​4 เทคโนโลยีสำคัญเร่งเครื่อง Digital Transformation

 

 

 

1

ช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับเราทุกคน แต่ยังเป็นความท้าทายของหลายองค์กรในการพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด 19 เพราะต่างเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามาตอบสนองกระบวนการทำงานหลายด้านและทำให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น

 

ยึด AI เป็นเทคโนโลยีหลัก

 

ผลสำรวจ AI Predictions 2021 ของบริษัท PricewaterhouseCoopers พบว่า 25% ของผู้ตอบแบบสำรวจในสหรัฐอเมริกา ระบุว่าบริษัทของตนมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 18% ในปีก่อน ขณะที่ 54% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าองค์กรของตนกำลังเปลี่ยนไปสู่การใช้งาน AI อย่างเต็มรูปแบบ และพวกเขาได้ดำเนินการไปไกลกว่าการวางรากฐาน เพราะหลายบริษัทกำลังเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจาก AI โดยส่วนใหญ่ที่นำ AI มาใช้อย่างเต็มที่รายงานว่า ได้เห็นประโยชน์ที่สำคัญของ AI แล้ว

 

86% ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดการณ์ว่า AI จะเป็นเทคโนโลยีกระแสหลักที่บริษัทของพวกเขาจะนำมาใช้ในปีนี้ เพราะเห็นประโยชน์จากการเติบโตของรายได้และการตัดสินใจทางธุรกิจที่ดีขึ้น รวมทั้งยังช่วยปรับปรุงประสบการณ์ที่ส่งมอบให้กับลูกค้า อย่างไรก็ตาม 52% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า ได้มีการนำ AI เข้ามาใช้กับธุรกิจหลังเกิดวิกฤตโควิด 19 แต่ผลตอบแทนจากการลงทุนยังคงเป็นเรื่องที่ต้องรอการพิสูจน์ในอีกหลายปีข้างหน้า

 

ผลกระทบจากโควิด 19 ทำให้เราเห็นบริษัทขนาดใหญ่หันมาตื่นตัวในการศึกษาและลงทุนในเทคโนโลยีประเภท machine learning และ AI สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนภายในองค์กรและการพัฒนาศักยภาพของทีมงานให้เข้าใจวิธีใช้งาน AI ขณะที่อีกหลายบริษัทก็อยู่ระหว่างการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้อมูล

 

ปัจจุบัน มีแพลตฟอร์มหลายประเภทที่ฝังเทคโนโลยี AI เข้าไปในฟังก์ชันการทำงาน เช่น แพลตฟอร์มด้านการให้บริการลูกค้าที่เพิ่มฟังก์ชันการวิเคราะห์ลูกค้าอัจฉริยะ แพลตฟอร์มการบัญชี AI ที่มีฟังก์ชันการวิเคราะห์งบการเงิน แพลตฟอร์มงานบริหารบุคคลอัจฉริยะที่มีฟังก์ชันการสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานหรือวิเคราะห์ข้อมูลพนักงาน และแพลตฟอร์มการขายอัจฉริยะที่มีฟังก์ชันเข้ามาช่วยวิเคราะห์การเพิ่มยอดขาย

 

 

Quantum Computing เพิ่มศักยภาพระบบคอมพิวเตอร์

 

การพัฒนาระบบการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ผ่านอนุภาคย่อยของอะตอมแทนการใช้เลขฐานสอง หรือ Quantum Computing จะช่วยเพิ่มความรวดเร็วและเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะในการผลิตอุปกรณ์อัจฉริยะ เช่น รถยนต์ไร้คนขับ และหุ่นยนต์ มูลค่าตลาดของเครื่องจักรอัจฉริยะบนเทคโนโลยี Quantum มีแนวโน้มจะสูงถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565[1]

 

การระบาดของโควิด 19 ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการผสมผสานการทำงานของเทคโนโลยี อย่าง 5G และ Internet of Thing (IoT) ทำให้ Quantum Computing มีความจำเป็นมากยิ่งขึ้นและยังช่วยทำให้เกิดความน่าเชื่อถือของข้อมูลด้วยต้นทุนที่ต่ำลง เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการประมวลผลข้อมูลที่ดีขึ้น จึงมีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการทางการเงิน อุตสาหกรรมเกม และนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ

 

 เมื่อ "ข้อมูล คือ อนาคต" Quantum Computing จึงเข้ามาตอบโจทย์ด้วยการประมวลผลข้อมูลในพริบตา เราจะได้เห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อมีการนำ Quantum Computing มาใช้อย่างแพร่หลาย ภาคธุรกิจจึงต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงนี้

 

1

 

NLP ช่วยให้คอมพิวเตอร์เข้าใจมนุษย์

 

