperability) ในวงกว้าง เพื่อช่วยลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ประหยัดเวลา รวมทั้งลดต้นทุนในการพัฒนาและบำรุงรักษาระบบ
สำหรับการยกระดับบริการทางการเงินบนช่องทางดิจิทัลและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดทำมาตรฐาน API สำหรับการให้บริการทางการเงินดิจิทัลขึ้นมากำกับดูแล โดยมผู้แทนจากธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และสมาคมธนาคารไทยเข้าร่วมเป็นกรรมการและคณะทำงาน โดยเลือกการจัดทำมาตรฐาน API สำหรับการรับ - ส่งข้อมูล bank statement ระหว่างธนาคารเป็นโครงการนำร่อง
นอกจากนี้ ธปท. ได้ผลักดันให้เกิดโครงการความร่วมมือระหว่างธนาคารสมาชิกของสมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารนานาชาติ รวมทั้งสิ้น 29 แห่ง ซึ่งได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "การพัฒนามาตรฐานและใช้มาตรฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อส่งเสริมบริการทางการเงิน" ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของภาคธนาคารในการร่วมมือกันพัฒนามาตรฐาน เพื่อยกระดับบริการทางการเงินดิจิทัล
บริการแรกที่เกิดขึ้นบนความร่วมมือดังกล่าว คือ การรับส่งข้อมูล bank statement ในรูปแบบดิจิทัลระหว่างสถาบันการเงิน เพื่อประกอบการสมัครบริการสินเชื่อ ซึ่งจะเริ่มให้บริการภายในเดือนมกราคม 2565 โดยมีสถาบันการเงินพร้อมให้บริการ 10 แห่ง1 ครอบคลุมกว่า 98% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมดของประชาชน
การจัดทำมาตรฐาน API สำหรับข้อมูล bank statement ช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลดิจิทัลระหว่างผู้ให้บริการ ทำให้ลูกค้าสามารถนำข้อมูลของตนเองจากผู้ให้บริการอื่นมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการสร้างระบบนิเวศข้อมูล (data ecosystem) ขึ้น เพื่อสนับสนุนบริการทางการเงินดิจิทัล โดย ธปท. มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะผลักดันการพัฒนามาตรฐานสำหรับบริการอื่น ๆ ในระยะต่อไป เพื่อต่อยอดให้บริการทางการเงินของไทยพัฒนาเข้าสู่ธุรกรรมการเงินดิจิทัลได้อย่างเต็มตัว อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่หลากหลายผ่านช่องทางดิจิทัลที่สะดวกและรวดเร็ว รวมถึงผู้ให้บริการก็สามารถดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าแต่ละรายได้ดียิ่งขึ้น