ต่อยอดความสำเร็จพร้อมเพย์: เปิดประตูสู่การโอนเงินและชำระเงินระหว่างประเทศ

 

 

 

1

บริการพร้อมเพย์ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างล้นหลาม ด้วยบริการที่มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และไม่เสียค่าธรรมเนียม ทำให้ยอดสมัครใช้บริการและปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2561 และยิ่งดีดตัวสูงขึ้นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในปี 2563 ที่ประชาชนต้องปรับพฤติกรรม ลดการสัมผัสเงินสด และทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้ปริมาณธุรกรรมการโอนเงินผ่านบริการพร้อมเพย์ในประเทศไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 มีปริมาณธุรกรรมสูงสุดที่ 28.6 ล้านรายการต่อวัน

 

 

จากผลตอบรับที่ดีภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงมุ่งต่อยอดบริการพร้อมเพย์ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างขึ้น ด้วยการเชื่อมโยงการโอนเงินและการชำระเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียนภายใต้แนวคิด ASEAN Payment Connectivity และประเทศอื่น ๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนแรงงานหรือการท่องเที่ยวระหว่างกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งบริการที่ ธปท. ได้เดินหน้าเชื่อมโยงกับต่างประเทศในระยะใกล้นี้ประกอบด้วย (1) การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR Payment และ (2) การโอนเงินระหว่างประเทศ โดยจุดเด่นของบริการทั้งสองนี้บนระบบพร้อมเพย์คือ การได้รับเงินทันทีด้วยค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง

 

การพัฒนาการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR Payment

 

ในระยะแรกของการพัฒนา ธปท. ได้เริ่มต้นพัฒนาการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR Payment เป็นเป้าหมายแรก โดยคำนึงถึงความแตกต่างของระบบการชำระเงินของแต่ละประเทศ เช่น ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงิน (บางประเทศมีระบบกลาง ในขณะที่บางประเทศยังไม่มีระบบกลางรองรับ) รวมถึงเทคนิคและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ยังมีความซับซ้อนน้อยกว่าการโอนเงินระหว่างประเทศ ทำให้เกิดการพัฒนาและเชื่อมโยงการชำระเงินด้วย QR Code มาตรฐานกับประเทศเพื่อนบ้านได้เร็วกว่า โดยมีเป้าหมายในการรองรับการค้าและการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถชำระค่าสินค้าและบริการในต่างประเทศได้อย่างสะดวกและรวดเร็วผ่านแอปพลิเคชัน ไม่จำเป็นต้องแลกเงินสดจำนวนมาก ๆ เหมือนที่ผ่านมา และเป็นการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นของแต่ละประเทศ โดย ธปท. ได้ผลักดันการเชื่อมโยงการชำระเงินด้วย QR Code กับประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 เช่น ลาว กัมพูชา และญี่ปุ่น

 

  ในปี 2564 นี้ ธปท. และธนาคารกลางเวียดนาม (State Bank of Viet Nam : SBV) ร่วมกับผู้ให้บริการระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคาร และธนาคารพาณิชย์ไทยและเวียดนาม เปิดให้บริการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR Payment เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ซึ่งในระยะแรก ธนาคารที่ให้บริการ คือ ธนาคารกรุงเทพ โดยลูกค้าของธนาคารสามารถชำระเงินที่ร้านค้าในเวียดนามที่วาง QR ของธนาคาร TP Bank และ BIDV วงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อรายการ และ 500,000 บาทต่อวัน ส่วนร้านค้าไทยที่วาง QR ของธนาคารกรุงเทพสามารถรับชำระเงินจากลูกค้าของ TP Bank และ Sacombank ของเวียดนามได้เช่นกัน

 

 ถัดมาในเดือนมิถุนายน 2564 ธปท. และธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia : BNM) ร่วมกับ stakeholder ที่เกี่ยวข้องได้เปิดให้บริการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR Payment สำหรับลูกค้าในไทยไปชำระเงินที่ร้านค้าในมาเลเซีย เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 ซึ่งในระยะแรก ธนาคารที่ให้บริการ คือ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย โดยลูกค้าของธนาคารสามารถชำระเงินที่ร้านค้าในมาเลเซียที่วาง QR ของธนาคาร Public Bank วงเงินการทำธุรกรรมเท่ากันกับเวียดนามและจะขยายการให้บริการในกรณีที่ลูกค้ามาเลเซียมาชำระเงินที่ร้านค้าในไทยในระยะถัดไป

 

 ล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2564 ธปท. และธนาคารกลางอินโดนีเซีย (Bank Indonesia : BI) ร่วมกับ stakeholder ที่เกี่ยวข้องได้เปิดให้บริการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR Payment เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ซึ่งในระยะแรกลูกค้าของธนาคารกรุงเทพสามารถชำระเงินที่ร้านค้าของหน่วยงานที่ร่วมโครงการ โดยมีวงเงินการทำธุรกรรมเช่นเดียวกับเวียดนาม ลูกค้าอินโดนีเซียสามารถชำระเงินที่ร้านค้าที่ร่วมโครงการในไทย นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทยและสิงคโปร์ในการเปิดให้บริการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR Payment เช่นกัน