การประมวลผลภาษาธรรมชาติ หรือ Natural Language Processing (NLP) เป็นอีกหนึ่งแขนงของ AI ที่เข้ามาช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจและตีความภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อสารทั่วไปได้ เพื่อปิดช่องว่างทางการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันศาสตร์แขนงนี้มีความก้าวหน้าและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าของ big data การประมวลผลและอัลกอริทึมที่มีความทันสมัยมากขึ้น

 

นวัตกรรมหนึ่งที่มีการพัฒนาจาก NLP คือ แอปพลิเคชันแบบโต้ตอบหรือ "แชทบอท" ซึ่งมักจะใช้เพื่อติดต่อสื่อสารและสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า ยกตัวอย่าง ธนาคาร Royal Bank of Scotland ได้นำเทคนิค text analytics ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคนิคด้าน NLP มาใช้งานมาสกัดข้อมูลจากการตอบสนองและร้องเรียนของลูกค้าที่เกิดขึ้นในหลายรูปแบบจากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นอีเมล ข้อมูลคำตอบจากแบบสอบถาม และบทสนทนาที่เกิดขึ้นทางโทรศัพท์กับคอลเซ็นเตอร์ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาที่สร้างความไม่พึงพอใจให้ลูกค้า ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ถูกนำไปใช้กำหนดแนวทางแก้ไข และพัฒนาความพึงพอใจของลูกค้าได้

 

อีกตัวอย่างคือ Dignity Health ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ที่นำเทคโนโลยี NLP และอัลกอริทึมที่ซับซ้อนมาใช้งานร่วมกัน เพื่อตรวจและรายงานทั้งผลการตรวจและผลการรักษาทางการแพทย์ ป้องกันการเกิดภาวะติดเชื้อแก่ผู้ป่วย หากมีโอกาสเกิดภาวะติดเชื้อในคนไข้ ระบบจะแจ้งเตือนไปยังแพทย์และพยาบาลเจ้าของไข้ทันที

 

 

ก้าวสู่ความยั่งยืนด้วย Cloud Computing

 

 

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมบริการคลาวด์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 380% โดยปีที่ผ่านมามีมูลค่า 370,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้นในโลกนี้ กว่า 50% ถูกจัดเก็บไว้บนระบบคลาวด์ ในปี 2563 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 คลาวด์มีบทบาทสำคัญที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการทำงานนอกออฟฟิศ ทำให้องค์กรยังขับเคลื่อนต่อไปได้แม้ต้องทำงานจากที่บ้าน

 

บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาระดับโลก Gartner, Inc คาดการณ์ว่าในปี 2564 การลงทุนในระบบคลาวด์ขององค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 18.4% นอกจากนี้ องค์กรส่วนใหญ่ที่ยึดแนวทางการดำเนินงานตามหลัก ESG[2] จะเลือกใช้ระบบคลาวด์เป็นหลักเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน เพราะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึง 65% ขณะเดียวกันยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 84% หรือคิดเป็น 59 ล้านตันต่อปี เท่ากับลดจำนวนรถยนต์บนถนนได้ถึง 22 ล้านคัน นี่จึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ใช้คลาวด์มากขึ้นในอนาคต

 

ปัจจุบันองค์กรธุรกิจ 87% มีการใช้ระบบไฮบริดคลาวด์ เป็นการผสมผสานระหว่างระบบคลาวด์สาธารณะและคลาวด์ของแต่ละองค์กร เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากบริการทั้งสองฝั่ง ทั้งในด้านความยืดหยุ่น การบริหารจัดการต้นทุน รวมไปถึงความเร็วในการตอบสนองและปฏิบัติตามกฎระเบียบต่าง ๆ ไปพร้อมกัน

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการใช้งานระบบคลาวด์มากขึ้น แต่มีข้อควรระวังในเรื่องความปลอดภัย ในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2563 ที่การใช้งานคลาวด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาชกรรมไซเบอร์ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย นำมาสู่การพัฒนาซอฟต์แวร์ความปลอดภัยสำหรับคลาวด์ เพื่อป้องกันศักยภาพด้านการแข่งขันของธุรกิจ และช่วยให้ยังมั่นใจในการใช้งานคลาวด์ต่อไปในอนาคต

 

 

แหล่งที่มาของข้อมูล :

www.pwc.com

www.sas.com

Business Insights & Lifestyle Guides, hivelife.com

https://www.accenture.com

 

[1] ข้อมูลจาก Business Insights & Lifestyle Guides, hivelife.com

[2] ESG ย่อมาจาก Environmental – สิ่งแวดล้อม Social – สังคม และ Governance – ธรรมาภิบาล คือการนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมาพิจารณาร่วมในการทำงาน การลงทุน การสร้างธุรกิจ หรือแม้แต่ในการใช้ชีวิตประจำวัน