 

บริการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR Payment จะช่วยให้นักท่องเที่ยวมีทางเลือกในการชำระเงินที่สะดวก ปลอดภัย และมีค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม ในขณะที่ร้านค้าจะได้รับเงินเข้าบัญชีทันที แม้ว่าช่วงนี้ยังคงมีการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้มีข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น การท่องเที่ยวที่เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เป็นอันดับหนึ่งของไทยจะกลับมามีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว โดยในระยะต่อไปจะมีธนาคารอื่น ๆ เข้ามาร่วมให้บริการ เพื่อขยายขอบเขตให้ครอบคลุมทั้งลูกค้าและร้านค้าของแต่ละประเทศเพิ่มเติมต่อไป

 

2

 

โอนเงินระหว่างประเทศสะดวกรวดเร็ว ด้วยพร้อมเพย์ - เพย์นาว

 

ธปท. ร่วมกับธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore : MAS) และผู้ให้บริการระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคาร และธนาคารพาณิชย์ทั้งสองประเทศได้พัฒนาระบบการเชื่อมโยงกลางระหว่างกัน โดยเปิดให้บริการโอนเงินพร้อมเพย์ - เพย์นาว ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2564 ซึ่งนับเป็นก้าวประวัติศาสตร์ที่สำคัญสำหรับวงการชำระเงินของไทย เพราะบริการดังกล่าวถือเป็นการเชื่อมโยงระบบการโอนเงินรายย่อยแบบทันทีคู่แรกของโลก ที่มีความสะดวกเสมือนใช้บริการในประเทศตนเอง โดยผู้โอนสามารถโอนเงินผ่าน mobile banking ใช้เพียงหมายเลขโทรศัพท์มือถือ สามารถตรวจสอบชื่อผู้รับโอนได้รวดเร็ว รับทราบอัตราแลกเปลี่ยน ผู้รับโอนจะได้รับเงินทันที และมีค่าโอนที่ถูกกว่าบริการโอนเงินอื่น ๆ ในปัจจุบัน จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือกลุ่มแรงงานที่มีการโอนเงินกลับบ้าน การโอนค่าเทอม หรือค่าใช้จ่ายให้บุตรหลาน รวมทั้งการซื้อสินค้าออนไลน์

 

3

 

ในระยะแรก มีธนาคารพาณิชย์ของไทยร่วมให้บริการจำนวน 4 ธนาคาร ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ในขณะที่ฝั่งสิงคโปร์มี 3 ธนาคารคือ DBS OCBC และ UOB ซึ่งผู้รับโอนต้องผูกหมายเลขโทรศัพท์มือถือกับบริการพร้อมเพย์หรือเพย์นาว จึงจะสามารถรับโอนเงินผ่านบริการนี้ได้ โดยในระยะแรก ผู้โอนในไทยสามารถโอนเงินไปสิงคโปร์ได้ไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อวัน และผู้โอนในสิงคโปร์สามารถโอนเงินมาไทยได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อรายการ ในระยะต่อไปจะมีการขยายวงเงินการโอน รวมทั้งเปิดรับธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมผู้ที่สนใจใช้บริการมากยิ่งขึ้น

 

การเชื่อมโยงการโอนเงินและการชำระเงินระหว่างประเทศนี้ช่วยให้การทำธุรกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศสามารถทำได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศอื่น ๆ ได้ สนับสนุนธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคให้ดำเนินการอย่างคล่องตัวมากขึ้น 

 

ทั้งนี้ ธนาคารกลาง ซึ่งมีบทบาทในการผลักดัน ต้องทำหน้าที่หลักในการเป็นศูนย์กลางและประสานความร่วมมือจาก stakeholder ทั้งหมด ทั้งการตกลงในเรื่องต่าง ๆ การติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการ และการเข้าช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในการเชื่อมโยงการโอนเงินและการชำระเงินกับหลาย ๆ ประเทศ นับเป็นบทเรียนอันล้ำค่าที่จะนำไปสู่การเชื่อมโยงที่มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นกับประเทศอื่น ๆ ต่อไป

 

4

 

ธปท. มีความมุ่งมั่นในการขยายบริการไปสู่การโอนเงินระหว่างประเทศและผลักดันการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศทั้งในและนอกอาเซียน เพื่อรองรับความต้องการและเป็นทางเลือกใหม่ให้กับภาคประชาชน นักท่องเที่ยว กลุ่มแรงงาน และภาคธุรกิจ ในการโอนเงินและชำระเงินระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น